เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ 7 โดย ชาตรี สำราญ


ผู้สอนจะต้องเปิดใจกว้างไม่ติดรูปแบบ มองเห็นความสำคัญของความคิดของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีพื้นที่ความคิดเห็นของผู้เรียนเองให้มากที่สุด ส่วนครูนั้นคอยเป็นพี่เลี้ยง

7

ปองภพพออายุย่างเข้า 7 ขวบ  ก็มีความคิดเขียนที่เป็นตัวของตัวเองมากยิ่งขึ้น ผู้ที่เกี่ยวข้องจะไม่เคี่ยวเข็ญให้ยึดรูปแบบ  แม้แต่งานศิลปะ  เขาก็จะทำตามใจของตนเองทำตามที่อยากทำ ความเป็นอิสระทางความคิดนั้นส่งผลให้งานศิลปะของปองภพเป็นไปตามรูปแบบของปองภพ 

วันที่ 5 ธันวาคม 2555  ปองภพมีจดหมายส่งมาให้ผม  โดยบรรจุมาในกล่องของขวัญ  ปองภพเขียนว่า

    สวัสดีครับปู่

วันพ่อนี้ผมส่งเสื้อให้ 3 ตัวครับ

ขอให้ปู่มีความสุข

ผมรักปู่ครับ

ภพ

ปองภพส่งเสื้อยืดมาจากภูเก็ตให้ผมที่ยะลา ความคิดอย่างนี้มีอยู่ในหัวใจเด็กน้อยเสมอมา  แม้แต่กับเพื่อนๆ  เขาก็จะแบ่งปันของเล่นของเขาให้เพื่อนๆได้เล่นเสมอ  กับการเล่นของปองภพนั้นจะไม่เป็นการเล่นที่สูญเปล่า  หลายครั้งที่เขาบันทึกเรื่องราวการเล่นไว้  เช่น


  พีทไปหาภพ

  ภพไปหาอิง

  อิงไปหาพีท

  อิงเจอแจ็ค

  หากันไม่เจอ


เรื่องนี้ได้ถามปองภพว่า  “ทำไม” เด็กน้อยบอกว่า  “เพราะไปหาไม่ตรงจุด  มัวแต่ไปคนละทาง”  ความเรียงเรื่องนี้ผู้เขียนต้องการสื่อให้เห็นว่า “ถ้าตั้งใจค้นหาในทิศทางเดียวกันการพบเจอก็เกิดขึ้น”  แต่ความคิดของเด็กย่างเข้า 7 ขวบ  เขาก็คิดได้เพียงแค่นี้  เพียงแค่นี้ที่มีนัยหลายอย่างซ่อนอยู่

ช่วงนี้ปองภพมักจะนำคำที่ตนเองอ่านสะกดคำ  ผันคำได้มาคิดเรื่องเขียน  เช่นคำว่า จบ  จับ  ปองภพเขียนเล่าถึงการเล่นซ่อนหากับเพื่อนๆ  ภายหลังที่เขาเล่นซ่อนหาจนค่ำมืดก็แยกย้ายกันกลับบ้าน  อาบน้ำแต่งตัวเสร็จ  ปองภพก็เขียนว่า


  ปลาเป็นปลาตาย

  ฉันเป็นคนเป็น

  ฉันจับเพื่อนได้

  เพื่อนฉันต้องเป็น

  วิ่งกันไม่จบ


คำว่า  เยอะ  ปองภพเขียนว่า


  เพื่อน

  เยอะ

เพื่อนเยอะแยะ


  ของเล่น

  เยอะ

  ของเล่นเยอะแยะ


  การบ้าน

  เยอะ

  การบ้านเยอะแยะ


สำหรับรูปแบบการเขียนนั้น  ปองภพคิดเขียนเอง  สังเกตว่าก่อนนี้ เขามองเห็นภาพสิ่งที่จะเขียนแล้วนำภาพนั้นมาเขียนตามที่เห็น  เช่น


  กาแฟมีรสขม

  แม่ของผม

  ชอบดื่มกาแฟ


  ไอศกรีม

  อร่อยแต่อันตราย

  ผมจึงกินน้อย


  ฝนดีต่อต้นไม้

  แต่ผมไม่ชอบฝน

  เพราะผมไม่ได้เล่น


เด็กน้อยเห็นภาพอะไร  แบบใด เขาก็จะนำมาเขียนตามความคิดที่เห็น แต่ตอนนี้เขาจะกำหนดคำ แล้วนำคำนั้นมาคิดเขียนให้เห็นภาพ ภาพที่เขาเห็นมาพร้อมกับภาพที่เขาเข้าใจ เช่น


  ดาว

  ดวงดาว

  ฟ้ามีดาว

  ท้องฟ้ามีดวงดาว


  ฟ้าร้อง

  ฝนตก

  ฟ้าร้อง

  ฝนตก

  ฟ้าผ่า


บทฟ้าร้องนี้  พอเขียนเสร็จปองภพดีใจหัวเราะลั่น เพราะภาษาที่เขียนสามารถระบายความคิดที่เขาจินตนาการออกมา  นี่คือความสำเร็จในการเขียนเกิดขึ้นแก่ปองภพ  หลายปีแล้วที่เขาเพียรคิดเพียรเขียน  แต่วันนี้เขาทำได้แล้ว  สามารถเขียนสิ่งที่อยากเขียนได้ดั่งใจคิด  ปองภพจึงหัวเราะจนน้ำตาไหลย้อยออกมา

การจัดการเรียนรู้ควรเป็นอย่างนี้  ควรให้เข้าไปถึงใจของผู้เรียน  ผลการเรียนรู้ที่ออกมาได้ดั่งใจจะสร้างความปิติให้เกิดขึ้นแก่เขา  แล้ววิธีการเรียนรู้และผลการเรียนรู้นั้นเขาจะจำได้นาน  มันจะฝังใจเขาอยู่นาน

มีเรื่องอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจมาก  เมื่อปองภพกล่าวถึงจมูก เขาเขียนถึงจมูกในรูปลักษณ์ที่ต่างไปจากผองเพื่อน  โดยเฉพาะบทสุดท้ายน่าสนใจมาก  ลองอ่านดู


  จมูก

  ดม

  จมูกดมกลิ่น


  จมูก

  หอม

  จมูกหอมดอกไม้


  จมูก

  หายใจ

  จมูกมีไว้หายใจ


  จมูก

  สมาธิ

  สมาธิดูลมที่จมูก


บทสุดท้ายนี้บ่งบอกถึงตัวความรู้ที่ซ่อนอยู่ในจิตลึกของปองภพ  น่าสนใจมาก ซึ่งตอนเริ่มต้นผมเคยพูดถึงที่ปองภพดูจิตของตนเอง มาตรงนี้ผลของสิ่งนั้นหรือปัจจัยนั้นส่งมาให้เห็นเหตุตรงนี้เอง

ทั้งหมดที่กล่าวถึงการเขียนของปองภพ  มาถึงตรงนี้จะเห็นได้ว่า  การเปิดโอกาสให้ผู้เรียน  คิดเขียนตามความต้องการของเขา  ก็จะเกิดรูปแบบการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเองได้ สิ่งนี้นับว่ามีความสำคัญต่อการจัดการเรียนรู้ยิ่งนัก  แต่นั่นแหละการจัดการเรียนรู้แบบนี้  ผู้สอนจะต้องเปิดใจกว้างไม่ติดรูปแบบ  มองเห็นความสำคัญของความคิดของผู้เรียน เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีพื้นที่ความคิดเห็นของผู้เรียนเองให้มากที่สุด  ส่วนครูนั้นคอยเป็นพี่เลี้ยงทำหน้าที่

1. กระตุ้นให้ผู้เรียนหมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมบุคคลที่ตนพบเห็น  เพื่อนำมาเป็นข้อมูลในการเขียนเรื่อง

2.  ฝึกให้ผู้เรียนหมั่นขีดเขียนแสดงความคิดเห็นของตนออกมาให้ผู้อ่านอ่านได้ตรงตามใจที่ตน(ผู้เขียน) คิดด้วยภาษาที่ถูกต้องและมีศิลปะ

3. กระตุ้นให้ผู้เรียนเขียนเรื่องอย่างสร้างสรรค์

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 516976เขียนเมื่อ 21 มกราคม 2013 08:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 12:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท