การสอนภาษาไทยอย่างไร ให้มีประสิทธิภาพ


ความเป็นมา

ผมเขียนบทความนี้ครั้งแรก  จัดทำเป็น Power point  สำหรับบรรยายให้กับคณะครูเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดตาก เขต ๒  เมื่อปี ๒๕๕๐  โดยเผอิญไปเยี่ยมเยือนโรงเรียนแห่งหนึ่ง   แล้วไปเห็นบนกระดานดำ ครูเขียนคำว่า "ป้า" ไว้ ผมลองเขียนคำใหม่ว่า "ม้า"  นักเรียนทุกคนตอบว่ายังไม่ได้เรียน  อ่านไม่ได้   ผมลองให้นักเรียนสะกดคำ  นักเรียนก็สะกดได้และอ่านเป็นคำได้   ผอ.ที่ไปด้วยจึงชวนผมมาชี้แนะปัญหา และสะกิดครูให้ตระหนัก และใส่ใจกับเรื่องนี้

 

แต่ก่อนที่จะไปกระตุ้นครู   ผมได้ทำแบบสำรวจสภาพปัญหาและสาเหตุการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยกับครูผู้สอน  และนักเรียนจำนวนหนึ่ง    ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากประจักษ์พยานต่อสายตาและหูผู้บริหาร  ที่ผมได้ทดสอบนักเรียน  และสอบถามครูด้วยวาจา  พบว่า การที่ครูสอนภาษาไทยไม่ได้ผล  เพราะครูส่วนมากสอนให้นักเรียนอ่านตามหนังสือแบบเรียน   โดยครูไม่มีหลักการ/ขั้นตอนการสอนที่เป็นไปตามกระบวนการเรียนรู้ในเรื่องนั้นๆ 

 

ไม่ว่าจะเป็นการสอนเรื่องการจับใจความ  ครูก็มักสั่งให้นักเรียนอ่านข้อความที่กำหนดให้  แล้วจับใจความเลย  ทั้งๆที่ยังไม่ได้ฝึกตามลำดับขั้นตอนแต่อย่างใด,  การเขียนเรียงความก็สั่งให้เขียน ๑ หน้ากระดาษ ๓ ย่อหน้า โดยที่ยังไม่ได้ฝึกกระบวนการขั้นตอนการเขียนเรียงความใดๆ  โดยเฉพาะการวางโครงเรื่อง(Plot) ซึ่งถือเป็นหัวใจของการเขียนเรียงความ ผมยังไม่เคยเห็นครูโรงเรียนไหนฝึกนักเรียนให้ประจักษ์สายตาแต่อย่างใด  เวลาตรวจก็อาศัยการเปรียบเทียบว่าใครสำนวนดีกว่ากัน ก็ให้คะแนนคนนั้นสูงหน่อย  ไม่มีหลักการหรือเกณฑ์ใดๆ  ที่ร้ายกว่านั้นกลับไปเห็นว่าการเขียนตามจินตนาการ คือ การเขียนเรียงความ  ใครจินตนาการดีให้คะแนนสูงมากทีเดียว

ซึ่งก็ไม่ได้เป็นเฉพาะโรงเรียนในเขตนี้เท่านั้น  จากการที่ผมเป็นผู้ประเมินภายนอกโรงเรียน  ได้ไปประเมินโรงเรียนทั่วประเทศไม่น้อยกว่า ๒๐๐ โรง  พบว่า  เป็นไปทำนองนี้ทุกโรงเรียน

 

ผมจึงถ่ายทอดจาก Power point มาเป็นเอกสารธรรมดา  เผื่อมีผู้สนใจ  ลองนำไปปฏิบัติตาม     แต่ที่จริงที่ผมเขียนขึ้น  ก็ไม่ได้แปลกไปจากการที่วิทยากร  หรือ ศน.แต่ละเขตพื้นที่การศึกษา ดำเนินการประชุมอบรมให้ความรู้แก่ครูเป็นประจำ   รวมทั้งเอกสารตำราหลักการสอนภาษาไทยในระดับมหาวิทยาลัย  หรือคู่มือหลักสูตรภาษาไทย  ของกระทรวงศึกษาธิการแต่อย่างใด  ผู้ใฝ่รู้สามารถไปค้นคว้าดูได้    

 

แต่ผมสงสัยว่า  เป็นเพราะเหตุใด  ทำไมครูตามโรงเรียนต่างๆ  จึงไม่ตระหนักเห็นคุณค่า นำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังเป็นระบบ  ฝึกนักเรียนอย่างมีขั้นตอนในการสอนสักที    น่าคิดนะครับ ว่าเป็นความรับผิดชอบของใคร   แต่ในทัศนะผมถือว่าเป็นความรับผิดชอบของผู้อำนวยการโรงเรียน   ตามบทความที่ผมเขียน "ตัวการที่ทำให้การศึกษาไทยล้มเหลวและไร้ประสิทธิภาพ" ไว้   https://www.gotoknow.org/posts...


ส่วนมากผู้บริหารโรงเรียนที่ผมประสบพบปะ  ไม่ค่อยมีภาวะผู้นำทางวิชาการเท่าใด  ตรวจแผนการสอนครูก็ไม่ได้เป็นกิจลักษณะ  เซ็นรับรองอย่างเดียว   ให้คำแนะนำหรือความรู้ในการสอนก็ไม่ค่อยจะมี  ไม่ค่อยมีบทบาทในการกำกับ ติดตามการทำงานของครูให้เป็นระบบเท่าใด  แต่ชอบเป็นผู้อำนวยการกันนัก   รับผิดชอบกันหน่อยครับ  เงินเดือนและเงินประจำตำแหน่งเยอะมาก    แต่ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนออกมาไม่ถึงครึ่ง  

 

ถ้าผู้บริหาร และครูช่วยกันทำให้การสอนทุกวิชาสอนตามหลักการ/ขั้นตอนที่เป็นไปตามกระบวนการเรียนรู้  หรือจิตวิทยาการเรียนรู้ทุกเรื่องที่จัดให้นักเรียนเรียน  ผลของการเรียนรู้จะได้คุณภาพมาตรฐานเกินครึ่งแน่นอน 

 

.................................

แนะนำพื้นฐานการเรียนภาษา

 

การสื่อสาร  เป็นธรรมชาติของสัตว์สิ่งมีชีวิต

การเรียนรู้ภาษา  เป็นพื้นฐานชีวิตของมนุษย์  Language-based  Learning

  • เพราะภาษาเป็นสะพานเชื่อมระหว่างจิตใจกับวิถีชีวิตมนุษย์  และมนุษย์กับมนุษย์ 
  • เพราะมีภาษาจึงสามารถสื่อสารความรู้สึก  ความนึกคิด  ความต้องการได้ดี 
  • เพราะมีภาษาจึงสามารถถ่ายทอดความรู้  ประสบการณ์ให้แก่กันและกัน  สังคมและโลกจึงพัฒนามาได้อย่างก้าวกระโดด

………………………

ภาษาแห่งการเรียนรู้

เสียง - ทำนอง เป็นธรรมชาติการสื่อสาร(ภาษา)ของสรรพสัตว์

แต่....ถ้อยคำ และระดับของภาษาเป็นวิวัฒนาการของมนุษย์  ที่สัตว์ไม่มี

  • ภาษาเป็นสิ่งที่ใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตมนุษย์
  • ภาษาจะไม่เกิดขึ้น  ถ้าปราศจากประสบการณ์
  • แต่ประสบการณ์จะไม่เกิดการรับรู้ได้  ถ้าไม่ใช้ภาษา
  • การอ่านเป็นศูนย์กลางของการพัฒนาทักษะทางภาษาชั้นสูง

...................................

ทำไมต้องมาอบรม  มาประชุมเพื่อพัฒนาการสอนภาษา

  • เพื่อปรับปรุงการเรียนการสอน  ให้นักเรียนรู้และใช้ภาษาสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • เพื่อแปลงสิ่งที่ได้จากประสบการณ์ในการฟัง พูด อ่าน เขียน เป็นการเรียนรู้ 
  • เพื่อพัฒนานักเรียนให้ใฝ่รู้  กระตือรือร้นในการเรียนรู้ผ่านโลกหนังสือ
  • เพื่อช่วยนักเรียนเปิดโลกกว้าง หรือต่อยอดความสามารถทางการศึกษา และวิถีชีวิต

.................................

สภาพปัญหาการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยในปัจจุบัน

  มีปัญหาซึ่งยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนว่า (จริงๆไม่กล้าสรุปให้สังคมรู้  ทั้งๆที่รู้ความจริง)  ทำไมเด็กทุกวันนี้จึงอ่อนภาษาไทย (อ่านไม่คล่อง  เขียนไม่คล่อง  อ่านผิด  พูดผิด  เขียนไม่ได้เรื่อง)  ทั้งนี้เป็นเพราะ

  • ใช่สาเหตุที่ว่ากระทรวงเปลี่ยนหลักสูตรหนังสือแบบเรียนภาษาไทยบ่อยหรือไม่
  • หรือเป็นเพราะว่ากระทรวงศึกษาธิการบังคับให้ครูสอนอ่านเป็นคำ เป็นประโยค  ไม่ยอมให้สอนแบบสะกดคำผันเสียงเหมือนในอดีตหรือไม่
  • หรือเป็นเพราะว่าเด็กสมัยนี้ไม่สนใจอ่านหนังสือ มัวแต่ไปดูโทรทัศน์  ภาษาที่ดีๆจึงแย่ลง
  • หรือเป็นเพราะว่าครูสอนภาษาไทยไม่เข้าใจ(ไม่มี)หลักการ  กระบวนการ  ขั้นตอนที่ดีในการสอนภาษาไทยกันแน่
  • ผู้อ่านตอบเอาเองแบบใดก็ได้  แต่ในทัศนะของผู้เขียนปัญหาส่วนมากเกิดจากสาเหตุข้อสุดท้าย

................................

ครูภาษาไทยที่ดี

  • แม่นหลักสูตร  (รู้จุดมุ่งหมาย  ขอบเขตเนื้อหา ธรรมชาติวิชาการสอนภาษาไทย)
  • รู้หลักการ รู้ขั้นตอนกระบวนการฝึก การสอนภาษา
  • รอบรู้เรื่องราว และวรรณกรรมอดีตทั้งเก่า และใหม่ 
  • ร่ำรวยภาษา  (ทั้งไวพจน์ ระดับภาษา ที่มาของภาษา และยิ่งถ้ารู้คำในภาษาทุกชาติยิ่งดี)
  • มีนิทาน มุขขำขัน(การเล่นคำ ใช้คำ) มาเล่าทุกวัน
  • น้ำเสียงมีชีวิตชีวา และได้รสชาติในการอ่าน การเล่า และการสอน

.......................................

คุณลักษณะของการเรียนรู้ทางภาษา

- ต้องช่วยพัฒนา

  • ทักษะชีวิต
  • ทักษะกระบวนการ
  • ทักษะสังคม

- ต้องช่วยกระตุ้น

  • ทัศนคติเชิงบวก
  • ความคิดรวบยอด (มโนทัศน์ – ภาพพจน์ – ภาพลักษณ์) 

.................................

เราสามารถยกระดับการสอนภาษาไทยให้มีประสิทธิภาพได้โดย....

- วิเคราะห์สาเหตุให้ได้ว่าทำไมนักเรียนจึงมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยไม่ถึงครึ่ง  

- ทำไมนักเรียนรุ่นหลังๆ  ใช้ภาษาที่ผิดพลาด  ไม่ถูกต้อง  ฟุ่มเฟือย  ทำให้ไม่เข้าใจ  หรือเข้าใจผิดในการสื่อสาร ต่อกัน  ตีความคำพูดผิด

- หาให้ได้ว่าปัญหาการสอนภาษาที่ได้ผลสำเร็จน้อยนั้น  แท้จริงอยู่ที่ใด  ใครเป็นผู้ควรรับผิดชอบ

  • หลักสูตร, หนังสือแบบเรียน
  • โรงเรียน, ครู, กระทรวงศึกษาธิการ
  • พ่อแม่, ผู้ปกครอง
  • นักเรียน
  • สังคม, สื่อมวลชน

     ครู และสังคมต้องช่วยกันทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ และความสามารถในการใช้ภาษาอย่างแท้จริง 

............................

ถ้าทำได้  นักเรียนจะเปลี่ยน...

  • จากภาษาใจ สู่ ภาษาพูดและภาษาเขียน  ที่สะท้อนความคิด  ความรู้สึก ความต้องการของตัวเองได้ชัดเจน
  • จากการฟังและการพูดตามใจฉัน  เป็น การสื่อสารที่มีประสิทธิภาพรับผิดชอบ
  • จากการที่ได้แต่ความรู้เนื้อหาเรื่องราว  เป็นความเข้าใจในกระบวนการใช้ภาษา  และสามารถใช้ภาษาได้ดี
  • จากการมัวแต่รอพึ่งผู้อื่นให้ เช่น ครู  เป็น  การเรียนรู้และสร้างองค์ความรู้ด้วยตัวเองจากเข้าใจภาษาได้ดีขึ้น
  • จากการท่องจำและทำซ้ำๆ เป็น การค้นพบ และพัฒนาภาษา
  • จากรอทำตามคำสั่ง เป็น อยากเรียนด้วยตนเอง

..............................

การเรียนรู้ภาษาที่ควรจะเป็น    ครูต้องยกระดับการสอนภาษาให้ได้  ๓  ระดับ     

๑. ฟังได้  พูดได้   อ่านได้   เขียนได้

๒. ฟังเป็น  พูดเป็น  อ่านเป็น  เขียนเป็น

๓. ฟังได้ดี  พูดได้ดี  อ่านได้ดี  เขียนได้ดี

.................................

ฟังได้  พูดได้ : เป็นพื้นฐานของคนทั่วไป

อ่านได้  เขียนได้  : เป็นพื้นฐานชีวิตของสังคมมนุษย์

อ่านได้

- แจกลูกได้  สะกดคำได้  ประสมคำได้

- อ่านเป็นคำ  เป็นวลีได้

เขียนได้

- เขียนเป็นตัวอักษรได้  เขียนตามคำบอกได้

- เขียนสะกดเป็นตัวได้  ประสมเป็นคำได้

.........

 

พูดเป็น  ฟังเป็น  อ่านเป็น  เขียนเป็น :  แสดงว่ามีทักษะทางภาษา

อ่านเป็น

- อ่านเป็นกลุ่มคำได้  เป็นประโยคได้  เป็นข้อความได้

- อ่านเป็นเรื่องราวได้

เขียนเป็น

- เขียนเป็นประโยคได้  เป็นข้อความได้

- เขียนเล่าเป็นเรื่องราวได้

พูดเป็น

- พูดชี้แจงได้

- พูดเล่าเรื่องราวได้ 

ฟังเป็น

- ฟังแล้วคิดสะกิดใจ

- ฟังแล้วเข้าใจเรื่องราวที่ได้ยิน

.............

 

ฟังได้ดี  พูดได้ดี  อ่านได้ดี  เขียนได้ดี  : แสดงว่าเก่งภาษา, มีความสามารถในการใช้ภาษาได้ดี

ฟังได้ดี   

- เข้าใจความคิด  ความรู้สึก  ความต้องการของผู้พูด

- เข้าใจนิสัย  จิตใจของผู้พูดได้

- เชื่อมโยงสิ่งที่ฟังได้

พูดได้ดี 

- อธิบายได้ชัดเจน  เข้าใจง่าย

- รู้จักพูดซักถามจนได้ข้อมูล ข้อเท็จจริง

- พูดจูงใจได้  โน้มน้าวใจได้  ให้กำลังใจได้  สร้างความประทับใจได้

อ่านได้ดี

- อ่านได้เร็ว 

   - ต้องฝึกหัดอ่านในใจ  เพราะอ่านใจเป็นหัวใจของของการอ่านเพื่อพัฒนาความรู้

- อ่านเอาเรื่อง 

  - เข้าใจความนัยเรื่องที่อ่าน

  - ใช้ประโยชน์จากเรื่องที่อ่าน

  - เชื่อมโยงสิ่งที่อ่านได้

- อ่านออกเสียง

  - อ่านให้ได้จังหวะ  ตามวรรค  ตามประโยค  ตามบริบทเรื่องราว

  - อ่านถูกต้อง  เสียงอักขระชัดเจน มีท่วงทำนอง  เน้นเสียงภาษาตามรูปถ้อยคำ  มีพลังเสียง 

  - อ่านให้ได้ทั้งอรรถรส  ธรรมชาติภาษา  ที่สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึก  ความนึกคิด  ความต้องการที่ตั้งใจสื่อสาร 

    จึงจะเห็นความไพเราะทางภาษา

เขียนได้ดี

   - สรุปย่อให้กะทัดรัดได้

   - เขียนเรียบเรียงเรื่องราวได้

   - เขียนจูงใจได้  โน้มน้าวใจได้  ให้กำลังใจได

   - ถ้าเขียนจนชวนให้เคลิบเคลิ้ม หวานใจ  ตายใจได้  ถือว่าเยี่ยม

 

.......... 

 

รายละเอียดการสอนแต่ละประเภท  ผมแยกออกเป็นเรื่องๆไว้แล้ว

 

คำส่งท้าย  :  ทั้งหมดที่ผมเขียนมา ไม่ใช่สูตรสำเร็จ แต่จากที่ตัวเองพัฒนาการสอนภาษาไทยมาตลอด ตั้งแต่เป็นครูปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นต้นมา การสอนที่ฝึกนักเรียนตามขั้นตอนการเรียนรู้  จำนวนนักเรียนที่ทำคะแนนไม่ต่ำกว่าครึ่งเป็นเครื่องยืนยันผลสำเร็จ นักเรียนสามารถทำแบบทดสอบไม่ว่าระดับประเทศ ระดับเขต ระดับจังหวัด ไม่เคยต่ำกว่า ๕๐ เปอร์เซ็นต์ และถ้าใช้การวางเงื่อนไขตามแนวทางการเรียนเพื่อรอบรู้ของบลูม ก็ไม่เคยต่ำกว่า ๖๐ เปอร์เซนต์ แต่บางโรงเรียนต้่องแอบทำนะครับ เพราะฝ่ายวิชาการบางโรงเรียน มักห้ามดำเนินการ อ้างว่าผิดระเบียบทางราชการต่างๆนาๆ แล้วแต่จะหาข้ออ้่าง ทั้งๆที่ระเบียบให้ครูคิดค้นพัฒนาการสอนใหม่ๆได้ ก็ไม่รู้ว่าในปัจจุบันหลายโรงเรียนยังเป็นอย่างนี้อยู่หรือเปล่า

 

 

แต่เป็นที่น่าละอาย เวลาตัวเองเป็นผู้บริหารเองบ้าง เป็นที่ปรึกษาโรงเรียนบ้าง สอนครูในมหาวิทยาลัยบ้าง กลับไม่สามารถผลักดันให้ครูส่วนใหญ่สอนอย่างมีหลักขั้นตอนตามนี้ได้เลย   เพราะครูส่วนมาก พอถูกบังคับให้สอนเป็นระบบ มีหลักมีขั้นตอนการสอน มักจะอึดอัดใจ พากันไประบายหรือร้องเรียนกับผู้บริหารระดับสูงกว่าทุกโรงเรียนไป  และผู้บริหารเหล่านั้นก็มักจะมาขอร้องให้เพลาๆลงหน่อย หนักเข้าผมก็เลยต้องปลง และทำใจ ถือว่าเป็นเวรกรรมของนักเรียนชุมชน/สังคมนั้นๆ ที่ทำให้ได้ครูและผู้บริหารเหล่านั้นมาทำงาน ที่ผมเลิกสอน เลิกประเมิน เลิกสนใจเข้าไปแก้ไขพัฒนาการศึกษาของประเทศไทยอีก ก็เพราะเหตุนี้เองครับ ที่เห็นใจผู้บริหารโรงเรียนก็ส่วนนี้อีกเช่นกันครับ

 

แต่ผมก็อยากเห็น ฝันว่าคนรุ่นหลัง คงเก่งกว่าผม สามารถเอาชนะปัญหาอุปสรรคเหล่านี้ได้ในที่สุด

 

เอาใจช่วยครับ

หมายเลขบันทึก: 513650เขียนเมื่อ 21 ธันวาคม 2012 18:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2017 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

โดยเฉพาะสอนนักเรียนในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลาม มีเวลาสอนเรื่องจับใจความ แค่ 80 นาที ทั้งเทอม เด็ก 50 คน ถึงครูเก่งแค่ไหนก็สอนนักเรียนให้เก่งทุกคนไม่ได้ ต่อให้ ดร. มาสอนก็เหมือนกัน

ใช่เลยครับ, คุณลุกมาน

จริงๆแล้ว การสอนนั้น ใครๆ ก็สอนได้ เช่น พ่อแม่สอนลูก พี่สอนน้อง เพื่อนสอนเพื่อน และบางทีสอนดีกว่าคนที่จบปริญญาครู หรือ ดร.เสียอีก เพราะสอนกันอย่างใกล้ชิด แถมมีจำนวนคนเพียง 2-3 คน

...

แล้วทำไมคนที่รับอาสามาเป็น "ครู" จึงไม่สามารถสอนให้นักเรียนเก่งทุกคนได้ล่ะ ?

สาเหตุ ก็คือ เขาไม่ได้เป็น "ครู" จริงๆ เพราะเขามัวแต่ "สอนหนังสือ หรืออธิบายตามหนังสือที่ใช้เป็นแบบเรียน" มากกว่าการสอนหรือฝึกตามเรื่องนั้นๆ เช่น การสอนภาษาไทย คนที่ไม่ใช่ครู จะสอนตามเรื่องราวในหนังสือเรียน ไม่ได้สอนการเรียงความ การจับใจความจริงๆ

...

ซึ่งถ้าเขาเป็น "ครู" จริงๆ เขาจะสามารถสอนได้ดีกว่าคนทั่วไป เพราะการเรียนวิชาชีพครู เพื่อเป็น "ครู" จริงๆนั้น ต้องรู้

1. รู้ใจคนเรียน (วิชาจิตวิทยา)

2. รู้หลักการสอน หรือขั้นตอนการสอนในเรื่องนั้นๆ (วิชาการศึกษา / เทคนิคการสอน)

3. รู้วิธีการกระตุ้นหรือสอนคน 30 คนขึ้นไปให้รู้พร้อมกันได้

เราจึงให้เงินเดือน และให้เงินค่าตอบแทนวิทยฐานะให้กับคนอาชีพครูที่มากกว่าในอดีต


...

สรุป ที่คนในโรงเรียนสอนไม่สำเร็จ หรือได้ผล เพราะเขาไม่ใช่ "ครู" จริงๆ ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท