เมื่อกิจกรรมนอกชั้นเรียน (นอกหลักสูตร) ขยับสู่การบริการวิชาการและทะยานสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น


โดยส่วนตัวแล้ว ผมศรัทธาต่อกระบวนการเรียนรู้เสมอ ไม่จำกัดเฉพาะแต่ “การวิจัย” เท่านั้น แต่การพยายามที่จะผลักดันให้กิจกรรมนอกชั้นเรียนของนิสิต (องค์กรนิสิต) ขึ้นสู่การเป็นงานบริการวิชาการ หรือแม้แต่การวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น ผมมีเหตุผลมากมายก่ายกอง แต่ที่แน่ๆ ผมต้องการสื่อสารให้มหาวิทยาลัยได้รับรู้ว่าการงานของนิสิตนั้น มีพลังและมีคุณค่าไม่แพ้การบริการวิชาการของหลักสูตรในสาขาต่างๆ

ทำงานด้านกิจการนิสิตมาร่วม 15 ปี 
ปีล่าสุดผันตัวเองมาร่วมขับเคลื่อนกิจกรรม “1 หลักสูตร 1 ชุมชน”  เพื่อเติมศักยภาพตัวเองในมิติใหม่ๆ ภายใต้การทำงานร่วมกับชุมชน  อันเป็นกระบวนการที่ผมหลังรักและศรัทธาต่อการเรียนรู้  และนั่นยังรวมถึงการนำกิจกรรมนอกชั้นเรียน  (กิจกรรมนอกหลักสูตร)  เข้าสู่การเรียนการสอนในชั้นเรียน (กิจกรรมในหลักสูตร)

กรณีดังกล่าว เมื่อพิจารณาย้อนหลังไปร่วม  10  ปี  ผมเคยบุกเบิกกิจกรรมนอกชั้นเรียนสู่ชุมชนอย่างชัดแจ้งในชื่อ “มมส ร่วมใจห่วงใยชุมชน”  จนล่าสุดเมื่อปี 2553  กิจกรรมดังกล่าวเป็นที่รู้จักมากขึ้นในชื่อ “1 คณะ 1 หมู่บ้าน”  และถัดจากนั้นมหาวิทยาลัยฯ ได้ประกาศนโยบายการบริการวิชาการแก่สังคมในชื่อ “1 คณะ 1 ชุมชน” และขยับมาสู่ “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” ตามลำดับ






กิจกรรมนอกชั้นเรียนสู่การบริการวิชาการ “1 ชมรม 1 ชุมชน”


ในปี 2555  ถึงแม้ผมจะห่างเหินจากด้านกิจการนิสิต หรือพัฒนานิสิตอยู่มาก  แต่ผมก็มิได้ละวาง “ความฝัน” ที่จะยกระดับกิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิตขึ้นเคียงบ่าเคียงไหล่ในเวทีเดียวกับกิจกรรมการบริการวิชาการแก่สังคมเลยแม้แต่สักนิด  

ตรงกันข้ามกลับพยายามผลักดันให้เกิด “1 ชมรม 1 ชุมชน”  ด้วยการสนับสนุนงบประมาณให้ชมรมต่างๆ ได้จัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่มกับชุมชน ภายใต้แนวคิด “เรียนรู้คู่บริการ”  จนสำเร็จ  มีองค์กรนิสิตเข้าร่วมจำนวนกว่า 40 องค์กร


ภายใต้แนวคิดเช่นนั้น  ผมเน้นกระบวนการเรียนรู้แบบ “มีส่วนร่วม”  อันหมายถึงระหว่าง “นิสิตกับชุมชน”  โดยใช้การจัดการความรู้ (KM)  เป็นหัวใจ หรือกลไกในการขับเคลื่อนร่วมกัน ทั้งในมิตินิสิตกับนิสิต ชาวบ้านกับชาวบ้าน และระหว่างนิสิตกับชาวบ้าน  ผ่านกิจกรรมแบบบูรณาการ  เช่น นำศักยภาพของชมรมไปจัดกิจกรรมเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับชาวบ้าน  (เรียนรู้คู่บริการ)  มีการจัดเก็บข้อมูลชุมชน (ทุนทางสังคม) จัดทำเป็นรูปเล่มให้เป็นปัจจุบัน  วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อนของทุนทางสังคม  พร้อมๆ กับการเขียนเรื่องเล่าเร้าพลัง เพื่อบันทึกเป็น “จดหมายเหตุ”  ขององค์กรว่า “นิสิตทำอะไร อย่างไร พบอะไร ได้อะไร สำเร็จ หรือล้มเหลวอย่างไร ...เกิดการเติบโต หรือเปลี่ยนแปลงในตัวเองอย่างไร”


ครับ-ส่วนชุมชน ก็หนีไม่พ้นในการตั้งคำถามและหาคำตอบเช่นเดียวกับนิสิต  เพียงแต่ ผม หรือแม้แต่นิสิต ถนอมท่าทีในการที่จะตั้งคำถามเช่นนั้นกับชุมชน –





กิจกรรมนอกชั้นเรียนสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น


ภายหลังการขับเคลื่อนกิจกรรม “1 ชมรม 1 ชุมชน”  ครบวาระ  บทเรียนหรือชุดบทเรียนบางอย่างแจ่มชัดขึ้นอย่างเห็นได้ชัด  โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพของนิสิตและชุมชนแบบมีส่วนร่วมบนฐานวัฒนธรรมชุมชนรอบมหาวิทยาลัยฯ (เทศบาลตำบลขามเรียง อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม)

ด้วยเหตุนี้ผมจึงพยายามผลักดันกิจกรรมนอกหลักสูตรขององค์กรนิสิตสู่การเป็น “งานวิจัย”  อย่างเป็นรูปธรรม  โดยเน้นประเด็นของการค้นหารูปแบบการจัดกิจกรรมเรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของนิสิตและชุมชนบนฐานวัฒนธรรมชุมชนเป็นหัวใจหลัก  เพื่อทำให้เห็นแนวทาง  หรือวิธีการในการจัดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล  พร้อมๆ กับการพัฒนาให้นิสิตและชาวบ้านได้เป็นเสมือนนักวิจัยที่มีความรู้และทักษะในการพัฒนาท้องถิ่นร่วมกันผ่านกระบวนการของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ  และการจัดกระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

โดยส่วนตัวแล้ว  ผมศรัทธาต่อกระบวนการเรียนรู้เสมอ  ไม่จำกัดเฉพาะแต่ “การวิจัย” เท่านั้น  แต่การพยายามที่จะผลักดันให้กิจกรรมนอกชั้นเรียนของนิสิต (องค์กรนิสิต)  ขึ้นสู่การเป็นงานบริการวิชาการ  หรือแม้แต่การวิจัยเพื่อท้องถิ่นนั้น  ผมมีเหตุผลมากมายก่ายกอง  แต่ที่แน่ๆ ผมต้องการสื่อสารให้มหาวิทยาลัยได้รับรู้ว่าการงานของนิสิตนั้น  มีพลังและมีคุณค่าไม่แพ้การบริการวิชาการของหลักสูตรในสาขาต่างๆ   รวมถึงการเพียรพยายามยกระดับกิจกรรมนอกหลักสูตรของนิสิตสู่สาธารณะ  โดยมีชุมชนเป็นฐานการเรียนรู้ที่มีชีวิต ชีวา  -

และนั่นยังรวมถึงการเน้นย้ำให้เห็นถึงวาทกรรมที่ผมเขียนขึ้นว่า “เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน”  ซึ่งยืนยันในเจตนารมณ์ว่า “มหาวิทยาลัย/นิสิต  ต้องเป็นที่พึ่งของสังคม ดูแลและพัฒนาสังคมด้วยกระบวนการแบบมีส่วนร่วม”  ไม่ใช่ “หยิบยื่นให้แบบยัดเหยียด โดยไม่คำนึงถึงการพัฒนาคน  เพราะเน้นการสงเคราะห์มากกว่าการเรียนรู้ร่วมกัน”




สรุป


ผมยังไม่รู้หรอกว่าการนำเสนองานวิจัยเพื่อท้องถิ่นครั้งนี้  ผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร  แต่เบื้องต้นผมถือว่าผมเดินทางมาได้ไกลมากแล้ว  จากกิจกรรมนอกชั้นเรียนที่เป็นเสมือนเรื่อง “นอกสายตา”  มาสู่การหยัดยืนในเวทีงาน “บริการวิชาการแก่สังคม”  หรือแม้แต่ “1 คณะ 1 หมู่บ้าน”  ถูกขยายผลสู่การเป็น “1 ชมรม 1 ชุมชน”  หากไม่รวมถึงระบบทรานสคริปกิจกรรม  วิชาพัฒนานิสิต  การถอดความรู้ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ถือว่าทั้งผมและกระบวนการที่ว่านั้นเดินทางมาไกลโข  มีสถานะที่เป็นรูปธรรมไม่ใช่ย่อย

ส่วนจะสามารถเติบโตไปสู่การเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นหรือไม่ 
ยังต้องพิสูจน์และลงแรงกันอย่างยกใหญ่ !

แต่สำหรับนิสิตนั้น  ผมเชื่อเหลือเกินว่าในห้วงเวลาที่ผ่านมา   นิสิตได้เรียนรู้ "กระบวนการทำงาน"  (ทักษะชีวิต)  ในหลากมิติแล้ว  อาทิ  การจัดกิจกรรมกับชุมชนแบบมีส่วนร่วมภายใต้แนวคิด "เรียนรู้คู่บริการ"   การทำงานเป็นทีม  การบริหารจัดการโครงการ  การจัดการความรู้  หรือแม้แต่เรื่อง "จิตอาสา"  ของการเป็นส่วนหนึ่งของท้องถิ่น-ชุมชน  อันเป็นแก่นสารหลักของปรัชญามหาวิทยาลัย (ผู้มีปัญญา พึงเป็นอยู่เพื่อมหาชน)  รวมถึงการตระหนักว่ามหาวิทยาลัย/นิสิต  ต้องรับผิดชอบต่อสังคม (เพราะมหาวิทยาลัยเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน)

ระยะทางยังอีกไกลครับ - 
แต่ใจ ก็ยังสู้ และต้องสู้


หมายเหตุ :  
บันทึกนี้เขียนขึ้นในขณะรอนำเสนอโจทย์การวิจัย
14 มกราคม 2556
ณ ศูนย์ฝึกอบรมมูลนิธิ GRID 
อ.เกษตรวิสัย จ.ร้อยเอ็ด

หมายเลขบันทึก: 516221เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มกราคม 2013 22:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

ขอให้มีกำลังกาย กำลังใจ บากบั่นต่อไป จนถึงก้าวที่สำเร็จนะคะ

ตามมาให้กำลังใจในการนำเสนองานวิจัยให้ผ่านไปได้ด้วยดี  ขอชื่นชมการทำงานครับ

มาให้กำลังใจ  ค่ะท่านอาจารย์

มาเป็นกำลังใจค่ะ   ขอให้การนำเสนองานวิจัยผ่านนะคะ

มาชื่นชมค่ะ 

หวังว่าคงจะด้ยินข่าวดีจากท่านอาจารย์มาเล่าสู่กันฟังนะคะ

ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ พี่Bright Lily

การพัฒนาโจทย์ครั้งแรก  ให้นิสิตเป็นผู้นำเสนอ
มาคราวนี้  ให้แกนนำชาวบ้านเป็นผู้นำเสนอ
ส่วนผมทำหน้าที่หนุนเสริมอยู่ข้างๆ...

ได้เรียนรู้ และได้กำลังใจมากเลยทีเดียวจากเวทีที่ว่านี้...

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ อ.ขจิต ฝอยทอง

ตอนนี้มีการจัดตั้งกลุ่ม "ฮักแพงขามเรียง" ขึ้นแล้วครับ   กลุ่มนี้จะมาเป็นนักวิจัยไทบ้านในโครงการที่ผมรับผิดชอบ  เป็นความท้าทายอย่างมหาศาลเลยทีเดียวครับ-

สวัสดีครับ ครูทิพย์

จริงๆ ผมเองก็วางระบบไว้เป็นระยะชัดเจนครับ จากการผลักดันทรานสคริปกิจกรรม สู่วืชาเรียน  และยกฐานะกิจกรรมนอกชั้นเรียนสู่การเป็นงานบริการวิชาการในมิติของนิสิต  พร้อมๆ กับการปักธงสู่การวิจัย  เพียงแต่เป็นโชคสองชั้นที่ได้มารับผิดชอบเรื่อง 1 หลักสูตร 1 ชุมชน  พลอยให้งานที่ว่านี้ทะลุมาถึงการเป็นงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น...

มือใหม่ครับ แต่จะพยายามอย่างสุดกำลัง...

สวัสดีครับ คุณครู DALA

งานนี้ได้พี่เลี้ยงจาก ทีม สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เป็นโหนดมหาสารคามหนุนเสริมมาเป็นระยะๆ  พลอยให้ได้แก่นสาร และจุดยืน รวมถึงพื้นที่ในการขายฝัน  

ผมคาดหวังว่า  เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว  น่าจะเป็นโมเดลหนึ่งในการนำไปใช้กับกระบวนการพัฒนานิสิต  ทั้งในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียน -

ขอบพระคุณครับ

สวัสดีครับ คุณ.ปริม ทัดบุปผา...

การนำเสนองานวิจัยผ่านพ้นไปด้วยดีครับ  มีการปรับแต่งไม่มากนัก

การงานเหล่านี้ เป็นความฝันในอีกมิติหนึ่งที่ผมเฝ้ารอมานาน
คงได้บอกเล่า ขยายผลให้ทราบต่อไป...
ขอบคุณครับ

ชื่นชอบ  ชื่นชม  เชียร์ ๆๆๆๆๆ  จ้ะ

ผมว่าการขยับบทบาทของนิสิตและชาวบ้านจากนักปฏิบัติ เริ่มเข้าสู่ด้านวิชาการ ถือเป็นการเติบโตอีกขั้นหนึ่งครับ  ขอเป็นกำลังใจและเอาใจช่วยทุกฝ่ายครับ

สวัสดีครับ คุณมะเดื่อ

ขอบพระคุณที่แวะมาหนุนเสริมกำลังใจนะครับ
เรื่องเหล่านี้ ใช้พลังภายในอย่างมากมายก่ายกองเลยทีเดียว ครับ



มีความอยากที่จะวิจัยในเรื่องนี้ แต่ยังหาทางออกให้ความยากไม่เคยได้ การได้รับแนวทางหรือคำแนะนำที่ดีๆๆ อาจจะมีงานวิจัยจากฝีมือเรา กระบวนการวิจัยยังรอให้มีคนมาชี้แนวทางครับ


ขอบคุณครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท