เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ 1 โดย ชาตรี สำราญ


จะต้องฝึกแล้วฝึกอีกในทักษะนั้นๆ แต่เรื่องราวที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ไม่ซ้ำเรื่อง เรื่องที่ผู้สอนจะสรรหามาเล่าหรือมาให้ผู้เรียนดูต้องแปลกใหม่และเร้าใจผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดอาการอยากเรียนไม่ใช่ต้องเรียนเพราะผู้เรียนจะเรียนรู้เมื่อเขาอยากเรียนรู้

คิดว่าเป็นคำนำ

ในเวลาที่ว่างเปล่าอย่างเงียบๆอยู่ในห้องคนเดียว   มองเห็นความคิดของตนโสดเล่นไม่ขาดสาย   จึงจับมันมารวมเป็นเล่ม   “เรื่องของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ”  จึงกลายเป็นหนังสือเล่มนี้   ตั้งใจที่จะเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ตบางตอน ขณะที่ไปพักผ่อนที่นั้นที่บ้านของลูกชาย  คิดว่าบางอย่างในหนังสือเล่มนี้คงจะมีประโยชน์ต่อผู้อ่านโดยเฉพาะพ่อแม่ที่คิดจะสอนลูกที่บ้านบ้างไม่มากก็น้อย   จึงตั้งใจเขียนแต่ก็ทำได้เพียงแค่นี้แหละ

หวังไว้ว่าคงจะมีเสียงตอบรับและร่วมคิดเพิ่มอีก

  ชาตรี  สำราญ

   31 / 12 / 55

1

ใช่ครับผมกำลังเล่าเรื่องของเด็กคนนั้น เด็กคนนั้น คนที่ชื่อ ปองภพ

ผมสังเกตพฤติกรรมการเรียนของปองภพมาตั้งแต่เขาอายุ2 ขวบ (ปัจจุบัน 7 ขวบ )  ผมเห็นความน่าสนใจที่แฝงเร้นอยู่ใน ปองภพที่พอจะนำมาเล่าสู่กันฟังได้  เป็นการเรียนว่ายน้ำ ขณะที่พี่สาวทั้ง 2คนของปองภพ  ฝึกว่ายน้ำกับครูฝึกสอน   ปองภพจะนั่งดู  พอสระว่าง  ปองภพกระโดดลงไปว่ายน้ำ  เขาจมน้ำลงไปแล้วโผล่ขึ้นมา  ตระกายน้ำจนกระทั่งว่ายน้ำได้  แล้วต่อมาท่าว่ายน้ำแบบแปลกๆ  ปองภพก็คิดขึ้นมาแสดงให้พ่อแม่ที่ดูปองภพเรียนรู้การว่ายน้ำด้วยตัวของเขาเอง

ปองภพชอบดูหนังการ์ตูน  แต่การดูการ์ตูนของปองภพก็มีประโยชน์   เพราะพอดูเสร็จ ปองภพจะสรุปว่า   “ตัวนั้นเป็นตัวร้าย   ตัวนั้นเป็นตัวดี”  พอถามว่าร้ายอย่างไร   ดีอย่างไร  เขาก็จะอธิบายได้อย่างมีเหตุผล  ปองภพมีพฤติกรรมการดูเป็นที่ผมกล่าวว่า  ปองภพ ดูเป็น  นั้นเพราะลักษณะอาการหลังการดู  ปองภพแสดงให้เห็นว่า   เขาไม่ใช่เพียงแต่เป็นผู้ดู   แต่เขาดูแล้วสามารถตีความสิ่งที่ดูได้   นี่คือ   พฤติกรรมของเด็กไทยที่รัฐพึงประสงค์  รัฐได้ระบุไว้ในหลักสูตรแกนกลาง  การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ว่า

สาระที่ 3  การฟัง  การดูและการพูด ”

  มาตรฐาน ท.3.1.  สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณและพูดแสดงความรู้   

   ความคิดและความรู้สึกในโอกาสต่างๆอย่างมีวิจารณญาณและ

  สร้างสรรค์

เราจะเห็นได้ว่ารัฐมีความต้องการที่จะให้เด็กไทยเรานี้มีทักษะหรือพฤติกรรมในเรื่อง

1. สามารถเลือกฟังและดูอย่างมีวิจารณญาณ

2. สามารถพูดแสดงความรู้  ความคิด และความรู้สึกในโอกาสต่างๆอย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์

  นี่คือมาตรฐานใหญ่หรือจุดประสงค์ปลายทางที่สถานศึกษาจะต้องพัฒนาผู้เรียนที่เรียนจนจบ ม.6แล้วจะต้องมีทักษะ ความสามารถ  หรือพฤติกรรมดังกล่าวข้างตน โดยครูฝึกสอน ผู้เกี่ยวข้องต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และตัวผู้เรียนเองจะต้องฝึกฝนทักษะเหล่านี้ตามขั้นตอนของระดับชั้นเรียนที่หลักสูตรแกนกลางระบุไว้ในตัวชี้วัด แต่ละชั้นเรียน เช่น ชั้น ป.1ตัวชี้วัด   

 ตัวชี้วัด  ชั้น ป.1

1.  ฟังคำแนะนำ   คำสั่งง่ายๆ  และปฏิบัติตาม

2.  ตอบคำถามและเล่าเรื่องที่ฟังและดูทั้งที่เป็นความรู้และความบันเทิง

3.  พูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู

4.  พูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์

5.  มีมารยาทในการฟัง การดูและการพูด

เมื่อพิจารณาตัวชี้วัดนี้แล้วจะเห็นได้ว่า ครูผู้สอน ผู้ปกครอง พ่อแม่ ที่จะเป็นผู้สอนเด็กๆนั้นจะต้องเตรียมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ดังนี้

1. เตรียมคำแนะนำ คำสั่งง่ายๆเพื่อนำสอนให้ผู้เรียนฟัง ปฏิบัติตาม

2. เตรียมคำถาม  เตรียมเรื่องที่จะเล่าและดู  พร้อมคำถามและภาพประกอบเพื่อผู้เรียนฟัง แล้วตอบคำถามจากเรื่องที่ฟังและดู  ทั้งนี้คำถามและเรื่องเล่าจะต้องเป็นความรู้และความบันเทิง

3. เพื่อผู้เรียนฟังเรื่องที่เล่าพร้อมคำถามแล้วผู้สอนต้องเปิดโอกาสให้ผู้เรียนพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู

4. เตรียมประเด็นให้ผู้เรียนได้สื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์

5. เตรียมกติกามารยาทในการฟัง  การดู  และการพูด

  การที่จะฝึกให้ผู้เรียนเกิดทักษะด้านการฟัง  พูด  และดูได้จริงนั้นไม่ใช่ว่าจะเรียนเพียงครั้งสองครั้งเท่านั้นครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องจะต้องฝึกอย่างต่อเนื่องแบบ

ฝึกหัด

ฝึกฝน

ฝึกปรน

ฝึกปรือ

นั่นคือจะต้องฝึกแล้วฝึกอีกในทักษะนั้นๆ  แต่เรื่องราวที่ผู้เรียนจะเรียนรู้ไม่ซ้ำเรื่อง  เรื่องที่ผู้สอนจะสรรหามาเล่าหรือมาให้ผู้เรียนดูต้องแปลกใหม่และเร้าใจผู้เรียน ให้ผู้เรียนเกิดอาการอยากเรียนไม่ใช่ต้องเรียนเพราะผู้เรียนจะเรียนรู้เมื่อเขาอยากเรียนรู้

สิ่งที่ผู้ฝึกสอนพึงตระหนักคือ  เด็กที่เพิ่งเริ่มเรียนนั้นเขายังไม่รู้  ผู้สอนจะต้อง ฝึกให้พวกเขารู้  คือ

1. ฝึกวิธีการฟังคำแนะนำ  ฟังคำสั่งง่ายๆ  แล้วปฏิบัติตาม

2.  ฝึกการตอบคำถาม

3. ฝึกการเล่าเรื่องจากการฟังและดู

4. ฝึกการพูดแสดงความคิดเห็นและความรู้สึกจากเรื่องที่ฟังและดู

5. ฝึกการพูดสื่อสารได้ตามวัตถุประสงค์

6. ฝึกมารยาทในการฟังการดูและการพูด

จงเปิดโอกาสให้เด็กผู้เรียนพบความสำเร็จด้วยการลงมือทำ”

ปองภพประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุ2 ขวบ  ที่นั่งดูพี่สาวว่ายน้ำ  พอมีโอกาสเขาก็กระโดดลงไปว่ายน้ำด้วย   เริ่มต้นก็จมน้ำ  กินน้ำ  ตะเกียกตะกายแหวกน้ำขึ้นมา  จนในที่สุดก็ว่ายน้ำได้   ปองภพว่ายน้ำได้ด้วยการดูแล้วปฏิบัติ ดังได้กล่าวมาแต่ต้น

  นอกจากว่ายน้ำ  ปองภพ  ยังเรียนรู้จำนวนนับได้ตั้งแต่อายุ2 ขวบกว่า  วิธีการเรียนรู้ของปองภพ ตรงตามรูปแบบ Play& Learn อย่างแท้จริง

  ได้กล่าวมาแต่ต้นบทแล้วว่า ปองภพชอบดูหนังการ์ตูนและหนังสือการ์ตูน เขาดูจนจำชื่อตัวละครการ์ตูนเหล่านั้นได้  เพราะปองภพดูแล้วดูอีกดูซ้ำๆ จากแผ่น DVD และหนังสือการ์ตูน จนกระทั่งบริษัทผลิตตุ๊กตาตัวการ์ตูนเหล่านั้นมาวางจำหน่าย   ปองภพก็อยากได้  แต่การจะได้มาซึ่งตุ๊กตาเหล่านั้นไม่ง่ายสำหรับปองภพ เพราะกติกาที่พ่อแม่เขาวางไว้คือ

1. ต้องเล่าเรื่องราวของตัวละครนั้นได้

2. จะซื้อจำนวนเท่าไร  บอกให้ชัดเจน  นับให้ถูกต้อง  กติกาข้อที่ 1 ก่อนจะไปซื้อตุ๊กตา  ปองภพต้องตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องราวของตุ๊กตาแต่ละตัว  แล้วเล่าเรื่องราวนั้นๆ ให้ฟัง

คำถามที่พอจะจำได้  เช่น

1. ตุ๊กตาตัวนั้นชื่ออะไร  มีบทบาทสำคัญอย่างไร  ในเรื่องนี้ตอนนี้

2. ตุ๊กตาตัวนั้นมีนิสัยอย่างไร   ทำไมจึงบอกว่ามีนิสัยอย่างนั้น

3. ทำไมตุ๊กตาตัวนั้นจึงต้องทำอย่างนั้น

4. ถ้าตุ๊กตาตัวนั้นไม่ทำอย่างนั้น  ควรให้เขาทำอย่างไร  ทำไมจึงให้เขาทำอย่างนั้น

5. ถ้าตุ๊กตาตัวนั้นทำแบบ ปองภพ ว่ามันจะดีอย่างไร

จะเห็นได้ว่าเด็กน้อยต้องคิดแล้วคิดอีก จึงตอบคำถามได้  ถ้าตอบพลาดโอกาสได้ตุ๊กตาช้าไปอีก  และเมื่อได้ตุ๊กตามาแล้วจะต้องบอกจำนวนตุ๊กตาที่เขามีอยู่ นั้นคือปองภพต้องเรียนรู้การนับจำนวน  จากจำนวนนับตุ๊กตา  เริ่มต้นก็นับได้ 1-10พอ  จำนวนตุ๊กตาเพิ่มขึ้นจำนวนนับก็ย่อมเพิ่มขึ้นด้วย แต่ปองภพไม่เหนื่อยต่อการฝึกนับ เพราะถ้านับคล่องตอบคำถามได้ก็ได้รางวัลตัวตุ๊กตาตัวใหม่เพิ่มขึ้น   ซึ่งก่อนอายุ3 ขวบ  ปองภพมีตุ๊กตามากกว่า300 ตัว  นั่นคือเขาก็นับจำนวนได้มากขึ้น มากกว่าจำนวนตุ๊กตาที่เขามีอยู่เพราะเขาสนุกกับการเรียนรู้การนับจำนวนจากตุ๊กตา

  นอกจากนับจำนวนตุ๊กตาจาก 1-10-100 แล้ว  บรรดาตุ๊กตาเหล่านั้นสามารถนำมาสอนบวก ลบได้อีก  โดยพี่ๆ และแม่ของปองภพจะเล่นทายจำนวนตุ๊กตาที่นำมากองไว้ว่ามีกี่ตัว พอเพิ่มเข้าไปอีกจำนวนหนึ่งรอมกันจะมีกี่ตัว

  ถ้าตอบผิด  ตุ๊กตากองนั้นจะเป็นของผู้ท้าย   เริ่มจากตุ๊กตามีอยู่ 1 ตัว  เพิ่มเข้าไปอีก 1 ตัว  จะมีตุ๊กตารวมกันกี่ตัว  เล่นทายอย่างนี้บ่อยๆ  ปองภพมักจะเป็นฝ่ายชนะ  จะมีตุ๊กตาเพิ่มมากๆ  มากจนปองภพสามารถคิดบวกลบในใจได้

  นอกจากตุ๊กตาแล้ว ยังมีตัวอักษร ก-ฮ  เป็นแผ่นไพ่ใบเล็กก็นำมาเล่นเกมเรียกชื่อตัวอักษรได้เช่นกัน

  ปองภพมักจะคิดเกมแปลกๆ มาเล่น  เกมส่วนใหญ่เป็นเกมที่เขาถนัด   เขาได้เปรียบ  เล่นแล้วปองภพต้องชนะ   แม่มักจะแพ้การเล่นเกม  แต่ชนะตรงที่ลูกอ่านออก  นับจำนวนได้

  มีเกมการชี้อ่านตัวอักษร ก-ฮที่น่าสนใจเกมหนึ่ง   เมื่อจับ ไพ่ได้อักษร  ผู้จับไพ่ได้ต้องอ่านออกเสียง บ ใบไม้  แล้วนึกคำมาประกอบ  ปองภพนึกเบ็นเท็น  บ่อยๆ  บางครั้ง  แต่พอไปเล่นตัวอักษร A-Zปองภพ จับได้อักษร B  เขาจะบอกคำว่า  BEN TEN  BOY  BOW  เกมการเล่นอักษรบอกคำได้นี้  ช่วยให้ ปองภพมีบัญชีคำตุนไว้ในธนาคารความจำเขาไว้มาก   พอนำมาแต่งประโยคหรือสนทนากัน  ปองภพสามารถเข้าใจภาษาได้ไว  และต่อมาก็พัฒนาเป็นการอ่านเป็นคำๆ ได้เช่นกัน

  คุณสมบัติพิเศษของปองภพอีกอย่างหนึ่งคือ  เขามีทักษะการสังเกตดีมาก  มากพอๆ กับความจำ  ผมเคยทดลองนำตุ๊กตาของเขาไว้โดยไม่ให้เขาเห็นก่อน   แล้วเผยช่องว่างให้เห็นนิดๆ ปองภพดูแล้วบอกได้ว่าตัวอะไร   ผลทดลองบ่อยครั้งมาก เขาไม่เคยตอบพลาดเลยเมื่อให้เขาบอกเคล็ดลับ  เขาจะชี้จุดเด่น  จุดเหมือน  จุดต่างของตุ๊กตาแต่ละตัวให้เราเห็นได้ชัดเจน   การจำลักษณะของตุ๊กตาที่ปองภพนำมาใช้กับการจำตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ ปองภพสามารถบอกลักษณะเด่นของตัวละครทุกตัวในเรื่องรามเกียรติ์และแยกได้ว่า   ตัวไหนเป็นตัวดี  ตัวไหนเป็นตัวร้าย  เพราะเหตุผลใด  ปองภพชอบดูหนังเรื่องรามเกียรติ์มาก   แม้หนังสือเรื่องรามเกียรติ์ก็ชอบ  เขาจะซื้อทุกเล่มที่มีขายและสะสมการ์ตูนภาพตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ไว้ทั้งหมด ว่างๆ จะมานั่งดูแล้วบอกว่านี่ตัวอะไร  ลักษณะเด่นอยู่ตรงไหน  นิสัยอย่างไร  แล้วในที่สุดปองภพก็อ่านชื่อตัวละครเหล่านั้นได้ทุกตัว   นี่คือจุดเด่นของเขาตั้งแต่อายุ 2ขวบกว่า  แต่ปองภพมีปัญหาเรื่องเสียงเวลาเขาพูดเขาอ่านออกเสียง เสียงจะเพี้ยนเหมือนกับชาวต่างชาติเริ่มฝึกอ่าน  พูดภาษาไทย  (แพทย์บอกว่าเป็นปัญหาตรงลิ้นมีพังผืดซึ่งผ่าตัดแก้ไขได้ตอนอายุย่างเข้า7 ขวบ)

  นี่คือบางแง่มุมของเด็กคนนั้นที่ชื่อปองภพ

อ่านเป็นเล่มได้ที่ https://docs.google.com/docume...

หมายเลขบันทึก: 516833เขียนเมื่อ 19 มกราคม 2013 19:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 ตุลาคม 2018 12:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท