KM00112 : คิดไปเรื่อย 4 คำว่า "ลืม"


ครั้งหนึ่งสมัยผมเป็นนักศึกษาฝึกงานในโรงพยาบาล เคยได้เห็นเด็กวัยรุ่นหลายตนที่แข่งมอเตอร์ไซค์กันตามท้องถนน (จะว่าไปรถซิ่งนี่ก็มีมานานแล้วเหมือนกัน) แล้วแขนขาหัก มีแผลถลอกปอกเปิกไปจนถึงต้องเย็บกันหลายเข็มในบางราย หลายคนเมื่อเข้าโรงพยาบาลใหม่ๆ ความรู้สึกจะเต็มไปด้วยความเจ็บปวดทรมาน เกือบทุกคนมักคิดถึง "ครอบครัว" โดยเฉพาะ "แม่" และทุกครั้งเมื่อทำแผลแทบทุกคนอีกเช่นกันมักจะบอกว่า "จะไม่ทำอีกแล้ว" แต่เมื่อนานไปแผลเริ่มหาย ความเจ็บปวดเริ่มน้อยลง สิ่งที่ "กลัว" ก็ค่อยๆ "จางหาย" หรือ "ลืม" มันไป แล้วไม่นานหลายคนก็กลับไปแข่งรถตามท้องถนนอีกเช่นเคย

สมัยผมเป็นวัยรุ่นจนเริ่มทำงาน ก็ยังคงเที่ยวแตร่ เมาสุราอยู่บ่อยครั้ง จนบางครั้งแทบไม่มีสติ เรียกง่ายๆ ว่า "เมา" บางครั้งก็ไม่มาก แต่บางครั้งก็มากจนร่างกายรับไม่ไหวต้อง "อาเจียน" หรือ "อ๊วก" ก็หลายที แทบทุกครั้งมันช่างรู้สึกทรมานเสียนี่กระไร และก็อดคิดไม่ได้ว่า "ต่อไปจะไม่กินแบบนี้อีกแล้ว" แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็จำความรู้สึกเหล่านั้นไม่ค่อยได้ สุดท้ายก็ "ลืม" และก็กินดื่มเหมือนๆ เดิม (แต่วันนี้เลือกที่จะไม่ดื่มเพราะหาเหตุผลดีๆ มาตอบตัวเองไม่ได้ว่าดื่มไปทำไม ที่แน่ๆ ผิดศีลข้อ ๕ แล้วการมีศีลกับไม่มีศีลมันดีต่างกันอย่างไร ค่อยเขียนตอนต่อๆ ไปนะครับ)

หากมองในเชิงวิทยาศาสตร์ เมื่อมนุษย์เกิดมาในท้องแม่ การพัฒนาของสมองเริ่มขึ้นเมื่อตัวอ่อนมีอายุได้ประมาณ ๔ สัปดาห์ ไม่มีใครฟันธงได้ว่ามนุษย์เริ่ม "จำ" โดยใช้สมองตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็มีการแนะนำให้พ่อแม่เริ่มคุยกับลูกหรือเปิดเพลงให้ลูกฟังตั้งแต่ลูกอยู่ในครรภ์ นั่นหมายถึง สมองก็เริ่มเก็บข้อมูลต่างๆ ลงไป พูดง่ายก็คือเริ่ม "จำ" สิ่งต่างๆ เพื่อนำไปสู่การ "เรียนรู้" และอาจเรียกได้ว่าเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างจากสัตว์ทั่วไป จากวัยเด็กจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่ มีหลายสิ่งหลายอย่างผ่านเข้ามาในชิวิตของมนุษย์คนหนึ่งมากมาย พร้อมๆ กับมีเรื่องให้ "จดจำ" อย่างมากมายเช่นกัน สิ่งที่ตามมาจากความมากมายเหล่านั้นก็คือ "ลืม"

การ "จำ" และการ "ลืม" ของมนุษย์ (อาจรวมไปถึงสัตว์) ไม่เหมือน "คอมพิวเตอร์" คือ เมื่ออุปกรณ์เก็บความจำเต็มก็สามารถลบของเดิมหรือเขียนทับของเดิมไป ของเก่าก็หายไปถูกเขียนทับด้วยของใหม่ แต่มีการกล่าวว่าจริงๆ แล้วเมื่อสมอง "จดจำ" สิ่งต่างๆ แล้ว จะไม่มีวัน "ลืม" หากแต่ถูกเก็บไว้ใน "ส่วนลึก" ของความทรงจำ เมื่อไม่นำออกมาใช้นานๆ สมองก็อาจจะค้นหาความทรงจำเหล่านั้นอยากซักหน่อย ต้องใช้เวลา เราจึงมีคำว่า "คุ้นๆ" เกิดขึ้น สุนัขได้ชื่อว่าความจำดีเลิศ แม้ไม่เจอเจ้าของมานานก็จดจำได้ แต่ส่วนตัวผมว่าอาจไม่ใช่ความจำดีเลิศเพียงแต่สุนัขไม่ต้องมีเรื่องให้จดจำให้ขบคิดมากเหมือนมนุษย์ ดังนั้นสมองของมันจึงไม่ลำบากนักที่จะเรียกความทรงจำเก่าๆ ออกมา

สำหรับมนุษย์แล้วเพราะการ "จำ" และ "ลืม" ก็สร้างทั้งสิ่งดีๆ และไม่ดีตามมามากมาย หลายครั้งที่เราเลือกที่จะ "ลืม" สิ่งดีๆ และ "จำ" ในสิ่งไม่ดี ลูกไม่ดูแลบิดามารดา ผู้มีพระคุณที่เลี้ยงดูมา ก็เพราะ "ลืม" ว่าตอนเด็กๆ เป็นอย่างไร ลูกศิษย์เลือกที่จะทำ "ชั่ว" เพราะลืมคำสั่งสอนที่ดีของ "ครูบาอาจารย์" สามีภรรยา หรือคู่รักเลิกรากัน ทะเลาะกัน เพราะ "ลืม" ตอนที่รักกันใหม่หรือสิ่งดีๆ ที่มีต่อกัน และจดจำแต่เรื่องไม่ดีของกันและกัน นักการเมือง "โกงกิน" เพราะลืมเรื่องบาปบุญคุณโทษ "ลืมบุญคุณของแผ่นดิน" ปัญหาส่วนตัว ครอบครัว และบ้านเมืองหลายเรื่องก็เกิดจากการ "จำ" ในสิ่งที่ไ่ม่ดี และ "ลืม" ในสิ่งที่ดีๆ ไป หากลองเลือก "ลืม" สิ่งไม่ดี เช่น "ลืมว่าคนนี้เคยทำร้ายเรา" "คนนี้เคยทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ" แบบนี้เรียกว่า "ลืมเพื่อให้อภัย" คนที่ได้ประโยชน์อันดับแรกก็คือ "ตัวเราเอง" เพราะไม่ต้องไปทุกข์ใจ ร้อนใจ ลืมแบบนี้บ้านเราเริ่มไม่ค่อยมี

ในทางพุทธศาสนา เรื่องของการ "ลืม" ก็อาจถือไ้ด้ว่าเป็นสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สัตว์โลกทั้งหลาย เวียนว่ายตายเกิด สำหรับปุถุชนคนธรรมดาทั่วไป เมื่อถือกำเนิดขึ้นธรรมชาติก็ได้กำหนดให้เหล่าสัตว์ทั้งหลาย "จดจำ" อยู่กับ "สังขาร" หรือ "ชาติกำเนิดในปัจจุบัน" สัตว์ทั้งหลายโดยทั่วไปไม่สามารถ "จดจำ" สิ่งที่เรียกว่า "อดีตชาติ" ได้ ซึ่งถือว่าเป็นการบังคับให้ "ลืม" อย่างสมเหตุสมผล ไม่อย่างนั้นก็คงวุ่นวายน่าดู เพราะหากถือตามพุทธพจน์ที่ว่า "สัตว์ทั้งหลายในสังสารวัฏ แทบไม่มีเลยที่ไม่เคยเป็น มารดา บิดา พี่ชาย น้องชาย พี่สาว น้องสาว ของกันและกันมาก่อน" และเหล่าสัตว์ทั้งหลายเหล่านั้นเกิด "จำ" ขึ้นมาได้ ธรรมชาิติของสิงโตที่จะล่าสัตว์อาจหายไป เพราะจะไปล่ากวางซักตัว "อ้าว นั่นเคยเป็นแม่เรานี่หน่า" จบกัน หรือตำรวจจะไปจับผู้ร้าย พอจับได้ "อ้าว นั่นเคยเป็นพ่อเรามาหลายชาติ จับแล้วเราจะปาบหรือเปล่าหนอ" เกิดความลังเลขึ้นมาอีก ดังนั้นในกรณีนี้การ "ลืม" จึงเป็นประโยชน์

แต่ก็เพราะธรรมชาติอีกเช่นกันที่กำหนดให้เหล่าสัตว์ทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นมา "ลืม" เหล่าสัตว์เหล่านั้นจึง "ลืมความทุกข์" ของการเวียนว่ายตายเกิด ลืมว่าเราอาจเคยเกิดเป็นสัตว์นรกที่แสนทรมาน เคยเกิดเป็นเปรตที่อดยาก เคยเกิดเป็นเทวดาเสวยสุข จนเมื่อหมดบุญก็เริ่มทุกข์ใจที่ต้องจุติ สิ่งเหล่านี้จะว่าไปก็อาจไม่จำเป็นต้องไป "จดจำ" เพราะจะวุ่นวายอย่างที่กล่าวมาและเป็นเรื่องของอดีต แต่ควรพึง "ระลึก" เอาไว้ว่ามันเคยเกิดขึ้นกับเรามาแล้วอย่างจริงแท้แน่นอน ดังนั้นจึงไม่ควรที่จะ "ประมาท" ก่อนที่พระพุทธเจ้าจะทรงตรัสรู้ สิ่งแรกทีทรงค้นพบก็คือ ปุพเพนิวาสานุสสติญาณ หรือ การระลึกชาติได้ สังเกตุว่าจะใช้คำว่า "ระลึก" ไม่ได้บอกว่า "จำได้" และเมื่อก้าวพ้นคำว่า "ลืม" ไปได้ ก็ทรงเห็น "ทุกข์" และนำไปสู่การตรัสรู้เพื่อการ "พ้นทุกข์" จนนำมาสั่งสอนให้เราได้ประพฤติปฎิบัติตาม

จะเห็นว่า แค่คำว่า "ลืม" ก็สอดแทรกอยู่กับตัวเราแทบทุกเรื่อง สร้างทั้งปัญหาและประโยชน์ให้กับเรา อยู่ที่ว่าเราจะเลือกใช้มันอย่างไร แต่สุดท้ายที่ไม่ควร "ลืม" คือ หากเรา "ไม่ลืมตา" ไปตลอดเมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็อาจไม่มีอะไรให้เราต้อง "จดจำ" อีก และหมดโอกาสแก้ตัวกับสิ่งที่เรา "ลืมทำ" ครับ สวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๖ ครับ

 

 

 


 

คำสำคัญ (Tags): #ลืม
หมายเลขบันทึก: 514921เขียนเมื่อ 2 มกราคม 2013 23:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 21:42 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สุข..สวัสดีปีใหม่ครับ...

ติดตามผลงานตลอด ชอบมากค้ะ

อาจารย์เขียนได้ดีมากครับผมติดตามผลงานอาจารย์ตลอดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท