แลกเปลี่ยนเรียนรู้ : กรณีการมาเยือนของกัลยาณมิตร G2K และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช


การประสานงานดังกล่าว เป็นสิ่งที่ผมยึดมั่นมาโดยตลอดว่า “คนทำงาน หรือเจ้าของผลงานคือพระเอกตัวจริง” ด้วยเหตุนี้ในเวทีดังกล่าว จึงควรให้เกียรติต่อผู้คนหรือคณะทำงานได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองด้วยวิธีการของเขาเอง มากกว่าผมต้องสวมบทบาท “เด็ดยอด” นำเสนอเอง

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2556 กองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการ ร่วมกับสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน โดยกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ ได้มีโอกาสต้อนรับคณะผู้ศึกษาดูงานจากมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช จำนวน 40 รูป/คน ซึ่งเป็นนักศึกษาจากหลักสูตรพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาพระพุทธศาสนา โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน ณ วัดมหาชัย (พระอารามหลวง) อ.เมือง จ.มหาสารคาม

การมาเยือนครั้งนี้  เกิดขึ้นจากเครือข่ายการเรียนรู้ในโลกแห่ง Gotoknow.org  โดยแท้  เพราะผมได้รับการประสานจากอาจารย์ ดร.อุทัย เอกสะพัง (ยูมิ)




ลดขั้นตอนผ่านการประสานใจ


ในระหว่างการติดต่อประสานงานกับ ดร.อุทัย เอกสะพัง (ยูมิ)  ผมลดทอนขั้นตอนในระบบราชการลงเกือบทั้งกระบวนความ  เน้นการพูดคุย  ถามทักถึงเจตนารมณ์  ไม่บีบแน่นด้วยระบบเอกสารหนังสือเสียเท่าไหร่  เพราะหากรอเอกสาร  กว่าจะผ่านระบบคณะ  กว่าจะลงนาม  กว่าจะส่ง กว่าจะแฟกซ์คงใช้เวลามากโข 

ด้วยสัมพันธภาพแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่ผมไม่กังขา  ผมจึงนำเรื่องการดูงาน หรือการทัศนศึกษาเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ไปสู่การ “บอกกล่าว”   (เน้นครับว่าเป็นการบอกกล่าว หาใช่รายงาน)  ต่อผู้บังคับบัญชา  เพื่อให้รับทราบและเปิดไฟเขียวให้ผมและทีมงานได้มีโอกาสจัดกระบวนการรับรองคณะกัลยาณมิตรที่เดินทางมาจากภาคใต้

ผมว่านี่แหละคือผลพวงแห่งการพบพานกันในโลกของการเรียนรู้ (G2K)  ที่ผมเคยพร่ำพูดว่า “ไม่ใช่ญาติก็เหมือนญาติขาดไม่ได้”  มิอะไรก็แบ่งปัน เกื้อหนุน ไปมาหาสู่ทั้งโดยถ้อยคำอักษรใน Blog  และการเยี่ยมเยียนแบบ “ตัวต่อตัว” ผ่านมิติแห่งวาระต่างๆ



ดร.อุทัย เอกสะพัง (ยูมิ



ประสานงานเครือข่าย “พระเอกตัวจริง”



ดร.อุทัย เอกสะพัง (ยูมิ)  สื่อสารถึงประเด็นการศึกษาดูงานครั้งนี้   โดยพุ่งประเด็นไปสู่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเรื่อง “วิถีพุทธกับวัฒนธรรมอีสาน”  ซึ่งกำหนดให้ผมเป็นผู้บรรยาย  หรือนำเสนอข้อมูล ผ่านกลไกของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

นอกจากนั้นยังรวมถึงการประสงค์จะพูดคุยในเรื่องระบบการเรียนการสอนในแบบบูรณาการที่ผมรับผิดชอบ   นั่นก็คือโครงการ 1 หลักสูตร 1 ชุมชน และ 1 คณะ 1 ชุมชน  อันเป็นมิติใหม่ของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่ปฏิรูปการเรียนการสอนผ่าน “ภารกิจหลัก 4 ประการ”  (4 In 1)   คือ สอน วิจัย บริการวิชาการและทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม

แต่เพื่อประโยชน์อันสูงสุดของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้  ผมตัดสินใจประสานงานไปยัง ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา (รองผู้อำนวยการสถาบันศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน)  เพื่อหารือในกระบวนการที่เกี่ยวข้อง


  


ครับ, นี่เป็นอีกครั้งของการทำงานร่วมกับเครือข่ายในแบบกึ่งทางการ  ไม่ติดยึดกับระบบมากมายจนทำงานกันลำบาก  ซึ่งที่สุดแล้วก็เข้าหารือเป็นการภายในร่วมกับ รศ.วีณา วีสเพ็ญ   (ผู้เชี่ยวชาญพิเศษในด้านการอนุรักษ์เอกสารโบราณฯ) และคณะทำงานในกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ  เพื่อจัดวางรูปแบบและจัดแต่งทีมงานในแบบ “ร่วมด้วยช่วยกัน”

ผมตัดสินใจเลือกประสานกับคณะทำงานชุดนี้  เพราะเห็นผลงานเชิงประจักษ์อันยิ่งใหญ่ในการขับเคลื่อนแหล่งเรียนรู้ในวัดมหาชัย  (อารามหลวง)  ผ่านโครงการ 1 คณะ 1 ชุมชน  ซึ่งหนุนเสริมให้พิพิธภัณฑ์คัมภีร์โบราณพระอริยานุวัตรเขมจารีนุสรณ์เป็นรูปธรรมและทรงพลังอย่างใหญ่หลวงต่อการเป็นแหล่งรวม “มรดกวัฒนธรรมของชาวอีสาน”  ในมิติของคัมภีร์ใบลาน   โดยโครงการดังกล่าวได้ขับเคลื่อนต่อเนื่องมาเป็นระยะๆ มีกระบวนการนำชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง  เพื่อวางรากฐานให้เกิดแหล่งเรียนรู้ที่เข้มแข็ง ครบมิติทั้ง “บ้าน-วัด-โรงเรียน”  (บวร)





ครับ, การประสานงานดังกล่าว   เป็นสิ่งที่ผมยึดมั่นมาโดยตลอดว่า  “คนทำงาน  หรือเจ้าของผลงานคือพระเอกตัวจริง” ด้วยเหตุนี้ในเวทีดังกล่าว  จึงควรให้เกียรติต่อผู้คน  หรือคณะทำงานได้บอกเล่าเรื่องราวของตัวเองผ่านวิธีการของเขาเอง   มากกว่าผมต้องสวมบทบาท “เด็ดยอด”  นำเสนอเอง  ซึ่งวิธีคิดและวิธีการเช่นนี้  ผมว่าไม่เหมาะไม่ควร และไม่ควรสร้างให้เกิดเป็นวัฒนธรรมในองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยเด็ดขาด


ชวนกองส่งเสริมวิจัยไปหนุนเสริมและติดตามภารกิจของตัวเอง


หลังประสานงานกับคณะทำงานในสังกัดกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณ สถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน  ผมได้นำเรื่องกลับมายังกองส่งเสริมการวิจัยและบริการวิชาการอีกครั้ง  เพื่อมอบหมายภารกิจในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

แน่นนอนครับ  ผมไม่ได้เจาะจงแต่เฉพาะภารกิจประจำที่เกี่ยวกับการต้อนรับขับสู้เท่านั้น  แต่ยังชวนให้นำเอกสาร วารสาร และนิทรรศการไปจัดแสดง  รวมถึงจัดเตรียมหนังสือ หรือแม้แต่วารสารต่างๆ  ส่งมอบเป็นของที่ระลึก  เพราะสิ่งเหล่านี้คือคลังความรู้ที่สามารถนำไปขยายผลต่อได้ 

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือการที่ผมบอกเล่าในทำนองว่า  นี่เป็นโอกาสอันดีที่เราจะได้ลงพื้นที่ไปดูผลงานที่เราได้ส่งเสริมและสนับสนุนให้แต่ละหลักสูตรได้ไปขับเคลื่อนร่วมกับชุมชน  มิใช่เรานั่งนิ่งอยู่แต่ในห้องทำงาน   แต่ไม่เคยไปเรียนรู้เลยว่า 

“...เขาทำอะไร อย่างไร ได้ผลแค่ไหน เกิดปรากฏการณ์เรียนรู้แบบมีส่วนร่วมระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชนอย่างไร...”





ครับ,ผมพยายามสื่อสารอย่างสุภาพ  เพื่อปลุกเร้าให้แต่ละคนเห็นความสำคัญของ “ภารกิจและพันธกิจ” ควบคู่กันไป  พร้อมๆ กับการปลุกเร้าให้เกิดความกระหายในการที่จะไปเรียนรู้ผ่านการ “เห็นจริง สัมผัสจริง”  ไม่ใช่รอเรียนรู้จากเอกสารที่แต่ละหลักสูตรส่งกลับมาตามระบบกติกาที่เราได้ตั้งไว้   เนื่องจากบางทีเอกสารที่ส่งกลับมา ก็ไม่อาจสะท้อนความรู้ได้ชัดนัก  เพราะประสบปัญหาในหลายเรื่องเช่น  การเขียน  การจัดเก็บข้อมูล เป็นต้น

และนอกจากนั้นผมยังสื่อสารในทำนองว่า  

“...การไปดูผลงานเหล่านั้น  จะทำให้เรารู้ว่ามีอะไรขาดตกบกพร่องพอที่จะนำกลับมาขยายผล หรือหนุนเสริมให้แต่ละหลักสูตรได้กลับไปสร้างกระบวนการต่อยอดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น...”

ครับ,  จริงๆ ก็เหมือนการไปเก็บข้อมูล สำรวจข้อมูล  เพื่อนำกลับมาสร้างฐานข้อมูลดีๆ นั่นเอง








แลกเปลี่ยนเรียนรู้ ดูงาน เบิกบานการโสเหล่


กิจกรรมการศึกษาดูงาน (แลกเปลี่ยนเรียนรู้)  เริ่มต้นจากการเข้าเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์คัมภีร์โบราณพระอริยานุวัตรเขมจารีนุสรณ์  เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงมรดกทางวรรณกรรมอันทรงคุณค่าที่บันทึกเรื่องราวและคลังปัญญาต่างๆ ไว้ในคัมภีร์ใบลานผ่านการจัดเก็บ ชำระ ปริวรรต จัดแสดง เผยแพร่เป็นหมวดหมู่  อาทิ  วรรณกรรมอีสาน  ตำรายา  โหราศาสตร์   ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น   โดยใช้วิทยากรนำเยี่ยมชมแบบบูรณาการทั้งจากทางวัดและบุคลากรของกลุ่มงานอนุรักษ์เอกสารโบราณฯ

การเยี่ยมชมดังกล่าว ก่อเกิดความเบิกบาน แช่มชื่น  มีการบอกเล่าผสมผสานกับการซักถามอย่างเป็นกันเอง  มีการเชื่อมโยงถึง "คติชนวิทยา"  ที่ยึดโยงอยู่ในกระบวนการจัดเก็บคัมภีร์โบราณด้วยการใช้ “ผ้าถุง” มาเป็นผ้าห่อคัมภีร์  รวมถึงการที่ผู้หญิงตัดผมของตนเองมาใช้เป็นเชือกมัดคัมภีร์โบราณ-



 พระเทพสิทธาจารย์  : เจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม


ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม


เสร็จจากนั้นก็กลับมาเปิดวงโสเหล่กันที่ศาลารับรอง  โดยเริ่มจากการที่ พระเทพสิทธาจารย์ เจ้าอาวาสวัดมหาชัย ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม  ให้โอวาทและร่วมเป็นองค์ประธานเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขณะที่ ผศ.ดร.ราชันย์ นิลวรรณาภา ได้เป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยฯ  นำเสนข้อมูลการดำเนินงานที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์เอกสารโบราณที่เชื่อมโยงกับวิถีพุทธสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนอีสาน  สลับกับการเปิดประเด็นซักถาม หรือแม้แต่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย

กระทั่งในตอนท้าย  ผมได้นำวีดีทัศน์มาเปิดให้ได้ดูชมกันสั้นๆ   เป็นเรื่องราวการสร้างบ้านดินอบสมุนไพร ณ วัดมหาผล (ชุมชนท่าขอนยาง)  อันเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อน 1 หลักสูตร 1 ชุมชนของคณะวิศวกรรมศาสตร์  ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า “วัด” ยังคงเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลง



  



สรุป


นี่คือผลพวงเล็กๆ ของการเรียนรู้ร่วมกันอย่างไร้พรมแดนผ่านอานิสงส์ของการเป็นสมาชิกของ G2K อย่างไม่ผิดเพี้ยน

  “...ไกลแสนไกลแค่ไหน ก็หาใช่เป็นอุปสรรคของการแบ่งปัน เกื้อกูลต่อกัน...”

และนี่คือผลพวงของการทำงานหนักของมหาวิทยาลัยมหาสารคามที่มุ่งปฏิรูปการเรียนการสอนผ่านแนวคิดของการบูรณาการภารกิจ 4 In 1 โดยมีงานบริการวิชาการและงานทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม   (1 หลักสูตร 1 ชุมชน, 1 คณะ 1 ชุมชน)  เป็นตัวขับเคลื่อน




สำหรับผมแล้ว  ผมมีความสุขอย่างมหาศาลกับการได้เป็นส่วนหนึ่งในการทำหน้าที่เชื่อมโยงการเรียนรู้ดังกล่าว  ไม่เสียใจที่แทนที่จะพูด หรือบรรยายเอง แต่ยกเครดิตให้ “พระเอกตัวจริง”  ได้บอกเล่าเรื่องราวของเขาเอง

และมีความสุขอย่างยิ่งใหญ่  เมื่อทราบว่าคณะผู้ศึกษาดูงานหลาย่อหลายรูป/ท่าน  อยากกลับไปพลิกฟื้นเรื่องอักษรธรรม หรืออักษรโบราณในท้องถิ่น หรือแม้แต่การพลิกฟื้นให้วัดได้กลับมาเป็น "ศูนย์การเรียนรู้"  ของ "ชุมชน"  เฉกเช่นที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามกำลังดำเนินการอย่างไม่ลดละอยู่ในขณะนี้


หมายเลขบันทึก: 516695เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2013 11:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มกราคม 2013 13:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

ว้าว ! ท่านอาจารยยูมิ ไปอยู่ที่นั่น ;)...

ผมกอด อ.ยูมิ  เผื่อ อ.วัส แล้วนะครับ

สวัสดีค่ะพี่พนัส

ทำงานกับพระ สุขทั้งกาย สุขทั้งใจใช่ไหมคะ

เป็นบูรณาการเรียนรู้ที่เป็นแบบอย่างค่ะ..

เบื้องหลังตัวจริง

สวัสดีครับ  คุณแผ่นดิน

ผมมาอยู่เมืองปักษ์ใต้เรียบร้อยแล้ว  แวบเข้ามาขอบคุณในทุกสิ่งที่ทำให้การเดินทางท่องไปในอีสานได้รับความรู้ประทับใจของมวลนิสิตที่ได้ไปเยือนครับผม

ด้วยความปรารถนาดี

จาก...ยูมิ

อิ่มบุญ อิ่มใจ อิ่มความรู้ อิ่มมิตรภาพ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท