“มนุษย์เงินเดือน” : อย่าทำงานด้วยความตั้งใจ แต่จงทำด้วยหัวใจ


 

เจริญชัย ไชยไพบูลย์วงศ์

รายการวิทยุ "รู้ใช้เข้าใจเงิน" FM 96.5





  โลกใบนี้ซับซ้อนกว่าที่เราคาดคิด



ความมุ่งมั่นตั้งใจ
เป็นคุณสมบัติที่ดีของมนุษย์ แต่บางครั้งก็นำมาซึ่งปัญหาได้
เมื่อความตั้งใจที่ล้นทะลัก ทำให้เราตีกรอบตัวเองมากเกินไป ชีวิตและการกระทำจึงไม่ยืดหยุ่น
ไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์โลก ที่มีความเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้





1. อย่าทำงานด้วยความตั้งใจ แต่จงทำด้วยหัวใจ



 

ศตวรรษที่ 21 นับเป็นยุคสมัยของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) งานที่ซ้ำซากจำเจย่อมถูกถ่ายโอนให้เครื่องจักรและเทคโนโลยีรับผิดชอบไป
ดังนั้น สิ่งที่ตัดสินว่ามนุษย์คนใดจะมีคุณค่า ก็คือ ความคิดสร้างสรรค์



  การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์
ต้องทำให้ตัวเองหลุดพ้นจากกรอบจำกัด เปิดกว้างต่อความหลากหลาย หลังจากนั้น
จึงผสมผสานความหลากหลายให้กลายเป็นความลงตัว น้อยไปก็ไม่ได้ มากไปก็ไม่งาม



  ดังนั้น จึงยากจะมีสูตรสำเร็จให้เดินตามได้ หากต้องอาศัยการปรับตัวและยืดหยุ่น

 



Photobucket

 

 

 


 

  การทำงานด้วยความตั้งใจ
จึงกลายเป็นการปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ไปโดยไม่รู้ตัว
เพราะเมื่อคิดว่าองค์ประกอบนี้ดีก็จะพยายามใส่เข้าไปในผลงาน จนกระทั่งกลายเป็นขยะรกหูรกตา
ในทางตรงข้ามเมื่อรังเกียจสิ่งใด หรือคิดว่ามากเกินไปแล้ว ก็จะพยายามตัดทิ้งไป
จนกระทั่งกลายเป็นภาวะขาดแคลน



  วิธีแก้ปัญหาก็คือ
จงปลดปล่อยหัวใจให้เปิดกว้าง สิ่งใดควรเพิ่มเติม ประการใดควรตัดทอน เพียงกระทำตามความรู้สึก
ปล่อยให้ประสบการณ์และความหยั่งรู้ภายใน สื่อสารคุณสมบัติออกมาโดยไม่ปิดกั้น
ไหลละมุนดั่งสายน้ำ



  หลังจากนั้น
จึงค่อยขัดเกลาให้เข้ารูป ตัดและเพิ่มสัดส่วนให้ลงตัว แต่ก็ไม่ควรตั้งใจมากเกินไป
เพราะจะติดกับดักตัวเองอีกครั้ง หากปล่อยให้หัวใจที่เปิดกว้างต่อโลกภายนอก
เป็นตัวตัดสินและคัดเลือกแทน


2.  หนึ่งเรื่องราว หนึ่งห้วงขณะ





  ศตวรรษที่ 21 มนุษย์ได้ถูกทำร้ายด้วยข่าวสารที่ล้นเกิน เหตุผล อารมณ์ และสัญชาตญาณ
ตกอยู่ในภาวะตึงเครียดและร้อนรนตลอดเวลา ยากยิ่งที่จะบรรลุภาวะสร้างสรรค์ได้


  “หนึ่งเรื่องราว หนึ่งห้วงขณะ”
จึงเป็นกลยุทธ์ที่ดีพร้อม ในการเผชิญหน้ากับโลกที่วุ่นวาย



  เมื่อเราตัดเสียงรบกวนจากภายนอกไปได้
เราก็จะมีอารมณ์บรรเจิดจ้าที่จะรองรับเรื่องราวหนึ่งอย่างลึกซึ้ง
สามารถตัดต่อและแต่งเติมเรื่องราวนั้นได้อย่างเต็มที่
โอบรับทุกความเปลี่ยนแปลงที่อยู่แวดล้อมเรื่องราวนั้นได้อย่างยอดเยี่ยม
ทำให้บรรลุศักยภาพสูงสุดได้



  หลังจากเรื่องราวนั้นสิ้นสุดลง
เราก็ต้องปล่อยวางทันที เพื่อเตรียมรับเรื่องราวใหม่



  อย่าปล่อยให้งานที่ดีเลิศในอดีต
หรืออนาคตที่น่ากลัว มาเป็นเครื่องขัดขวางการสร้างสรรค์ผลงานที่เป็นเลิศในปัจจุบัน


 

3. ยิ่งล้มเหลวมาก ยิ่งสำเร็จมาก


 

  สิ่งที่ขัดขวางไม่ให้เราทำงานด้วยหัวใจอย่างเต็มที่
ก็คือ ความกลัว


 

  เพราะการสร้างสรรค์ผลงานที่กลั่นออกมาจากหัวใจ
ย่อมไม่อาจคาดเดาได้ ย่อมเต็มไปด้วยส่วนผสมที่แปลกประหลาด ย่อมเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่จะล้มเหลว

 

  ข้อเท็จจริงที่เราไม่รู้หรือรู้แล้วแต่ทำใจรับไม่ได้
ก็คือ นักสร้างสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ทั้งหลายในโลก ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน นักดนตรี
หรือแม้แต่นักวิทยาศาสตร์ ต่างก็เต็มไปด้วยผลงานที่ล้มเหลว
เพียงแต่โลกเลือกที่จะจดจำเฉพาะผลงานที่สำเร็จยิ่งใหญ่เท่านั้น

 

  นักสร้างสรรค์มีธรรมชาติที่แตกต่างจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
นั่นคือ พวกเขาอาจจะมีชั่วโมงบินในสายงานอาชีพมากมายหลายสิบปี
แต่ก็ยังมีโอกาสล้มเหลวได้ใกล้เคียงกับมือใหม่


 

  นั่นเพราะความสร้างสรรค์
มีลักษณะที่แปลกใหม่ มีลักษณะที่ต้องปรับตัวเข้ากับบริบทโลกที่ซับซ้อน ดังนั้น จึงยากจะมั่นใจได้ว่าผลงานชิ้นนั้นจะต้องพบความสำเร็จ



  ความแตกต่างเพียงประการเดียวของนักสร้างสรรค์อัจฉริยะกับนักสร้างสรรค์ระดับพื้นเพ
ก็คือ การผลิตผลงานได้มากชิ้นกว่า ด้วยเวลาที่รวดเร็วกว่า
จึงทำให้มีผลงานที่ประสบความสำเร็จมากกว่า
แม้ว่าจะเสี่ยงกับการมีผลงานที่ล้มเหลวมากกว่าก็ตาม


  หากต้องการประสบความสำเร็จ ในโลกที่เศรษฐกิจสร้างสรรค์
(
Creative
Economy) กำลังครอบงำชะตามนุษย์ เราก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิต
โดยเฉพาะการปลดปล่อยพลังที่อยู่ในหัวใจของเราออกมาอย่างเต็มที่ ไม่ว่าจะถูกหรือผิด
งามเลิศหรืออัปลักษณ์ ก็อย่าได้ใส่ใจ



  หากต้องปล่อยให้โลกเป็นผู้ตัดสิน



ในโลกที่ซับซ้อนเช่นนี้
ตัวเราเองอาจมีความรู้ที่คับแคบเกินไป
ที่จะตัดสินผลงานสร้างสรรค์ของเราได้อย่างถูกต้องรอบด้าน


  เราต้องกล้าที่จะจ้องมองผลงานที่สุดแสนทุเรศของเรา
กล้ายอมรับเสียงก่นประณามจากคนรอบตัว
เพราะเสียงเหล่านั้นจะเลือนหายไปพร้อมกับผลงานที่ล้มเหลวของเรา
ที่จะถูกกลบฝังไปกับกาลเวลา

 

  เมื่อปลดปล่อยความกลัวออกไปแล้ว
เราก็จะเดินหน้าสร้างสรรค์ได้อย่างเต็มเปี่ยมหัวใจ

 

  ยิ่งผลิตผลงานได้มากเท่าใด
ก็จะยิ่งรองรับผลงานสร้างสรรค์ที่ประสบความสำเร็จได้มากเพียงนั้น


  สิ่งสำคัญก็คือ อย่าฝืนหัวใจตนเอง
เมื่อผลงานที่เสกสรรค์ออกมาต้องพานพบกับความล้มเหลว จงค้นหาสาเหตุด้วยหัวใจนิ่งสงบ
แล้วอย่าทำผิดซ้ำ อาจต้องทดลองเปลี่ยนแนว หรือใส่องค์ประกอบอื่นเข้าไป
ไม่ใช่จมปลักอยู่กับสิ่งเดิมๆ แล้วคิดว่าปริมาณจะเปลี่ยนเป็นคุณภาพได้



  ความสร้างสรรค์ไม่ได้ต้องการเพียงปริมาณเท่านั้น
แต่ยังปรารถนาความหลากหลาย และการผสมเชื่อมโยงที่พอเหมาะพอดี


  หากหัวใจเราไม่ปิดกั้นความหลากหลาย
ไม่ด่วนตัดสินความถูกผิดดีเลว เราย่อมค้นพบความสำเร็จในสักวันหนึ่ง

 




หมายเลขบันทึก: 514277เขียนเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 21:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 ธันวาคม 2012 21:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท