“ทองคำ” ภาพลวงตาของการออมเงินที่ปลอดภัย


โดย เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

รายการ "รู้ใช้เข้าใจเงิน" FM 96.5

 

การลงทุนไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่มีทางเลือกใดที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง แม้แต่การฝากเงินในธนาคาร ก็อาจมีความเสี่ยงได้ เมื่อดอกเบี้ยเงินฝากที่ได้รับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อในช่วงเวลานั้น

“ทองคำ” ที่เป็นสินทรัพย์ยอดฮิตในช่วงที่ผ่านมา ย่อมทำให้เกิดภาพลักษณ์สวยหรูว่าเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัย มีแต่ขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น

gold mask

นี่เป็น ความจริงเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น หากนักลงทุนหลงติดกับความจริงนี้ โดยลืมเลือนความจริงที่ซ่อนอยู่อีกครึ่งหนึ่งไป ก็อาจพบกับความสูญเสียครั้งใหญ่ได้ โดยไม่รู้ตัว

ทองคำ มีลักษณะพิเศษที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย คือ ราคาเพิ่มขึ้นเสมอในระยะยาว ตามอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นตลอดเวลาหลายร้อยปีที่ผ่านมา

แต่มีข้อดีก็ย่อมต้องมีข้อเสีย นั่นคือ แม้ทองคำจะไม่เคยพ่ายแพ้เงินเฟ้อเลย แต่มันก็ไม่เคยชนะ เช่นเดียวกัน ทำได้เพียงเสมอตัวเท่านั้น

สำหรับคนที่แสวงหาความมั่นคงและเกลียดกลัวความเสี่ยง ก็อาจรู้สึกพึงพอใจกับทางเลือกนี้
แต่โลกความจริงไม่ได้ง่ายเช่นนั้น

ความยุ่งยากของการลงทุนในทองคำเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ ก็คือ ราคาทองคำในวันที่ซื้อ เพราะแม้ในระยะยาวราคาทองคำจะเคลื่อนไหวตามเงินเฟ้อ แต่ในระยะสั้นราคาทองคำอาจสูงหรือต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อไปมากมาย ดังนั้น หากผู้ซื้อได้ราคาทองคำที่สูงกว่าเงินเฟ้อ ในระยะยาวผู้ซื้อก็จะได้ผลตอบแทนที่น้อยกว่าเงินเฟ้อ เพราะต้องหักต้นทุนส่วนที่ซื้อมาแพงเกินไปทิ้ง

ตัวอย่างเช่น ในระหว่างปี 1971-1980 เมื่อราคาทองคำในตลาดโลก (เมื่อเทียบเป็นเงินไทยแล้ว) มีราคาทะยานสูงขึ้นจาก 400 บาทไปจนกระทั่งถึง 10000 บาท แล้วนักลงทุนโชคร้ายเข้าซื้อที่ราคาสุงสุดคือ 10000 บาท หลังจากนั้นราคาทองคำได้ตกรูดอย่างต่อเนื่องจนเกือบจะแน่นิ่งอยู่ในระดับราคา 5000 บาท ยาวนานถึง 20 ปี พึ่งมาเริ่มฟื้นตัวเมื่อปี 2002 เท่านั้นเอง

หากคิดผลตอบแทนในช่วง 20 ปี นักลงทุนย่อมขาดทุนถึง 50 % ซึ่งไม่ใช่ข่าวดีสำหรับคนที่เกลียดกลัวความเสี่ยงเลย ถึงแม้จะหารเฉลี่ยต่อปีแบบไม่ทบต้นจะได้รับผลขาดทุนเพียง 2.5 % แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า หากเพียงฝากเงินไว้เฉยๆ ก็คงไม่ประสบภาวะขาดทุนเช่นนี้ แถมยังได้ดอกเบี้ยอีกด้วย

บางคนอาจเถียงว่า เมื่อปล่อยให้เวลาผ่านไปยาวกว่านี้ จนกระทั่งถึงปี 2012 นักลงทุนย่อมจะพลิกกลับมาได้กำไร เพราะราคาจะขึ้นไปสูงสุดถึง 27000 บาท

แน่นอนว่า ผลตอบแทน 270% เมื่อคิดหารเฉลี่ยต่อปีแบบไม่ทบต้นแล้ว เมื่อเวลาผ่านไป 32 ปี ย่อมได้รับผลตอบแทนโดยประมาณ 8.4 % ซึ่งนับว่าน่าพอใจเลยทีเดียว

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า ราคา 27000 เป็นราคาในช่วงสูงที่สุด เป็นราคาในห้วงเวลาที่ทองคำมีราคาสูงกว่าเงินเฟ้อ ดังนั้น ภาวะนี้จะอยู่ได้ไม่นาน ในที่สุดเมื่อราคาตกลงมาในระดับที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ ก็อาจจะซ้ำรอยปี 1980 ที่ราคาตกลงจากจุดสูงสุดถึง 50 % นั่นก็คือ ราคาทองคำอาจจะตกไปอยู่ที่ประมาณ 13500 บาท

ผลตอบแทนก็จะเหลือ 4.2 % ยังไม่นับว่า ถ้าต้องถือทองคำต่อไปอีกเกือบ 20 ปีกว่าจะถึงขาขึ้นรอบใหม่ ผลตอบแทนจะเหลือเท่าไร

อย่างไรก็ตาม หากยึดตัวเลข 4.2 % เป็นค่าหลัก ก็นับว่าสูงกว่าเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป แต่ถ้าเราฝากประจำระยะยาวแบบไม่เกิน 10 ปีในจังหวะเวลาที่เหมาะสม ก็อาจได้รับผลตอบแทนที่มากกว่า แถมยังนำเงินฝากพร้อมดอกเบี้ยเมื่อครบอายุมาฝากซ้ำแบบทบต้นได้อีกด้วย

ที่ยิ่งกว่านั้นก็คือ หากเราเข้าซื้อทองคำในจังหวะเวลาที่เหมาะสม นั่นคือ ระดับราคาประมาณ 5000 บาท ในปี 2000 ซึ่งระดับราคาทองคำอยู่ในภาวะที่ต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อ แล้วมาขายในระดับราคาประมาณ 25000 บาท (ไม่ได้ขายที่จุดสูงสุด) เราย่อมได้กำไรถึง 500 % ในเวลาเพียง 12 ปีเท่านั้น หากคิดเป็นผลตอบแทนแบบไม่ทบต้นย่อมได้ที่ประมาณ 41 %

โดยสรุปแล้ว ราคาทองคำมีรอบวัฏจักรของตัวเอง นั่นคือ ในช่วงเวลาหนึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นของราคาที่สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อ ขณะที่อีกช่วงเวลาหนึ่งจะมีการเพิ่มขึ้นของราคาที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ซึ่งเมื่อคิดจนครบรอบแล้ว ก็จะได้การเพิ่มขึ้นของราคาที่ใกล้เคียงกับอัตราเงินเฟ้อ

ดังนั้น หากเราต้องการซื้อทองคำเพื่อลงทุนระยะยาวมาก หรืออย่างต่ำ 10 ปี เราก็ควรที่จะเลือกซื้อในช่วงเวลาที่ทองคำมีระดับการเพิ่มขึ้นของราคาที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ เพื่อที่ว่าเมื่อครบรอบวัฎจักรแล้ว เราก็จะได้กำไรมากกว่าเงินเฟ้อ

แน่นอนว่า การหาจังหวะเวลาเข้าซื้อที่เหมาะสมที่สุด เป็นเรื่องที่กระทำได้ยาก แต่จากวัฎจักรการเคลื่อนไหวของราคาในหลายสิบปีที่ผ่านมา ย่อมจะทำให้เราเห็นว่าทองคำที่ราคาประมาณ 24000 บาท น่าจะเป็นช่วงที่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของราคาสูงกว่าเงินเฟ้อ

นักลงทุนบางคนอาจแย้งอีกว่า หากซื้อทองเมื่อ 2-3 ปีก่อน ถึงแม้ว่าการเพิ่มขึ้นของราคาอาจจะสูงกว่าอัตราเงินเฟ้อแล้ว แต่ก็ทำกำไรให้นักลงทุนเป็นกอบเป็นกำ อย่างไรก็ตาม ต้องไม่ลืมว่าราคาทองคำจะมีช่วงเวลาที่ราคาสูงเกินกว่าอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระยะหนึ่ง ดังนั้น ราคาที่สูงแล้ว ก็จะสูงขึ้นอีกได้ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง ก่อนจะหมดรอบวัฎจักรแล้วกลับไปสู่ระดับราคาปกติ ซึ่งสำหรับนักลงทุนที่เน้นแบบเก็งกำไร โดยยอมรับความเสี่ยงที่จะขาดทุนได้ การเข้าไปย่อมสมเหตุสมผล แต่สำหรับนักลงทุนที่เกลียดกลัวความเสี่ยง โดยยอมได้ผลตอบแทนไม่สูงมากนัก หากมีความปลอดภัยและมั่นใจ ก็ควรที่จะเข้าซื้อในช่วงจังหวะปกติมากกว่า เพราะนั่นคือราคาที่เหมาะสม และหากโชคดีได้ซื้อในช่วงที่การเพิ่มขึ้นของราคามีอัตราที่ต่ำกว่าเงินเฟ้อ ย่อมถือเป็นกำไรพิเศษ เพื่อตอบแทนสำหรับผู้อดทนและรอคอยโอกาส

การลงทุนทองคำ ก็เฉกเช่นเดียวกับการลงทุนประเภทอื่น นั่นคือ เมื่อราคาสินทรัพย์ยังอยู่ในระดับต่ำ ก็ไม่มีใครสนใจ ไม่มีข่าวดี ไม่มีคุณค่าใด หากเมื่อราคาเริ่มทะยานขึ้น คนก็จะเริ่มสนใจแต่ยังไม่กล้าเข้าซื้อ แต่ครั้นเมื่อราคาได้สูงเกินจริงไปแล้ว นักลงทุนก็มักจะสนใจ และนั่นเป็นเวลาที่งานเลี้ยงกำลังใกล้จะสิ้นสุดลง

“ทองคำ มีแต่ขึ้นอย่างเดียว” เป็นความรู้ที่รับทราบกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ จนกระทั่งว่าทองคำพุ่งทะยานจาก 5000 บาทมาอยู่ที่ 10000 บาท ผู้คนก็เริ่มโจษจันกันไปทั่ว แต่เมื่อราคาได้ถีบตัวมาที่จุดสูงสุด 27000 บาท แล้วตกลงมาเลี้ยงตัวที่ระหว่าง 23000-26000 บาท ความรู้เรื่องเดียวกันนี้ก็เป็นที่รับรู้กันทั่ว ที่สำคัญ ราคาทองคำยืนระยะที่ราคาระดับนี้ได้นานนับปี บวกกับราคาที่เคลื่อนไหวขาขึ้นมาตลอด 10 ปี ก็ยิ่งทำให้คนเชื่อถือความรู้ชิ้นนี้เข้าไปอีก

หากเราไม่ถูกความโลภและข่าวสารที่แพร่สะพัดมาตลอด 10 ปี เข้ามาบดบังสติปัญญา เราก็จะมองเห็นวัฎจักรของทองคำ และสามารถเลือกช่วงเวลาซื้อที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะสำหรับคนที่ต้องการเพียงปกป้องเงินออมของตนเองจากเงินเฟ้อที่กัดกิน โดยไม่ปรารถนาข้องแวะกับความผันผวนในช่วงขาขึ้นของราคาทองคำ ที่แม้จะมีโอกาสได้กำไรเกินปกติ แต่ก็มีโอกาสขาดทุนเกินปกติเช่นเดียวกัน

เมื่อภาพลวงตาสลายคลาย ท้องฟ้าก็แจ่มใสทันใด


หมายเลขบันทึก: 515170เขียนเมื่อ 5 มกราคม 2013 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มกราคม 2013 00:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อาจารย์เป็นนักคิด..ด้านเศรษฐศาสตร์..อีกด้านหนึ่งด้วยนะครับ...คาราวะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท