ขอไถ่บาปที่ผมได้ทำไว้กับการจราจรของประเทศไทย


ขอไถ่บาปที่ผมได้ทำไว้กับการจราจรของประเทศไทย

สองวันก่อนผมเข้าไปประชุมกทม.  ขากลับบ้านอีสานประมาณหกโมเย็นมาถึงนวนคร ประตูน้ำพระอินทร์ รถขาออกพหลยโยธินติดประมาณ ๕ นาที หงุดหงิดเล็กน้อย  แต่พอผ่านมา...ได้มองเห็นถนนด้านตรงข้าม (ขาเข้ากทม.) ติดยาวประมาณ ๒ กม. คาดว่ากว่าจะผ่านไปได้ไม่น่าต่ำกว่า ๒๐ นาที

พลันก็คิดได้ว่าเป็นผลบาปที่ผมได้ทำไว้เองกระมัง เพราะในปีคศ. ๑๙๘๖ ช่วงที่กลับมาเยี่ยมประเทศไทยหลังจากไป ๘ ปี ได้เห็นรถติดมากในกทม. ที่ลาดพร้าว และแถวพหลโยธิน รังสิต  นวนคร จึงได้เขียนบทความมาลง บางกอกโพสต์ เสนอให้สร้างสะพานลอยเพื่อการยูเทิร์นโดยเฉพาะ 

หลังจากนั้นหกเดือนทราบว่ารัฐบาลท่านอานันท์สั่งสร้างหลายแห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะบนถนนพหลฯ  วิภาฯ  ซึ่งผมเชื่อว่าไทยเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีสะพานลอยเพื่อการกลับรถโดยเฉพาะเช่นนี้  (ผมไปมาทั่วโลกก็ไม่เคยเห็นที่ไหนมี  ไม่ว่า usa อังกฤษ หรั่งเศส เยอรมัน แสกนฯ สวิส ญี่ปุ่น ลาว เขมร พม่า) 

สมัยโน้น เขายูฯ กันบนถนนหลัก  ทำให้รถทั้งทางตรง และ รถที่ยูฯ ใช้เวลากันประมาณ  ๓๐ นาทีกว่าจะผ่านได้หนึ่งยู  วันนี้ใช้เวลาเพียง ๕ นาที ก็พอทน  ...มันมีทฤษฎีที่อธิบายได้ ว่าทำไมมันเร็วขึ้นมาก  ซึ่งผมได้อธิบายไว้แล้วหลายครั้งแล้วในบทความก่อนๆ   

มาวันนี้ผมขับผ่านนวนคร ผมติดเพียง ๕ นาที (แทนที่จะเป็น ๓๐ นาทีเหมือนก่อนเก่า ...ทั้งที่รถมากกว่าเดิม ๕ เท่า )  แต่สำหรับรถยูฯ น่าจะติด ๓๐ นาทีเหมือนเดิม  ส่วนรถขาเข้าติดประมาณ ๒๐ นาที (แทนที่จะเป็น ๓๐ นาที เหมือนเดิม ...เออ ก็ยังดี เรียกว่ายังได้กำไรโขอยู่)

วันนี้ผมจะมาเฉลยให้เห็นว่าทำไมมันยังติดกันอยู่แบบนี้ แทนที่จะดีกว่านี้อีกสิบเท่า  ผมบอกตรงๆ ว่า เพราะนำเอาทฤษฎีที่ผมเสนอเมื่อ คศ. ๑๙๘๖ ไปปฏิบัติเพียงครึ่งเดียว  หากเอาไปปฏิบัติทั้งหมดการจราจรจะดีกว่านี้อีก “สิบ” เท่า 

ที่รถยูฯ ที่นวนครและรถขาเข้ามันติดหนึบเพราะ พอมันลงจากสะพานยูแล้ว มันก็ไปวิ่งบนทางขนานสัก ๑๐ เมตร. แล้วมันก็มี” ทางเข้า” ให้มันตีเข้าพหลฯ  แบบทันทีทันใด  ที่ซึ่งรถทางตรงวิ่งมาด้วยความเร็วเฉลี่ยประมาณ ๑๐๐ กม.ต.ชม. 

แนวคิดแบบนี้ถ้ารัฐบาลไทยไปจ้างนักวิชาการฝรั่งมาแก้ รับรองว่าเสียค่าวิชาการไม่ต่ำกว่า ร้อยล้าน  แต่ผมคิดให้ฟรี (แม้กระนี้ก็ยังไม่มีคนเอาไปใช้ ส่วนที่เอาไปใช้ก็ทำได้ไม่เต็มที่เสียอีก)

พอรถยูมันแฉลบออกมาถนนใหญ่ มันเป็นรถช้า  มันก็ทำให้รถบนพหลฯ ที่วิ่งมา ๑๐๐ กว่า ต้องเบรก ทำให้สะดุด พอเบรกแล้วก็ตีออกเลนขวา  ทำให้รถเลนขว่า เบรก แล้วตีออกขวา จนกว่าจะหมดเลน  ....ส่วนรถที่ตามมาก็จะทยอยเบรกกันเป็นทอดๆ  ถ้ามีปริมาณรถมากเกินวิกฤต รถที่ตามหลังมาจะติดกันยาวเป็นกิโลๆ  สมมติว่าสองกิโลก็แล้วกัน  พอรถหัวขบวนออกตัว กว่าที่รถหางขบวนจะออกตัวได้ก็ใช้เวลา  600 วินาที (200 คัน คูณ 3 วิ)  หรือ 10 นาที  พอออกได้สักพักก็ต้องเบรกอีก  เป็นระลอก ไปแบบนี้ สิริรวมแล้วก็ 30 นาทีพอดีกว่าจะพ้นระยะทาง 2 กม.ไปได้  ทั้งที่ถ้าวิ่ง 100 ก็เสียเวลาเพียง 1 นาที 12 วิเท่านั้นเอง

หนทางแก้ไขคือ  ตรงทางลงสะพานยูนั้น ให้ทำเลนเร่งตัว ยาวสัก ๓๐๐ เมตรเป็นอย่างน้อย  ถ้าได้ ๕๐๐ เมตรจะยิ่งดีมาก เพื่อให้รถที่ยูออกมาแล้วได้เร่งตัวให้มีความเร็วสัก  ๙๐  กมตชม.  ก่อนที่จะเบนตัวเข้าถนนใหญ่  ถ้าทำได้แบบนี้จะมีการสะดุดน้อยมาก  รถก็ไม่ติด กล่าวคือ ไม่ติดทั้งรถที่ยู และรถบนถนนใหญ่ ..ได้สองต่อเลย 

ซึ่งที่บริเวณพหลโยธิน ยังมีพื้นที่ให้สร้างเลนเร่งตัวนี้ได้สบายๆ

อีกหลายแห่งในกทม.  ที่รถติดหนึบก็มีสาเหตุเดียวกัน หรือคล้ายกัน  เช่น สะพานลอยเบลเยี่ยม  (เบลเยี่ยมประเทศนิดเดียวมาสร้างสะพานให้ไทย ...เศร้าว่ะ)  ที่ผ่านสามย่าน ศาลาแดง ทำไมติดหนึ่บ ใช้เวลาช่วงเร่งด่วนประมาณ ๓๐ นาทีในการผ่านประมาณ ๒ กม. เช่นกัน

ผมดูแล้ว มันเกิดจากการลงสะพานลอย ตรงหน้า รร. เตรียมทหารเก่า (เห็นรร.แล้วเศร้าทุกที รร. ศักดิ์ศรีกลายเป็นอะไรไปแล้วก็ไม่รู้... แพ้ทุนนิยม)  พอลงมาแล้ว รถจากด้านหลังใต้สะพานก็กรูกันเบนหัวออกมาตัดหน้า ทำให้รถชะลอตัว เหมือนสะพานยูเทิร์นนวนครไม่มีผิด  ...แต่จุดนี้มีปัจจัยแทรกซ้อนมากกว่า เพราะอีกประมาณ ๓๐๐ เมตรข้างหน้ามีไฟแดงอีกด้วย (ให้รถจากทางด่วนมาลงพระรามสี่) 

แม้กระนี้ก็แก้ไม่ยาก  ไม่เชื่อตั้งผมเป็นประธานแก้ปัญหาจราจรกทม.ดูสิ ผมจะทำให้ดู

...คนถางทาง (๒๖ ธค. ๕๕) 

ปล. ที่ผมไปติดบนสะพานเบลเยี่ยมเพราะไปประชุมที่วิศวจุฬา  ทำให้อดแซวเพื่อนวิดวะจุฬาไม่ได้ว่า ใช้สะพานนี้ประจำ ไม่คิดหาทางแก้ไขปัญหาช่วยสังคมบ้างเลยหรือ  ต้องให้อจ.บ้านนอกเสี่ยวอีสานอย่างผมมาคิดให้แทน 

หมายเลขบันทึก: 514094เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 01:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ธันวาคม 2012 02:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอสนับสุนนครับ

ขอให้คนในทางหลวง(หรือผู้ที่เกี่ยวข้อง)ได้อ่านเจอบทความของอาจารย์

จะได้รีบนำไปดำเนินการต่อไป


เจ๋ง เลยค่ะ  ถ้าปัญหานี้ ได้รับการช่วยเหลือ บรรเทา ได้ - นับว่า สามารถช่วยลดเวลาในการใช้ชีวิตบนถนนได้เยี่ยมเลยค่ะ  อีกทั้งเลนเร่งตัวก็สามารถลดการเกิดอุบัติเหตุได้เช่นกัน  แต่บอกตรงๆค่ะ การที่เราต้องขับรถแล้วมาหยุดรอ ยูเทอร์น บนถนนหลักที่ไม่มีเลนเร่งตัวเพิ่มมาเนี่ย...มันให้อารมณ์ของการวัดใจสุด ๆ  ถ้าเลี้ยวและเร่งตัวไม่เร็วพอ เราอาจถูกรถที่วิ่งมาจากถนนหลัก ลากไปพร้อมกันเลย เพราะรถพวกนี้เค้ามาด้วยความเร็ว เหนือ นรกเหมือนกัน  -- นึกแล้วหวาดเสียวค่ะ --  รมต.คมนาคม ถ้ายังไม่มีผลงานอะไร แนวคิดของท่านอาจารย์ก็น่าจะช่วยเสริมขาเก้าอี้ได้บ้างนะ แม้ว่าพุงจะกางมากแล้วก็ตามที  อย่างน้อยประโยชน์ก็เป็นของประชาชน ตาดำๆ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท