งานวิจัย


ภาษาไทย

เรื่อง :

การพัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ชื่อผู้เขียน

นายยศพัทธ์  ศิริสราญลักษณ์

ตำแหน่ง

ผู้อำนวยการโรงเรียน

วุฒิการศึกษา

การศึกษามหาบัณฑิต  สาขาการบริหารการศึกษา  มหาวิทยาลัยนเรศวร

สถานที่ติดต่อ

โรงเรียนบ้านสุเม่น  หมู่ 1  ตำบลแม่สิน   อำเภอศรีสัชนาลัย   จังหวัดสุโขทัย 64130

โทร. 055- 690069 ประเภทงานวิจัย

การศึกษาค้นคว้า

ความเป็นมา

ภาษาเป็นสื่อกลางที่สำคัญต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมวลมนุษยชาติ   ประเทศไทยมีภาษาไทยเป็นภาษาประจำชาติที่คนไทยมีความภูมิใจที่ได้ใช้ภาษาไทย   พูนสิน  บุตรภักดี  (๒๕๓๕)  กล่าวว่า  ภาษาไทยเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารในชีวิตประจำวันทำให้เข้าใจความหมาย  ความคิด  ความรู้สึก  เกิดความเข้าใจซึ่งกันและกันความสำคัญของภาษาไทยเป็นสิ่งที่ควรธำรงไว้ให้มีอยู่สืบไป  โดยการถ่ายทอดสู่เยาวชนรุ่นหลังด้วยการให้การศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลถึงระดับอุดมศึกษา  สำหรับในโรงเรียนภาษาไทยเป็นวิชาทักษะที่จะนำไปสู่การเรียนรู้   วิชาอื่น ๆ คนที่มีความสามารถหรือมีทักษะภาษาไทยได้ดีจะสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
นอกจากนี้ภาษาไทยยังเป็นเครื่องมือของคนไทยในชาติเพื่อการสื่อสารทำความเข้าใจกันและใช้ภาษาประกอบกิจการงานทั้งส่วนรวม  ครอบครัว  กิจกรรมทางสังคมและประเทศชาติ  เป็นเครื่องมือการเรียนรู้  การบันทึกเรื่องราวจากอดีตจนถึงปัจจุบัน  และเป็นวัฒนธรรมของชาติ  ดังนั้นการเรียนภาษาไทยจึงต้องเรียนให้เกิดทักษะอย่างถูกต้องเหมาะสมกับการสื่อสาร  เป็นเครื่องมือในการเรียนรู้  แสวงหาความชื่นชม  ซาบซึ้ง  และภูมิใจในความเป็นไทย (หลักสูตรสถานศึกษา,๑) ในระดับของการพัฒนาการเรียนการสอนนั้นจะต้องศึกษาหลักสูตรให้เข้าใจซึ่งมาตรฐานในการเรียนการสอนนั้นจะต้องเน้นให้ครบทุกทักษะ  แต่อีกทักษะหนึ่งที่สมควรพัฒนาในการเรียนการสอนภาษาไทยก็คือทักษะการเขียน  ซึ่งปรากฏอยู่ในสาระที่ ๑  ของหลักสูตรดังนี้  ใช้กระบวนการเขียน เขียนสื่อสาร  เขียนเรียงความ  ย่อความและเขียนเรื่องราวในรูปแบบต่างๆ  เขียนรายงานข้อมูลสารสนเทศและรายงานการศึกษาค้นคว้าอย่างมีประสิทธิภาพ  และมาตรฐานการเรียนรู้ของระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ - ๒  กล่าวไว้ดังนี้  สามารถเขียนคำได้ถูกต้องตามความหมายและสะกดการันต์ถูกต้อง   ใช้ความรู้และประสบการณ์เขียนประโยคข้อความเรื่องราวและแสดงความรู้สึก ความต้องการและจินตนาการรวมทั้งใช้กระบวนการเขียนพัฒนางานเขียนมีมารยาทและนิสัยรัก การเขียนและใช้ทักษะการเขียนจดบันทึกความรู้ประสบการณ์และเรื่องราวในชีวิตประจำวันได้ (หลักสูตรสถานศึกษา,๙) (กรมวิชาการ  กระทรวงศึกษาธิการ, ๒๕๔๔ หน้า ๑๒)
การเขียนเป็นทักษะการแสดงออกที่สำคัญแทนคำพูดนอกเหนือไปจากประโยชน์ในชีวิตประจำวันแล้ว  ในการเรียนการสอนเกือบทุกวิชาต้องอาศัยการเขียนเพื่อบันทึกถ้อยคำของครู  ของวิทยากรหรือของเพื่อนเพื่อรายงานหรือเขียนตอบปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะการเขียนคำตอบ     ในการทดสอบนับว่าเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง   ดังนั้นการเขียนจึงเป็นรากฐานในการเขียนในชีวิตประจำวัน  ไม่ว่าจะเป็นการเขียนข้อความ  ประโยค  วลี  กลุ่มคำ  จะต้องเขียนให้ถูกต้องตามอักขรวิธี   ถ้าหากเขียนคำผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือบกพร่องจะทำให้ความหมายของคำเปลี่ยนไปผู้สื่อสารและ    ผู้รับสารไม่สามารถสื่อความหมายได้ตรงกันและในบางครั้งทำให้ความหมายไขว้เขวไปได้
ปัญหาดังกล่าวข้างต้นสอดคล้องกับสภาพปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑  ของโรงเรียนบ้านสุเม่น   สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย  เขต ๒  ที่         ผู้รายงานรับผิดชอบดูแลการสอนของครูผู้สอนอยู่  ได้แก่  ปัญหาที่นักเรียนขาดความสามารถในการเขียนตามรูปแบบที่กำหนดให้  โดยลำดับความคิดและเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง   ซึ่งพอจะสรุปปัญหาที่พบได้ดังนี้
๑. การตั้งชื่อเรื่องไม่เหมาะสม   ซึ่งข้อบกพร่องที่พบจะมีดังนี้

  • ชื่อเรื่องที่ตั้งไม่สัมพันธ์กับภาพ
  • ชื่อเรื่องสัมพันธ์กับภาพแต่ชื่อเรื่องยาวเกินไป
  • ไม่ตั้งชื่อเรื่อง ๒. การสื่อความหมายไม่ชัดเจน เช่น
  • ไม่นำสิ่งที่ปรากฏในภาพมาเขียนชื่อเรื่อง
  • เขียนเรื่องได้ยาวแต่ไม่สัมพันธ์กับภาพ
  • เขียนเรื่องได้สั้น
  • ไม่เขียนเรื่อง ๓. การใช้ภาษา มีข้อบกพร่องที่พบดังนี้
  • ใช้ภาษาถิ่น
  • ใช้ข้อความซ้ำ ๆ กัน เช่น ฉันลอยกระทงเสร็จฉันก็เดินดูพอฉันเดินไป ฉันเห็นตะขาบ พอฉันเห็นตะขาบฉันก็ร้องให้คนช่วย ๔. ลำดับความคิด
  • เขียนวกวน ไม่เป็นไปตามลำดับ
  • ไม่มีการกล่าวนำเรื่อง
  • ไม่มีการปิดเรื่องหรือจบเรื่อง

๕. การเขียนสะกดคำ เขียนสะกดคำไม่ถูกต้อง
- เขียนตามคำพูด
- เขียนสะกดคำไม่ถูก
- ใช้วรรณยุกต์ผิด โดยเฉพาะคำอักษรต่ำที่มีเสียงวรรณยุกต์ไม่ตรงกับรูป
- เขียนคำที่มีตัวควบกล้ำผิด ปัญหาดังกล่าวสมควรจะหาทางปรับปรุงและ แก้ไข เพื่อให้นักเรียนเกิดทักษะการเขียนที่ดีทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่จะได้ติดต่อสื่อสารกับบุคคลอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

จากประสบการณ์การนิเทศการสอนของผู้รายงานที่พยายามหาทางแก้ไขปัญหามาโดยตลอด   พบว่าแบบฝึกหรือชุดฝึกทักษะมีความเหมาะสมที่จะใช้แก้ปัญหาการเรียนการสอนภาษาไทยให้สำเร็จลุล่วงไปได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเน้นเป็นเฉพาะบางทักษะ  ดังความเห็นของ ฉวีวรรณ  พลสนะ(๒๕๑๓)  ที่กล่าวว่า  ชุดฝึกมีประโยชน์ต่อการเรียนวิชาทักษะมากโดยเฉพาะการฝึกหัดเขียนหรือทำกิจกรรมด้วยตนเอง  รัชนี  ศรีไพรวรรณ  (๒๕๑๗)  ก็กล่าวเสริมว่า  ชุดฝึกช่วยเสริมทักษะทางภาษาไทยให้คงทน  นอกจากนั้น  ยุพา  ยิ้มพงษ์  (๒๕๒๒)  ยังกล่าวว่า  ชุดฝึกช่วยในเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล  เพราะการที่ให้นักเรียนทำชุดฝึกทักษะที่เหมาะสมกับความสามารถของเขา  จะช่วยให้นักเรียนประสบความสำเร็จมากขึ้น

จากเหตุผลและความจำเป็นดังกล่าว ผู้รายงานจึงมีความประสงค์ที่จะใช้ชุดฝึกที่ได้จาก การแก้ปัญหาในชั้นเรียนมาช่วยแก้ไขข้อบกพร่องในการเขียนอธิบายภาพ เล่าเรื่อง แสดงความนึกคิด โดยลำดับความคิดและเหตุการณ์ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียน บ้านสุเม่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต ๒ ที่ผู้รายงานรับผิดชอบและประสบปัญหาอยู่ ทั้งนี้เพื่อเป็นการยกระดับความสามารถในการเขียนโดยใช้จินตนาการเชิงสร้างสรรค์ให้สูงขึ้น

แนวคิดทฤษฏี

1. เอกสารที่เกี่ยวกับการเขียน               
2. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบสร้างสรรค์        
3. เอกสารที่เกี่ยวข้องกับชุดฝึก             
4. งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการเขียนแบบสร้างสรรค์          

วัตถุประสงค์ ๑. เพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ๒. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์การเรียนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ ในการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ก่อนและหลังการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์

๓. เพื่อศึกษาเจตคติของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ หลังการใช้ชุดฝึกทักษะทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์

สมมุติฐาน ๑. นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการเขียนเชิงสร้างสรรค์ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์
๒. นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์

ระเบียบวิธีวิจัย การวิจัยแบบ One Group Pretest – Posttest Design

ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง ๑. ประชากร เป็นนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนบ้านสุเม่น สำนักงาน เขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต ๒ ๒. กลุ่มตัวอย่าง ที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ โรงเรียนบ้านสุเม่น สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสุโขทัย เขต ๒ จำนวน ๒๗ คน

ตัวแปร

คำนิยามศัพท์ ๑. การเขียนเชิงสร้างสรรค์ หมายถึง ความสามารถในการใช้ถ้อยคำภาษาที่เหมาะสม ในการเขียน โดยใช้ความคิดและจินตนาการของตนตกแต่งเป็นเรื่องราวได้เนื้อหาสาระอย่างสมเหตุสมผล ๒. ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ หมายถึง สื่อและกิจกรรมในการศึกษาครั้งนี้
ประกอบด้วย ๒.๑ แบบฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๒๐ แบบฝึก ที่ผู้รายงานสร้างขึ้นเพื่อให้นักเรียนได้ฝึกการเขียนจากง่ายไปหายากตามลำดับ แจกให้นักเรียนฝึกครั้งละ ๑ แบบฝึก

๒.๒ คู่มือการใช้แบบฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  เป็นแผนการสอน

ที่ครูใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมการฝึกจำนวน ๒๐ แผนการสอนรวมอยู่ในเล่มเดียวกัน

    แนวทางการใช้แบบฝึกหรือแผนการสอนที่  ๑ - ๒๐  ประกอบด้วย
        (๑) จุดมุ่งหมาย
        (๒) สื่อที่ใช้ในการฝึก
        (๓) กิจกรรมการฝึก
        (๔) การวัดและประเมินผล
        (๕) ข้อเสนอแนะ

๓.  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  หมายถึง  เครื่องมือที่ใช้ใน

การวัดความสามารถในการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ มีลักษณะเป็นแบบอัตนัย ดังนี้

    ๓.๑  คำสั่ง  ให้เขียนบรรยายภาพที่กำหนดให้  ความยาวไม่น้อยกว่า  
     ๕  บรรทัด
    ๓.๒  ภาพที่กำหนดให้
    ๓.๓  ที่ว่างสำหรับนักเรียนเขียนบรรยายภาพ
    ๓.๔  เกณฑ์การตรวจให้คะแนน
๔.  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน  หมายถึง  คะแนนที่นักเรียนทำได้จากแบบทดสอบ  

วัดผลสัมฤทธิ์ทางการเขียน และได้นำคะแนนที่นักเรียนทำได้มาคำนวณหาค่าทางสถิติ

๕.  เกณฑ์การให้คะแนน  หมายถึง  ข้อกำหนดที่ผู้รายงานใช้เป็นขอบเขตในการพิจารณาให้คะแนนในการเขียน  ได้แก่
    ๕.๑  การตั้งชื่อเรื่อง  (๓  คะแนน)  พิจารณาดังนี้
        -  ตั้งชื่อเรื่องกะทัดรัดเหมาะสมกับภาพ  (๓  คะแนน)
        -  ตั้งชื่อเรื่องยาวเหมาะสมกับภาพ  (๒  คะแนน)
        -  ตั้งชื่อเรื่องแต่ไม่เหมาะสมกับภาพ  (๑  คะแนน)
        - ไม่ตั้งชื่อเรื่อง  (๐  คะแนน)
    ๕.๒  การสื่อความหมาย  (๖  คะแนน)  พิจารณาดังนี้
        - นำสิ่งที่ปรากฏในภาพมาเขียนอธิบายได้เกิน ๕ อย่างขึ้นไป (๖ คะแนน)
        - เขียนได้  ๕  อย่าง  (๕  คะแนน)
        - เขียนได้  ๔  อย่าง  (๔  คะแนน)
        - เขียนได้  ๓  อย่าง  (๓  คะแนน)
        - เขียนได้  ๒  อย่าง  (๒  คะแนน)
        - เขียนได้  ๑  อย่าง  (๑  คะแนน)
        - ไม่มีสิ่งที่ปรากฏในภาพ  (๐  คะแนน)
    ๕.๓  การใช้ภาษา  (๖  คะแนน)  พิจารณาดังนี้
        - ใช้ภาษาได้ถูกต้องตามหลักภาษา  (๖  คะแนน)
        - หากมีที่แก้ไข  หักที่ละ  ๑  คะแนน


    ๕.๔  การลำดับความคิด  (๕  คะแนน)  พิจารณาดังนี้
        - มีการกล่าวนำเรื่อง  (๑  คะแนน)
        - เขียนเรื่องราวโดยลำดับเหตุการณ์เหมาะสม  (๓  คะแนน)
  - มีการกล่าวสรุปเรื่องหรือจบเรื่องเหมาะสม  (๑  คะแนน)

๖. เจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทยด้วยการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ หมายถึง ความรู้สึกของนักเรียนที่มีต่อการเรียนวิชาภาษาไทย เกี่ยวกับคุณประโยชน์ ความสำคัญ เนื้อหา และกิจกรรมการเรียนการสอน ว่าชอบหรือไม่ชอบ พอใจ หรือไม่พอใจต่อวิชาภาษาไทย ด้วยการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ อันเกิดจาการเรียนรู้และประสบการณ์โดยแสดงออกมาทิศทางใดทิศทางหนึ่ง ซึ่งวัดได้โดยใช้แบบสอบถามวัดเจตคติต่อวิชาภาษาไทยที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย

๑.  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
๒. ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  ซึ่งประกอบด้วย
        ๑) แบบฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  สำหรับให้นักเรียนใช้เป็นสื่อใน  

การฝึก จำนวน ๒๐ แบบฝึก

        ๒) คู่มือฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  สำหรับครูใช้เป็นแนวทางในการจัดกิจกรรมและจัดหาสื่อที่ใช้ในการฝึกแต่ละครั้ง

วิธีการรวบรวมข้อมูล

การวิเคราะห์ข้อมูล

เมื่อทดสอบหลังการฝึกแล้ว  ผู้รายงานได้ทำการตรวจตามเกณฑ์การตรวจให้คะแนนการเขียนเชิงสร้างสรรค์  แล้วทำการวิเคราะห์ข้อมูลตามวิธีการทางสถิติโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป  SPSS  FOR  WINDOW  ทำการวิเคราะห์หาค่าต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ
๑. ค่าสถิติพื้นฐาน  คือ  ค่าเฉลี่ย  ( ) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  ของคะแนนก่อนและหลังการทดลองของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑

๒. วิเคราะห์ผลการทดลอง เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ยของคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ก่อนและหลังการทดลอง โดยใช้การทดสอบค่าที แบบ t – test dependent

สรุปผลการศึกษาค้นคว้า

๑. ผลจากการศึกษาค้นคว้าเพื่อพัฒนาชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย  สำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ทำให้ได้รูปแบบ  โครงสร้าง  และตัวชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพ  สำหรับใช้จัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อฝึกทักษะด้านการเขียนเชิงสร้างสรรค์จำนวน  ๒๐  แบบฝึก
๒. ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากการทดลอง  เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ ในกลุ่มทดลองที่เรียนโดยใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยที่สร้างขึ้น  หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .๐๑ ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้

๓. นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ มีเจตคติต่อการเรียนวิชาภาษาไทย หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนด้วยการใช้ชุดฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์ อยู่ในระดับที่พอใจมาก ซึ่งสอดคล้องกับสมมุติฐานที่ตั้งไว้

ข้อเสนอแนะ

๑. นักเรียนบางคนจะสนุกกับการเขียนมากและเขียนได้ดี  ไม่ลอกเลียนแบบใคร  มีความคิดสร้างสรรค์สูง  ครูควรแนะนำให้นักเรียนเหล่านี้  ได้แสดงความสามารถของตน  โดยการให้เขียนเรื่องราวไปลงตามวารสารต่าง ๆ หรือส่งเสริมให้ได้เข้าประกวดการเขียนตามวาระต่าง ๆเช่น  วันสุนทรภู่  วันปีใหม่  จะทำให้นักเรียนเกิดความภาคภูมิใจในตนเอง  เป็นประโยชน์และความสำคัญของการเขียน  อีกทั้ง ยังเป็นตัวอย่างแก่นักเรียนคนอื่น ๆ  ด้วย 
๒. สำหรับนักเรียนที่เขียนไม่คล่อง  ครูต้องช่วยเหลือและเอาใจใส่เป็นพิเศษ  
๓. ครูควรส่งเสริม  และเปิดโอกาสให้นักเรียนได้เขียนอย่างต่อเนื่อง  อาทิ   ในโอกาสวันสำคัญต่าง ๆ หรือโอกาสพิเศษ  เช่น  อวยพรให้เพื่อน  ให้ครูในวันปีใหม่ เขียนเล่าเหตุการณ์ต่าง ๆ 

ที่เกิดขึ้น เช่น เหตุการณ์พายุฝนดาวตก กีฬาที่ชอบ บันทึกประจำวัน ฯลฯ ก็จะทำให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการเขียนของตนเองต่อไปเรื่อย ๆ ในที่สุด เด็กจะเห็นว่า การเขียนไม่ใช่เรื่องยาก นักเรียนบางคนเมื่อครูให้เขียนเรื่องโดยมีภาพมาให้เขียนจะเขียนได้อย่างรวดเร็วและเขียนได้ดีอีกด้วย บางครั้งยังไม่ถึง ๕๐ นาทีเสร็จแล้ว นับเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจแก่ผู้รายงานเป็นอันมาก

๔. ควรได้มีการส่งเสริมให้มีการสร้างชุดฝึกทักษะการเขียนในระดับที่สูงขึ้นเพื่อนักเรียนจะได้การฝึกทักษะอย่างต่อเนื่องตามความเหมาะสมของวัยและระดับชั้น
๕. ในการศึกษาค้นคว้าต่อไป  ควรได้มีการทดลองฝึกทักษะการเขียนเชิงสร้างสรรค์  โดยใช้สื่อฝึกทักษะในลักษณะต่าง ๆ เช่น  เกม  เพลง  ชีวประวัติบุคคลสำคัญในท้องถิ่น  หรือเขียนบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นเป็นต้น

คำสำคัญ (Tags): #งานวิจัย1
หมายเลขบันทึก: 51599เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2006 15:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:54 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อยากเห็นบทที่ 1 ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท