ชีวิตที่พอเพียง: ๑๗๓๐.เด็กกับผู้ใหญ่เป็นโรคเดียวกัน


ชีวิตที่มีปัจจัยสี่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตมากเกินพอดี เป็นชีวิตที่ไม่ดีดังกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กและที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในสมัยนี้


           หลังจากไตร่ตรองเป็นเวลานาน ผมสรุปกับตนเองว่าในยุคปัจจุบันเด็กกับผู้ใหญ่เป็นโรคเดียวกันคือ โรคอันเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ มีปัจจัยเพื่อการดำรงชีวิตมากเกินพอ

          ชีวิตที่มีปัจจัยสี่ และสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตมากเกินพอดี เป็นชีวิตที่ไม่ดีดังกรณีที่เกิดขึ้นกับเด็กและที่เกิดขึ้นกับผู้ใหญ่ในสมัยนี้

          เด็กเติบโตทางสมองจากสิ่งเร้าที่อยู่โดยรอบตัว และจากปฏิสัมพันธ์กับสิ่งเร้าเหล่านั้น สมัยผมเป็นเด็กเมื่อ ๗๐ ปี มาแล้ว สิ่งเร้าเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากในครอบครัวและจากเพื่อนบ้านโดยรอบ สิ่งเร้าที่เด็กต้องการคือการเล่นและของเล่น  เด็กสมัยผมจะเล่นอะไรส่วนใหญ่ต้องทำเองหรือต้องใช้ความพยายาม เช่น จะเล่นหมากเก็บก็ต้องไปหาก้อนหินขนาดพอเหมาะ ๕ ก้อน เอามาฝนลบเหลี่ยมหรือให้เกือบกลม  จะเล่นว่าวก็ต้องทำว่าวเอง หรือช่วยกันทำ ทำกับผู้ใหญ่ใช้เวลาหลายวันกว่าจะได้ว่าว เพราะต้องเริ่มตั้งแต่ไปตัดไม้ไผ่จากกอ เลือกลำที่แก่พอดีเอามาเหลาโครงว่าวฯลฯ เด็กสมัยผมจึงโชคดีได้เรียนรู้จากการลงมือทำ โดยความจำเป็นบังคับและถูกฝึกให้อดทนรู้จักรอเพราะความขาดแคลน

          เด็กสมัยนี้โชคไม่ดีเกิดมาในสภาพสังคมที่มีวัตถุสิ่งของมากมาย อยากได้อะไรก็ขอให้ผู้ใหญ่ใช้เงินซื้อ ไม่ต้องรอ ไม่ได้ฝึกการรอหรือความอดทน

          สิ่งที่มีมากเกินพอดีสำหรับเด็กสมัยนี้ คือ สิ่งเร้าเพื่อการเจริญเติบโตของสมอง มีทั้งทีวี เกมคอมพิวเตอร์ เกมออนไลน์อินเทอร์เน็ตโซเชี่ยลมีเดียฯลฯมีทั้งกระตุ้นสมองส่วนดี และกระตุ้นสมองส่วนร้าย  แต่เด็กสมัยนี้โชคไม่ดีสิ่งเร้าส่วนใหญ่กระตุ้นสมองส่วนร้าย

          ผู้ใหญ่สมัยนี้ก็เป็นโรคที่เกิดจากความอุดมสมบูรณ์เกินความพอดีเช่นเดียวกัน ทำให้เป็นโรคที่เกิดจากลีลาชีวิตที่ไม่เหมาะสม คือขาดการออกกำลังกาย กินอาหารมากเกินทำให้สุขภาพไม่ดี เป็นโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน  ความดันโลหิตสูง  หลอดเลือดหัวใจ  หลอดเลือดสมอง

          จากการที่โลกมนุษย์ผลิตสินค้าได้มากเกินความต้องการ และเราใช้ระบบเศรษฐกิจทุนนิยม บริโภคนิยมจึงใช้กลไกตลาดกระตุ้นการบริโภคเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว  การบริโภคที่เกินพอดีก่อความทุกข์ตามมาในระยะยาว  ก่อความอ่อนแอทางสมอง (ปัญญา) ให้แก่เด็กและเยาวชนก่อความอ่อนแอทางร่างกาย (และจิตใจ) แก่คนที่เป็นผู้ใหญ่

          ผมมองโลกในแง่ร้ายเกินไปหรือเปล่า



วิจารณ์   พานิช

๒๒ ธ.ค.๕๕



หมายเลขบันทึก: 516536เขียนเมื่อ 17 มกราคม 2013 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 มกราคม 2013 09:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยมากเลยครับอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท