การดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (End of life care)


   เมื่อวันพุธที่ 9 มกราคม 2556 ดิฉันได้มีโอกาสได้ฟังบรรยายเรื่องการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยอาจารย์รัชณีย์ ป้อมทอง จึงอยากนำมาแบ่งปันข้อมูลให้ทุกๆท่านได้ทราบกันโดยมีเนื้อหาดังนี้

  ผู้ป่วยระยะสุดท้าย หมายถึงผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าสภาวะของการป่วยไข้เป็นระยะลุกลาม เรื้อรัง หรือเป็นการป่วยไข้ที่เข้าสู่ระยะท้ายๆของโรค ซึ่งไม่มีวิธีรักษาให้หายได้ อาจป่วยด้วยโรคทางกายหรือทางจิตใจ

  การดูแลแบบประคับประคอง(Palliative care) ตามองค์การอนามัยโลก(WHO)ได้กล่าวถึงความหมายและคำนิยามของการดูแลแบบประคับประคองไว้ดังนี้

   -  บรรเทาอาการปวดและอื่นๆ

   -  การดำเนินชีวิตและความตายเป็นไปอย่างธรรมชาติ

   -  ไม่เร่งหรือเหนี่ยวรั้งการเสียชีวิต

   -  มีการดูแลด้านจิตใจและจิตวิญญาณร่วมกับด้านกาย

   -  สามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่ระยะแรกที่ป่วย

   -  แพทย์วินิจฉัยแล้วว่าไม่สามารถรักษาได้แล้ว

   -  มีการช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุขมากที่สุดเท่าที่จะทได้

   -  ช่วยเหลือครอบครัวผู้ป่วยในการรับมือสิ่งต่างๆ

  -  ให้มีทีมงานเข้าค้นหาถึงความต้องการต่างๆของผู้ป่วย ครอบครัว ช่วยให้คำปรึกษา

เป้าหมายของการดูแลรักษาผู้ป่วยใกล้เสียชีวิต

1.  ช่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

2.  บรรเทาอาการทุกข์ทรมาต่างๆทั้งร่างกายและจิตใจ

3.  ช่วยให้ปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงและความสูญเสียต่างๆ

4.  ช่วยให้ได้ทำภารกิจต่างๆที่ยังห่วงกังวลให้สำเร็จ เช่นเคยไปสัญญากับบุคคลอื่นๆไว้ก็ให้ทำให้สำเร็จ

5.  ช่วยให้เสียชีวิตอย่างสมศักดืศรีของความเป็นมนุษย์ โดยมีความทุกข์ทรมานน้อยที่สุด

เสียชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีคืออะไร?

  คือการที่ไม่ปล่อยให้ผู้ป่วยทรมาน มีการปกปิดคนไข้ในที่นี้ไม่ใช่การปกปิดข้อมูลหรือความลับใดๆ แต่เป็นการปกปิดร่างกายขณะทำการเช็ดตัวโดยเช็ดทีละส่วนก็เปิดทีละส่วนไม่ใช่เปิดทั้งหมด เคารพศักดิ์ศรีผู้ป่วย ใจเขาใจเรา

  การเสียชีวิตอย่างไม่สมศักดิ์ศรีคือการที่ทำให้ผู้ป่วยเจ็บป่วยอย่างทรมานโดยที่ไม่มีใครเข้าไปดูแล การไม่เคารพศักดิ์ศรีของผู้ป่วย

หลักจริยธรรมทางการแพทย์ 4 ประการ  ที่จะต้องคำนึงถึง

   -  ประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วย

   -  ไม่เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยทั้งด้านร่างกายและจิตใจ

   -  เคารพการตัดสินใจของผู้ป่วย การยอมรับสิทธิผู้ป่วยที่จะตัดสินใจ

   -  ความยุติธรรม โดยไม่คำนึงถึงฐานะทางเศรษฐกิจ ชนชั้นทางสังคมและความเชื่อ

การแสดงเจตนาเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล(Living Will)

  ในมาตรา 12 ของพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ ได้บัญญัติไว้ว่า

มาตรา 12 บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับการบริการสาธารณสุขที่เป็นไปเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายชีวิตของตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกระทรวง เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนาของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง”

มาตรานี้จะรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองที่ขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ประสงค์จะยืดการตายด้วยการใช้เทคโนโลยีต่างๆ

ประโยชน์ในการทำหนังสือแสดงเจตนา มีดังต่อไปนี้

1.  ลดความขัดแย้งในการวางแผนการรักษา

2.  ผู้ป่วยไม่ทุกข์ทรมานจากการใช้อุปกรณ์การแพทย์

3.  ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

4.  ผู้ป่วยได้มีโอกาสได้ร่ำลาคนใกล้ชิด

5.  ผู้ป่วยได้ทำในสิ่งที่ตั้งใจไว้

กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการตายดี (Good Death) มีดังต่อไปนี้

1.  ความตายเป็นเรื่องธรรมชาติ

2.  มีการวางแผนการตาย

3.  มีความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว

4.  ปล่อยวางสิ่งที่ค้างคาใจ เช่นการอโหสิกรรม

5.  ยอมรับความทุกข์ทรมานได้อย่างสงบ

6.  ไม่ยืดชีวิตโดยวิธีทางการแพทย์

7.  มีสันติสุขจากความตาย

การเรียนรู้กับความตายคือการปรับทัศนคติในการใช้ชีวิตอย่างไม่ประมาท ทำความเข้าใจและยอมรับความตายพร้อมกับสร้างบรรยากาศของสงบและการปล่อยวาง



   จากการฟังบรรยายตามเนื้อหาข้างต้น ดิฉันลองมองในมุมมองของนักศึกษากิจกรรมบำบัด ดิฉันคิดว่าการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายนั้นไม่ใช่เพียงแค่ดูแลทางด้านร่างกายเท่านั้น ควรดูแลทางด้านจิตใจด้วยเพราะผู้ป่วยระยะสุดท้ายเขาต้องการกำลังใจ และไม่ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าถูกทอดทิ้งเพราะนั่นจะทำให้ผู้ป่วยยิ่งรู้สึกว่าตนเองมีคุณค่าลดลง ควรรับฟังสิ่งที่เขาแสดงหรือพูดออกมา หรือถ้าผู้ป่วยไม่สามารถสื่อสารได้ดีมากนัก การสื่อสารแบบไม่ใช้คำพูดโดยการสัมผัสหรือจับมือผู้ป่วยเบาๆให้ผู้ป่วยรู้ว่ายังมีเราอยู่ข้างๆ คอยเป็นกำลังใจให้เสมอ

  ในการดูแลคนๆหนึ่งเราจะทำงานกับแบบสหวิชาชีพ ตั้งแต่แพทย์และพยาบาลที่ทำการรักษาเรื่องโรคและอาการต่างๆ แต่ถ้าครอบครัวมีปัญหาในเรื่องเศรษฐานะผู้ที่มีบทบาทก็คือนักสังคมสงเคราะห์ที่จะเข้ามาช่วยเหลือ ส่วนนักกิจกรรมบำบัดจะให้การช่วยเหลือ, คำแนะนำและคำปรึกษากับผู้ป่วยรวมถึงญาติอีกด้วย ดูแลทางด้านจิตใจของญาติทั้งก่อนและหลังที่ผู้ป่วยเสียชีวิต การทราบเกี่ยวกับความเชื่อ ความต้องการของผู้ป่วย บริบทต่างๆ วัฒนธรรม ประเพณี ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อมต่างๆที่เกี่ยวข้องนั้นถือว่ามีความสำคัญมาก อย่างเช่นผู้ป่วยมีความต้องการที่จะตักบาตรแต่ไม่สามารถไปวัดได้ ทางนักกิจกรรมบำบัดควรทำการปรับให้มีการตักบาตรที่บ้าน นิมนต์พระสงฆ์มาที่บ้าน นอกจากจะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขแล้วทางนักกิจกรรมบำบัดยังได้ยึดหลักClient-center อีกด้วยโดยดูถึงความต้องการของผู้ป่วย อีกอย่างศาสนาถือว่าเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจได้ดีอีกด้วย

   นอกจากนี้คือการให้ผู้ป่วยและญาติเข้าใจและยอมรับถึงความตายที่จะมาถึง ดิฉันเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่ยากมากๆเมื่อเราจะเห็นคนที่เรารักจากไปแบบไม่มีวันกลับ แต่ความตายก็เป็นเรื่องธรรมชาติทุกคนเกิดมาก็ต้องตาย ร่างกายเราเมื่อยิ่งมีอายุที่มากขึ้นมันก็ยิ่งเสื่อมถอยยิ่งแย่ลงไม่ดีเหมือยวัยหนุ่มสาว ดังนั้นผู้ที่จะคอยเป็นกำลังใจให้กับผู้ป่วยและญาติได้ดีที่สุดนั้นก็คือเรานักกิจกรรมบำบัดนั้นเอง

   ดิฉันเชื่อว่าความตายนั่นใกล้ตัวมากๆ เราไม่รู้ว่าวันไหนจะเกิดอะไรขึ้นกับเรา พรุ่งนี้เรายังจะตื่นขึ้นมาอีกหรือไม่ ดังนั้นเราควรทำในสิ่งที่อยากทำ เช่นบอกรักพ่อแม่ ญาติพี่น้อง คนรอบข้าง ถ้าเรามีปัญหาหรือมีความรู้สึกที่ไม่ดีกับใครก็ควรทำความเข้าใจกัน คิดว่าวันนี้เป็นวันสุดท้ายของเราอยู่เสมอ ทำวันนี้ให้ดีที่สุด ใช้ชีวิตบนความไม่ประมาทนะคะ


หมายเลขบันทึก: 516305เขียนเมื่อ 15 มกราคม 2013 00:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มกราคม 2013 00:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

-สวัสดีครับ..

-เป็นบทความที่ดีมาก  ๆ

-อ่านแล้วทำให้มีสติในการใช้ชีวิตให้มากขึ้นครับ..

-การให้เกียรติซึ่งกันและกันไม่ว่าจะเป็นคนปกติหรือผู้ป่วยนับว่าสำคัญที่สุดครับ.

-ขอบคุณครับ

ขอบคุณอาจารย์ป๊อปและ Cops กิจกรรมบำบัดที่ให้ความสนใจเรื่อง "Good death" คะ  หากเราเข้าใจว่าการเสียชีวิตเป็นหน้าที่หนึ่งของมนุษย์  เราควรปฎิบัติหน้าที่นี้อย่างมีศักดิ์ศรี ดังในบทความนี้ ทัศนะต่อ ความตาย คงเปลี่ยนไปในทางที่ถูกต้องยิ่งขึ้น..ขอบคุณคะ

บทความนี้จะไม่มีใครรับทราบได้ถึงความหมาย อันมีค่ายิ่ง แห่งการนำไปใช้จริง

เพราะดิฉันเสียแม่ไปได้เกือบหนึ่งปี   ดีใจที่ในวาระสุดท้าย เราได้ทำดีที่สุด

ให้กับผู้มีพระคุณยิ่งของเรา

การคิดถึงความตายไว้บ้าง จะช่วยให้เราทำใจได้เร็วขึ้นหากมีการสูญเสียกับเราและครอบครัว

ตอนนี้ไม่กลัวและเข้าใจได้ดียิ่งขึ้นว่า คนเราเกิดมาต้องตายด้วยกันทุกคน


ขอบคุณบทความีดีนี้ค่ะ

เคยอ่านบทความจากการสัมภาษณ์ผู้ป่วยระยะสุดท้ายในสหรัฐอเมริกา บอกว่าสามสิ่งที่ผู้ป่วยเหล่านั้นเสียใจที่ไม่ได้ทำคือ การขอโทษคนที่เราทำผิดต่อ การบอกรักคนที่เรารัก และการทำในสิ่งที่เรารัก

มีความสุขในทุกวันค่ะ

อินทรลิลาตฉันท์ ๑๑

....เฝ้าไข้ ผละซึ่งสุข...............ระทมทุกข์ กระนั้นฤๅ
จริงแท้ กุศลคือ......................ตระหนักซึ้ง สงบใจ

....เห็นธรรม ประจักษ์แจ้ง.......อนิจแฝง แสดงไว้
ตัวตน สิของใคร......................ฤ สั่งได้ สหายเมิล

เมิล ก. ดู. (ข.).
เมิน ก. เบือนหน้าหนี, ไม่ยอมดู, ไม่ยอมแล.


พินัยกรรม ชีวิต (Living Will) (ร่ายสุภาพ)

....พินัยกรรม ชีวิต...............คือสิทธิ์ อันชอบธรรม
ชี้นำ ความประสงค์.............เจาะจง ยามเจ็บหนัก
ผู้อื่นจัก รักษา...................ดูแลข้าฯ อย่างไร !
ใช่ปล่อย รอวันดับ..............หลับไร้ จิตวิญญาณ
พันธนาการ รุงรัง................ยังชีพ ด้วยเครื่องมือ
เพียงเพื่อยื้อ เวลา..............เช่นฆ่า ความเป็น"คน"
จึ่งเตรียมตน พรักพร้อม.......กายจิตสงบ นอบน้อม
ตระหนักแจ้ง "ธรรมดา"

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท