การจัดการความรู้สู่ห้องเรียนในโลกกว้าง


โลกแห่งการเรียนรู้ไม่มีอยู่เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น สิ่งสำคัญจะทำอย่างไรให้ NO ไปสู่ KNOW ให้ได้

การจัดการเรียนรู้

เมื่อเร็วๆนี้ผู้เขียนได้มีโอกาสนำนักเรียนไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ต่างๆ ตามแนวทางการจัดการเรียนรู้โดยใช้บริบท "อยุธยามรดกโลก" เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งครูผู้สอนและนักเรียนได้ร่วมกันจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในลักษณะบูรณาการกลุ่มสาระการเรียนรู้ต่างๆเข้าด้วยกัน  ฉะนั้นจึงได้วางแผนออกแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใน "อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา"  เพื่อให้นักเรียนได้เข้าไปศึกษาเรียนรู้ตามสถานที่ต่างๆ เช่น วิหารพระมงคลบพิตร  วัดพระศรีสรรเพชญ์  วัดพระราม        วัดหน้าพระเมรุ  วัดไชยวัฒนาราม  และวัดใหญ่ชัยมงคล

ศิษย์กับครูเรียนรู้ไปพร้อมๆกัน

การไปศึกษาแหล่งเรียนรู้ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก หรือครั้งเดียว นักเรียนบางคนเคยไปสถานที่ดังกล่าวกับพ่อแม่ ผู้ปกครอง และต้องการไปศึกษา เจาะลึก  ดังนั้นกิจกรรมการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในสถานที่ต่างๆ  นักเรียนจึงได้รับฟังการบรรยายจากวิทยากร  สัมภาษณ์ผู้ที่อยู่ในบริเวณนั้นถึงประวัติความเป็นมาของโบราณสถาน โบราณวัตถุ  และเด็กๆได้ตั้งคำถามอย่างมากมาย หลากหลายคำถาม เช่น สถานที่แห่งนี้สร้างขึ้นได้อย่างไร  ใครเป็นคนสร้าง  ใช้เวลานานเท่าใด  ทำไมจึงเลือกทำเลที่ตั้งตรงจุดนี้  มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างไร  และจะทำอย่างไรให้มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาเที่ยวมากขึ้น เป็นต้น 

เทคนิคการตั้งคำถามลักษณะที่กล่าวมานี้ เป็นสิ่งที่นักเรียนสามารถไปสืบค้นหาข้อมูล ความรู้จากแหล่งต่างๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น จากการสอบถามผู้รู้  จากการค้นคว้าในห้องสมุด  จากการสืบค้นอินเตอร์เน็ต เป็นต้น  จากนั้นจึงได้นำมารวบรวมทำเป็น "หนังสือเล่มเล็ก"  ซึ่งจะมีเรื่องราวนำเสนอในแง่มุมที่หลากหลาย  และที่น่าสนใจคือมีการวาดภาพระบายสีตกแต่งสวยงาม  ทำให้มีหนังสืออ่านประกอบเพิ่มขึ้นมาและสามารถแลกเปลี่ยนกันอ่านได้ด้วย

มุ่งมั่นสู่ ปรัชญาโรงเรียน

ในการจัดการศึกษาของโรงเรียนจิระศาสตร์วิทยา  ต้องการฝึกฝน อบรม ให้ผู้เรียนทุกคนมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร และเป็นผู้ที "ฉลาดและมีคุณธรรม" ตามปรัชญาของโรงเรียน  ดังนั้นการที่ผู้เรียน "ฉลาด" ไม่ได้หมายความว่าจะต้องสอบให้ได้ที่ 1 หรือเรียนได้เกรด 4 หมด แต่หมายถึง "ความเฉลียวฉลาดในการเรียนรู้และสามารถนำประสบการณ์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้อย่างยั่งยืน"  ส่วน "คุณธรรม" ในที่นี้หมายถึงการที่ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรมขั้นพื้นฐาน เช่น "ขยัน ประหยัด ซื่อสัตย์ อดทด ตรงต่อเวลา รู้หน้าที่
และ
มีน้ำใจ" เป็นต้น

ปรับเปลี่ยนจาก NO ไปสู่  KNOW

การที่เราไม่รู้มักจะบอกว่า No อยู่เสมอ ฉะนั้นครูผู้สอนจะต้องผันวิกฤตให้เป็นโอกาสให้ได้
โดยต้องใช้กระบวนการจัดการความรู้ มาเป็นแนวทางหรือเป็นเครื่องมือเพื่อที่จะให้ผู้เรียนมีความรู้
Know หรือเกิด Knowledge ขึ้นมาให้ได้  ซึ่งเป็นสิ่งที่ท้าทายคุณครูทุกท่านใช่ไหมครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 5145เขียนเมื่อ 9 ตุลาคม 2005 14:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท