สุชาติ
อาจารย์ สุชาติ สุชาติ สุขราช

ทฤษฏีกบกระโดด (Leapfrog Theory)


ทฤษฏีกบกระโดด มีหลักการที่เปรียบเทียบการทำงานแบบก้าวกระโดดเสมือนกบ โดยไม่เป็นไปตามขั้นตอนว่าจะทำเช่นเดียวกับกบ กล่าวคือ เลือกเป้าหมายที่ต้องการแล้วกระโดดไปอยู่ ณ จุดที่ต้องการ

แนวความคิดในทฤษฏี "กบกระโดด" นั้น มีรากเหง้ามาจากบริบทจากการศึกษาทฤษฏีความจำเริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (Economic Growth Theories) และการศึกษานวัตกรรมด้านการจัดการองค์กรอุตสาหกรรม (Industrial-Organization Innovation Studies) ที่มุ่งเน้นโดยเฉพาะด้านการเข่งขันระหว่างบริษัทต่างๆ โดยตัวทฤษฎีนั้นมีจุดกำเนิดที่เริ่มจากการศึกษาของ Joseph Schumpeter หรือชื่อเต็มว่า Joseph Alois Schumpeter (๑๘๘๓-๑๙๕๐) นักเศรษฐศาสตร์และนักรัฐศาสตร์ชาวออสเตรีย ผู้เชื่อว่าความจำเริญทางเศรษฐกิจจำเป็นต้องพึ่งพาบทบาทของ ผู้ประกอบการ (Entrepreneur) เป็นสำคัญ Schumpeter มีอิทธิพลต่อนักเศรษฐศาสตร์และนักบริหารสมัยใหม่หลายท่าน ในฐานะปรมาจารย์แห่งศาสตร์กลยุทธ์ธุรกิจนวัตกรรม และด้วยวลีคุ้นเคยที่ว่า "พายุแห่งการทำลายอย่างสร้างสรรค์" (Gales of Creative Destruction)[1] โดยมีสมมุติฐานที่ว่าบริษัทต่างๆที่ดำเนินธุรกิจการค้าแบบผูกขาด (Monopoly Profit) เริ่มจากบริษัทที่มาก่อน ดำเนินธุรกิจก่อน และเริ่มใช้เทคโนโลยีก่อน(วิธีการ ขั้นตอน ระบบ และทักษะ) มักจะมีแรงจูงใจน้อยที่จะนำสิ่งใหม่ๆหรือนวัตกรรมใหม่ๆเข้ามาใช้มากกว่าบริษัทคู่แข่งรายใหม่ๆที่พึ่งจะเข้ามาในสนามการค้า และเมื่อเป็นเช่นนั้นในที่สุดบริษัทที่มาก่อนเหล่านั้นก็จะค่อยๆสูญเสียบทบาทในตำแหน่งผู้นำทางเทคโนโลยีไปโดยปริยาย และเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นแล้ว นวัตกรรม (ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของวิธีการ หรือเทคโนโลยี – เป็นการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์ และมีประโยชน์จากวิธีการเดิม ๆ) ที่เกิดจากบริษัทคู่แข่งรายใหม่ที่พร้อมจะยอมแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้ ในที่สุดนวัตกรรมเหล่านั้นก็จะกลายเป็นตัวแบบหรือกระบวนทัศน์ของเทคโนโลยีใหม่ (New Technological Paradigm) และบริษัทใหม่ๆที่เข้ามาในสมรภูมิรอบต่อไปจะต้องกระโดดข้าม (Leapfrog) บริษัทผู้นำทางเทคโนโลยีก่อนหน้าเป็นวัฏจักรรอบต่อๆไปโดยทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างกำไรเพิ่มขึ้นให้กับองค์กรนั่นเอง (ดูตารางที่ ๑ ประกอบ)

ไม่นานมานี้แนวความคิดตามทฤษฎีกบกระโดดได้ถูกนำไปใช้กับบริบทด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development) สำหรับประเทศกำลังพัฒนา ตามที่ปรากฎในทฤษฎีการพัฒนา (Theory of Development) ที่เราอาจจะเร่งระดับความเร็วของการพัฒนาโดยการก้าวข้ามผ่านจุดอ่อน จุดด้อย ความมีประสิทธิภาพต่ำในแง่มุมต่างๆ ราคาค่าใช้จ่ายที่สูง ต้นทุนการพัฒนาสูง หรืออุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลภาวะสูง การก้าวข้ามสิ่งเหล่านั้นแล้วเลือกใช้วิธีการที่ดีกว่านั้น หรือข้ามขั้นด้อยเหล่านั้นไป จะนับเป็นการวางแผนแบบก้าวกระโดดของประเทศกำลังพัฒนาที่สามารถหลีกเลี่ยงขั้นตอนการพัฒนาที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่จำเป็นต้องเดินซ้ำตามเส้นทางการพัฒนาของเหล่าประเทศอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาจากการพัฒนาในแง่มุมต่างๆมาก่อน[2] ดังตัวอย่างเช่นการรับเอาเทคโนโลยีด้านพลังงานแสงอาทิตย์ของประเทศกำลังพัฒนาเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการพลังงาน การพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงที่ได้จากซากพืช ซากสัตว์ตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ ดังตัวอย่างเช่น ถ่านหิน,น้ำมัน, ก๊าซธรรมชาติ (Fossil Fuels) ที่ไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกตามวิธีการพัฒนาของประเทศที่พัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ซ้ำอีก แต่พัฒนาก้าวกระโดดไปสู่ยุคพลังงานการใช้แสงอาทิตย์ (Solar Age) [3] เลยทันที เป็นต้น



คำสำคัญ (Tags): #นวัตกรรม
หมายเลขบันทึก: 513824เขียนเมื่อ 23 ธันวาคม 2012 07:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2012 07:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท