เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ 6 โดย ชาตรี สำราญ


งานเขียนของปองภพช่วงนี้ เขามักจะเขียนสิ่งที่เขาเห็นมาให้ผู้อ่านอ่าน คำง่ายๆ ที่เขานำมาเรียงร้อยเล่าเรื่องราวดูแล้วมันง่ายแต่น่าอ่าน

6

  ช่วงอายุ 3-4 ขวบ ปองภพก็เล่นๆ เรียนๆ  เขียนๆ  อ่านๆ โดยเฉพาะการเขียนนั้น เขามักจะเขียนในรูปแบบ

  ฉันไม่ไปโรงเรียน

  ฉันเขียนหนังสือ

  ฉันอ่านหนังสือ

  ฉันอยู่บ้าน

  ฉันมีพ่อมีแม่

ซึ่งเป็นการนำคำมาเขียนให้เป็นประโยคธรรมดา  ไม่ได้ซ่อนความคิดอะไรในเรื่องราวที่เขียน  เขียนเสร็จก็อ่าน  อ่านแล้วก็ออกไปเล่นเป็นอยู่อย่างนี้เอง  แต่พออายุย่างเข้า 6 ขวบ ปองภพเริ่มเขียนแบบซ่อนความคิดอยู่ในเนื้อหาของเรื่องนั้นๆ  แม้แต่คำที่นำมาใช้เด็กน้อยก็รู้จักคำที่แสดงพลังของคำนั้นๆ  มาเขียนบอกเรื่องราว  เช่น

  ผมไม่ไปโรงเรียน

  ผมเรียนอยู่ที่บ้าน

  ผมชอบบ้านเรียน

ถามว่ามีใครสอนไหม  ตอบว่าไม่ เพราะเด็กคนนี้ไม่ชอบใครมาชี้แนะว่าต้องทำอย่างนั้น  ต้องทำอย่างนี้  เขาต้องการอิสระทางความคิด  ก่อนทำเขาจะคิด  ดูเหมือนเขาเล่น  เพราะเห็นเขายกนั่นวางนี่  ถามว่าทำไมไม่เขียน  เขาตอบว่า “เดี๋ยวก่อน  กำลังคิดอยู่”  พอคิดได้เขาก็จะเขียน  คำที่นำมาเขียนจะมีคำแปลกอยู่  เช่น  บ้านเรียน  ซึ่งเป็นคำที่ใช้อยู่ในหมู่พวกที่จัดการเรียนการสอนแบบHome School  แต่ปองภพนำมาเขียนอาจจะมาจากคำว่า  “เรียนอยู่ที่บ้าน”  ก็ได้ หรือเขาคงได้ยินได้ฟังมาจากที่ไหนก็ได้ แต่ที่น่าสนใจคือ  ปองภพหยิบคำนี้มาใช้เป็น นี่คือคุณสมบัติที่ต้องการจะให้เกิดในตัวผู้เรียน

ยังมีกลอนเปล่าอีกบทหนึ่งที่ปองภพเขียน  ชื่อสายรุ้ง  อ่านแล้วดูเหมือนธรรมดา  แต่ที่มาที่ไปน่าสนใจมาก  เด็กน้อยเขียนว่า

  วันนี้

  ผมฉีดน้ำใส่กำแพง

  เกิดแสงสายรุ้ง

งานเขียนชิ้นนี้ ปองภพเขียนบอกเล่าภาพความจริงที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา  ปองภพเล่นฉีดน้ำจากสายยางล้างกำแพงบ้าน  ฟองฝอยน้ำกระทบแสงแดดเป็นสายรุ้ง  เขาดีใจมาก วิ่งเข้าไปในบ้านแล้วเขียนงานชิ้นนี้ออกมา หลังจากนั้นเขาก็อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับเรื่องรุ้งในน้ำ  แล้วเขาก็ได้เรียนรู้เรื่องราวของรุ้งกินน้ำ พฤติกรรมอย่างนี้แสดงว่าปองภพเกิดการเรียนรู้ทั้งวิธีการเรียนรู้  และเนื้อหาสาระที่ควรจะรู้  ซึ่งจะก่อให้เกิดความรู้สึกดีๆ  ต่อการเรียนรู้ขึ้นมาในภายหลัง

งานเขียนของปองภพช่วงนี้ เขามักจะเขียนสิ่งที่เขาเห็นมาให้ผู้อ่านอ่าน  คำง่ายๆที่เขานำมาเรียงร้อยเล่าเรื่องราวดูแล้วมันง่ายแต่น่าอ่าน

  ท้องฟ้าสีขาว

  ตื่นนอนตอนเช้า

  ฟังข่าว  กินข้าว

บางครั้งเด็กน้อยเขียนจากความรู้สึกสะเทือนใจ  บอกเล่าความคิดที่เขามีต่อเพื่อนของเขาว่า

  พีท  เพื่อนของผม

  พ่อของพีทตายแล้ว

  ผมสงสารพีท

ความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาภายหลังที่เห็นน้ำตาของเพื่อน  ในขณะที่ปองภพอายุ  6  ขวบ เรียนรู้ภาษาไทยได้ไม่มากนัก  แต่สามารถเขียนเล่าความรู้สึกตนเองให้ผู้อื่นอ่านได้อย่างนี้  ผมยอมรับว่าเขาเก่ง

ผมชอบอ่านกลอนเปล่าและบทกวีของเซน  เช่น บทกวีบทหนึ่งของบาโช (กวีญี่ปุ่น)  ที่เขียนว่า

  ดอกไม้ทั้งหลายตายไปสิ้น

  เหลือแต่ความเศร้า

  นอนอยู่กับเมล็ดหญ้า*

ผมชอบคำว่า  ตาย  และ  นอน  คำสองคำนี้สะดุดใจผม  ทำให้ผมมองลึกเข้าไปในคำว่า  ดอกไม้ทั้งหลาย  มันไม่ใช้ดอกไม้ธรรมดา  แต่มันมีความหมายลึกกว่า  ผมมองเห็น ความดีงาม  คนดี  เยาวชนผู้ใฝ่ดี  เขาเหล่านี้ได้ตายไปแล้ว  คงทิ้งความนิ่งให้ซบนิ่งอยู่กับเมล็ดหญ้า  คือ ผู้เขียนบทกวี  คือ  บาโช ผมตีความอย่างนี้

จากหนังสือเรื่อง : ฉันคือหินยา ค่ารัดสาดจุฬา : คณะรัฐศาสตร์.จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย : จัดพิมพ์.

และบทกวีอีกบทหนึ่งที่เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูรณ์ นำเสนอไว้ในหนังสือ  เรื่อง “มุมที่ไม่มีเหลี่ยม

  ใบไม้

  กำลังร่วงหล่น

  พลิกหงาย

  พลิกคว่ำ

ถ้าอ่านแบบตีความก็จะได้อารมณ์อีกแบบหนึ่ง  ถ้าอ่านธรรมดาจะเห็นว่า  กวีใช้คำง่ายๆ แต่อ่านแล้วมองเห็นภาพ อ่านแล้วรู้สึกว่ามีสายลมพัดเบาๆ โชยมาต้องผิวกาย ในขณะที่ใบไม้ที่กำลังร่วง พลิกคว่ำ  พลิกหงายอยู่  และอีกบทหนึ่งที่เขียนว่า

  อย่างสงบลึกล้ำ

  กบเหม่อมอง

  ขุนเขา*

นี่ก็นำคำไม่กี่คำมาวางไว้ใกล้ๆ  แต่ได้จังหวะ ทำให้มองเห็นภาพ ความเงียบที่ยิ่งกว่าเงียบ กบปล่อยใจอิสระ ทอดสายตาสู่ภูผาข้างหน้า ชวนให้นึกถึงยามที่เราอยู่ในอารมณ์สมถะ  จิตนิ่งมั่นคงปราศจากสิ่งใดมารบกวน

เมธา  เมธี กวีชาวใต้ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สามารถนำคำน้อยมาเรียงร้อยเป็นเรื่องราวที่ซึมลึกเข้าไปในหัวใจ  เช่น

  คนดี- คนเลว

  เมืองไทย

  คนดีดี

  ยังมีอยู่อีกมาก

  แต่หายาก

  คนเลวเลว

  แม้มีอยู่ไม่มากนัก

  แต่พบเห็นได้ง่าย**

เนาวรัตน์  พงษ์ไพบูรณ์  มุมที่ไม่มีเหลี่ยม. (พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง). กรุงเทพฯ. จตุจักรการพิมพ์ มปพ.

  หิว

  ฉันหิว

  เธอก็หิว

  พ่อก็หิว

  แม่ก็หิว

  น้องก็หิว

  ครอบครัวฉันหิวกันทุกคน***

คำว่า  “หิว” คำเดียวที่  เมธา  เมธี นำมาใช้นั่นสามารถบ่งของผู้อ่านที่มีอารมณ์ร่วมให้เป็นอย่างดี  และในบทกวีที่ชื่อว่า  “คนดี-คนเลว” นั้นชัดเจนมาก  เมธา  เมธี เขียนบอกอย่างตรงไปตรงมา  และเป็นความจริงในสังคมบ้านเมืองเราทุกวันนี้ที่คนเลวเลวมีน้อยแต่หาได้ไม่ยาก

หนังสือที่นำมาอ้างอิงทุกเล่มผมเก็บไว้ให้ปองภพอ่านเมื่อถึงเวลาที่เขาจะอ่าน

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 516889เขียนเมื่อ 20 มกราคม 2013 09:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 12:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท