ความไม่เที่ยงกอดเราตั้งแต่เกิด


กฺโรฑีกโรติ ปฺรถมํ ยทา ชาตมนิตฺยตา ฯ

ธาตฺรีว ชนนี ปศฺจาตฺ  ตทา โศกสฺย กะ กฺรมะ ๚ ๘ ๚

क्रोडीकरोति प्रथमं यदा जातमनित्यता ।
धात्रीव जननी पश्चात् तदा शोकस्य कः क्रमः ॥ 

ความไม่เที่ยงกอดเราตั้งแต่แรกเกิดฉันใด

แม่ในภายหลังก็เหมือน(เพียง)แม่นมฉันนั้น

เหตุใดจึงต้องโศกเศร้าเล่า


     จากโศลกที่ 8 ในองก์ที่ 4 ของบทละครเรื่อง "นาคานันทะ"  รจนาโดยพระเจ้าศรีหรรษะ (श्रीहर्ष) หรือหรรษวรรธนะ (हर्षवर्धन) (ราว พ.ศ. 1133 - 1190) เป็นบทละครอิงพระพุทธศาสนา น่าสนใจมาก

(ขอบคุณภาพจาก http://hmindia.blogspot.com/2008/12/ack-036-nagananda_3557.html)

     ข้อความนี้ศังขจูฑะผู้เป็นนาคกล่าวกับมารดา เมื่อนางคร่ำครวญขณะที่ศังขจูฑะเตรียมจะไปให้ครุฑกินเป็นอาหาร ศังขจูฑะบอกว่า สิ่งมีชีวิตเกิดมา (ชาต) ก็พบกับความไม่แน่นอนอยู่แล้ว(เหมือนแม่คนแรก)  แม่คือผู้มาหลังจากนั้นจึงเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือแม่คนที่สอง การจะต้องสูญชีวิตไปก็เป็นเรื่องธรรมดา คือกลับไปสู่ความไม่แน่นอนของโลก แม่คนเดิม แล้วเหตุใดจึงจะต้องโศกเศร้า

     ความไม่เที่ยงในที่นี้ ท่านใช้ว่า "อนิตฺยตา" ตรงกับศัพท์บาลีว่า อนิจจตา ท่านมักแปลว่า “ความเป็นของไม่เที่ยง” หรือ "ภาวะที่ไม่เที่ยง" เป็นอาการนาม (อนิตฺย ตรงกับ อนิจจัง เป็นคุณศัพท์ แปลว่า ไม่เที่ยง หรือหมายถึงคำนาม คือ สิ่งที่ไม่เที่ยง)


สำหรับผู้สนใจภาษาสันสกฤต

แยกสนธิ

  •   กฺโรฑีกโรติ ปฺรถมมฺ ยทา ชาตมฺ อนิตฺยตา  (1)
  •   ธาตฺรี อิว ชนนี ปศฺจาตฺ  ตทา(2)
  •   โศกสฺย กสฺ กฺรมสฺ (3)

โศลกนี้ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นข้อความเปรียบเทียบสองประโยคย่อย กับประโยคสุดท้ายเป็นคำถาม

ศัพท์

  • กฺโรฑีกโรติ   กริยาปัจจุบันกาล กฺโรฑ/กฺโรฑา+√กฺฤ ประกอบขึ้นเป็นกริยาตัวเดียวตามปกติ แต่ กฺโรฑ (ตัก อกจะเปลี่ยนเป็น กฺโรฑี ส่วน กฺฤ สร้างเป็นกริยาปัจจุบันกาลตามปกติ. √กฺฤ กริยาหมวด 8 (บางตำราว่าหมวด 2 ก็แล้วแต่จะอธิบาย) มีเค้าสองแบบคือ กรฺ (เอกพจน์) และ กุรฺ (พจน์อื่น) แล้วลงปัจจัย อุ ประจำหมวด แต่เมื่อแจกเอกพจน์ จะเปลี่ยนอุเป็นโอ จึงได้ กโร-มิ/ษิ/ติ.  ธาตุ กฺฤ อาจประกอบหลังคำนามอื่นเพื่อใช้เป็นกรรมได้ เช่น อลํ+กฤ (ตกแต่ง)
  • ปฺรถมมฺ  คุณศัพท์. นปุ.เอก.กรรตุการก. ที่หนึ่ง, แรก.คำนี้ขยายความกริยา (ในตอนแรก หรือนาม ชาตมฺ ก็ได้ แปลว่า เมื่อแรกเกิด)
  • ชาตมฺ  นปุ.เอก.กรรตุการก มาจาก ชนฺ สร้างเป็นกริยาย่อย อดีตกาล, ชนฺ > ชา ลงปัจจัย ต บอกความเป็นอดีต/กรรมวาจก = ชาต แปลว่า ผู้/สิ่งที่เกิดแล้ว, การเกิด, สิ่งมีชีวิต
  • ยทา   ไม่แจกรูป. เมื่อใด, ฉันใด มักใช้คู่กับ ตทา เมื่อนั้น ฉันนั้น
  • อนิตฺยตา   ส.เอก.กรรตุการก. ความไม่แน่นอน ความเป็นของไม่แน่นอน เทียบกับคำบาลีก็คือ อนิจตา นี่เป็นคำนาม คำคุณศัพท์คือ อนิตฺย แปลว่าไม่สม่ำเสมอ ไม่ประจำ, คงมาจาก นิตฺย ที่แปลว่า ประจำ สม่ำเสมอ
  • ธาตฺรี  ส.เอก.กรรตุการก. พี่เลี้ยง แม่นม แม่ หรือแปลว่า แผ่นดิน ก็ได้
  • อิว   ไม่แจกรูป. เหมือน คล้าย
  • ชนนี   ส.เอก.กรรตุการก.แม่ (มาจาก ชนฺ + ปัจจัยกฤต อนฺ แปลว่าที่อยู่, เครื่องมือ = ชนนแล้วลงปัจจัย อี เพื่อเป็นเพศหญิง, ชชน ปุ. แปลว่าผู้ให้กำเนิด ก็ได้)
  • ปศฺจาตฺ    ไม่แจกรูป.ในภายหลัง ต่อมา (คำนี้น่าจะล้อกับ ปฺรถมมฺ)
  • ตทา   ไม่แจกรูป. เมื่อนั้น, ฉันนั้น. มักใช้คู่กับ ยทา 
  • โศกสฺย   ปุ.เอก.สัมพันธการก. แห่งความเศร้าโศก (มาจาก ธาตุ ศุจฺ เติมปัจจัย อะ แล้วทำคุณ เปลี่ยน อุ เป็นโอ เปลี่ยน จฺ เป็น ก)
  • กสฺ  สรรพนามใช้ถาม ปุ.เอก.กรรตุการก รูปเดิมคือ ก(นปุ. กิมฺ, ส. กา)  ในที่นี้แจกตรงกับ กฺรมสฺ
  • กฺรมสฺ   ปุ.เอก.กรรตุการก. สาเหตุ (โปรดสังเกต ไม่ใช่ กรฺม - กรรม ซึ่งหมายถึง การกระทำ)

ข้อสังเกตสำหรับผู้เริ่มเรียน

  ประโยคนี้มีกริยาเพียงตัวเดียว ในประโยคที่สอง ไม่มีกริยา หากจะเติมกริยา “เป็น” ภวติ, อสฺติ, วรฺตเต, ติษฺฐติ ฯลฯ ประโยคที่มี ยทา.. ตทา.. แบบนี้ ทั้งสองส่วนจะสัมพันธ์กัน

  ประโยคที่สาม โศกสฺย กะ กฺรมะ อาจแปลตรงๆ ว่า สาเหตุใดเล่าเป็นของความเศร้า, หรือ ความเศร้ามีสาเหตุจากสิ่งใดเล่า ความหมายคือ เมื่อเป็นเช่นที่กล่าวข้างต้น ก็ไม่เห็นจะต้องเศร้าโศก และไม่มีเหตุจะต้องเศร้า

  ข้อความในร้อยกรองมักจะไม่เรียงลำดับประธานไว้ต้นประโยค ไม่เรียงกริยาไว้ท้ายประโยค อย่างในร้อยแก้ว การแปลควรหาประธาน กริยา และกรรม ตามลำดับ จะเข้าใจได้เร็วขึ้น

  อีกอย่างหนึ่ง เราอาจแปลได้หลายอย่าง ไม่จำเป็นต้องยึดตามคำแปลข้างต้นก็ได้ ถ้าสอดคล้องกับหลักไวยากรณ์ ก็เป็นอันใช้ได้ การอ่านภาษาสันสกฤตจึงต้องอาศัยการตีความจากความเข้าใจศัพท์ และภูมิหลังความคิดต่างๆ.

หมายเลขบันทึก: 513757เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2012 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 ธันวาคม 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

สวัสดีค่ะคุณครู

ชอบบันทึกนี้มาก ๆๆๆ 

นี่คือสัจพจน์... 

"...สิ่งมีชีวิตเกิดมา (ชาต) ก็พบกับความไม่แน่นอนอยู่แล้ว(เหมือนแม่คนแรก)  แม่คือผู้มาหลังจากนั้นจึงเป็นเพียงพี่เลี้ยงหรือแม่คนที่สอง การจะต้องสูญชีวิตไปก็เป็นเรื่องธรรมดา คือกลับไปสู่ความไม่แน่นอนของโลก แม่คนเดิม แล้วเหตุใดจึงจะต้องโศกเศร้า..."

ขอบคุณค่ะ   :)

 ขอบคุณมากครับ ท่านเขียนไว้ประทับใจหลายบท ไว้จะทยอยเอามาเล่าให้ฟังนะครับ ;)

ความไม่เที่ยง ....กอด  .... เราตั้งแต่แรกเกิด  ..... เป็นสัจธรรมจริงๆๆ นะคะ  ท่านอาจารย์

ขอบคุณมากๆ กับ   คำเตือน + + บอกกล่าว + กระตุ้นสอน + ตระหนักรู้  .... ประโยคนี้ค่ะ

รออ่านเรื่องเล่าสนุกๆ อีก โดยไม่ค่อยยอมรับรู้กับภาษาสันสกฤตที่ยากๆนะคะ

แต่หากถูกหลอกล่อด้วยเรื่องสนุกๆ บ่อยๆ คงเรียนรู้ซึมซับเรื่องยากๆ ได้บ้าง...ฮาๆๆๆ  :)

 ขอบคุณครับพี่เปิ้ืล เป็นคำสอนของครูอาจารย์แต่โบราณกาลครับ

คุณหยั่งรากฯ เดี๋ยวจะหาเรื่องสนุกๆ มาหลอกต่อครับ อิๆๆ

มาอ่านและยอมรับว่า ภาษาสันสกฤตยากจังเลย มีความคิดเช่นเดียวกันเปี๊ยบกับน้องโหล คุณหยั่งรากฯ(ซึ่งเดิมไม่มีราก แซวน้องโหล)

กำลังคิดอยู่ว่า  อลํ+√กฤ (ตกแต่ง) คือคำว่าอลังการหรือเปล่า เพราะมันก็แปลว่าการตกแต่ง, การประดับ; เครื่องตกแต่ง, เครื่องประดับ แถมยังเคยได้ยินอินเดียพูดว่าอลังการัมในความหมายว่าตกแต่งเทวรูปด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับ ถูกไหมค่ะ

ภาษาสันสกฤตมีรายละเอียดเยอะครับ เลยยากนิดหน่อย ;)

จริงๆ แล้วอลังการแปลว่าตกแต่ง หรือเครื่องปรับดับ ถูกแล้ว, แต่ตอนหลังๆ เรานำมาใช้หมายถึง ใหญ่โตหรูหรา ซึ่งไม่ตรงกับความหมายเดิมนัก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท