"วัคซีนธรรมะ" ของพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


เขียนบันทึกนี้ ในวันส่งท้ายปีเก่า 31 ธันวาคม 2555 เพื่อเตรียมต้อนรับปีใหม่ที่กำลังจะมาถึงในวันพรุ่งนี้  ก่อนหน้านี้ 2-3 วันได้ "ล้างบ้าน" ทำความสะอาดปัดกวาดเช็ดถูข้าวของเครื่องใช้ หมดเวลาไปหลายวัน  "ล้างกาย" คือ ดูแลรักษาร่างกาย (ซึ่งมักจะชำรุดอยู่เป็นประจำ) ออกกำลังกาย และพิถีพิถันเรื่องอาหารการกิน -- มาถึงเรื่อง "ล้างใจ" ซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้ธรรมะขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้น จึงจะล้างออก แต่ต้องเพียรพยายามขัดถูทุกวัน และคงต้องใช้เวลายาวนาน โดยส่วนตัวเป็นสมาชิกขาประจำสวดมนต์ทุกเย็นวันอาทิตย์ของวัดธรรมมงคลเถาบุญญนนทวิหาร อยู่แล้ว แต่ก่อนอ่านคำบาลียังไม่ได้ด้วยซ้ำไป แต่เดี๋ยวสวดเสียงดังคล่องแคล่ว การสวดมนต์เป็นการทำสมาธิอย่างหนึ่ง ในช่วงปีใหม่นี้ที่วัดมีกิจกรรมสวดมนต์ 9 วันมหัศจรรย์ สวดกันทุกวันตั้งแต่วันที่ 23 ธ.ค. สำหรับวันนี้ (31 ธ.ค.) จะสวด 2 รอบคือรอบ 6 โมงเย็น และรอบ 3 ทุ่มซึ่งเป็นการสวดมนต์ข้ามปี คาดว่าคนคงมาเข้าโบสถ์กันเป็นหมื่น สังเกตว่าในยุคนี้คนไทยเข้าวัดและทำบุญกันมากขึ้น เป็นเพราะอะไรไม่ทราบได้ แต่นับเป็นเรื่องดี เพราะวัด (ดีๆ) เป็นศูนย์รวมใจของชาวบ้านได้มาก เวลาอยู่ในวัดรู้สึกว่าผู้คนมีน้ำใจเอื้ออาทรต่อกัน มากกว่าที่เคยพบเห็นตามสถานที่อื่นๆในกรุงเทพมหานคร

เมื่อวานนี้ ได้หยิบหนังสือ "วัคซีนธรรมะ" ธรรมบรรยายเล่มที่ 32 โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก มาจากตู้บริจาคเพื่อการทำบุญแบบ self service ที่ริมบันไดขึ้นรถไฟฟ้า BTS สถานีทองหล่อ  อ่านแล้วเข้าใจง่ายขึ้นว่าพระพุทธเจ้าทรงค้นพบอะไร  -- ขออนุญาตเอามาสรุปไว้เป็นข้อๆ เพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และฝึกฝนตนเองไปเรื่อยๆ ดังนี้

  • การดำเนินชีวิตได้อย่างถูกต้องและมีความสุขอย่างแท้จริงนั้น เราจำเป็นต้องเข้าใจความเป็นจริงของชีวิตว่า คนเราทุกคนในโลกนี้ย่อมมีทุกข์
  • อุปาทานยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) นี้เอง เป็นทุกข์
  • เราสามารถพ้นทุกข์ได้ หรืออย่างน้อยบรรเทาทุกข์ได้ ถ้าเราปฏิบัติธรรม
  • ธรรมชาติของจิตเป็นประภัสสร ผ่องใสโดยธรรมชาติ แต่ความรู้สึกไม่สบายใจ คิดผิด หรืออุปกิเลสครอบงำจิต แล้วเราก็ยึดมั่นถือมั่นในความรู้สึกที่ไม่ดี การคิดผิด คิดไม่ดี นี่เป็นปัญหาของเรา
  • เราสามารถพ้นทุกข์ได้ทุกที่ทุกเวลา หากเราสามารถปล่อยวางอารมณ์ ปล่อยวางความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราได้ ทั้งความพอใจและไม่พอใจ โดยเราต้องสร้างกำลังใจ กำลังสติปัญญา ด้วยการเจริญอริยมรรคมีองค์แปด สรุปย่อในไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
  • พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ความรักเสมอด้วยตนไม่มี ดังนั้น เราควรรักและเมตตาแก่ตนเองก่อนที่จะรักคนอื่นหรือสิ่งอื่นๆภายนอก ความรักและเมตตาแก่ตนเองคือ รู้จักรักษาใจของตนให้มีความสงบ สบายใจ รู้จักปล่อยวางอารมณ์พอใจไม่พอใจที่เกิดขึ้นจากโลกธรรมแปด
  • การดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง เราควรตั้งมั่นอยู่ในศีลธรรม (รักษาศีล 5 ไม่เบียดเบียนผู้อื่น) และทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด ตามหลักอิทธิบาท 4 ซึ่งหมายถึงทางแห่งความสำเร็จ คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
  • หากเราปฏิบัติตามหลักของอิทธิบาท 4 เมื่อเราทำดีที่สุดแล้ว ผลที่ได้เป็นสิ่งไม่แน่นอน ผลจะออกมาอย่างไร เราควรทำใจเป็นสันโดษ ปล่อยวาง ให้เข้าใจว่า เราอยู่ในโลก ไม่ว่าจะทำดีขนาดไหน ก็ต้องประสบกับโลกธรรมฝ่ายที่ไม่น่าปรารถนา คือเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เป็นธรรมดา
  • เมื่อชาตินี้ เรามีบุญวาสนาได้เกิดมาพบพระพุทธศาสนาและมีโอกาสได้ศึกษาปฏิบัติธรรม เราควรจะตั้งเป้าหมายในการปฏิบัติธรรมเพื่อบรรลุโสดาบัน จึงจะรับประกันได้ว่าชาติหน้าเราจะไม่ไปเกิดในอบายภูมิ
  • โสดาบันคือ ผู้ที่ละสังโยชน์ ได้แก่ ความเห็นผิดว่าขันธ์ 5 เป็นตัวตนของเรา ลังเลสงสัยหรือขาดศรัทธาในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่เข้าใจอริยสัจ 4 และที่สำคัญคือ "สีลัพพตปรามาส" เป็นมิจฉาทิฏฐิ เช่น ความเชื่อในอำนาจอิทธิฤทธิ์บันดาลของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ พระพุทธรูปหรือพระสงฆ์ ยึดมั่นในความดีเพียงศีลหรือวัตรที่เคร่งครัด งมงาย ยึดติดในรูปแบบพิธีรีตอง
  • ผู้ที่ละสังโยชน์ได้ คือ ผู้ที่ได้เจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4
  • สติปัฏฐาน 4 พูดถึงกายและจิตใจของเรา ประกอบด้วย กาย เวทนา จิต และธรรม เป็นที่ซึ่งเราสามารถกำหนดเป็นฐานของสติ สมาธิ ปัญญา เพื่อให้เรารู้จักตัวเองตามความเป็นจริง
  • เมื่อเจริญสติตามหลักสติปัฏฐาน 4 จนเกิดกำลังสติปัญญามากพอ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นพร้อมกันในขณะจิต เรียกว่าเกิดมรรคสมังคี ตัณหา อุปาทานในขันธ์ 5 ดับ จิตสัมผัสพระนิพพาน ก็จะเห็นตามความเป็นจริงว่า กายเป็นสักแต่ว่ากาย เวทนาเป็นสักแต่ว่าเวทนา จิตเป็นสักแต่ว่าจิต ธรรมเป็นสักแต่ว่าธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา ทำให้จิตถอนอุปาทาน ปล่อยวางจากความยึดมั่นถือมั่นในกาย เวทนา จิต ธรรม อันเป็นเหตุแห่งทุกข์ เข้าถึงสภาวะของผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
  • ความตายเป็นเหตุการณ์สำคัญของชีวิตที่ทุกคนต้องเผชิญ ถ้าเราจะต้องตายภายในอีก 1 นาทีข้างหน้านี้ แล้วเรายังประคับประคองสติ ทำใจได้ ยอมรับความตายได้ รู้สึกว่ายังไม่ตายก็ดี แต่ถ้าตายก็ไม่เป็นไร เมื่อทำใจได้เช่นนี้ จิตก็ตั้งมั่น รักษาจิตใจดีได้ เราจะวางใจให้พร้อมที่จะรับความตายด้วยจิตใจที่ดีได้ ก็คือ เราควรฝึกหัดตายทุกวัน
  • ในชีวิตประจำวัน ให้ดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญา เมื่อมีความไม่สบายใจเกิดขึ้น ให้ใช้ลมหายใจยาวๆ เป็นปฐมพยาบาลจิตใจ ไม่ให้ติดอารมณ์ ตั้งใจว่า เราจะทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด ด้วยใจดี มีความสุขใจ แม้จะประสบกับโลกธรรมทีไม่น่าปรารถนา เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เราก็จะตั้งมั่นในความดี ความถูกต้อง คิดดี พูดดี ทำดี ในทุกสถานการณ์ ตายก็ตายด้วยความสบายใจ
  • ปฏิบัติธรรมคืออะไร ทำอย่างไรเราจึงจะปฏิบัติธรรมได้ ชีวิตคือปฏิบัติธรรม ปฏิบัติธรรมคือชีวิต เราต้องปฏิบัติอย่างไร
  • คุณลักษณะของธรรมะประกอบด้วย "สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตังเวทิตัพโพ วิญญูหิ"
  • สันทิฏฐิโก (เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฎิบัติพึงเห็นได้ด้วยตนเอง) ธรรมะมีอยู่กับทุกคนเท่ากัน เราทุกคนมีขันธ์ 5 (รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ) สภาวธรรมที่เกิดดับ เกิดดับ เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตามีอยู่กับทุกคนทุกชีวิต เมื่อเราเป็นผู้ปฏิบัติธรรม เราก็ต้องสำรวจจิตใจของเรา อดีตที่ผ่านไปแล้วก็เป็นอดีตไป อนาคตที่ยังมาไม่ถึงก็เป็นอนาคต การปฏิบัติธรรม ท่านให้ศึกษา "ปัจจุบันธรรม" หรือ "กรรมเก่า" ให้ศึกษาปัจจุบัน "เดี๋ยวนี้" แล้วก็ "ที่นี่" "ร่างกายและจิตใจ" นี่แหละคือกรรมเก่าที่ปรากฎอยู่ในปัจจุบัน
  • อกาลิโก (เป็นสิ่งที่ปฎิบัติได้และให้ผลได้ไม่จำกัดกาล) การปฏิบัติธรรม การรักษาศีล เดินจงกรม นั่งสมาธิ ควรต่อเนื่องกันตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่ก็ถือว่าปฏิบัติธรรมได้ เพราะการบรรลุธรรมหรือได้ดวงตาเห็นธรรมนั้นเป็นอกาลิโก เกิดได้ไม่จำกัดเวลา
  • เอหิปัสสิโก (เป็นสิ่งที่ควรกล่าวกับผู้อื่นว่า ท่านจงมาดูเถิด) หมายถึงเราสอนคนอื่นให้จงมาดู น้อมเข้ามาดูตัวเอง จนเห็นจริง จนรู้แจ้ง การปฏิบัติธรรมเราก็ไม่ได้ทำอะไรพิเศษ ขอให้ทุกคนโอปนยิโก จงมาดูความจริงที่มีอยู่กับร่างกายและจิตใจ
  • โอปนยิโก (เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตน) ที่เราปฏิบัติธรรมอยู่นี้ ให้พยายามปฎิบัติต่อเนื่องทุกเวลาทุกสถานที่ ใจเป็นธรรมก็ต้องเป็นตลอด เมื่อตาเห็นอะไร หูได้ยินอะไร ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรามีประสบการณ์รับรู้ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ให้เป็นโอปนยิโก น้อมมาอยู่ที่ใจ เจริญสติ เจริญสมาธิ เจริญปัญญาต่อเนื่องกัน ธรรมะเป็นที่พึ่งของเรา เราต้องพยายามสร้างนิสัยหรือว่าความรู้สึกอย่างนี้ พยายามให้มากที่สุด
  • ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ (เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน) ผู้สัมผัสธรรมะ ได้รู้ถึงผลของการปฏิบัติธรรมแล้วจะรู้ได้เฉพาะตน ความสุขที่ได้รับจากประสบการณ์ในสมาธิ ไม่สามารถถ่ายทอดเป็นภาษาให้คนอื่นเข้าใจได้ ต่างคนต่างต้องปฏิบัติเอง -- พระพุทธเจ้าสอนว่า นัตถิ สันติ ปะรัง สุขขัง ความสุขยิ่งกว่าความสงบไม่มี
  • การปฏิบัติธรรม เริ่มต้นด้วยการปฏิบัติไม่ผิด 3 อย่าง คือ 1. การสำรวมอินทรีย์ ประกอบด้วย ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (สำรวมหมายถึง ไม่ยินดี ยินร้าย) 2. รู้จักประมาณในการบริโภค (กินมากทำให้ขี้เกียจทำให้ง่วงนอน) 3. ไม่เห็นแก่นอน ไม่ขี้เกียจ ปรารภความเพียร พยายามเจริญสติของเรานี้ให้ติดต่อกัน
  • จิตใจของเราที่ค่อนข้างหวั่นไหว ไม่อยู่กับเนื้อกับตัว ก็ต้องตั้งใจเจริญสติสัมปชัญญะ หรือเจริญอานาปานสติ ระลึกถึงกาย ระลึกถึงลมหายใจเข้าออก เจริญสติปัฏฐาน 4 ตราบที่เรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องสร้างค่านิยมเรื่องความรักและเมตตาแก่ตนเอง รักสุขภาพจิตใจของตัวเอง ต้องเข้าใจและปฏิบัติตามพระธรรมคำสอน ซึ่งเป็น สันทิฏฐิโก อกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปนยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหิ ถึงแม้ว่าตายก็ตายด้วยความสบายใจได้

ในวาระดิถึขึ้นปีใหม่นี้ นับว่ายังมีบุญอยู่บ้างที่เจอหนังสือเล่มนี้ จึงขอตั้ง New Year Resolution  ไว้ว่า "ข้าพเจ้า จะตั้งใจปฏิบัติธรรม"

หมายเลขบันทึก: 514585เขียนเมื่อ 31 ธันวาคม 2012 10:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 ธันวาคม 2012 11:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

http://cdn.gotoknow.org/assets/media/files/000/863/324/original_CMMiracleFlower2012_1_08.jpg?1356716686

สวัสดีปีใหม่ครับพี่ ;)...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท