วิธีการฝึก(สอน)ภาษาไทย ฉบับรวม


 

๒. วิธีการฝึก(สอน)การจับใจความ

หลักการ   หาสาระของเรื่องที่อ่านหรือฟังที่เป็นใจความสำคัญ หรือส่วนขยายเฉพาะที่สำคัญของเรื่อง

ขั้นตอนการฝึก

  ๑. ให้อ่านหรือฟังเรื่อง/ข้อความ  แล้วฝึกเล่าเรื่องคร่าวๆได้

  ๒.  ฝึกให้ลำดับเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่านหรือฟัง

  ๓.  ฝึกแยกแยะประเด็นหลัก ประเด็นรอง(ขยาย)

  ๔.  ระบุประเด็นสำคัญ  (ประธานเรื่อง)

เทคนิคการฝึก

  ๑.  ใช้วิธีการตั้งคำถามว่าใคร/สิ่งใด ทำอะไร  ที่ไหน อย่างไร ฯลฯ

  ๒.  ใช้วิธีการทำแผนภาพโครงเรื่อง

  ๓.  แต่งประโยคจากคำศัพท์เดียว ให้เป็นความเดียว ความรวม ความซ้อน

………………………….

๓. วิธีการฝึก(สอน)การอ่านในใจ

หลักการ   เพื่อทำให้อ่านเรื่องราวและจับใจความสำคัญอย่างรวดเร็ว

ขั้นตอนการฝึก

  ๑. ฝึกท่าทางการอ่าน  การนั่ง  การวางมือ  การวางหนังสือ  ระยะห่างจากสายตา การวางสายตากึ่งกลางหนังสือ  การไม่ออกเสียงเวลาอ่าน

  ๒. ฝึกการกวาดสายตาตามแนวขวางและแนวนอน โดยใช้อักษรเดียว คำเดียว กลุ่มคำ และคำที่มีความหมายเดียวกัน

  ๓. ฝึกอ่านเป็นวลี  เป็นประโยค  เป็นกลุ่มคำ 

  ๔. ฝึกอ่านข้ามคำ หรือวลีที่ไม่สำคัญ

  ๕. ฝึกจับใจความสำคัญของเรื่องที่อ่าน  โดยจับเวลาจากการอ่าน

เทคนิคการฝึก

  ๑. ใช้วิธีการตั้งคำถามว่าใคร/สิ่งใด ทำอะไร  ที่ไหน อย่างไร ฯลฯ

  ๒. ใช้วิธีการพิจารณาชื่อหนังสือ คำนำ สารบัญ หัวข้อย่อย ประโยคแรกแต่ละย่อหน้า

  ๓. ให้นักเรียนอ่านนิทาน  เรื่องสั้น  นิยายบ่อยๆ

............................

๔. วิธีการสอนการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ (วิเคราะห์)

หลักการ

  เพื่อทำให้เข้าใจจุดประสงค์ / เบื้องหลัง / การใช้ภาษา  รูปแบบ  กลวิธีการเขียน / เนื้อหาเนื้อเรื่อง / สำนวนภาษาของผู้เขียน

ขั้นตอนการฝึก

  ๑. ฝึกอ่านเว้นจังหวะคำ  เพื่อวิเคราะห์ความหมาย  เช่น ที่นี่รับอัดพระ

  ๒. ฝึกจับผิดถ้อยคำในวลี หรือข้อความที่ทำให้เข้าใจผิด / ใช้ผิด

  ๓. ฝึกจับผิดสำนวนประโยคต่างๆทั้งความเดียว ความรวม ความซ้อน

  ๔. ฝึกวิเคราะห์เรื่องของผู้แต่งว่ามีเหตุผล มีข้อมูลข้อเท็จจริงรองรับหรือไม่

  ๕. ฝึกวิเคราะห์ทำนองสูงต่ำ/ความหมายเมื่อได้อ่านเรื่องต่างด้วยเสียงอันดัง

  ๖. ฝึกค้นหาประโยคที่สำคัญที่สุด ประโยคเหตุ ประโยคผล ประโยคสรุป

เทคนิคการฝึก

หาตัวอย่างการวิจารณ์ข่าว  หนังสือ  คำพูด  ของ มรว.คึกฤทธิ์ ปราโมช, มล.บุญเหลือ  เทพยสุวรรณ ฯลฯ

………………………….

๕. วิธีการฝึก(สอน)การเขียนเรียงความ

หลักการ

   การเขียนเรียงความ เป็นการเขียนบรรยายถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิด และประสบการณ์ของผู้เขียน  ที่มีลักษณะการคิดวางแผนก่อนเขียน 

                                  ถ้าเขียนเรียงความได้ดี  ก็เขียนงานประเภทอื่นได้ดีไปด้วย

ขั้นตอนการฝึก

  ๑. ฝึกตั้งจุดประสงค์การเขียน (จะเขียนอะไร  เขียนไปทำไม)

  ๒. ฝึกวางโครงเรื่อง  (ใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ฯ)  ขั้นตอนนี้สำคัญที่สุด

  ๓. ฝึกตั้งชื่อเรื่อง (ชื่อดีก็เตะตา)

  ๔. ฝึกการเขียนคำนำให้น่าสนใจ  เนื้อเรื่องให้น่าติดตาม สรุปให้ข้อคิด/ประทับใจ

  ๕. ฝึกการใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารให้เหมาะกับเรื่อง บุคคล และจุดประสงค์

เทคนิคการฝึก

  ๑.  หาเรียงความชั้นดีมาให้ดู

  ๒. ให้แก้ไขเรียงความ / บทความที่มีข้อบกพร่อง

...................................

๖. วิธีการสอนการสรุปความ

หลักการ

  เป็นการนำเนื้อหาที่เกิดจากการตอบคำถามว่า ใคร  ทำอะไร  ที่ไหน เมื่อไร ทำไม  อย่างไร มาเรียบเรียงใหม่ต่อเนื่องให้สละสลวย  ชัดเจน  กระชับ  ย้ำความสำคัญ

ขั้นตอนการฝึก

  ๑.  ฝึกบอก-เล่าเรื่องโดยย่อจากเรื่องที่อ่านหรือฟัง  (เป็นเรื่องอะไร มีใครบ้าง)

  ๒. ฝึกลำดับเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่านหรือฟัง

  ๓. ฝึกแยกแยะประเด็นหลัก  ประเด็นรอง  ประโยคขยาย

  ๔. ฝึกจับใจความที่สำคัญ

  ๕.  ฝึกสรุปความ

เทคนิคการฝึก

๑.  ฝึกใช้วิธีการสรุปด้วยแผนภาพโครงเรื่อง

  ๒.  ฝึกขยายประโยคจากประโยคความเดียว เป็นประโยคความรวม  ความซ้อน ออกไปเรื่อยๆ

.......................

๗. วิธีการสอนการย่อความ

หลักการ

  เป็นการเก็บข้อความที่สำคัญแต่ละตอน  มาเรียบเรียงใหม่  ให้ได้ใจความเดียวกัน 

ขั้นตอนการฝึก

  ๑.  ฝึกบอก-เล่าเรื่องโดยย่อจากเรื่องที่อ่านหรือฟัง (เป็นเรื่องอะไร มีใครบ้าง)

  ๒.  ฝึกลำดับเหตุการณ์จากเรื่องที่อ่านหรือฟัง

  ๓.  ฝึกแยกแยะประเด็นหลัก  ประเด็นรอง  ประโยคขยาย

  ๔.  ฝึกจับใจความที่สำคัญ  

  ๕.  ฝึกสรุปความ

  ๖.  เก็บ ข้อ ๔,๕ มาเรียบเรียงใหม่ให้สอดคล้องกลมกลืน เป็นข้อความเดียวกัน

เทคนิคการฝึก

 ๑. ใช้บุรุษที่ ๓ , ถ้ามีราชาศัพท์ให้คงเดิม , ตัดเครื่องหมายทุกอย่างทิ้ง

   ๒. ฝึกวางรูปแบบการย่อไว้ในย่อหน้าแรก  ย่อหน้าที่สองจึงเป็นเนื้อความของการย่อ

   ๓. ฝึกจับใจความสำคัญแต่ละย่อหน้า  ให้เหลือประโยคความเดียว ๑ ประโยค

..................................

๘. วิธีการสอนเขียนบรรยาย / เล่าเรื่อง........

หลักการ

เป็นการเขียนถ่ายทอดความคิด  ความเห็นเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ จากประสบการณ์ของตัวเอง

ขั้นตอนการฝึก

  ๑.  ฝึกสังเกตรายละเอียด / นึกรายละเอียดของเรื่องราวที่ตัวเองพบเห็นมา

  ๒.  ฝึกเชื่อมโยงสิ่งต่างๆที่พบเห็น 

  ๓.  ฝึกหาถ้อยคำ / ประโยค / สำนวนให้สอดคล้องกับสิ่งที่จะเขียน

  ๔.  ฝึกเรียบเรียงความคิดเขียนออกมาเป็นเรื่องราวที่จะถ่ายทอด 

  ๕.  ตั้งชื่อเรื่อง

เทคนิคการฝึก   มองให้เห็นความสวย  ความงามที่มีอยู่รอบตัว หรือสิ่งที่เห็นให้ได้

...........................

๙. วิธีการสอนเขียนรายงาน

หลักการ

เป็นการเขียนเรื่องราวที่ได้ไปศึกษา ค้นคว้า แล้วนำเสนอในที่ประชุม  /  ชั้นเรียน  /  ครูอาจารย์

ขั้นตอนการฝึก

  ๑.  วางแผนกรอบแนวคิด/การค้นคว้าเรื่องที่จะไปศึกษา (เหมือนโครงงาน)

  ๒.  ค้นหาเอกสาร / สัมภาษณ์ / ทดลองตามที่วางแผนไว้

  ๓.  จดบันทึกข้อมูลที่ได้จากข้อ  ๒

  ๔.  นำข้อมูลที่ได้จาก ข้อ ๓  มาเรียบเรียงตามข้อ  ๑ 

  ๕.  จัดทำรูปเล่มตามลักษณะของรูปแบบการเขียนรายงาน  (สำคัญที่สุดต้องมีหลักฐานที่มา โดยเขียนเชิงอรรถ (Footnote)  ทุกข้อความที่อ้างถึง)

เทคนิคการฝึก

๑. หารายงาน / วิทยานิพนธ์ที่ถูกต้องมาให้นักเรียนได้ดูเป็นตัวอย่าง

๒. ฝึกให้นักเรียนตรวจหาข้อบกพร่องรายงาน / วิทยานิพนธ์ที่อ่าน  และแก้ไขให้ดีขึ้น

..................................

๑๐. วิธีการฝึก(สอน)อ่านวรรณคดี

หลักการ

 วรรณคดีเป็นสิ่งสร้างสรรค์อันล้ำค่าของมนุษย์  ที่สะท้อนเรื่องราว ชีวิต วัฒนธรรม ความเชื่อ  อารมณ์ ความรู้สึกของมนุษย์ในแต่ละยุค  ด้วยภาษาที่มีอรรถรสไพเราะบรรจงเลือกสรรมา เพื่อกระทบอารมณ์อย่างประณีต  มีอิทธิพลต่อจิตใจอย่างยิ่ง 

ขั้นตอนการฝึก

  ๑.  ครูเลือกสรรวรรณคดีต่างสมัยที่มีรูปแบบ  กลวิธีการเขียน  การใช้ถ้อยคำภาษา  ความไพเราะ  เหมาะ  งาม  ทั้งเสียงของคำ  และความหมายของคำทุกรูปแบบ  มาให้เด็กได้อ่าน /ได้ยิน

  ๒.  ครูอ่านวรรณคดีให้เห็นเป็นตัวอย่าง ไม่ควรใช้เทปบันทึกเสียง  เพราะเสียงสูงต่ำ สีหน้าอารมณ์ขณะอ่านสำคัญมาก  เป็นเรื่องสำคัญที่สุด  เสียงไม่เพราะไม่เป็นไร 

  ๓.  ฝึกให้นักเรียนอ่านตามครูทีละวรรค ละบท  เพราะการอ่านออกเสียงวรรณคดีเป็นสิ่งสำคัญที่สุด

  ๔.  ฝึกให้นักเรียนอ่านออกเสียงวรรณคดีด้วยทำนองน้ำเสียงต่างๆ ด้วยตัวเอง  โดยครูคอยชี้แนะจังหวะน้ำเสียง  ทำนอง สีหน้าที่แสดงถึงอารมณ์  แต่ครูไม่ต้องคาดหวังให้ไพเราะ แค่ถูกจังหวะ  ถูกทำนองเสียง  อักขระชัดเจนก็พอ  เพราะสิ่งที่ได้ คือ สนุก ยินดี เพลิดเพลิน และ “เข้าถึง”

  ๕.  อ่านเสร็จ  ช่วยกันวิจารณ์ทั้งเนื้อเรื่อง  ตัวละคร  การใช้ภาษา   

เทคนิคการฝึก

   ๑.  ใช้หลัก  ๑.  อ่านให้เข้าใจ  ๒. ได้เสียงเสนาะ  ๓. เจาะแนวคิดสำคัญ  ๔. หมั่นวิเคราะห์วินิจฉัย  ๕. ใส่ใจวิพากษ์วิจารณ์  ๖.ประสานกิจกรรม  ๗. สัมพันธ์เนื้อหา

   ๒.  เลือกวรรณคดีที่ดีที่สุด  มีภาษาไพเราะครบทุกอรรถรส มาให้นักเรียนได้ยิน  ได้อ่าน เช่น  พระอภัยมณี  สามก๊ก  ราชาธิราช  และครอบคลุมทุกลักษณะคำประพันธ์

   ๓.  ชี้ให้เห็นถึงรสวรรณคดี ๘ รส ให้ได้  โดยการฉายภาพการแสดงลิเก / โขน  / การขับเสภา  มาให้นักเรียนชม

................................

 

 

หมายเลขบันทึก: 513653เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 19:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 เมษายน 2024 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท