เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ 4 โดย ชาตรี สำราญ


จงสอนวิธีการประเมินตนเองให้เขารู้จักการประเมินตนเอง โปรดสอนให้เขาเรียนรู้ทุกข์จากทุกข์ที่เขากำลังทุกข์ นี่คือการเรียนรู้ชีวิตด้วยการแสวงหาจากชีวิต

4

แล้วปองภพก็เรียนอยู่ที่บ้าน

แม่ของปองภพเปิดโอกาสให้ลูกเรียนแบบ

1. เรียนจากเรื่องที่รู้แล้วสู่เรื่องที่จะรู้ต่อไป

2. เรียนจากสิ่งที่ทำได้แล้วฝึกทำสิ่งที่จะต้องทำต่อไป

3. เรียนจากเรื่องง่ายๆ  แล้วค่อยๆ ยากขึ้น

4. เรียนจากเรื่องใกล้ตัวสู้เรื่องไกลตัว

5. เรียนจากเรื่องที่เป็นรูปธรรมสู่เรื่องที่นามธรรม

6. เรียนจากเรื่องที่อยากเรียนสู่เรื่องที่ต้องเรียน

7. เรียนแบบเล่นแล้วรู้เรื่องที่ต้องเรียน

8. เรียนแบบบูรณาการ

สำหรับแกนหลักของสาระที่เรียนคือ  อ่าน เขียน  พูด  คิด ไทย  อังกฤษ  คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์  และเรียนรู้ชีวิตเพื่อชีวิตที่จะอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างสงบสุข

การเรียนรู้ชีวิตนั้นอาศัยหลักธรรมพุทธศาสนาที่ปองภพพอจะปฏิบัติได้  ซึ่งก็ปฏิบัติอยู่บ้างแล้ว  คือ  ดูจิต  แม้จะเป็นการเริ่มต้น  ฝึกหัด  ฝึกฝน ฝึกปรน ก็จะเกิดบารมีกล้าแข็งขึ้นมาได้ ดังนั้นเมื่อเด็กน้อยทำอะไรลงไป สิ่งที่เขาจะต้องทำก็คือ “ดูสิว่าดีไหม  เพราะเหตุใด”  นั่นคือปองภพต้องพิจารณาตนเอง  ว่าการกระทำนั้นดีชั่วอย่างไร เขาจะต้องบอกได้อย่างมีเหตุผลที่จะเป็นกลางไม่ใช่เข้าข้างตนเอง  นั่นคือ การฝึกหัด  ปองภพรู้จักการประเมินตนเองเป็นเบื้องต้น  ถ้าทำไปๆ บ่อยๆ  เขาก็จะเข้าใจถึงประโยชน์ของการประเมินตนเอง  เมื่อเห็นประโยชน์  เขาก็จะนำมาใช้การประเมินตนเอง  แบบนี้ถ้าเข้าถึงก็จะเห็นธัมวิจย ที่พระพุทธองค์ทรงชี้แนะให้พุทธสาวกหมั่นประพฤติปฏิบัติ  โดยการหมั่นน้อมจิตดูว่า  “คิดดี คิดร้ายอย่างไรให้รู้ รู้จนถึงที่สุด  จนจิตพัฒนาตนเอง  จากผู้คิดเห็น ผู้ดู  ผู้รู้  เมื่อจิตเป็นผู้รู้  ตรงนี้แหละ เราเรียนรู้ตนเอง โกรธรู้  ดีใจรู้  ชอบรู้ หลงรู้

  การประเมินตนเองที่ครูให้ประเมินผลการเรียน  การทำแบบฝึกหัดนั้นเป็นการประเมินภายนอก  ถ้าการประเมินนั้นมุ่งการแข่งขันก็จะยิ่งสร้างตัวกูของกูมายิ่งขึ้น  แต่ถ้าฝึกให้ผู้เรียน  น้อมใจ  เข้ามาดูจิตตนเองเนืองๆ  จิตจะลดความเป็นตัวกูของกูลงไปได้  นั่นคือผู้สอนจะต้องสอนทั้งการประเมินภายนอก(จิตใจ)  และการประเมินภายใน (จิตใจ) นั่นคือจะต้องสอนทั้งทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป  แม้จะยากก็ตามแต่จงนึกถึงคำที่ว่า  “น้ำหยดลงหินทุกวัน  หินมันยังกร่อน”

  คำถามที่ผู้สอนหรือพ่อแม่ผู้ปกครองลองถามเด็กๆ ภายหลังที่เขาทำกิจกรรมเสร็จแล้วหรือก่อนที่จะทำกิจกรรม  คือ  ทางแห่งการฝึกให้เด็กๆ  รู้จักประเมินตนเอง  เช่น ถามว่า

1. “ดีไหม  ทำไม” ถามภายหลังที่เขาทำกิจกรรมอย่างหนึ่งอย่างใดเสร็จแล้ว  เด็กอาจจะตอบว่า  ดีหรือไม่ดีก็ได้  แต่เราจะต้องถามย้ำไปว่า  ทำไม  เพื่อให้เขาใคร่ครวญหาเหตุผลมาเสริมคำตอบ  ที่ตอนแรกอาจจะตอบแบบคิดน้อยไป  ถ้าย้ำว่า ทำไม เขาจะต้องครุ่นคิดหาคำมาตอบ ยิ่งเด็กครุ่นคิดหาคำมาตอบเราได้มากเท่าไร เกณฑ์การประเมินผลจะชัดเจนยิ่งขึ้น

2. “เป็นอย่างไร  ทำไม” ถามความรู้สึกที่ผู้ประเมินจะต้องคิดตอบลึกกว่า  ดีไหม คิดละเอียดขึ้น

3. “น่าจะถูกต้องไหม” ถามให้เขาหาเหตุผลมารองรับความถูกต้องของการกระทำ  ผู้ตอบต้องอ้างกฎเกณฑ์เหตุผล  มาประกอบคำตอบที่ละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้น

4. “สิ่งที่รายงานมานั้น  มีความน่าจะเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด  รู้ได้อย่างไร”  การประเมินขั้นนี้ยากขึ้นมาอีก ผู้ตอบจะต้องมองเป็นเป้าหมายงานเห็นชัดจึงจะตอบได้ตรงประเด็น  ถามอย่างนี้ฝึกไปเรื่อยๆ  จะช่วยให้เด็กๆ มีเหตุผล  มีเป้าหมายในการสร้างงานชัดเจนขึ้น

5. “ความคิดเห็นที่แสดงออกมานี้ตรงประเด็นมากน้อยเพียงใด” ถามเพื่อฝึกให้เด็กผู้ตอบย้อนคิดถึงคำตอบของตนเอง  ตรวจสอบกับประเด็นคำถาม  ซึ่งปัจจุบันนี้เราจะพบเห็นได้ยินได้ฟังบ่อยๆ  ที่นักข่าวถามอย่างหนึ่ง  แต่ผู้ตอบตอบไปอีกอย่างหนึ่ง  ฝึกให้ผู้เรียนวันนี้รู้จักประเมินผลการตอบคำถามหรือนำเสนอเรื่องราวให้ตรงประเด็น  ฝึกให้เป็นเด็กที่ดีวันนี้  เพื่อเป็นผู้ใหญ่ที่ดีจริงๆ ในวันหน้า

การฝึกให้ผู้เรียนรู้จักประเมินตนเองจะช่วยให้เขารู้จักการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์ คิดวิพากษ์วิจารณ์  คิดสรุปผล  ประเมินค่า คิดแปรความและตีความได้ในที่สุด ซึ่งผู้ถามจะต้องฝึกถามจากคำถามให้ผู้เรียนประเมินผลเรื่องง่ายๆไปสู่เรื่องค่อยยากขึ้นๆ จากเรื่องที่รู้แล้วไปสู่เรื่องที่รู้เพิ่มขึ้นๆ ผู้สอนอย่ากลัวว่าผู้เรียนจะประเมินไม่เป็น  จงสอนวิธีการประเมินตนเองให้เขารู้จักการประเมินตนเอง โปรดสอนให้เขาเรียนรู้ทุกข์จากทุกข์ที่เขากำลังทุกข์

นี่คือการเรียนรู้ชีวิตด้วยการแสวงหาจากชีวิต

  ยังมีการประเมินตนเองอีกอย่างหนึ่งคือ  เมื่อเรียนจบการเรียนนั้นหรือกิจกรรมนั้นๆแล้ว  ควรให้ผู้เรียนประเมินว่า  “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”  และ  “มีวิธีการเรียนรู้แบบใด”  คำถามทั้ง 2ข้อนี้จะช่วยให้ผู้เรียนมองย้อยพฤติกรรมการเรียนมาตั้งแต่ต้นว่า  ตนมีพฤติกรรมต่อการแสวงหาความรู้แบบใด  เพื่อจะมาตอบว่า

1. ได้รู้ว่าการเข้าขอความรู้จากผู้รู้นั้นต้องมีสัมมาคารวะ

2. ความนอบน้อมถ่อมตนจะช่วยให้ผู้รู้เมตตาถ่ายทอดความรู้ให้เราได้มากตรงตามที่ท่านรู้

3. การหาความรู้จากสื่อสิ่งพิมพ์นั้น  ผู้เรียนจะต้องมีเป้าหมายชัด  จะต้องตั้งคำถามย่อยให้หลากหลายเพื่อค้นหาความรู้สู่เป้าหมายได้ตรงตามที่วางไว้

4. ความรู้ที่นอกเหนือจากคำถามที่วางไว้  ต้องจดบันทึกไว้ แล้วนำมาประมวลกับความรู้ที่ได้จากคำถามจะเป็นความรู้ที่รู้เพิ่ม

5. ความรู้ที่มาจากหลากหลายแหล่งเรียนรู้นั้น  ย่อมมีความเหมือนและความต่างกัน ถ้าเรารู้จักประมวลจะสามารถสร้างสรรค์ความรู้ที่ดีได้

6. ความรู้สึกต่อการเรียนรู้ครั้งนี้

  จะเห็นได้ว่า  ถ้าผู้เรียนบันทึกรายงานการเรียนรู้  โดยมีประเด็น วิธีการเรียนรู้  ความรู้สึกต่อการเรียนรู้  และ  ความรู้ที่สืบค้นมาได้  โดยมีการวิเคราะห์  แปลความ ตีความด้วยแล้วเรียบเรียงได้ดี รายงานชิ้นนี้จะเป็นเอกสารองค์ความรู้ที่น่าสนใจมาก

  รุสดี  มากา เคยเขียนบอกผลการเรียนของเขาว่า

ผมรู้แล้วว่า  ปัญหาหนึ่งๆ  ถ้าเราค้นหาคำตอบจากหลายที่จะมีข้อแตกต่างกัน  เมื่อนำสิ่งที่รู้นั้นมาเขียนเชื่อมโยงกันก็จะเป็นเรื่องราวที่น่าอ่าน  แปลกใหม่  และมีความรู้มากขึ้น  ผมชอบวิธีการเรียนอย่างนี้ครับ

เป็นคำพูดที่ถ่ายทอดเป็นลายลักษณ์อักษรแบบง่ายๆ  ซื่อๆ ตรงไปตรงมา  แต่มากด้วยคุณค่า  ผมเชื่อว่า นี่คือ  Deep knowledge ของรุสดี  นี่คือ  Enduring Understanding  ของเขา มันเป็นความฝังใจที่ฝังลึกในบึ้งจิตของรุสดี  เขาจะจดจำวิธีการเรียนรู้  เรื่องราวที่ได้เรียนรู้  และความรู้สึกลึกๆ  นั้นได้นานเท่านาน  แต่ถ้าขาดการกระตุ้นให้ผู้เรียนรำลึกถึงสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา  เขาก็จะเรียนแล้วผ่านไป  ถ้ากระตุกให้ผู้เรียนย้อนคิดถึงพฤติกรรมการเรียนและสิ่งที่เขาได้เรียนรู้มา  เขาจะต้องน้อมใจรำลึกความหลังแบบเรียกว่า  คิดถึงอดีตชาติกันเลย  การโยนิโสมนสิการ  จะช่วยให้ผู้เรียนรู้สึกและรู้สึก  รู้จริง รู้แจ้งในเรื่องนั้นๆ  ผมมองว่าการย้อนถามว่า  “ได้เรียนรู้อะไรบ้าง”  เป็นการประเมินตนเองที่ส่งผลให้เห็นถึงรากลึกของความรู้ที่ผู้เรียนได้มา  นำมาประมวลเป็นเรื่องราวบันทึกเป็นตำราเรียนของเขา  ก็จะเป็นองค์ความรู้ของเขา

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 516837เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2013 19:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 12:40 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท