เดือนสิบเอ็ด : บุญออกพรรษา (ฮีตสิบสอง ประเพณี 12 เดือนของชาวอีสาน)


จัดทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นการทำบุญที่สืบเนื่องมาจากบุญเข้าพรรษาในเดือน 8 ที่พระภิกษุสามเณรได้เข้าพรรษาเป็นเวลานานถึง 3 เดือน  เริ่มตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 จนถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ดงันั้นในวันที่ครบกำหนดพระภิกษุสามเณรเหล่านั้นจะมารวมกันทำพิธีออกวัสวสปวารณา คือ เปิดโอกาสให้มีการว่ากล่าวตักเตือนกันได้ วันนี้เป็นวันที่พระภิกษุสามเณรจะได้มีโอกาสชุมนุมกันอย่างพร้อมเพรียงที่วัด  ซึ่งชาวบ้านถือว่าเป็นวันสำคัญและเป็นระยะที่ชาวบ้านหมดภาระในการทำนาทำไร่ อากาศในช่วงนี้จะเย็นสบายจึงถือโอกาสมาร่วมกันทำบุญตักบาตรถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ มีการกวนข้าวทิพย์ถวายรับศีล สวดมนต์ฟังเทศน์และถวายผ้าจำนำพรรษา ตอนค่ำจะมีการจุดประทีปโคมไฟในบริเวณวัดและหน้าบ้าน บางท้องถิ่นจะมีการถวายปราสาทผึ้ง หรือต้นผาสาดเผิ้ง” (สำเนียงอีสาน) เพื่อเป็นพุทธบูชา บางท้องถิ่นอยู่ใกล้บริเวณแม่น้ำจะมีการไหลเรือไฟ (ฮ่องเฮือไฟ) เพื่อเป็นการบูชาคารวะพระแม่คงคา ซึ่งจะมีการแข่งเรือเพื่อความสนุกสนานและสามัคคีร่วมกันในงานอีกด้วย

 

 

หมายเหตุ  ฮีตสิบสอง มาจากคำ 2 คำ คือ ฮีต กับ  สิบสอง

ฮีต  มาจากคำว่าจารีต ซึ่งหมายถึง สิ่งปฏิบัติสืบต่อกันมา จนกลายเป็นประเพณีที่ดีงามของชาวอีสาน เรียกว่า จารีต หรือ ฮิต

 

สิบสอง หมายถึง เดือนทั้ง 12 เดือน ในหนึ่งปี

ฮีตสิบสอง ประเพณีอีสานสิบสองเดือน

เดือนเจียง - บุญเข้ากรรม

เดือนยี่  - บุญคูณลาน
เดือนสามบุญข้าวจี่
เดือนสี่บุญผะเหวด
เดือนห้าบุญสงกรานต์
เดือนหกบุญบั้งไฟ
เดือนเจ็ดบุญซำฮะ
เดือนแปดบุญเข้าพรรษา
เดือนเก้าบุญข้าวประดับดิน
เดือนสิบบุญข้าวสาก
เดือนสิบเอ็ดบุญออกพรรษา
เดือนสิบสองบุญกฐิน

 

 

ฮิต สิบสอง จึงหมายถึง ประเพณีที่ประชาชนชาวอีสานได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาในโอกาสต่างๆ ทั้งสิบสองเดือนในแต่ละปี

 

ประเพณีทั้งสิบสองเดือนที่ชาวอีสานถือปฏิบัติกันมานั้นล้วนเป็นประเพณีที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนได้ออกมาร่วมกิจกรรมพบปะสังสรรค์เพื่อความสนุกสนานรื่นเริงและเพื่อความสมานสามัคคีมีความรักใคร่กันของคนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นการสืบทอดสิ่งที่ดีงามมาจวบจนปัจจุบัน

 

บันทึกนี้ เป็นการรวมประเพณีขอภาคอีสานสิบสองเดือน ต้องการที่จะให้ผู้สนใจแลเห็นคุณค่าของประเพณีงานบุญ ของภูมิปัญญาอีสาน นอกจากฮิตสิบสองหรือประเพณี 12 เดือนของชาวอีสานแล้ว ยังมีงานบุญอีกมากมายที่น่าศึกษา  ทำไมชาวอีสานจึงมีนิสัยอ่อนโยน รักสงบ เกื้อหนุน ซึ่งกันและกัน ไม่ชอบการเอารัดเอาเปรียบ มีความเป็นเครือญาติกันสูงมาก พิธีบุญ ความเชื่อ และประเพณีต่างๆ คือ เป้าหลอมกรอบคิดให้ชาวอีสาน มีอัตลักษณ์ดังกล่าว

 


ประสาน กำจรเมนุกูล

รองประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดกาฬสินธุ์

ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองกาฬสินธุ์

(ผู้เรียบเรียงข้อมูล)

 


หมายเลขบันทึก: 51549เขียนเมื่อ 24 กันยายน 2006 12:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 08:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท