KM00114 : คิดไปเรื่อย 6 "คำขวัญวันเด็ก (ที่ผู้ใหญ่ควรนำไปปฏิบัติ) ภาค 2"


วันนี้ชื่อตอนยาวไปนิด ใจจริงอยากเขียนเรื่อง "เจ้านายกับลูกน้อง" ต่อจากตอนที่แ้ล้ว แต่บังเอิญช่วงเวลาผ่านมาเจอกับวันสำคัญของชาติอีกวันหนึ่ง คือ "วันเด็ก" "เด็กวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า" ประโยคนี้เราได้ยินเสมอมา แต่จะเป็นผู้ใหญ่วันหน้า "ที่ดี" หรือ "ไม่ดี" ก็ขึ้นอยู่กับ "ผู้ใหญ่ในวันนี้" วันเด็กจึงเป็นวันของ "เด็ก" และเมื่อไหร่ที่เราไม่สามารถไป "งานวันเด็ก" ในฐานะที่เป็น "เด็ก" ได้แล้ว นั่นก็หมายความว่าเรา "ไม่ใช่เด็ก" อีกต่อไป (ถึงแม้หลายคนในใจยังอยากจะเป็นเด็กอยู่ตลอดไป) และนั่นก็หมายความอีกว่า "เราควรเริ่มต้นทำตัวเป็นผู้ใหญ่ที่ดี" ให้เด็กได้ดู

เหตุที่ผมขึ้นชื่อเรื่องนี้ว่า "ภาค 2" นั้น ก็เพราะเคยเขียนเรื่องนี้ไว้เมื่อปีที่แล้ว (คำขวัญวันเด็ก (ที่ผู้ใหญ่ควรนำไปปฏิบัติ) ) เป็นตอนที่ 86 ของการเขียน ไม่น่าเชื่อว่าเวลาจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว (ซึ่งจริงๆ เวลาก็ผ่านไปตามปกติของมัน) แล้วก็ได้กลับมาเขียนเรื่องนี้อีก และก็น่าจะได้เขียนอีกในปีต่อไป ในฐานะของ "พ่อ" ที่มี "เด็กๆ" ที่ต้องดูแล และในฐานะของ "ผู้ใหญ่" ที่ต้องรับผิดชอบในการสร้าง "สังคมที่ดี" ให้เด็กๆ ในอนาคต

คำขวัญวันเด็กปีนี้ (2556) "รักษาวินัย ใฝ่เรียนรู้ เพิ่มพูนปัญญา นำพาไทยสู่อาเซียน"......และก็เหมือนทุกๆ ปี ที่คุณครูจะต้องพยายามให้เด็กท่องคำขวัญนี้ให้ได้ เพื่ออะไร...ก็เพื่อเอาไว้ไปตอบแลกของรางวัล เด็กไทยทุกคนจึงมีหน้าที่ท่อง ท่อง ท่อง แล้วก็ท่อง เป็นประจำทุกปี แล้วไม่นานเด็กๆ ก็ลืมๆ กันไป รอไปท่องใหม่กันปีหน้า ประโยชน์จริงๆ จะเกิดขึ้นแค่ไหนไม่มีใครให้คำตอบได้ จริงๆ แล้วน่าจะมีโพลออกสำรวจบ้างว่า เด็กๆ เข้าใจและปฎิบัติตาม "คำควัญ" เหล่านั้นได้มากน้อยแค่ไหน (หรืออาจมีแล้วแต่ผมไม่ทราบ) แต่ในความรู้สึกผมคิดว่าคำขวัญในระยะหลังๆ นี้ มันเหมาะสำหรับ "ผู้ใหญ่" มากกว่า "เด็ก"  ขึ้นเรื่อยๆ มาดูของปีนี้กันนะครับ

"รักษาวินัย" ก่อนอื่นขอติงนิดหน่อยว่า ทำไมคำขวัญวันเด็กระยะหลังๆ นี้ ถึงมักใช้คำที่ต้อง "แปลไทยเป็นไทย" อย่าลิมนะครับว่าคำว่า "เด็ก" นี้ มันมีหลายช่วงอายุ ตั้งแต่ยังไม่เรียนหนังสือ เรียนแล้วแต่ยังอ่านไม่ออก อ่านออกแล้วแต่ยังเด็กเกินไปที่จะเข้าในคำศัพท์ยากๆ ผมชอบคำขวัญสมัยท่านจอมพลถนอม เช่น "เด็กฉลาดชาติเจริญ" ไม่ต้องแปลมาก เด็กเข้าใจง่าย แต่ก็ไม่เสมอไปฉลาดอย่างเดียวอาจพาชาติล่มจมได้ จึงต้องมี "เด็กดีเป็นศรีแก่ชาติ" ขึ้นต้นด้วย "เก่งและดี" โอ้ ทันสมัยจริงๆ ที่สำคัญมีคำว่า "เด็ก" ให้เห็นกันชัดๆ ว่าต้อง "เด็ก" นะ ไม่ใช่ "ผู้ใหญ่" ก็แปลกใจเหมือนกันว่าทำไมจะต้องเปลี่ยนกันทุกปี ชักจะไปกันใหญ่ครับ กลับมาเรื่อง "รักษาวินัย" ดีกว่า

 "รักษาวินัย" ธรรมชาติของเด็กไม่รู้จักคำว่า "วินัย" และ "ไม่มีวินัย" อย่างแน่นอน ตอนเป็นเด็กทารกเมื่อ "หิว" ก็ร้อง พ่อแม่ก็หามาให้กิน เด็กก็อาจคิดว่า "การร้องคือวินัย" ของเขา เมื่อปวดฉี่ปวดขี้ (ขอใช้คำของคนทั่วไป) ตรงไหนก็ปล่อยตรงนั้น เดี๋ยวนี้มีผ้าอ้อมสำเร็จรูป พ่อแม่บางคนเลยฝึกวินัยลูก ด้วยการบอกให้ "ฉี่ไปเลยลูก" "อึไปเลยลูก" จนบางคนกว่าะเข้าห้องน้ำเป็นก็หลายขวบ เด็กจึงไม่รู้จัก "วินัย" ว่าคืออะไร แต่เด็กจะเรียนรู้ "วินัย" ได้จาก "ผู้ใหญ่" วันเด็กที่ผ่านมาให้ลูกไปเข้าแถวเพื่อร่วมกิจกรรม ซึ่งแถวยาวมากและในแถวก่อนหน้าลูกก็เป็นผู้ใหญ่คนหนึ่ง เมื่อถึงคิวของตัวเองก็ตะโกนเรียกลูกสองคน ซึ่งนั่งรออยู่นอกแถวอันยาวเหยียดนี้ให้มาแทนตัวเอง ลูกผมก็ทำหน้างงๆ เดินร้องไห้ออกมาจากแถว บอกว่าโดนพี่สองคนแซง ผมเห็นแล้วแต่ก็ไม่สามารถอธิบายให้ลูกเข้าใจไม่ได้ว่า "แม่เขามายืนจองคิว" ให้คืออะไรและไม่อยากอธิบาย ก็ได้แต่สอนลูกว่า "การเข้าแถวเองก็คือการรักษาวินัยตามคำขวัญไงลูก" ผมก็ยังไม่เข้าใจว่าเด็กจะรักษาวินัยได้อย่างไรในเมื่อ....ผู้ใหญ่ยังไม่เข้ารบกฏจราจรให้เห็น ผู้ใหญ่ยังไม่เคารพกฏหมายหรือกติกาบ้านเมืองให้เห็น ผู้ใหญ่หลายคนยังแสดงให้เห็นว่าการ "โกง" เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ (ถ้าตัวเองได้ผลประดยชน์)

"ใฝ่เรียนรู้" ผมเคยเขียนไว้หลายๆ ตอน เกี่ยวกัยเรื่องของการ "เรียนรู้" ของเด็ก ว่าประเทศไทยเรามี "แหล่งเรียนรู้" ที่เป็นประโยชน์ให้เด็กน้อยมาก เืมื่อเทียบกับจำนวนเด็กที่มี และแหล่งเรียนรู่ที่มีก็มี "ผู้ใหญ่พาเด็กไปดู" น้อยมาก เช่นกัน พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็มักหวังพึ่ง "โรงเรียน" ในการพาลูกไปดูหรือที่เรียกว่า "ทัศนศึกษา" ซึ่งก็ได้ผลบ้างแต่ไม่มาก เพราะการไปเป้นจำนวนมาก โอกาสที่เด็กๆ จะได้ถาม ได้สัมผัส กับสิ่งต่างๆ เป็นไปได้ยาก ส่วนใหญ่ก็แค่ไป "ดู" หรือ "ทัศนา" กันอย่างเดียว พ่อแม่หลายคนทิ้งโอกาสการเรียนรู้ของ "เด็ก" ไปกับการ "เรียนพิเศษ" เด็กจึงได้แต่ "เรียน" แต่ "รู้" หรือไม่ ไม่ทราบ ดังนั้น หากอยากให้เด็ก "ใฝ่เรียนรู้" ผู้ใหญ่ก็ต้องสร้าง "ต้นแบบแห่งการเรียนรู้" ให้เด็กเห็นก่อน โดยเฉพาะ "การเรียนรู้ชีวิต" ซึ่งสำคัญกว่าการเรียนรู้ให้ห้องเรียนและห้องเรียน(พิเศษ)

"เพิ่มพูนปัญญา" คำว่า "ปัญญา" เดี่ยวๆ ในทางพุทธศาสนาถือเป็นคำ "ดี" แต่เอามาอธิบายให้เด็กฟังคงเข้าใจอยาก เพราะ "ปัญญา" เป็นมากกว่า "ฉลาด" คน "โง่" ในความเข้าใจของหลายๆ คนก็อาจมี "ปัญญา" ได้ ปัญญาจึงเป็นเรื่องของการเข้าใจว่า "สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ" คนไม่เรียนหนังสือ หากใช้ปัญญาพิจารณาว่า สิ่งนี้ไม่ดี สิ่งนี้ปาบ สิ่งนี้เป็นการ "โกง" ก็ถือว่ามี "ปัญญา" คนฉลาดหากใช้ความฉลาดไปในทางที่ไม่ถูกต้องก็ถือว่า "ไม่มีปัญญา" สำหรับเด็กการบอกให้มี "ปัญญา" จึงต้องอาศัยการสอนเรื่อง "คุณธรรม ความดี" ควบคู่ไปด้วย สมัยนี้มีเทคโนโลยีให้เด็กค้นคว้าหาความรู้มากมาย มีสังคมออนไลน์ให้ติดต่อสื่อสารกัน หากใช้ให้เกิดประโยชน์ก็มี "ปัญญา" หากใช้ไปในทางที่ไม่ถูกไม่ควรก็ "ไม่มีปัญญา"

"นำพาไทยสู่อาเซียน" อันนี้น่าเป็นเรื่องของ "ผู่ใหญ่" ล้วนๆ เด็กเข้าใจยาก จะว่าไปไทยก็เป็นสมาชิกอาเซี่ยนมานานแล้ว หากบอกว่า "ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน" เรื่องเศษฐกิจก็ยิ่งเ็ป็นเรื่องของผู้ใหญ่อีก เคยถามเด็กว่าข้อนี้หมายความว่าอย่างไร เด็กตอบว่า "พูดภาษาอังกฤษเก่งๆ" อืม....พอไปได้

สรุปว่า คำขวัญวันเด็กปีนี้ ก็ยังเป็นคำขวัญ "ที่ผู้ใหญ่ควรนำไปปฏิบัติ" เหมือนเดิมครับ หากทำได้จะเกิด "เด็กดีที่เป็นศรีแก่ชาติ" และสิ่งที่ตามมาคือ "เด็กฉลาดชาติเจริญ" อย่างแน่นอน....

 

 

คำสำคัญ (Tags): #คำขวัญ#วันเด็ก
หมายเลขบันทึก: 516219เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2013 13:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท