"เลียงร่อนแร่"


- การผลิตแร่ดีบุกโดยทั่วไปจะมีขั้นตอนการผลิต ๒ ขั้นตอน ขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การขุดหาดีบุกหรือการทำเหมืองแร่ ขั้นตอนที่สอง คือ การถลุงแร่ดีบุกเพื่อให้ได้โลหะที่บริสุทธิ์ “เลียง” เป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนที่หนึ่ง คือ การทำเหมืองแร่ เลียง มีลักษณะเป็นภาชนะกลมแบนคล้ายกระทะทำมาจากไม้ เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการร่อนแร่เพื่อล้างเศษดินที่ปะปนมากับแร่ออกโดยจะต้องนำแร่มาร่อนกับน้ำ การใช้เลียงร่อนแร่มีกล่าวถึงในหนังสือเสด็จประพาสรอบแหลมมลายู พระราชหัตถเลขาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความว่า“...คนที่หาบแร่ก็ขนน้ำขึ้นมาอีก ล้างไปเทไปจนดีบุกได้มากตามประมาณแล้ว เอาไม้กลมแบนๆ เรียกว่า “เลียง” ลงไปร่อนและเอาเท้าย่ำส่าย และเอามือโกยขึ้นส่ายให้ดินที่ละเอียดไปอีกชั้นหนึ่ง...”

-ในสมัยรัชกาลที่ ๔ – ๖ มีการทำเหมืองแร่ในพื้นที่จังหวัดชุมพร โดยเฉพาะในเขตหลังสวนและพะโต๊ะ กิจการเหมืองแร่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจและมีชาวจีนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในแถบหลังสวนเป็นจำนวนมาก ซึ่งชาวจีนส่วนใหญ่จะเข้ามาเป็นแรงงานหรือกุลีในเหมืองแร่และก็มีบางส่วนที่เข้ามาค้าขาย จะเห็นได้ว่าในปัจจุบันชาวหลังสวนบางส่วนจะเป็นคนไทยเชื้อสายจีนและบ้านในตัวอำเภอหลังสวนก็เป็นบ้านที่ได้รับอิทธิพลแบบจีนเข้ามาผสมด้วย

-การทำเหมืองแร่ในพื้นที่จังหวัดชุมพรนั้นลดลง เนื่องจากปริมาณแร่ที่ลดลงส่งผลให้ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ผู้รับสัมปทานเหมืองแร่จึงค่อยๆ เลิกกิจการลงไปในที่สุด อย่างไรก็ตามการทำเหมืองแร่ที่เจริญรุ่งเรืองในอดีตได้ส่งผลต่อรูปแบบการดำเนินชีวิตของชาวชุมพรมาจนกระทั่งปัจจุบัน 


 

เอกสารอ้างอิง     

กัมพล มณีประพันธ์ และสงบ ส่งเมือง. “เหมืองแร่ในภาคใต้” ใน สารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ.๒๕๒๙ เล่ม ๑๐. กรุงเทพฯ: อมรินทร์การพิมพ์, ๒๕๒๙.  

วิสันธนี โพธิสุนทร. พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร. กรุงเทพ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๔๒.

หมายเลขบันทึก: 514549เขียนเมื่อ 30 ธันวาคม 2012 21:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 ธันวาคม 2012 21:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท