มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

รู้ซึ้งถึงพระนิพพาน


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

รู้ซึ้งถึงพระนิพพาน

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์

นิพพาน

ประเภทและระดับ แห่งนิพพานและผู้บรรลุนิพพาน

ตามภาวะที่แท้จริงนั้น มีนิพพานอย่างเดียวเท่านั้น  ที่แยกประเภทออกไป ก็เพื่อแสดงอาการของบุคคลที่เกี่ยวข้องกับนิพพานบ้าง 1

  โดยพยัญชนะ หรือตามตัวอักษร นิพพานมาจาก  นิ อุปสรรค (แปลว่า ออกไป หมดไป ไม่มี  เลิก) + วาน (แปลว่า พัด ไป หรือ  เป็นไป บ้าง  เครื่องร้อยรัดบ้าง) ใช้เป็นกิริยาของไฟหรือการดับไฟ หรือของที่ร้อนเพราะไฟ แปลว่า ดับไฟ หรือดับร้อน  หมายถึง หายร้อน เย็นลง หรือ เย็นสนิท (แต่ไม่ใช่ดับสูญ) เป็นการแสดงภาวะทางจิต หมายถึง เย็นใจ สดชื่น ชุ่มชื่นใจ ดับความร้อน หายร้อนรน (ไม่มีความกระวนกระวาย) ซึ่งคำนี้มักใช้ในรูปกริยาศัพท์หรือคุณนาม เป็น “นิพฺพุต” 2 หรือแปลว่า  เป็นเครื่องดับกิเลส  คือ ทำให้ราคะ โทสะ โมหะหมดสิ้นไป แต่ในคัมภีร์รุ่นรองและอรรถกถาฎีกาส่วนมากนิยมแปลว่า ไม่มีตัณหาเครื่องร้อยรัด หรือออกไปแล้วจากตัณหาที่เป็นเครื่องร้อยติดไว้กับภพ3

การแบ่งประเภทนิพพานที่รู้จักกันทั่วไป คือแบ่งนิพพานธาตุเป็น 2 ตามคัมภีร์อิติวุตตกะ4

ได้แก่  1. สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานธาตุมีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานยังมีเชื้อเหลือ

2. อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  นิพพานธาตุไม่มีอุปาทิเหลือ หรือนิพพานไม่มีเชื้อเหลือ

  สิ่งที่เป็นเกณฑ์แบ่งประเภทในที่นี้คื อ คำว่า  “อุปาทิ” มีอรรถกถาอธิบายว่า  ได้แก่สภาพที่ถูกกรรมกิเลสถือครอง หรือสภาพที่ถูกอุปาทานยึดมั่นไว้ ซึ่งหมายถึงเบญจขันธ์ (ขันธ์ ๕ )5 ซึ่งถ้าถือเอาตามความหมายข้างบนนี้ จะได้ความเข้าใจมากขึ้น จึงได้ความหมายว่า

1.สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่ นิพพานยังมีเบญจขันธ์เหลือ  หรือ  นิพพานที่ยังเกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์

2.อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ  ได้แก่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ  หรือ  นิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับเบญจขันธ์

นิพพานประการแรก  หมายถึง ดับกิเลส ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์ผู้ยังมีชีวิตอยู่ ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า กิเลสปรินิพพาน (ดับกิเลสสิ้นเชิง)

นิพพานประการที่สอง  หมายความว่า  ดับกิเลสไม่มีเบญจขันธ์เหลือ ได้แก่ นิพพานของพระอรหันต์เมื่อสิ้นชีวิต ตรงกับคำที่คิดขึ้นใช้ในรุ่นอรรถกถาว่า  ขันธปรินิพพาน (ดับขันธ์ ๕ สิ้นเชิง)6

เพื่อความชัดเจน ขอคัดข้อความตามบาลีเกี่ยวกับเรื่องนี้มาแสดงไว้ดังนี้

“แท้จริง  พระสูตรนี้พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้ว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาดังนี้  ภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ 2 อย่างเหล่านี้ กล่าวคือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

“ภิกษุทั้งหลาย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็นไฉน?  ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว บรรลุประโยชน์ตนแล้ว มีสังโยชน์เครื่องผูกมัดไว้กับภพหมดสิ้นไปแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ อินทรีย์ ๕ ของเธอยังดำรงอยู่เทียว เพราะอินทรีย์ทั้งหลายยังไม่สิ้นหาย เธอย่อมได้เสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ย่อมเสวยทั้งทุกข์และสุข; อันใดเป็นความสิ้นราคะ  ความสิ้นโทสะ  ความสิ้นโมหะ  ของเธอ  อันนี้เรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

“ภิกษุทั้งหลาย อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ เป็น”ไฉน? ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว…หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ อารมณ์ที่ได้เสวย (เวทยิต) ทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของเธอ ซึ่งเธอไม่ติดใจเพลินแล้ว (อนภินันทิต) จักเป็นของเย็น ข้อนี้เรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ”

ต่อจากนี้มีคาถาสำทับความข้างบนนี้อีกว่า

“นิพพานธาตุ 2 อย่างเหล่านี้ พระผู้ทรงจักษุ ผู้คงที่ ไม่ขึ้นต่อสิ่งใด ได้ทรงประกาศไว้แล้ว (คือ) นิพพานธาตุอย่างหนึ่ง เป็นทิฎฐธัมมิกะ (มีในปัจจุบันทันตาเห็น) ชื่อว่า สอุปาทิเสส เพราะสิ้นตัณหาเครื่องนำไปสู่ภพ;  ส่วนนิพพานธาตุอีกอย่างหนึ่ง เป็นสัมปรายิกะ (มีในเบื้องหน้า หรือเป็นของล้ำ) เป็นที่ภพทั้งหลายดับไปหมดสิ้น ชื่อว่า อนุปาทิเสส…”

  เมื่อพิจารณาตามพุทธพจน์ที่แสดงนิพพานธาตุ 2 อย่างนั้น  เป็นการกล่าวถึงนิพพานโดยการบรรยายอาการ  หรือลักษณะเกี่ยวข้องกับนิพพาน คือ กล่าวถึงนิพพานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลผู้บรรลุ หรือพูดอีกยันหนึ่งคือ ใช้บุคคลผู้บรรลุนิพพาน เป็นอุปกรณ์สำหรับ ทำความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพาน มิใช่เป็นการบรรยายภาวะของนิพพานล้วนๆ โดยตรง ทั้งนี้ เพราะภาวะของนิพพานเองแท้ๆ เป็นสันทิฎฐิกะ อันผู้บรรลุจะเห็นได้เอง และเป็น  ปัจจัตตัง เวทิตัพพัง วิญญูหิอันวิญญูชนรู้ได้เฉพาะที่ตัวเอง ก่อนที่จะพิจารณาต่อไป ก็ขอย้ำความที่พระอรรถกถาจารย์กล่าวไว้ ที่ว่า โดยปรมัตถ์ (คือความหมายสูงสุด หรือความหมายที่แท้จริง) นิพพานไม่มีการแบ่งประเภท แต่ที่แบ่งเป็น 2 นั้น ก็เป็นการแบ่งโดยปริยายเท่านั้น และพึงเข้าใจความหมายของคำสำคัญ 3 คำ ต่อไปนี้ก่อน คือ

คำว่า  เวทยิต  มาจากรากศัพท์เดียวกับเวทนา และใช้แทนเวทนาบ้างในบางคราว แปลว่า การเสวยอารมณ์ก็ได้อารมณ์ที่ได้เสวยก็ได้ ในที่นี้มีรูปพหูพจน์เป็น  เวทยิตานิ  จึงควรแปลว่า อารมณ์ทั้งหลายที่ได้เสวยแล้ว ซึ่งเทียบได้กับคำที่ใช้กันในบัดนี้ว่า  ประสบการณ์ทั้งหลาย

  คำว่า  อนภินันทิต  เป็นคำวิเศษณ์ขยาย  เวทยิต  มาจาก  อภินันทิต  ซึ่งแปลว่า เพลิดเพลินหรือชื่นชม ในที่นี้แปลว่า  ติดใจเพลิน  แต่ความหมายแท้จริงกว้างกว่านั้น  คือหมายถึง  คลอเคลีย  หรือเคล้าด้วยตัณหา ไม่ว่าในแง่บวกหรือแง่ลบ ยินดีหรือยินร้าย ก็ตาม ด้วยเติม น  ปฏิเสธเข้าข้างหน้าเป็นอนภินันทิต  แปลว่า  ไม่ติดใจเพลิดเพลิน หมายความว่า  อารมณ์ทั้งหลายที่ได้เสวย หรือประสบการณ์ (เวทยิต) ทั้งหลายเหล่านั้น มิได้ถูกคลอเคลียด้วยตัณหา คือ ผ่านการรับรู้เข้ามาแล้ว ก็คงอยู่ในสภาพบริสุทธ์ เพราะจิตของผู้เสวยอารมณ์ไม่ถูกบังคับหรือครอบงำให้ปรุงแต่งบิดเบือนหรือหันเหอารมณ์ไปตามอำนาาจของราคะ โทสะ หรือโมหะ

  คำว่า  ทิฏฐธัมมิกะ  แปลตามศัพท์ว่า  เกี่ยวกับสิ่งที่มองเห็น ของที่เห็นกันได้ หรือเห็น ๆ กันอยู่แล้ว ว่าโดยกาล  หมายถึงเป็นไปในปัจจุบัน มีในปัจจุบัน ทันตาเห็น หรือชาตินี้ ชีวิตนี้ ว่าโดยสถานะ หมายถึง ของธรรมดาสามัญ  หรือเป็นเรื่องชั้นต้น ๆ ในความหมายของสอุปาทิเสสนิพพาน

คำว่า  สัมปรายิกะ  แปลตามศัพท์ว่า  ซึ่งจะถึงต่อจากนั้นไป หรือเลยจากนั้นไป ว่าโดยกาล หมายถึงเป็นไปในเบื้องหน้า มีในภายหน้า  พ้นจากชีวิตนี้ไป  หรือโลกหน้า  ว่าโดยสถานะ หมายถึงระดับที่เกินหรือเลยจากธรรมดาสามัญ สิ่งที่ล้ำลึกกว่าทิฏฐธัมมิกะด้านจิตใจเลยจากชีวิตประจำวัน หรือขั้นสูงขึ้นไป

บทขยายความนิพพานธาตุทั้ง 2 ดังนี้

สอุปาทิเสสนิพพานแปลว่า ภาวะของนิพพานที่เป็นไปกับด้วยอุปาทิเหลืออยู่ หรือนิพพานที่เกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ในเวลาที่พระอรหันต์ ยังมีชีวิตอยู่ ย่อมเสวยอารมณ์ต่าง ๆ รับรู้สุขทุกข์ทางอินทรีย์ทั้ง ๕

อธิบายว่าการนิพพานในลักษณะเช่นนี้ เป็นนิพพานท่ามกลางกระบวนการรับรู้ทางประสาทททั้ง ๕ ซึ่งเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ โดยฐานะเป็นอารมณ์หรือสิ่งที่รับรู้ เป็นการเพ่งถึงผลที่ปรากฏออกมาในการรับรู้ หรือการเกี่ยวข้องกับโลกคือสิ่งแวดล้อม ในการดำเนินชีวิตตามปกติ จึงเพ่งเล็งไปถึงกระบวนการรับรู้อารมณ์ต่าง ๆ เป็นไปด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ มีความหมายในแง่ของความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ ไม่ถูกปรุงแต่งด้วยอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ความยินดียินร้าย ด้วยปัญญาที่รู้เท่าทันธรรมชาติของมัน การเสวยอารมณ์หรือเวทนานั้น ไม่ถูกกิเลสครอบงำ หรือชักจูง จึงเป็นการเสวยอารมณ์ต่าง ๆ บริบูรณ์ดีอยู่ปกติ โดยไม่เกิดตัณหาทั้งทางแง่บวกและแง่ลบ (ยินดี-ยินร้าย  ชอบ-ชัง  ติดใจ-ขัดใจ

พูดอีกนัยหนึ่งว่า  ไม่มีตัณหาที่จะปรุงแต่งภพหรือชักนำไปสู่ภพ (ภวเนตติ) ภาวะนี้มีลักษณะที่มองได้ 2 ด้าน

ด้านแรก คือ การเสวยอารมณ์นั้นเป็นเวทนาอย่างบริสุทธิ์บริบูรณ์ในตัว เพราะไม่มีสิ่งกังวลติดข้องค้างใจหรือเงื่อนปมใด ๆ ภายในที่จะมารบกวน

ด้านที่สอง คือ เป็นการเสวยอารมณ์อย่างไม่สยบ ไม่อภินันท์ ไม่ถูกครอบงำหรือผูกมัดตัว ไม่ทำให้เกิดยึดติดหรือมัวเมาเป็นเงื่อนงำอีกต่อไป ตลอดเวลาของการดำเนินชีวิตของพระอรหันต์ เป็นเรื่องปัจจุบันเฉพาะหน้า และรับอารมณ์ขณะเดียวกันก็เท่าทันอารมณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งเรียกว่า  ทิฏฐธรรม (แปลว่า อย่างที่เห็น ๆ กัน หรือทันตาเห็นในเวลานั้น) จึงเป็นลักษณะของสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ

  อนุปาทิเสสนิพพาน  แปลว่า  ภาวะของนิพพานที่ไม่มีอุปาทิเหลืออยู่ หรือนิพพานที่ไม่เกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ได้แก่  นิพพานของพระอรหันต์พ้นจากเวลาที่เสวยอารมณ์ด้วยอินทรีย์ทั้ง ๕ หรือนอกเหนือจากความเกี่ยวข้องกับขันธ์ ๕ ในกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์  กล่าวคือ หลังจากรับรู้ประสบการณ์ หรือเสวยอารมณ์ โดยไม่อภินันท์ ด้วยตัณหา ไม่เสริมแต่งคลอเคลียด้วยกิเลสคือราคะ โทสะ หรือโมหะ (อภินันทิตะ) แล้ว อารมณ์หรือประสบการณ์เหล่านั้น ก็ไม่ค้างคาที่จะมีอำนาจครอบงำชักจูงหรือรบกวนต่อไปอีก  พูดเป็นสำนวนอีกอย่างหนึ่งได้ว่า พระอรหันต์มีความสามารถพิเศษ ที่จะทำให้อารมณ์หรือประสบการณ์ต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามา มีสภาพเป็นกลางปราศจากอำนาจครอบงำหน่วงเหนี่ยว กลายเป้นของสงบเย็นอยู่ใต้อำนาจของท่าน พระอรหันต์จึงได้ชื่อที่เป็นคุณลักษณะอย่างหนึ่งว่า สีติภูตะ หรือ สีตะ  แปลว่า  เป็นผู้เย็นแล้ว6ดังนั้นภาวะที่ประสบในเมื่อไม่มีอารมณ์ภายนอกคั่งค้างครองใจหรือคอยรบกวนอยู่เช่นนี้ นับว่าเป็นภาวะชั้นใน ซึ่งอยู่นอกเหนือกับการติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก  ล้ำเลยไปกว่าระดับการรับรู้ทางอินทรีย์ ๕ พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ที่พัวพันอยู่กับขันธ์ ๕ เรียกได้ว่าเป็นการเข้าถึงภาวะที่ปราศจากภพ หรือไม่มีภพใหม่ ในภาวะเช่นนี้ คือ เมื่อไม่มีขันธ์ ๕ เป็นอารมณ์ ท่านผู้บรรลุนิพพานแล้ว ก็จึงมีนิพพานเป็นอารมณ์ คือประจักษ์หรือประสบนิพพานในฐานะที่เป็นธัมมายตนะ7นิพพานในความหมายตรงนี้ เป็นด้านที่เพ่งถึงภาวะของนิพพานเองแท้ ๆ ที่ประจักษ์แก่พระอรหันต์พ้นจากกระบวนการรับรู้เสวยอารมณ์ภายนอก นอกจากการดำเนินชีวิตตามปกติ ฉะนั้นในที่นี้จึงเป็นการพูดถึงหรือบรรยายได้เพียงแค่ลักษณะของการเกี่ยวข้องกับนิพพานนั้น ถึงจุดที่ประสบการณ์อย่างที่รู้ที่เข้าใจ ซึ่งไม่ใช่นิพพานได้สิ้นสุดลงเพียงความเข้าใจแค่ได้ทำความเข้าใจอย่างเดียว ส่วนภาวะของนิพพานเองแท้ ๆ ซึ่งลึกเลยไปกว่านั้น เป็นเรื่องของผู้ประสบและประจักษ์เองจะรู้และเข้าใจ คือเป็นสันทิฏฐิกะ ดังได้กล่าวมาแล้ว

  อนึ่ง ตามปกติ กระบวนการรับรู้ทางอินทรีย์ทั้ง ๕ ก็ดี การติดต่อเกี่ยวข้องกับโลกภายนอก และการดำเนินชีวิตประจำวันก็ดี ย่อมสิ้นสุดลงแน่นอนและเด่นชัด เมื่อบุคคลสิ้นชีวิต ดังนั้น เมื่อพระอรหันต์สิ้นชีวิต นิพพานธาตุที่ท่านประสบย่อมมีแต่เพียงอย่างเดียงคือ อนุปาทิเสสนิพพาน ในภาษาสามัญที่ใช้กันทั่วไป อนุปาทิเสสนิพพาน จึงกลายมาเป็นคำเฉพาะสำหรับกล่าวถึงการสิ้นชีวิตของพระอรหันต์ คือเปลี่ยนจุดเน้นจากการเป็นคำแสดงภาวะ กลายมาเป็นคำแสดงกิริยาอาการหรือบรรยายเหตุการณ์ ดังจะเห็นได้ว่า คำว่าอนุปาทิเสสนิพพานที่ใช้ ณ ที่อื่นจากนี้ ล้วนเป็นคำกล่าวถึงเหตุการณ์ที่พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์สิ้นชีวิตเป็นพื้น ส่วนคำว่า สอุปาทิเสสนิพพาน ไม่อาจใช้เป็นคำบรรยายเหตุการณ์ได้มากนัก แต่มีที่ใช้เรียกอยู่มาก เช่น อสังขตธาตุ ,อนุปาทาปรินิพพาน ได้แก่ อัปปัจจยปรินิพพาน คือ ภาวะแห่งนิพพานที่เป็นอสังขตธาตุ ซึ่งไม่มีเชื้อคือปัจจัยปรุงแต่ง (สํ.อ.3/214;  องฺ.อ.1/580; 3/212,385;  สํ.อ.2/408; อิติ.อ.373) ขันธวิมุติ แปลว่า พ้นจากขันธ์ , นิสสรณวิมุติ ได้แก่ อนุปาทิเสสนิพพาน

  อนึ่ง ตามคำอธิบายในปรมัตถมัญชุสา  (วิสุทธิ.ฎีกา 3/647) แสดงภาวะลักษณะที่ กรณีของพระอรหันต์ เสมือนบรรลุอนุปาทิเสสนิพพานอย่างเวลาสิ้นชีวิต โดยแสดงลักษณะอย่างการเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ ที่เรียกกันง่าย ๆ ว่า นิโรธสมาบัติ (คือผู้อยู่ในนิโรธสมาบัติ มีภาวะภายนอกเกือบไม่ต่างกับคนตาย (ดู ม.มู.12/501-2/541-3;  510/551;  559/601;  วิสุทธิ.3/361-371)

คำขยายจากพระไตรปิฎก แสดงอารมณ์ภายในจิตของพระอรหันต์ เช่น

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อใดภิกษุละอวิชชาได้ วิชชาเกิดขึ้นแล้ว เพราะสำรอกอวิชชาได้ เพราะวิชชาเกิดขึ้น เธอย่อมไม่ปรุงแต่งปุญญาภิสังขาร ไม่ปรุงแต่งอปุญญาภิสังขาร ไม่ปรุงแต่งอเนญชาภิสังขาร เมื่อไม่คิดปรุง ไม่คิดเสริมแต่ง ย่อมไม่ถือมั่นสิ่งไรในโลก เมื่อไม่ถือมั่น ย่อมไม่กระวนกระวาย เมื่อไม่กระวนกระวาย ย่อมปรินิพพานประจักษ์เองทีเดียว เธอย่อมรู้ชัดว่า  ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์ได้อยู่แล้ว กรณียะได้ทำแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีก

“หากเธอเสวยเวทนาที่เป็นสุข ก็รู้ชัด (รู้เท่าทัน)ว่า สุขเวทนานั้น ไม่เที่ยง รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นตนมิได้สยบ รู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นตนมิได้ติดใจเพลิน (อนภินันทิต) หากเธอเสวยเวทนาที่เป็นทุกข์…หากเธอเสวยเวทนาที่ไม่ทุกข์ไม่สุข ก็รู้ชัดว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง…ตนมิได้สยบ…ตนมิได้ติดใจเพลิน, หากเธอเสวยสุขเวทนา…ทุกข์เวทนา…เสวยอทุกขมสุขเวทนา ก็เสวยเวทนานั้นอย่างไม่ถูกมัดตัว, เธอนั้นเมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย (เวทนาทางทวาร 5 คือ ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย) ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต (เวทนนาทางใจ) ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต เธอรู้ชัดว่า ต่อจากจบชีวิตเพราะกายแตกทำลาย อารมณ์ที่ได้เสวย (เวทยิตานิ) ทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจเพลิน (อนภินันทิต) จักเป็นของเ็นอยู่ที่ (อายตนะ12)นี้เอง สรีรธาตุ (ซากกาย) จักคงเหลืออยู่”

ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนว่า ประทีปน้ำมัน อาศัยน้ำมันและไส้จึงโพลงอยู่ได้, เพราะสิ้นน้ำมันสิ้นไส้นั้น (และไม่เติมน้ำมัน ไม่ใส่ไส้อื่น) หมดเชื้อ ย่อมดับไปฉันใด, ภิกษุก็ฉันนั้นเหมือนกัน เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงกาย, เมื่อเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต ก็รู้ชัดว่า เราเสวยเวทนาที่สุดเพียงชีวิต, เธอรู้ชัดว่า ต่อจากจบชีวิตเพราะกายแตกทำลาย อารมณ์ที่ได้เสวยแล้วทั้งหมด ซึ่งมิได้ติดใจเพลิน จักเป็นของเย็นอยู่ที่ (อายตนะ12)นี้เอง”8

สรุปการพิจารณานิพพานของพระธรรมปิฎกดังนี้

นิพพานนั้นเป็นภาวะที่ลึกซึ้ง ถ้าพูดในหลักวิชาหรือหลักธรรมที่แสดงภาวะเพียงอย่างเดียวก็เป็นเรื่องหนักแล้ว ยังเป็นการเสี่ยงต่อการวาดภาพที่ผิดพลาดได้ด้วย ทั้งนี้เพราะผู้เสนอคำอธิบายไม่อาจแปลคำศัพท์สำคัญบางคำให้ได้ความหมายจะแจ้งรอบด้าน และฝ่ายผู้พิจารราก็อาจมีสัญญาเก่า ๆ เกี่ยวกับคำศัพท์หรือข้อธรรมเหล่านั้น ที่ไม่สู้ตรงความหมายที่แท้จริงนัก นอกจากนี้ยังนำเอาความรู้สึกของปุถุชนเข้ามาเทียบอีกด้วย  เช่น  เมื่ออ่านข้อความแสดงภาวะตามหลักวิชาข้างต้นแล้ว อาจมองพระอรหันต์เป็นบุคคลที่เหมือนปราศจากชีวิตจิตใจ เย็นชา ไร้ความรู้สึก ไม่ไยดีอะไรกับโลก  เป็นต้น  ดังนั้นเพื่อป้องกันความเข้าใจผิดอย่างนี้  เมื่อพิจารณาเนื้อหาของภาวะตามหลักวิชา  ก็ควรพิจารณาผลที่ปรากฏในชีวิตจริงเทียบกันไปด้วย ให้เห็นเนื้อหาตามหลักวิชากับผลปฏิบัติในชีวิตจริงสอดคล้องกันได้อย่างไร  แม้ส่วนที่เหมือนขัดกัน ก็กลมกลืนกันได้อย่างไร เป็นเหตุเป็นผลเสริมกันได้อย่างไร เป้นการพิจารณาเนื้อหาและความหมายของหลักวิชาที่การมองที่ตัวของจริงซึ่งนำมาตั้งให้ดู  ของจริงหรือผลในทางปฏิบัติ และภาวะทางด้านความประพฤติของผู้บรรลุนิพพาน พึงเทียบเคียงกัน

ในอรรถกถากล่าวว่า  “พระผู้มีพระภาคเจ้า  เสวยบิณฑบาตที่นางสุชาดาถวายแล้ว  ทรงปรินิพพานด้วย สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ  เสวยบิณฑบาตที่นายจุนทะถวายแล้ว ปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

ลักษณะภายนอกและชีวิตของพระอริยะเจ้าระดับพระอรหันต์

ธรรมเจติยสูตรพระเจ้าปเสนทิโกศลได้ตรัสข้อความพรรณนาความเลื่อมใสของพระองค์ต่อพระรัตนตรัย ในบรรดาข้อความเหล่านั้น มีข้อความหนึ่งพรรณนาลักษณะความเป็นอยู่ของพระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ดังนี้ว่า  พระเจ้าปเสนทิโกศลได้เดินเที่ยวไปตามอารามต่าง ๆ ตามอุทยานต่าง ๆ อยู่เนื่อง ๆ เห็นสมณพราหมณ์บางจำพวก ซูบผอม เศร้าหมอง มีผิวพรรณไม่ผ่องใส ผอมเหลือง ตามตัวสะพรั่งด้วยเส้นเอ็น แต่เมื่องมองดูภิกษุในธรรมวินัยนี้ สดชื่นร่าเริง มีใจเบิกบาน มีรูปร่างท่าทางน่ายินดี……มีความขวนขวายน้อย(ไม่วุ่น) มีขนตกราบ (ใจสงบมีความมั่นใจไม่ตื่นกลัว) เลี้ยงชีวิตตามแต่เขาจะให้ มีใจดังมฤคอยู่ (มีใจอ่อนโยน ไม่คิดรบกวนหรือหวังประโยชน์จากใคร รักอิสระ จะไปไหนก็ไปโดยเสรี ) พระเจ้าปเสนทิโกศล มีความคำนึงถึงธรรม ที่ภิกษุเหล่านี้เป็นผู้ประพฤติดี -ปฏิบัติชอบแล้ว

ภิกษุเหล่านั้น เดินออกจากที่อยู่นั้น ๆ คือ ป่า โคนไม้ ภูเขาแต่เช้าตรู่ มีกิริยาเดินไปข้างหน้า ถอยกลับ แลเหลียว คู้แขน เหยียดแขน น่าเลื่อมใส มีจักษุทอดลง สมบูรณ์ด้วยอริยาบถ9

ความมีใจอิสระและมีความสุข

“ผู้มีจิตไม่หวั่นไหว รู้แจ้งความจริง ย่อมไม่มีความคิดปรุงแต่งใด ๆ, เขาเลิกรำพึงรำพันหมดแล้ว จึงมองเห็นแต่ความปลอดโปร่งในที่ทุกสถาน เขาไม่ยกตัวถือตนใด ๆ ไม่ว่าในหมู่คนเสมอกัน คนต่ำกว่า หรือคนสูงกว่า

“พระอริยะไม่มีความงุ่นง่านหงุดหงิดภายในใจ ท่านผ่านพ้นไปแล้วจากการที่จะได้เป็นหรือจะไม่ได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ท่านปราศจากภัย มีแต่สุข ไม่มีโศก แม้แต้เทวดาก็มองใจท่านไม่ถึง”10

ความเป็นเจ้าแห่งจิต

“บุคคลผู้เป็นมหาบุรุษ มีปัญญามากนั้น ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ตริตรึกความคิดนั้น ไม่ประสงค์จะตริตรึกความคิดใด ก็ไม่ตริตรึกความคิดนั้น ประสงค์จะดำริข้อดำริใด ก็ดำริข้อดำรินั้น ไม่ประสงค์จะดำริข้อดำริใด ก็ไม่ดำริข้อดำรินั้น, ท่านบรรลุมีอำนาจเหนือจิต (เจโตวสี) ในกระบวนความคิดทั้งหลาย”11

ความรู้สึกกับชีวิต ความตาย การพลัดพราก ความเมตตากรุณาต่อทุกชีวิต

  “จะมีชีวิตอยู่ก็ไม่เดือดร้อน ถึงจะตายก็ไม่เศร้าโศก,  ถ้าเป็นปราชญ์ มองเห็นที่หมายแล้ว ถึงอยู่ท่ามกลางความเศร้าโศก ก็หาเศร้าโศกไม่”12

  “ความตายเราก็มิได้ชื่นชอบ  ชีวิตเราก็มิได้ติดใจ  เราจักทอดทิ้งกายนี้ อย่างมีสัมปชัญญะ มีสติมั่น; ...เรารอท่าเวลา เหมือนคนรับจ้างทำงานเสร็จแล้ว รอรับค่าจ้าง”13



1 อิติ.อ.215 ว่า: โดยปรมัตถ์ (ความหมายสูงสุดหรือความหมายที่แท้จริง) นิพพานไม่มีการแบ่งประเภท แต่ที่แบ่งเ็น 2 นั้น เป็นการแบ่งโดยปริยายเท่านั้น.

2นิพฺพุต” มักใช้ในรูปของกริยาศัพท์หรือคุณนาม เป็น “นิพฺพุต” เช่น องฺ.ติก.20/497/207;  506/253;  องฺ.จตุกฺก.21/198/288;

3 ข้อความแสดงวิเคราะห์ศัพท์นิพพานมาในคัมภีร์หลายแห่ง โดยเฉพาะ  วินย.อ.1/255;  ที.อ.2/78;  วิสุทธิ.2/88;  สงฺคห.ฎีกา 68 แต่ส่วนมากซ้ำกันหรือคล้ายกัน นอกจากความหมายที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังอาจแปลว่า  “ปราศจากป่า”  ไม่มีป่ากิเลส  ไม่มีดงกิเลส  องฺ.ฉกฺก.22/314/386;  ขุ.ธ.25/300/52;  หรือแปลว่า ดับทุกข์ทั้ง 3 ชนิดคือ ทุกขทุกข์ วิปริณามทุกข์ และ สังขารทุกข์ (วิสุทธิ.ฎีกา2/246);  สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงแสดงมติว่า อีกนัยหนึ่ง ควรแปลว่า หาของเสียบแทงมิได้ (ธรรมวิจารย์, หน้า 50,57) 

4 ขุ.อิติ.25/222/258;  คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เรียกการแบ่งอย่างนี้ว่า เป็นการแบ่งตามปริยายแห่งเหตุ (การณปริยาย)  แล้วแสดงวิธีแบ่งอีกอย่างหนึ่งตามประเภทแห่งอาการ เป็นนิพพาน 3 คือ สุญญตนิพพาน  อนิมิตตนิพพาน  และอัปปณิหิตนิพพาน (สงฺคห.39)

5อิติ.อ.215;  สุตต.อ.2/268;  วิสุทธิ.ฎีกา. 3/214;  สงฺคห.ฎีกา.214; 

6 เช่น ในข้อความว่า  “ตถาคต…เป็นผู้ดับร้อนหมดแล้ว เย็นซึ้งเหมือนห้วงน้ำลึก”  (ขุ.สุ.25/359/41);  และ  “(ผู้มีจิตหลุดพ้นแ้ว) เป็นผู้หายหิว  ดับร้อน เย็นซึ้ง เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นพรหมอยู่แล้วตั้งแต่ในปัจจุบันทีเดียว”  (ม.ม.13/17;123/121;643/588;  มีในเล่มอื่น เช่น  สํ.ส.15/566/208;  699/262;  องฺ.จตุกฺก.21/198/288; 

7 ธัมมายตนะ  อายตนะภายนอกอย่างที่ 6 ได้แก่ ธรรมารมณ์ ซึ่งแยกได้เป็นขันธ์ 5 กับนิพพาน (นิพพานเป็นธรรมนอกเหนือจากขันธ์ 5 ดังในคัมภีร์ชั้นหลัง มีคำแสดงลักษณะนิพพานอีกคำหนึ่งว่า  “ขันธวินิมุต”  แปลว่า  พ้นจากทุกข์ คือ จัดเข้าในขันธ์ 5 ไม่ได้  ดู ปญฺจ.อ.389;  สงฺคห.44;  สงฺคห.ฎีกา230 แต่ก็จัดเข้าในธัมมายตนะด้วย.

8 ข้อความตอนท้ายว่า  “จักเป็นของเย็นอยู่ที่ (อายตนะ12) นี้เอง”  หมายความว่า หมดพิษสงหมดอิทธิพลอยู่เพียงแค่ที่อายตนะ12 เท่านั้น อย่างนี้แปลตามนัย  ม.อ.3/700.  แต่ถ้าแปลตาม  อิติ.อ.218;  สํ.อ.2/102; องฺ.อ.2/478 ต้องแปลว่า  “จักเป็นของเย็นอยู่ในอัตภาพนี้เอง”  คือไม่เลยต่อไปเกิดปฏิสนธิใหม่

9 วินย.7/198/85

10 ขุ.อุ.25/65/101

11 องฺ.จตุกฺก.21/35/46  (บาลีแห่งที่มานี้หมายถึงพระพุทธเจ้า ในฐานะทรงเป็นมหาบุรุษ แต่หลักฐานอื่น ๆ แสดงว่า คุณสมบัตินี้มีแก่พระขีณาสพทั่วไป  ดู ม.มู.12/262/247; 375/401; องฺ.อ.2/3228,417)

12 ขุ.อุ.25/108/142

13 ขุ.เถร.26/396/403; เทียบ 26/381/363; 383/367 เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 512769เขียนเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 ธันวาคม 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

 

  เรื่องเล่าจากพระไตรปิฎก

  พระเถระชื่ออธิมุตต์ถูกพวกโจรจับไป ท่านไม่มีความหวาดหวั่นกลัวภัย นายโจรแปลกใจต่อคำซักถาม ต่อไปนี้เป็นคำซักถามของนายโจร และคำตอบส่วนหนึ่งของพระเถระ

  นายโจร:  “ก่อนนี้ เราจะฆ่าใครเพื่อบูชายัญก็ดี เพื่อเอาทรัพย์ก็ดี คนเหล่านั้นล้วนกลัวภัย ตัวสั่นและพร่ำเพ้อ แต่ท่านไม่มีความกลัวเลย สีหน้าก็ผ่องใสยิ่งนัก เหตุใดท่านจึงไม่คร่ำครวญ ในเมื่อภัยใหญ่ถึงเพียงนี้ ?”

  พระเถระ:  “แน่ะนายโจร ทุกข์ทางใจ ย่อมไม่มีแก่ผู้ไม่ห่วงใยชีวิต ผู้สิ้นสังโยชน์แล้ว ข้ามพ้นความกลัวทุกชนิด…เราไม่กลัวความตาย….ผู้บรรลุอุดมธรรมแล้ว ไม่ต้องการอะไรในโลกทั้งหมด ย่อมไม่เศร้าโศกเพราะความตาย เหมือนคนพ้นไปได้จากเรือนที่ไฟไหม้, สิ่งใด ๆ ที่มีในโลกก็ดี ภพที่สัตว์จะได้ก็ดี ทั้งหมดนี้พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นของไม่อิสระ…เราไม่มีความคิดว่า เราได้เป็น  เราจะเป็นหรือจะไม่เป็น หรือว่าสังขารจะหายสูญไป แล้วจะคร่ำครวญไปทำไมเพราะเรื่องสังขารนั้นเล่า;  นี่แน่ะนายโจร ผู้ที่มองเห็นตามเป็นจริงว่า มีแต่ความเกิดขึ้น ๆ แห่งธรรมล้วน ๆมีแต่การสืบต่อแห่งสังขารล้วน ๆ ย่อมไม่มีความกลัวเลย,  เมื่อใดบุคคลมองเห็นด้วยปัญญาเห็นโลกเสมอด้วยท่อนไม้ใบหญ้า  เมื่อนั้น  เขาไม่พบกับการที่จะต้องยึดอะไรว่าเป็นของเรา ย่อมจะไม่เศร้าโศกว่า ของเราไม่มี; ร่างกายเราก็หมดความต้องการแล้ว ภพเราก็ไม่ปรารถนา กายนี้จักแตกพังไป กายอื่นก็จักไม่มี ท่านมีกิจอะไรจะทำกับร่างกายของเรา ก็จงทำกิจนั้นตามที่ท่านปรารถนา เราจะไม่มีความโกรธเคืองหรือความรักใคร่ เพราะการกระทำของท่านเลย”

  “พระอรหันต์ทั้งหลายละปาณาติบาต…ประกอบด้วยความกรุณา มุ่งหวังแต่ประโยชน์แก่สัตว์ทุกหมู่เหล่าตลอดชีวิต”14

  “พึงแผ่ไมตรีจิตในสัตว์ทั้งหลายว่า ขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นผู้มีสุข มีความเกษม…มารดาถนอมบุตรน้อยคนเดียวผู้เกิดจากตน แม้ด้วยยอมสละชีวิตฉันใด พึงเจริญจิตเมตตาไม่จำกัด ในสัตว์ทั้งปวงฉันนั้น”15

  “แม้แต่คนทั้งหลาย ที่มีลูกศรเสียบหัวใจอยู่ ก็ยังหลับได้ ไฉนเราผู้ปราศจากลูกศรแล้วจะนอนไม่หลับเล่า เราเดินทางไปในที่มีสัตว์ร้าย ก็ไม่หวาดหวั่น ถึงจะหลับในที่เช่นนั้น ก็มิได้กลัวภัย กลางคืนกลางวัน ไม่มีอะไรให้เราเดือดร้อน เราไม่เห็นมีอะไรที่จะสูญเสีย ณ ที่ไหน ในโลก ฉะนั้น เราจะหลับ ก็มีแต่ความคิดอนุเคราะห์ปวงสัตว์16

สรุปความจากบาลีข้างต้นที่ยกขึ้นแสดงไว้ดังนี้

เมื่อศึกษาถึงบาลีที่กำกับไว้แล้วแสดงให้เห็นว่า ผู้ศึกษาสามารถมองเห็นความหมายต่าง ๆ ตามที่ตนเองได้พิจารณาตามเนื้อความ แต่ในที่นี้ต้องขอย้ำความอีก 2 ข้อ คือ

ข้อหนึ่ง  ถ้าใช้ความรู้สึกของปุถุชนมองดูคำบรรยายเกี่ยวกับภายในจิตใจของพระอรหันต์ตาหลักวิชาข้างต้น ผู้ศึกษาบางคนอาจวาดภาพผิด ๆ ไปว่า พระอรหันต์ คงจะมีลักษณะเป็นคนไม่ใส่ใจใยดีอะไรกับใครทั้งสิ้น ปล่อยอะไรไปตามเรื่องตามราวเสมือนไม่มีจิตใจ จัดเป็นคนประหลาดได้พวกหนึ่ง ด้วยเหตุนี้จึงต้องให้พิจารณาเทียบกับักษณะด้านนอกให้เห็นว่า พระอรหันต์มีความประพฤติ และการดำเนินชีวิตที่เป็นไปด้วยความรับผิดชอบและความมีเหตุผล  ให้เห็นว่า เมื่อไม่มีประสบการณ์คั่งค้างครองใจ ไม่มีกิเลสครอบงำเป็นเจ้าหัวใจ สภาพจิตนั้นเป็นอิสระแล้วด้วยประการทั้งปวง ความรู้สึกนึกคิดที่ไม่มีการยึดมั่น และลักษณะการดำเนินชีวิตของท่านจะเป็นอย่างไร  ดังนั้นเราพอจะมองภาพออกบ้างว่า พระอรหันต์นั้นไม่มีแม้แต่กิเลสที่จะทำให้แสดงให้เห็นความเบื่อหน่ายรังเกียจในบุคคลและสัตว์โลกทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้ท่านจึงปฏิบัติตัวหรือแสดงออกไปตามเหตุผล ตามความสมควร ที่มองเห็นด้วยปัญญา อย่างน้อยก็เพื่ออนุเคราะห์สัตว์โลก

ข้อสอง  การไม่มีความกลัว ไม่หวาดเสียว ไม่สะดุ้ง ไม่ตกใจไหวหวั่น เป็นลักษณะทางจิตที่สำคัญอย่างหนึ่งของพระอรหันต์ ที่หมดราคะ โทสะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุให้เกิดความกลัว ความหวาดเสียวสะดุ้ง ต่างกับจิตของปุถุชนธรรมดาที่มีภาวะทางจิตเข้าไม่ถึงนิพพาน ย่อมเป็นเหตุให้มีความหวาดหวั่นสะดุ้งกลัวภัย ซึ่งสาเหตุนี้คือกิเลสที่แฝงลึกอยู่ ที่เราเข้าใจในความหมายของจิตไร้สำนึก ที่จะตอบสนองเหตุแห่งความกลัวอย่างปัจจุบันทันด่วนทีเดียว และเป็นที่ทราบดีว่าปกปิดได้ยาก เพราะยังไม่ทันตั้งสติ แม้ภิกษุบางรูปในสมัยนั้นที่มีความเข้าใจว่าตนนั้นบรรลุอรหันต์เช่นกัน  ดังตัวอย่างมีภิกษุอยู่รูปหนึ่ง ที่เข้าใจผิดว่าตนเองบรรลุธรรมขั้นสูงสุด ตามคัมภีร์กล่าวว่า ท่านได้สมาบัติแคล่วคล่อง กิเลสถูกข่มสงบอยู่ด้วยกำลังสมาบัติ อยู่มาจนแก่ชรานับแต่ได้สมาบัติถึง 60 ปี และวันหนึ่งเห็นช้างใหญ่มีอาการดุร้ายกำลังร้องแผดเสียง เผลอตกใจ จึงรู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชนอยู่ เป็นต้น.

ประเภทและระดับนิพพานในแง่ต่าง ๆ

ฌาณสมาบัติทั้งหลาย นอกจากจะเป็นพื้นฐานที่ดีในการปฏิบัติเพื่อบรรลุนิพพานแล้ว บางครั้งท่านเรียกเป็นนิพพานโดยปริยาย คือโดยอ้อม เช่น

ตรัสเรียกฌาณ 4 อรูปฌาณ 4 และสัญญาเวทยิตนิโรธ (เรียกอีกอย่างว่านิโรธสมาบัติ) 16 แต่ละอย่าง ๆ ว่าเป็นตทังคนิพพาน (นิพพานชั่วคราว)บ้าง  ทิฏฐธรรมนิพพาน(นิพพานทันตาเห็น)บ้าง  สันทิฏฐิกนิพพาน (นิพพานที่ผู้บรรลุจะเห็นได้เอง)บ้าง17  เช่น ข้อความในบาลีว่า  “ภิกษุสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม  ฯลฯ  เข้าถึงปฐมฌาณ แม้เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า เป็นทิฏฐธรรมนิพพานโดยปริยาย;  ฯลฯ ภิกษุก้าวล่วงเนวสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง  เข้าถึงสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่,  เพราะเห็นด้วยปัญญา  อาสวะทั้งหลายของเธอก็หมดสิ้นไป,  แม้เพียงเท่านี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสเรียกว่า  เป็นทิฏฐธรรมนิพพานโดยนิปปริยาย (โดยตรง)”18  ผู้ที่มองเห็นขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาแล้ว หมดความหวาดสะดุ้งอยู่เป็นสุข ท่านก็เรียกว่าเป็นผู้ตทังคนิพพาน

มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสไว้ว่า  คนที่ถูกราคะ  โทสะ  โมหะ  ครอบงำ ย่อมคิดจะทำตนให้ลำบากเดือดร้อน ทำคนอื่นให้ลำบากเดือดร้อน ทั้งทำตนและผู้อื่นให้ลำบากเดือดร้อนบ้าง ย่อมเสวยทุกข์โทมนัสทางใจบ้าง ครั้นเขาละราคะ  โทสะ  โมหะ ได้แล้ว เขาก็ไม่คิดในทางที่ทำตนและผู้อื่นให้เดือดร้อน ไม่ต้องเสวยทุกข์โทมนัสทางใจ อย่างนี้แหละเป็นสันทิฏฐิกนิพพาน เมื่อบุคคลผู้นี้เสวยภาวะปลอดราคะ  โทสะ  โมหะ สิ้นเชิง (ราคักขัย โทสักขัย โมหักขัย) อย่างนี้แลคือนิพพานที่เป็นสันทิฏฐิกะ  (ซึ่งผู้บรรลุเห็นได้เอง)  อกาลิโก  (ไม่ขึ้นกับกาล)  เอหิปัสสิกะ  (เชิญให้มาพิสูจน์ดูได้)  โอปนยิกะ  (ควรน้อมเข้ามาไว้ในใจ)  ปัจจัตตัง  เวทิตัพพัง  วิญญูหิ  (ซึ่งวิญญูชน พึงทราบเฉพาะตน)

คัมภีร์ปฏิสัมภิทามัคค์ แบ่งนิโรธออกเป็น 5 ระดับ คือ

1. วิกขัมภนนิโรธ  ได้แก่การที่ผู้เจริญปฐมฌาน ดับนิวรณ์ได้ด้วยการข่มไว้  (สมาบัติทั้ง 8 รูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 เป็นวิกขัมภนนิโรธทั้งหมด เพราะนับแต่เข้าถึงปฐมฌานแล้วเป็นลำดับไป อกุศลธรรทั้งหลายมีนิวรณ์เป็นต้น ย่อมถูกข่มให้ระงับดับไปเอง แต่ก็ดับชั่วเวลาที่อยู่ในฌานนสมาบัติเท่านั้น

2. ตทังคนิโรธ  ได้แก่การที่ผู้เจริญสมาธิถึงขั้นชำแรกทำลายกิเลส ดับความเห็นผิดต่าง ๆ ลงได้ด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับกัน  (หมายถึงการดับกิเลสในขั้นวิปัสสนา คือใช้ปัญญาพิจารณาสภาวะของสิ่งทั้งหลาย  เช่น  พิจารณาความไม่เที่ยงเป็นต้น พิจารณาเห็นแง่ใด  ก็เกิดญาณขึ้นจำกัดความเห็นหรือความยึดถือในทางตรงข้ามที่ขัดต่อสัจธรรมในแง่นั้น ๆ ลงได้  เช่น  กำหนดเห็นตัวตนเขาเราเป็นเพียงนามรูป ก็ดับสักกายทิฏฐิได้  พิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ก็ดับนิจจสัญญาลงได้  พิจารณาเห็นทุกข์ ก็ดับสุขสัญญาลงได้  พิจารณาเห็นอนัตตา ก็ดับอัตตสัญญาลงได้ เป็นต้น เป็นการดับกิเลส แบบจุดดวงไฟ ดับความมืด แต่ยังเป็นการดับชั่วคราว เหมือนว่าพอไฟดับ ก็มืดอีก)

3.สมุจเฉทนิโรธ  ได้แก่การที่ผู้เจริญโลกุตตรธรรม ซึ่งให้ถึงความสิ้นกิเลส ดับกิเลสลงได้ด้วยการตัดขาด  (หมายถึง อริยมรรคทั้ง 4 คือ โสดาปัตติมรรค  สกทาคามิมรรค  อนาคามิมรรค  อรหัตตมรรค ซึ่งดับกิเลสเช่น สังโยชน์ทั้งหลายได้อย่างเด็ดขาด ไม่กลับงอกงามขึ้นมาได้อีก เหมือนต้นไม้ถูกสายฟ้าฟาด หรือขุดรากถอนโคนทิ้ง)

4.ปฏิปปัสสัทธินิโรธ  ได้แก่ การดับกิเลสในขณะแห่งผลโดยเป็นภาวะที่กิเลสราบคาบไปแล้ว  (หมายถึง อริยผลทั้ง 4 คือ โสดาปัตติผล  สกทาคามิผล  อนาคามิผล  อรหัตตผล ซึ่งเป็นภาวะสงบเรียบสนิท เพราะกิเลสได้ถูกมรรคตัดขาดระงับดับสิ้นไปแล้ว)

5.นิสสรณนิโรธ  ได้แก่ การดับกิเลสที่เป็นภาวะพ้นไปแล้วจากกิเลส ดำรงอยู่ต่างหาก ห่างไกลจากกิเลส ไม่เกี่ยวข้องกับกิเลสเลย นิโรธข้อนี้แหละ คือ นิพพาน หรือที่เรียกว่า อมตธาตุ ซึ่งเป็นภาวะที่ปลอดโปร่งเป็นอิสระ

  ในนิโรธ 5 ข้อนี้  สองข้อแรกคือ วิกขัมภนนิโรธ และตทังคนิโรธ เป็นขั้นโลกีย์ ส่วนสามข้อท้ายเป็นโลกุตตระ สี่ข้อแรกเรียกว่าเป็นนิพพานโดยปริยาย คือโดยอ้อมในบางแง่ ส่วนข้อสุดท้ายคือ นิสสสรณนิโรธจึงจะเป็นนิพพานโดยนิปปริยาย คือเป็นนิพพานแท้โดยตรงตามความหมาย

ทักขิไณยบุคคล หรือพระอริยบุคคล 8 จำพวก ย่อมมีการละสังโยชน์ดังต่อไปนี้

.พระเสขะ  (ผู้ยังต้องศึกษา)  หรือ สอุปาทิเสสบุคคล (ผู้ยังมีเชื้อคืออุปาทานเหลืออยู่) คือ

1.พระโสดาบัน  ผู้ถึงกระแสคือเข้าสู่มรรค เดินทางถูกต้องอย่างแท้จริง หรือปฏิบัติถูกต้องตามอริยมรรคอย่างแท้จริง เป็นผู้ทำบริบูรณ์ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชนได้ 3 คือ สักกายทิฏฐิ  วิจิกิจฉา  และสีลัพพตปรามาส

2.พระสกทาคามี  ผู้กลับมาสู่โลกนี้อีกครั้งเดียวก็จะกำจัดทุกข์ได้สิ้น เป็นผู้ทำบริบูรณ์ได้ในขั้นศีล ทำได้พอประมาณในสมาธิ และทำได้พอประมาณในปัญญา นอกจากละสังโยชน์ 3 ได้แล้ว ยังทำราคะ  โทสะ  และโมหะ ให้เบาบางลงได้ด้วย

3.พระอนาคามี  ผู้จะปรินิพพานในที่ผุดเกิดขึ้น ไม่เวียนกลับมาอีก เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในศีล ทำได้บริบูรณ์ในสมาธิ แต่ทำได้พอประมาณในปัญญา ละสังโยชน์ได้อีก 2 ข้อ คือ กามราคะ  และปฏิฆะ (รวมเป็นละสังโยชน์เบื้องต่ำได้ครบ 5 ข้อ)

.พระเสขะ  (ผู้ไม่ต้องศึกษา) หรือ อนุปาทิเสสบุคคล (ผู้ไม่มีเชื้อคือ อุปาทานเหลืออยู่เลย) คือ

4.พระอรหันต์  ผู้ควร (แก่ทักขิณาหรือการบูชาทพิเศษ) หรือผู้หักสังสารจักรได้แล้ว เป็นผู้สิ้นอาสวะ เป็นผู้ทำได้บริบูรณ์ในสิกขาทั้ง 3 คือ ศีล สมาธิ และปัญญา ละสังโยชน์เบื้องสูงได้อีกทั้ง 5 ข้อ (รวมเป็นละสังโยชน์หมดทั้ง 10)

นิพพานอยู่ที่ไหน ?

ในที่นี้จะขอยกข้อธรรมที่เกิดจากการสนทนาธรรมระหว่างพระเจ้ามิลินท์กับพระนาคเสนมาเป็นตัวอย่างในการอธิบายปัญหาธรรมที่ต้องทำความเข้าใจและอาศัยการเปรียบเทียบ เพื่อเกิดความถูกต้อง ดังนี้

พระเจ้ามิลินท์  ตรัสถาม – พระนิพพาน ตั้งอยู่ในถิ่นประเทศใด ? ถิ่นประเทศนั้นอยู่ในทิศบูรพา หรือว่า ทิศอุดร หรือว่า ทิศทักษิณ หรือว่า ทิศปัศจิม หรือว่า ทิศเบื้องบน หรือว่า ทิศเบื้องล่าง หรือว่า ทิศด้านขวาง ?

พระนาคเสนเถระ  ถวายพระพร – ถิ่นประเทศที่พระนิพพานตั้งอยู่ไม่มีอยู่ทั้งในทิศบูรพา หรือทิศทักษิณ หรือสรุป คือทิศทั้งหลายที่พระองค์ถามเลย ถวายพระพร

มิลินท์ – ข้าแต่ท่านนาคเสน ถ้าสถานที่ตั้งพระนิพพานไม่มี ถ้ากระนั้นพระนิพพานก็ไม่มีอยู่ และท่านทั้งหลายใด ทำพระนิพพานให้เห็นแจ้ง แม้ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็ทำให้เห็นแจ้งอย่างผิด ๆ ข้าพเจ้าจักขอพูดถึงเหตุในเรื่องนั้น ข้าแต่ท่านนาคเสน เปรียบเหมือนบนพื้นดินที่มีนา เป็นที่เกิดขึ้นของธัญชาติ มีดอกไม้เป็นที่เกิดขึ้นของกลิ่นหอม มีพุ่มไม้กอไม้เป็นที่เกิดขึ้นของดอกไม้ มีต้นไม้เป็นที่เกิดขึ้นของผลไม้ มีแหล่งสถานเป็นที่เกิดขึ้นของรัตนะ ณ สถานที่นั้น ผู้หนึ่งผู้ใดใครต้องการสิ่งใด ๆ เขาก็ไปในสถานที่นั้น แล้วนำเอาของสิ่งนั้น ๆ มา ฉันใด ข้าแต่ท่านนาคเสน พระนิพพานก็ฉันนั้น ถ้ามีอยู่ แม้สถานที่เกิดขึ้นของพระนิพพานนั้น ก็ต้องมี, อนึ่ง เพราะสถานที่เกิดขึ้นของพระนิพพานไม่มี, เพราะฉะนั้น ท่านจงยอมรับเสียเถิดว่า  “พระนิพพานไม่มี”  และที่ว่าท่านทั้งหลายใด ได้ทำให้เห็นแจ้งพระนิพพานแล้ว การทำให้เห็นแจ้งแม้ของท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็เป็นการทำให้เห็นแจ้งอย่างผิด ๆ

นาคเสน – ข้าแต่มหาบพิตร สถานที่ตั้งของพระนิพพาน ไม่มี, แต่พระนิพพานนั้น มีอยู่, ท่านผู้ปฏิบัติโดยชอบ จะทำให้เห็นแจ้งพระนิพพานได้ ด้วยโยนิโสมนสิการ, ข้าแต่มหาบพิตร,  เปรียบเหมือน สิ่งเรียกว่าไฟ มีอยู่, แต่สถานที่ตั้งอยู่ของไฟนั้น ไม่มี,  เมื่อเขานำเอาไม้ 2 แผ่นมาสีกัน ก็ได้พบไฟ ฉันใด,  มหาบพิตร พระนิพพานก็ฉันนั้นเช่นกัน มีอยู่, แต่ที่ตั้งอยู่ของพระนิพพาน ไม่มี ท่านผู้ปฏิบัติชอบ ก็ทำให้เห็นแจ้ง พระนิพพานได้ด้วยโยนิโสมนสิการ ข้าแต่มหาบพิตร,  ก็หรือว่า ที่กล่าวถึง รัตนะ 7 ประการ กล่าวคือ จักรแก้ว๑ ช้างแก้ว๑ ม้าแก้ว๑ แก้วมณี๑ นางแก้ว๑ ขุนคลังแก้ว๑ขุนพลแก้ว๑ ว่ามีอยู่ และโอกาส คือ สถานที่ตั้งของรัตนะ 7 ประการนั้น ไม่มี  แต่เมื่อพระมหากษัตริย์ ทรงปฏิบัติโดยชอบ รัตนะเหล่านั้นก็เข้ามาหาเอง ด้วยอำนาจของการปฏิบัติ ฉันใด, ข้าแต่มหาบพิตร, พระนิพพานก็ฉันนั้นเช่นกัน มีอยู่,  แต่สถานที่ตั้งของพระนิพพาน ไม่มี,

มิลินท์ – ข้าแต่ท่านนาคเสน, ช่างเถิด สถานที่ตั้งอยู่ของพระนิพพาน ไม่มีก็อย่ามี, แต่ทว่า ท่านผู้ปฏิบัติโดยชอบ ตั้งอยู่ในฐานะใด ทำให้เห็นแจ้งพระนิพพานได้ ฐานะนั้น มีอยู่หรือ ?

นาคเสน – มี, มหาบพิตร

มิลินท์ – แต่ทว่า ฐานะนั้นเป็นไฉน ?  ท่านผู้เจริญ

นาคเสน – ฐานะนั้น คือ ศีล ท่านผู้ตั้งอยู่ในศีล กระทำโยนิโสมนสิการอยู่ ถึงตัวเองจะอยู่ในแคว้นสกะ และยวนะ  ก็ตาม  แม้อยู่ในประเทศจีนและแคว้นวิลาต ก็ตาม ฯลฯ แม้อยู่บนยอดเขา แม้ในพรหมโลก ก็ตาม อยู่ในที่ใดที่หนึ่งก็ตาม เป็นผู้ปฏิบัติโดยชอบ ก็ทำให้เห็นแจ้ง พระนิพพานได้, ข้าแต่มหาบพิตร,  บุรุษผู้มีดวงตาคนหนึ่งคนใดก็ตาม แม้จะอยู่ในแคว้นสกะ แคว้นวิลาต ฯลฯ แคว้นคันธาระ แม้อยู่บนยอดเขา แม้อยู่ในพรหมโลก อยู่ที่หนึ่งที่ใดก็ตาม ย่อมเห็นอากาศฉันใด ข้าแต่มหาบพิตร, ท่านผู้ตั้งอยู่ในศีล ก็ฉันนั้นเช่นกัน ทำโยนิโสมนสิการอยู่ ฯลฯ เป็นผู้ปฏิบัติโดยชอบ ย่อมทำให้เห็นแจ้งพระนิพพานได้

พระเจ้ามิลินท์ – สาธุ ท่านนาคเสนผู้เจริญ19

พระนิพพานเป็นที่สุดโลก

สมัยหนึ่ง  พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกะเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ครั้งนั้น ครั้นล่วงปฐมยามไปแล้ว โรหิตัสสะเทวบุตร มีรัศมีสว่างไสวได้ทำให้พระวิหารเชตวันสว่างไสวรุ่งเรืองทั่วไปหมด เข้ามาเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า  ครั้นถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ยืนอยู่ ณ ด้านข้างหนึ่ง ได้กราบทูลคำต่อไปนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า  “ข้าแต่พระผู้ทรงพระเจริญ ในโลกใด มีผู้ไม่เกิด, ไม่แก่, ไม่ตาย, ไม่จุติ, ไม่อุบัติ, ใคร ๆ สามารถรู้เห็น, ไปถึงที่สุดของโลกนั้น ด้วยการเดินไป หรือไม่หนอ ?”

พระผู้มีพระภาคเจ้า – “ดูก่อนท่าน, ในโลกใดก็ตาม มีผู้ไม่เกิด, ไม่แก่, ไม่ตาย, ไม่จุติ, ไม่อุบัติ, เรา-ตถาคต ไม่กล่าวว่า เราพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง ซึ่งที่สุดแห่งโลกนั้นได้ด้วยการเดินไป”

โรหิตัสสะ – “ข้าแต่พระผู้ทรงพระเจริญ, พระดำรัสนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดี เป็นพระดำรัสน่าอัศจรรย์ น่าพิศวงโดยแท้ ข้าแต่พระผู้ทรงพระเจริญ เรื่องเคยมีมาก่อนแล้ว ครั้งข้าพระองค์เป็นฤษี ชื่อโรหิตัสสะ ผู้เป็นบุตรนายบ้าน เป็นผู้มีฤทธิ์ เหาะไปในเวหาได้ ความเร็วของข้าพระองค์เปรียบเสมือนด้วยนายขมังธนู ผู้มีหลักการมั่นคง ผู้ศึกษามาแล้วอย่างดี ผู้มีฝีมือที่สามารถ ผู้เคยยิงธนูมาแล้ว พึงยิงผ่านเงาต้นตาลด้านข้างผ่านไป ด้วยลูกธนูอันเบา โดยไม่ติดขัดประการใดเลย การย่างเท้าแต่ละก้าวมีช่วงเท้า (ของข้าพระองค์) เท่ากับ จากฝั่งสมุทรทิศบูรพาไปถึงฝั่งสมุทรทิศปัศจิม ข้าพระองค์นั้นเกิดความปรารถนาขึ้นมาอย่างนี้ว่า  “ข้าพเจ้าจักไปถึงที่สุดของโลกด้วยการเดินไป” ข้าแต่พระผู้ทรงพระเจริญ, ข้าพองค์นั้น ไม่กิน ไม่ดื่ม ไม่เคี้ยว ไม่ลิ้ม ไม่ทำการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ไม่พักผ่อนบันเทาความเหนื่อยยากด้วยการหลับนอน มีอายุ 100 ปี เดินไปตลอด 100 ปี ยังไม่ถึงที่สุดแห่งโลกเลย ได้ทำกาละ (ตาย) เสียก่อนแล้ว ในระหว่างเดินทาง ข้าแต่พระผู้ทรงพระเจริญ, พระดำรัสนี้ที่ว่า “ดูก่อนอาวุโส, ในโลกใด มีผู้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ, เรา-ตถาคต ไม่กล่าวว่า “เราพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง ซึ่งที่สุดแห่งโลกนั้นได้ ด้วยการเดินไป” นี้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสดีแล้ว เป็นพระดำรัสอัศจรรย์ น่าพิศวงโดยแท้

พระผู้มีพระภาคเจ้า – “ดูก่อนอาวุโส, ในโลกใดแล มีผู้ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ เรา-ตถาคต ไม่กล่าวว่า “เราพึงรู้ พึงเห็น พึงถึง ซึ่งที่สุดแห่งโลกนั้น ได้ด้วยการเดินไป”  ดูก่อนอาวุโส, และ เรา-ตถาคต ก็ไม่กล่าวถึงการไม่ถึงที่สุดแห่งโลกก่อนแล้ว จะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ด้วย และอีกอย่างหนึ่ง เรา-ตถาคต บัญญัติ โลก, ความเกิดขึ้นของโลก, ความดับของโลก, และปฏิปทาดำเนินไปสู่ความดับของโลก ลงไว้ในอัตภาพร่างกาย ซึ่งยาวประมาณ 1 วา มีสัญญา มีใจครองนี้ นี่เอง

คมเนน  น  ปตฺตพฺโพ  โลกสฺสนฺโต  กุทาจนํ

  จ  อปฺปตฺวา  โลกนฺตํ  ทุกฺขา  อตฺถิ  ปโมจนํ

“ในกาลไหน ๆ ก็ตาม ที่สุดแห่งโลก ไม่พึงถึงได้ด้วยการเดินไป และ การไม่ถึงที่สุดแห่งโลก จะพ้นไปจากทุกข์ได้ ก็ไม่มี”

สรุปว่า  ในที่สุดแห่งโลก ในพระสูตรนี้ พระพุทธเจ้า  ตรัสหมายถึง  ที่สุดแห่งทุกข์ คือ พระนิพพาน เช่นตรัสว่า  “อนารมฺมณเมว  ตํ,  เอสวนฺโต  ทุกฺขสฺส  แปลความว่า  “อายตนะ (พระนิพพาน) นั้น ไม่มีอารมณ์โดยแท้,นี้นั่นแล คือ ที่สุดแห่งทุกข์”20



14 องฺ.ติก.20/510/271;

15 ขุ.ขุ.25/10/13; ขุ.สุ.25/308/353 (ที่มานี้และ  ม.มู.12/3422/351 เป็นคำสอนสำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพาน ในฐานะที่พระอรหันต์เป็นผู้ปฏิบัติตามนี้ได้บริบูรณ์แล้ว)

16 สํ.ส.15/454/162

16 ธรรม 9 อย่างนี้เรียกว่าอนุปุพพวิหาร 9 แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ที่ปราณีตต่อ ๆ กันไปทีละขั้น ๆ ตามลำดับ หรืออนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ที่พึงเข้าต่อกันขึ้นไปตามลำดับ

17 แต่ถ้ายึดเอาการได้ฌาณเป็นการบรรลุนิพพานแท้จริง  ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป (ม.อุ.14/29/27;40/39)

18 องฺ.นวก.23/237,251,255/425,475,476

19(มิลินฺทปญฺหา, (407-410)

20 สํ. สคาถ. 15/87-89,  อํ. จตุกฺก. 21/62, ขุ.อุ. 25/207

 

พระนิพพาน เป็น ธรรมายตนะ

พระพุทธเจ้าตรัสถึง  พระนิพพาน ตรัสเรียกว่า  อายตนะ  ดังนี้ :

อตฺ  ภิกฺขเว  ตทายตนํ  เนว  ปฐวี  น  อาโป  น  เตโช  น  วาโย,    อากาสานญฺจายตนํ  น  วิญฺญาณญฺจายตนํ  น  อากิญฺจญฺญายตนํ  น  เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ,  นายํ  โลโก  ฯ  ปโร  โลโก,    อุโภ  จนฺทิมสุริยา,  ตมหํ21  ภิกฺขเว  เนว  อาคติ  วทามิ,    คตี,    ฐิติ,    จุติ,    อุปฺปตฺตี,  อปฺปติฏฺฐํ  โข,  อปฺปวตฺตํ  ()  นารมฺมณเมว  ตํ,  เอเสวนฺโต  ทุกฺขสฺส  (ขุ.อุ. 25/206-7)

แปลความว่า  “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, อายตนะ (คือ พระนิพพาน) นั้น มีอยู่ ซึ่งไม่มีปฐวี-ดิน (ความแข็ง-อ่อน) ไม่มีอาโป-น้ำ (ซึมซาบ-เกาะกุม) ไม่มีเตโช (เย็น-ร้อน, อุณห-ภูมิ) ไม่มีวาโย (พัดพา-เคลื่อนไหว) (สภาวะแห่งภูตรูป) และ อุปาทานรูป (รูปขันธ์), มิใช่ ผสภาวะแห่งอรูปภพ=นาม เช่น อากาสานัญจายตนะ, มิใช่วิญญาณัญจายตนะ, มิใช่อากิญจัญญายตนะ, มิใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ, มิใช่ (ภาวะพึงมี เช่น) โลกนี้ (และ) มิใช่โลกอื่น, มิใช่ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์ ทั้ง 2 ดวง, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย, ในอายตนะ (คือ พระนิพพาน) แม้นั้นเรา-ตถาคต กล่าวไม่ได้ว่า22  เปน  อคต-การมา,  กล่าวไม่ได้ว่าเป็น คติ-การไป, กล่าวไม่ได้ว่าเป็น ฐิติ-การตั้งอยู่, กล่าวไม่ได้ว่าเป็น จุติ-เคลื่อนย้าย-ตาย, กล่าวไม่ได้ว่าเป็น อุปบัติ-เกิดขึ้น,  อายตนะ (พระนิพพาน) นั้น ไม่มีตั้งอยู่โดยแท้23 

ความหมายของพระนิพพาน เช่นที่ตรัสเรียกว่า  “อายตนะ” นี้ ตรัสไว้ในพระสูตรหลายแห่ง นำมากล่าวถึงเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ขอขยายความเพิ่มเติมต่อไปนี้ :

ที่ตรัสว่า  ในอายตนะ คือ พระนิพพาน ไม่มีธาตุ 4 คือ ดิน, น้ำ, ไฟ, ลม, นั้น-หมายถึง  ไม่มีธาตุและสิ่งเป็นลักษณะของธาตุทั้ง 4 เช่น เย็น-ร้อน (เตโช), อ่อน-แข็ง (ปฐวี), หลั่งไหล-เกาะกุม (อาโป), ผลักดัน-พัดพา (วาโย) ซึ่งเป็นลักษณะของมหาภูตรูป 4 เมื่อไม่มีมหาภูตรูป 4 แล้ว ในพระนิพพานนั้น ก็ไม่มีอุปาทายรูป คือ รูปอาศัย เช่น ปสาทรูป เกิดขึ้น เมื่อไม่มีสิ่งเป็นรูปขันธ์แล้ว สภาวะต่าง ๆ อันนับเนื่องด้วยรูป เช่นมีอยู่ในกามภพและในรูปภพ ก็ไม่มีด้วย และภาวะของความมืด-ความสว่าง ซึ่งมีอยู่ตามปกติในกามโลก และในรูปภพ เช่น พระอาทิตย์ พระจันทร์ และดวงดาว ก็ไม่มีอยู่ในอายตนะ คือ พระนิพพานนั้น

อาจมีผู้กล่าวว่า เอาละ เมื่อไม่มีรูปก็ตามที แต่ในอายตนะ คือ พระนิพพาน นั้นมี นาม คือ จิต หรือไม่และมีอยู่ไหม ?

อาจทรงตอบคำถามนี้ก็ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงภพที่ไม่มีรูป คือ อรูปาวจรภพ ไว้ด้วย เช่น ตรัสปฏิเสธว่า  (อายตนะ คือ พระนิพพานนั้น) มิใช่อากาสานัญจายตนะ ฯลฯ มิใช่เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ที่ตรัสว่า  “กล่าวไม่ได้ว่าเป็นการมา, กล่าวไม่ได้ว่าเป็นการไป”  เพราะพระนิพพาน มิใช่สถานที่ต้องมา-ต้องไป  เหมือนการเดินทางจากหมู่บ้านหนึ่งไปอีกหมู่บ้านหนึ่ง และที่ตรัสว่า  “กล่าวไม่ได้ว่าเป็นการตั้งอยู่”  เพราะพระนิพพานไม่ใช่เป็นสถานที่ตั้ง เช่น พื้นปฐพี และภูเขา  ต้นไม้ เป็นต้น  ที่ตรัสว่า  “กล่าวไม่ได้ว่าเป็นจุติ, กล่าวไม่ได้ว่าเป็นอุปบัติ”  เพราะในพระนิพพาน ไม่มีการตายและการเกิดอยู่แล้ว จึงเป็นการถูกต้อง ตรงกับที่ตรัสและอธิบายไว้ในที่อื่น เช่น ในสังขตะลักษณะ ดังกล่าว

ที่ตรัสว่า  นิพพาน เป็น “อายตนะ”  เพราะพระนิพพานเป็นธรรมารมณ์ (คือ เป้าหมาย) ที่หน่วงเหนี่ยวของโลกุตตรจิต-มรรคจิตและผลจิต และ อายตนะ คือ พระนิพพานนั่นแหละ เป็นอสังขตะ=มิใช่ของผสมปรุงแต่ง แต่เป็นภาวะ ไม่เกิด, ไม่เป็น ฯลฯ ดังกล่าว พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสถึงพระนิพพานไว้อีกว่า

วิญฺญาณํ  อนิทสฺสนํ  อนนฺตํ สพฺพโต  ปภํ

เอตฺถ  อาโป  จ  ปฐวี  จ  เตโช  วาโย  น  คาธติ,

เอตฺถ  ทีฆญฺจ  รสฺสญฺจ  อนุ  ถูลํ  สุภาสุภํ

เอตฺถ  นามญฺจ  รูปญฺจ  อเสสํ  อุปรุชฺฌติ,

วิญฺญาณสฺส  นิโรธเน    เอตฺเถตํ  อุปรุชฺฌติ. (ที.สี. 9/283)

แปลความว่า  เป็นสิ่งพึงรู้แจ้ง (ด้วยใจ)  มิใช่สิ่งที่เห็นได้ (ด้วยตา) อยู่เลยที่สุด มีท่าลงทุกแห่ง, ในพระนิพพาน (สอุปาทิเสสนิพพาน) นี้ (ธาตุ 4) น้ำและดิน ไฟและลม มิได้ตั้งอยู่, ในพระ (สอุปาทิเสส) นิพพานนี้ ไม่มี (มาตรการ) ยาวและสั้น เล็กและหนา (เล็กและใหญ่) งามและไม่งามตั้งอยู่,  ใน พระ (สอุปาทิเสส)นิพพานนี้ นามและรูปดับลงไม่มีเหลือ, พร้อมด้วยความดับของวิญญาณ นามและรูปนี้ก็ดับลงในพระ (อุปาทิเสส)นิพพานนี้”

ทรงเปรียบเทียบ พระนิพพานเหมือนเปลวประทีป

อจฺจิ  ยถา  วาตเวเคน  ขิตฺตํ (อุปสีวาติ  ภควา)

อตฺถํ  ปเลติ,    อุเปติ  สงฺขํ,

เอวํ  มุนิ  นาามกายา  วิมุตฺโต

อตฺถํ  ปเลติ,    อุเปติ  สงฺขนฺติ

แปลความว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสว่า  ดูก่อนอุปสีวะ,24 เปลวไฟถูกกระแสลมพัด ถึงความดับไป เข้าถึงการนับไม่ได้ (ว่าไปอยู่ไหน) ฉันใด, มุนี ผู้พ้นแล้วจากนามกาย (นามและรูป) ก็ถึงความดับไป ไม่เข้าถึง (คำ) บัญญัติกล่าวถึง ฉันนั้น” แล.

ทรรศนะเรื่องพระนิพพาน และโลก

  สุขนฺติ  ทิฏฺฐมริเยหิ  สกฺกายสฺสุปโรธนํ

  ปจฺจนีกมิทํ  โหติ  สพฺพโลเกน  ปสฺสตํ

แปลความว่า  พระนิพพานเป็นที่ดับสักกายะ (คือเบญจขันธ์) ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายเห็นว่า  เป็นความสุข ความเห็นของท่านอริยบัณฑิตทั้งหลาย (ดังกล่าว) นี้ เป็นการทวนกระแสกับชาวโลกทั้งปวง.

(ทวยตานุปัสสนาสูตร, ขุ.สู. 25/482, สํ. สฬายยตน, 18/160)

พระนิพพานเป็นสภาวะธรรม

อตฺถงฺคโต  โส  อุทวา  โส  นตฺถิ

อุทาหุ  วา  สสฺสติยา  อโรโค,

ตมฺเม  มุนี  สาธุ  วฺยากโรหิ

ตถา  หิ  เต  วิทิโต  เอส  ธมฺโม  ติ.

(ขุ.สุ. 25/536, ขุ.จู. 3/136,138)

แปลความว่า  ธรรม นั้น ถึงความดับสูญไปแล้ว หรือว่า (สภาว) ธรรมนั้นไม่มีอยู่ หรือว่า อยู่ยั่งยืนมั่นคง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ, ข้าแต่องค์พระมุนีเจ้า ขอประทานโอกาส โปรดทรงพยากรณ์ธรรมนั้น แก่ข้าพระองค์เถิด เพราะว่า (สภาว) ธรรมนี้ พระองค์ทรงทราบแล้วตามเป็นจริง

พระนิพพานไม่มีมิติ

(ไม่มีถ้อยคำใช้บัญญัติพูดถึงพระนิพพาน)

อตฺถงฺคตสฺส  น  ปมาณํ  อตฺถิ (อุปสีวาติ  ภควา)

เยน  นํ  วชฺชุ,  ตํ  ตสฺส  นตฺถ.

สพฺเพสุ  ธมฺเมสุ  สมุหเตสุ

สมูหตา  วาทปถาปิ  สพฺเพ.(ขุ.สุ. 25)539, ขุ.จู. 35/139,141)25

แปลความว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า  ดูก่อนอุปสีวะ, สภาวธรรมที่ถึงความดับ (พระนิพพาน) แล้ว หามีประมาณ (มิติ)ไม่  จะพึงพูดถึงสภาวธรรมนั้นด้วยประมาณ (มิติ)ใด ประมาณ(มิติ)นั้น ของธรรมนั้น ไม่มี. เมื่อสมมตธรรมทั้งหลายทั้งปวง ถูกเพิกถอนไปหมดแล้ว แม้แนวทางถ้อยคำทั้งปวง (ที่จะใช้พูดถึงโดยบัญญัติ)  ก็ถูกเพิกถอนไปด้วย.

เปรียบพระนิพพานเป็นทิศ

พระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ตรัสว่า  พระนิพพานเปรียบเหมือน สถานที่ตั้งในทิศ ซึ่งผู้ไปถึง จะเดินทางไปด้วยยานพาหนะ เช่น ช้าง ม้า รถ เป็นต้น ชนิดใด ๆ มิได้ แต่ต้องไปถึงด้วย (จิตของ)ตนเอง กล่าวคือ

    หิ  เอเตหิ  ยาเนหิ  คจฺเฉยฺย  อคตํ  ทิสํ

  ยถาตฺตนา  สุทนฺเตน  ทนฺโต  ทนฺเตน  คจฺฉติ.

(ธมฺมปทฏฺฐกถา, 7/143)

แปลความว่า  ความจริง ทิศไม่เคยไป (คือพระนิพพาน) จะพึงไปถึงด้วยยานพาหนะทั้งหลายเหล่านี้ เหมือนอย่างท่านที่ฝึก (จิตของ) ตนแล้ว ท่านไปถึงด้วย (จิต) ตนเองที่ฝึกแล้ว (และ) ฝึกอย่างดี (นี้) หาได้ไม่.

ทิศ ที่กล่าวถึง  คือ พระนิพพานนี้ ปุถุชนทั้งหลายสามารถไปถึง แม้แต่ฝันถึง หรือ เห็นในความฝัน แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ตรัสแนะนำวิธีเพื่อบรรลุถึงพระนิพพาน ไว้หลายประการ และมีพระบรมพุทโธวาทประการหนึ่ง ให้ถึงพระนิพพานซึ่งเป็นทิศไม่เคยไป ด้วยจิต และตรัสสอนให้ฝึกจิต ซึ่งตรัสไว้โดยย่นย่อ ด้วยพระคาถาว่า

  สมติตฺติกํ  อนวเสสกํ

  เตลปตฺตํ  ยถา  ปริหเรยฺย,

  เอวํ  สจิตฺตมนุรกฺขา  สติยา

  ปฏฺฐยาโน  ทิสํ  อคตปุพฺพํ.

แปลความว่า  เมื่อปรารถนาไปสู่ ทิศ (พระนิพพาน)ไม่เคยไป พึงตามรักษาจิตของตน ด้วยสติ (ปัฏฐาน) เหมือนบุรุษประคอบาตรบรรจุน้ำมัน เต็มเสมอขอบปากบาตร นำไปมิให้หก ฉะนั้น.26

ปฏิบัติอย่างไรจึงถึงพระนิพพาน

สำหรับบรรพชิตและคฤหัสถ์ ผู้ปฏิบัติธรรมทั่วไป พึงบำเพ็ญตนปฏิบัติตามคาถาพุทธภาษิตว่า

  สทา  ชาครมานานํ  อโหรตฺตานุสิกฺขินํ

  นิพฺพานํ  อธิมุตฺตานํ  อฏฺฐํ  คจฺฉนฺติ  อาสวา.

แปลความว่า  ท่านผู้ตื้นอยู่ (ด้วยชาคริยานุโยค) ตลอดเวลา ฝึกฝนตนเองอยู่เนื่อง ๆ ทั้งกลางวันและกลางคืน น้อมใจเข้าสู่พระนิพพานเนื่อง ๆ อาสวะทั้งหลายก็ถึงความตั้งอยู่ไม่ได้ คือ ดับไป(ธมฺมปทฏฺฐกถา 6/168)

ที่ว่า  “ตื่นอยู่ (ด้วยชาคริยานุโยค)”  หมายถึง ปฏิบัติธรรมตามนัย อปัณณกสูตร ซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  และ ภิกษุ ชื่อว่าประกอบความเพียรในการปฏิบัติตนให้ตื่นอยู่เสมอ อย่างไร ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย,  ภิกษุในพุทธศาสนานี้ ทำจิต (ของตน) ให้บริสุทธิ์จากสิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องกำบังใจ (คือ นิวรณ์และอกุศลธรรม) ด้วยการเดินจงกลม ด้วยการนั่ง (สมาธิ) ตลอดวัน, ทำจิตให้บริสุทธิ์จากสิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องกำบังใจ ด้วยการเดินจงกลม ด้วยการนั่งสมาธิ ตลอดปฐมยามในกลางคืน ครั้นตอนมัชฌิมยามในกลางคืน ก็สำเร็จสีหไสยา (นอนตะแคง) เอาข้างขวาลง วางเท้าเลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำหมายใจกำหนดจะลุกขึ้น ครั้นถึงปัจฉิมยามในคืนนั้น ก็ลุกขึ้น ทำจิตให้บริสุทธิ์จากสิ่งทั้งหลายที่เป็นเครื่องกำบังใจ ด้วยการเดินจงกลม ด้วยการนั่งสมาธิ, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  ภิกษุชื่อว่าประกอบความเพียร ในการปฏิบัติตนให้ตื่นอยู่เสมอ ด้วยวิธีการอย่างนี้แล.  กิจกรรมของพระอริยสาวกนั้น โดยปกติแล้ว พระอริยสาวก ภายหลังฉันภัตตาหารกลางวันแล้ว ถ้าไม่มีกิจกรรมอื่น ท่านจะหาความสุขที่เรียกว่า  “ทิฏฐธรรมสุขวิหาร”  คือ การอยู่เป็ยสุขสบายในทิฏฐธรรมปัจจุบัน ตลอดเวลาราว 3-4 ชั่วโมงในรอบบ่าย ออกจากผลสมาบัติในตอนเย็น ก็ไปทำหน้าที่ตามที่รับมอบหมาย เช่น ให้โอวาทแก่พระภิกษุณี หรือพบปะสนทนาธรรมกัน และเมื่อร่วมชุมนุมกัน ท่านพระอริยสาวกก็ทำกิจที่ควรทำ 2 อย่าง ตามพระพุทธดำรัสซึ่งมีว่า

สนฺนิปติตานํ  โว  ภิกฺขเว  ทฺวยํ  กรณียํ

ธมฺมี  วา  กถา  อริโย  วา  ตุณฺหีภาโว.(ม.มู. 12/314)

แปลความว่า  เมื่อเธอทั้งหลายร่วมชุมนุมกัน พึงทำกิจที่ควรทำ 2 อย่าง คือ  กล่าวสนทนาถ้อยคำที่ประกอบด้วยธรรม (กถาวัตถุ 10) หรือว่า ดุษณีภาพแบบอริยะ (เข้าฌานบ้าง กำหนดกัมมัฏฐานบ้าง)

วิธีเห็นแจ้งพระนิพพาน  (มิลินทปัญหา)

พระเจ้ามิลินท์  ตรัสถาม – ก็และ ผู้ปฏิบัติโดยชอบ ทำให้เห็นแจ้งพระนิพพานนั้น ทำให้เห็นแจ้งอย่างไร ?

พระนาคเสน – ข้าแต่มหาบพิตร ผู้ปฏิบัติโดยชอบ นั้นใด เขากำหนดรู้ความเป็นไปของสังขารทั้งหลาย เมื่อกำหนดรู้ความเป็นไปของสังขารอยู่ ก็เห็นชาติ (ความเกิด) เห็นชรา (ความแก่) เห็นพยาธิ (ความเจ็บไข้) เห็นมรณะ (ความตาย) ในสังขารทั้งหลายนั้น ไม่เห็นความสุขความสบายไร ๆ ในสังขารทั้งหลายนั้น เขาไม่เห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใดในสังขารทั้งหลายนั้น ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย ว่าเป็นสิ่งที่ควรยึดถือได้

พระนาคเสน - ข้าแต่มหาบพิตร,  เปรียบเหมือนท่อนเหล็กที่เผาร้อนอยู่ตลอดวัน ลุกโพลงร้อนแรง บุรุษไม่เห็นส่วนไร ๆ ทั้งข้างต้น ทั้งตอนกลาง ทั้งท่อนล่าง (ของท่อนเหล็กนั้น) พึงจับถือได้ ฉันใด ข้าแต่มหาบพิตร, ท่านผู้ใดกำหนดความเป็นไป (ปวัตตะ) ของสังขารทั้งหลายอยู่  เมื่อเขากำหนดรู้ความเป็นไปอยู่ ก็เห็นชาติ เห็นชรา เห็นพยาธิ เห็นมรณะ ในสังขารทั้งหลายนั้น ไม่เห็นความสุขความสำราญไร ๆ ในสังขารทั้งหลายนั้น ไม่เห็นสิ่งใดสิ่งหนึ่งในสังขารทั้งหลายนั้น ทั้งเบื้องต้น ทั้งท่ามกลาง ทั้งเบื้องปลาย ว่าเป็นสิ่งที่ควรยึดถือได้  เมื่อเขาไม่เห็นสิ่งที่ควรยึดถือ ความไม่ชื่นชมยินดี ก็ทรงตัวอยู่ในจิต ความรุ่มร้อนก็เข้ามาในกาย เขาก็เป็นผู้ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีสรณะ ไม่มีผู้เป็นที่พึง เบื่อหน่าย ในภพทั้งหลายอยู่  ข้าแต่มหาบพิตร, เปรียบเหมือนบุรุษเข้าไปใกล้กองไฟกองใหญ่ที่มีเปลวไฟโชติช่วง ไม่มีที่ป้องกัน ไม่มีสรณะ ไม่มีผู้เป็นที่พึง ณ ที่นั้น พึงเบื่อหน่ายระทดท้อในกองไฟ ฉันใด  ข้าแต่มหาบพิตร, เมื่อผู้ปฏิบัติโดยชอบนั้น ไม่เห็นสิ่งที่ควรยึดถือ ความไม่ชื่นชมยินดีก็ทรงตัวอยู่ในจิต ความรุ่มร้อนก็เข้ามาในกาย ท่านผู้นั้นหาที่ป้องกันมิได้ ไม่มีสรณะ ไม่มีผู้เป็นที่พึง ก็เบื่อหน่ายในภพทั้งหลาย เมื่อท่านผู้นั้น เป็นผู้มีความเห็นภัย ใน ปวัตตะ (ของสังขารทั้งหลาย) ความคิดอย่างนี้ก็เกิดขึ้น (แก่เขา) ว่า 

  “อันว่า  ปวัตตะ (ความเป็นไปของสังขารทั้งหลาย) นี้ รุ่มร้อนจริงหนอ แผดเผาลุกโชติช่วง มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก (ปรากฏอยู่ในภพทั้งหลาย) ถ้าใครก็ตาม พึงได้  อัปปวัตตะ (ความไม่เป็นไปของสังขารทั้งหลาย)  อัปปวัตตะ นี้สงบ  อัปปวัตตะ นี้ประณีต  กล่าวคือ  ความสงบของสังขารทั้งปวง, สลัดออกไปซึ่งอุปธิทั้งปวง, สิ้นตัณหา, ปราศจากราคะ, ความดับ, นิพพาน” 

  เพราะจิตนี้ของท่านผู้นั้น แล่นไปเลื่อมใสอยู่ ร่าเริงหรรษา อยู่ใน อัปปวัตตะ ว่า  “การออกไปพ้นแล้ว ข้าพเจ้าได้เฉพาะ” ดังนี้  ข้าแต่มหาบพิตร, เปรียบเหมือน บุรุษ ผู้มีความต้องการเดินทางไปต่างถิ่น เห็นหนทางว่างพาหนะ (กีดขวาง) ก็เดินทางเข้าไปทางนั้น ยินดี พอใจ หรรษา ร่าเริงอยู่ว่า  เราได้พบหนทางที่ไม่มีพาหนะกีดขวางแล้ว ฉันใด จิตของผู้เห็นภัยในปวัตตะ ก็ฉันนั้น ย่อมแล่นเข้าไปใน อัปปวัตตะ ย่อมเลื่อมใสหรรษาร่าเริงอยู่ว่า “ข้าพเจ้าได้เฉพาะแล้ว ซึ่งการออกไป (จากปวัตตะ)”  เขาผู้นั้นขวนขวาย แสวงหา  ทำมรรคเพื่ออัปปวัตตะ ให้เกิด ทำให้มาก ๆ อยู่, สติ เพื่อ อัปปวัตตะ นั้นของเขาก็ตั้งมั่นอยู่, วิริยะ เพื่อ อัปปวัตตะ นั้นก็ตั้งมั่นอยู่, เมื่อเขามนสิการไปมาอยู่ จิตนั้นก็ผ่านพ้นปวัตตะ แล้วก้าวลงสู่ อัปปวัตตะ  ข้าแต่มหาบพิตร,  ท่านผู้ปฏิบัติโดยชอบ ได้บรรลุโดยลำดับซึ่ง อัปปวัตตะ แล้ว ท่านกล่าวว่า “กระทำให้เห็นแจ้งซึ่งพระนิพพาน” ด้วยประการฉะนี้

  พระเจ้ามิลินท์ – สาธุ  ท่านนาคเสนผู้เจริญ27

การรู้เห็นพระนิพพานด้วยประจักษ์ และโดยอนุมาน

ท่านกล่าวไว้ว่า  เป็นโลกุตตระ จะรู้เห็นด้วยโลกียจิตไม่ได้  ต้องรู้เห็นด้วยอริยจักขุ คือ  ทำให้เห็นด้วยมรรคญาณ 4  ถึงกระนั้น ท่านก็กล่าวชี้แจงไว้ว่า ทางที่สามารถรู้เห็นนิพพานได้ มีอยู่ 2 ทาง คือ :-

1.ปัจจักขะสิทธิ   คือ รู้เห็นประจักษ์ ด้วยตนเอง

2.อนุมานะสิทธิ   คือ รู้เห็นโดยอนุมาน

1.การรู้เห็นโดยประจักษ์  หมายถึง การรู้เห็นพระนิพพานโดยประจักษ์ชัด ด้วยตนเองโดย ปฏิเวธ-แทงทะลุ ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ของพระอริยบุคคลเท่านั้น

2.การรู้เห็นโดยอนุมาน  คือ คาดคะเน  หมายถึง การรู้เห็นเป็น  อนุโพธ-รู้ตาม  ด้วยการสดับตรับฟังเล่าเรียนศึกษาและไตร่ตรองตามโดยทฤษฎีทางพระปริยัติ ของบรรดากัลยาณปุถุชน28  เช่น ที่ท่านพระนาคเสนเถระ ถวายคำชี้แจงแก่พระเจ้ามิลินท์ ดังนี้

การรู้เห็นพระนิพพานโดยอนุมานอย่างไร ?

คนไม่ได้ไปถึงพระนิพพาน รู้เห็นพระนิพพาน ว่าเป็นสุขไหม ? เรื่องนี้ พระเจ้ามิลินท์และพระนาคเสนเถระ ตรัสปุจฉา และถวายวิสัชนาไว้ ดังนี้ :-

พระเจ้ามิลินท์ – ผู้ใดไม่ได้พระนิพพาน เขารู้ไหมว่า พระนิพพานเป็นสุข ?

พระนาคเสนเถระ – ถวายพระพร  - ผู้ใดไม่ได้พระนิพพาน เขาก้รู้ว่า พระนิพพานเป็นสุข

มิลินท์ – เมื่อไม่ได้ จะรู้ว่านิพพานเป็นสุข ได้อย่างไร ?

นาคเสน – มหาบพิตร,  คนที่มีมือเท้าบริบูรณ์มิได้ถูกตัดขาด เขารู้หรือไม่ ว่าการถูกตัดมือขาดตัดเท้าขาด เ็นความทุกข์

มิลินท์ – เขารู้สิ

นาคเสน – รู้ได้อย่างไร ?

มิลินท์ – รู้ได้เพราะได้ยินเสียงครวญครางของคนที่ถูกตัดมือตัดเท้า

นาคเสน ๒ เช่นฉันนั้นเหมือนกัน มหาบพิตร,  ผู้ยังไม่ได้พระนิพพาน ได้สดับตรับฟังเสียงกล่าวถึงของท่าน ผู้เห็นแล้วซึ่งพระนิพพาน ก็รู้ได้ว่า พระนิพพานเป็นสุข

มิลินท์ – ถูกต้อง29

พระนิพพานเป็นอารมณ์ของมรรคญาณ

การรู้พระนิพพานโดยประจักษ์ชัด ด้วยปฏิบัติกำจัดอาสวะกิเลสได้โดยเด็ดขาดด้วยอริยมรรค และการปฏิบัติให้เกิดอริยมรรคญาณนั้น ต้องมีพระนิพพานเป็นอารมณ์  “เป้าหมาย”  ถ้าญาณของผู้ปฏิบัติไม่หน่วงเหนี่ยวพระนิพพานเป็นอารมณ์ แต่ไปหน่วงเหนี่ยวสมมติ หรือบัญญัติเป็นอารมณ์ อริยมรรคก็ไม่เกิด และตัดกิเลสสังโยชน์โดยเด็ดขาดไม่ได้  “เพราะว่า ญาณ ซึ่งมีสังขตะธรรมเป็นอารมณ์ หรือมีบัญญัติเป็นอารมณ์ ไม่สามารถในการเพิกถอนและระงับดดยเฉพาะซึ่งกิเลสทั้งหลาย แต่การเพิกถอนเป็นต้นซึ่งกิเลสทั้งหลาย มีอยู่ในโลก เพราะฉะนั้น จึงมี  ปรมัตถธรรม อย่างหนึ่ง เรียกชื่อว่า พระนิพพาน  เป็นธรรมตรงข้ามกับสังขตธรรม และสมมติธรรม เป็นอารมณ์หน่วงเหนี่ยวของมรรคและผล ซึ่งทำการเพิกถอนและระงับกิเลสทั้งหลาย29  และ  “บุคคลผู้ได้ (อริย)มรรค และ (อริย)ผล  ย่อมเห็นพระนิพพานโดยประจักษ์ ด้วยมรรคนั้น เพราะพระนิพพานเป็นอารมณ์ของมรรค แต่เมื่อไม่มีนิพพาน มรรคก็ดำเนินไปไม่ได้  เพราะเหตุไร ? เพราะไม่มีอารมณ์เป็นเครื่องหน่วงเหนี่ยว เพราะฉะนั้น ที่เรียกว่า การได้พระนิพพานของบุคคล (เป็นการได้) ด้วยการทำให้เห็นแจ้งพระนิพพานโดยอารมณ์”31

แต่การเห็นพระนิพพานโดยอารมณ์นั้น ได้กล่าวมาแล้วว่าเห็นด้วยโลกียจิตไม่ได้ เพราะพระนิพพานละเอียดสุขุมมาก ดังพระพุทธดำริถึงเมื่อแรกตรัสรู้ว่า

ปฏิโสตคามี    คมฺภีรํ  ทุทฺทสํ  อณุ

ราครตฺตา  น  ทกฺขนฺติตโมกฺขนฺเธน  อาวุฏา.”

(วินย. มหา. 4/9.  ม.มู. 12/324)

แปลความว่า  “พระนิพพาน เป็นธรรมที่ดำเนินทวนกระแส สุขุม ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก ละเอียด คนที่กำหนัดยินดีด้วยราคะ ห่อหุ้มด้วยกองอวิชชาอันมืด จะไม่เห็น (พระนิพพาน)”



21 ปรมตฺถทีปนี นาม  ขุทฺทกนิกายยฏฺฐกถา อุทานนวณฺณนา (น. 495-6) ว่า  “ตตฺราปาหิ….” แปลไว้ตามนัยในอรรถกถา

22 ไม่กล่าวถึง,  ไม่เรียกว่า

23 หมายถึง พระนิพพานเองไม่มีอารมณ์ แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ  “เป้าหมาย”  ของมรรคผล

24 ตรัสอยู่กับ  อุปสีวะมาณพ

25 และดู-สทฺธมฺมปฺปชฺโชติกา,  ทุติยภาค น. 249.

26 ดู-เตลปัตตชาดก  เอกนอบาต, 236-248 และดู”สาธิตวิธีปฏิบัติกายคตาสติภาวนา  ด้วยพระสูตรและชาดก” ของ ธนิต อยู่โพธิ์

27 มิลินฺทปญฺหา. น. 404-407

28 อภิธมฺมตฺถวิภาวินี, น. 213

29 มิลินฺทปญฺหา, น. 95

29 อภิธมฺมตฺถวิภาวินี, น. 213

31 อภิธานปฺปทีปิกา-สูจิ, 566

  ผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

 

การเห็นพระนิพพานจึงต้องเห็นด้วย อริยจักขุ  คือ ดวงตาอริยะ  (อริเยน  จกฺขุนา  ปสฺสิตพฺพโต – (วิสุทฺธิมคฺค  ตติยภาค, น. 97)  หรือ  ด้วยธรรมจักษุที่ปราศจากธุลำร้มลทิน)

เพื่อทราบพระนิพพานต่อไป เห็นควรทราบอริยสัจจ์ 4 และหน้าที่ หรือ กิจที่พึงปฏิบัติ ในแต่ละอริยสัจจ์ คือ

1. ทุกฺข  อริยสจฺจํ  ปริญฺเญยยํ    ทุกข – อริยสัจจ์  (กิจ)  ควรกำหนดรู้

2. ทุกฺขสมุทโย  อริยสจฺจํ ปหาตพฺพ  ทุกขสมุทัย – อริยสัจจ์ (มีกิจ)  ควรละ

3. ทุกฺขนิโรโธ  อริยสจฺจํ  สจฺฉิกาตพฺพํ  ทุกขนิโรธ – อริยสัจจ์ (มีกิจ)  ควรทำให้เห็นแจ้ง

4. ทุกฺขนิโรธคามินี  ปฏิปทา  อริยสจฺจํ  ภาเวตพฺพํ  อริยสัจจ์ – คือ ปฏิปทาดำเนินไปสู่ความดับทุกข์  (มีกิจ)  ควรทำให้เกิด

ในที่นี้ ขอกล่าวถึง 2 อริยสัจจ์ก่อน คือ ทุกขสมุทยอริยสัจจ์ และ ทุกข-นิโรธอริยสัจจ์ ในพระธัมมจักกัปปวัตตนสูตร (สํ.มหา.19/528-32) ตรัสถึง

“ทุกขสมุทัย-อริยสัจจ์ ไว้ว่า  “อิทํ  โข  ปน  ภิกฺขเว  ทุกฺขสมุทโย  อริยสจฺจํ, ยายํ  ตณฺหา  โปโนพฺภวิกา  นนฺทิราคสหคตา  ตตฺรตตฺราภินนฺทินี,  เสยฺยถีทํ ?  กามตณฺหา  ภวตณฺหา วิภวตณฺหา

แปลว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันทุกขสมุทัย-อริยสัจจ์ นี้ก็คือ ตัณหานี้ใด ซึ่งก่อให้เกิดภพต่อ ๆ ไป ประกอบด้วยกำหนัดยินดี เป็นที่เพลิดเพลินในภพนั้น ๆ ตัณหาดังกล่าวนี้ ได้แก่  กามตัณหา, ภวตัณหา, วิภวตัณหา” 

และตรัสถึงทุกขนิโรธ-อริยสัจจ์ว่า  “อิทํ  โข  ปน  ภิกฺขเว  ทุกฺขนิโรโธ  อริยสจฺจํ, โย  ตสฺสาเยว  ตณฺหาย  อเสสวิราคนิโรโธ  จาโค  ปฏินิสฺสคฺโค  มุตฺติ  อนาลโย 

แปลว่า  ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย  อันทุกขนิโรธ-อริยสัจจ์  นี้ก็คือ  การดับโดยปราศจากกำหนัดยินดีโดยไม่มีส่วนเหลือ แห่งตัณหา  (ที่กล่าวถึงใน ทุกขสมุทัย-อริยสัจจ์)  นั้นนั่นแหละ, การสละทิ้ง, สลายตัวออกไปโดยเฉพาะ, หลุดพ้น ไม่เกาะติดอยู่  (แห่งตัณหานั้นนั่นแหละ)

คำว่า  “นิโรธ”  ในพระสูตรนี้ และที่กล่าวถึงข้างต้น (เช่น  ตณฺหกฺขโย นิโรโธ  นิพฺพานํ)  เป็นชื่อหนึ่งของนิพพาน คือ พระนิพพาน และ ทุกขนิโรธอริยสัจจ์ ก็คือ ความดับแห่งทุกข์ ก็คือ พระนิพพาน เพราะพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียก  “พระนิพพาน”  โดยปรมัตถ์ว่า  “ทุกขนิโรธอริยสัจจ์”  (ปรมตฺถโต  หิ  ทุกฺขนิโรโธ  อริยสจฺจนฺติ  นิพฺพานํ  วุจฺจติ)”-วิสุทฺธิมคฺค, ตติยภาค. น.94

พระเจ้ามิลินท์ และพระนาคเสนเถระ ได้ทรงปุจฉาและถวายวิสัชนาไว้ ดังนี้:-

พระเจ้ามิลินท์  ตรัสถาม- ข้าแต่ท่านนาคเสน, 

นิโรธ คือ พระนิพพาน หรือ ?

นาคเสนถวายพระพร- ถูกแล้ว  นิโรธ คือ พระนิพพาน, มหาบพิตร

มิลินท์-นิโรธ คือ พระนิพพาน  อย่างไร ?

นาคเสน- “พาลปุถุชนทั้งหลายทั้งปวง ต่างชื่นชมกล่าวชมเชย ยึดถืออายตนะภายในและภายนอก เมื่ออายตนะภายในและภายนอกเหล่านั้น ถูกกระแสพัดพาไป ก็ไม่รอดพ้นจากชาติ  ชรา  มรณะ โศก  คร่ำครวญ  ทุกข์  โทมนัส  อุปายาส (คับแค้นใจ)

พระตถาคตกล่าวว่า  เขเหล่านั้นไม่พ้นไปจากทุกข์  แต่พระอริยสาวก ผู้ได้สดับตรับฟังแล้ว ไม่ชื่นชม ไม่กล่าวยกย่อง ไม่ยึดถือ อายตนะทั้งหลายทั้งภายในและภายนอก เมื่อท่านไม่ชื่นชม ไม่กล่าวยกย่อง ไม่ยึดถืออายตนะนั้น ๆ ตัณหาก็ดับไป, เพราะตัณหาดับไป อุปาทานก็ดับ, เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ, เพราะภพดับ ชาติ (ความเกิด) ก็ดับ, เพราะชาติดับ ชราและมรณะ-โศก-คร่ำครวญ-ทุกข์-โทมนัส-อุปายาส (คับแค้นใจ) ก็ดับไป ความดับของกองทุกข์ทั้งสิ้นนี้ มีอยู่ด้วยประการฉะนี้,  นิโรธ คือ พระนิพพาน ดังนี้แล  มหาบพิตร”-(มิลินฺทปญฺหา, น.94)

สิ่งปิดบังพระนิพพาน

ทุกฺขํ  เตภูมิกํ  วฏฺฏํ  ตณฺหา  สมุทโย  ภเว

นิโรโธ  นาม  นิพฺพานํ  มคฺโค  โลกุตฺตโร  มโต.”

แปลว่า  พระผู้มีพระภาคเจ้า  ตรัสว่า – วัฏฏะเป็นไปใน 3 ภูมิ ชื่อว่า  ทุกขสัจจ์, ตัณหาในภพ ชื่อว่า สมุทยสัจจ์,  พระนิพพาน ชื่อว่า  นิโรธสัจจ์, โลกุตตระมรรค ชื่อว่า มรรคสัจจ์

เราได้ทราบมาข้างต้นแล้วว่า  นิโรธ ก้คือ พระนิพพาน หมายถึง ดับทุกข์ เป็นอริยสัจจ์ อย่าง 1 ใน 4 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสไว้ เรียงเป็นอันดับที่ 3 ตรัสเรียกว่า  ทุกนิโรธ-อริยสัจจ์

แต่-ท่านว่า  ความดับทุกข์จะมีขึ้นไม่ได้ ถ้าไม่ดับสมุทัย คือ เหตุบังเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เพราะทุกข์จะดับได้ด้วยการดับสมัทัยอย่างเดียว  เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้า เมื่อทรงแสดงการดับทุกข์ จึงทรงแสดงด้วยสมุทัยโดยเฉพาะ-(วิสุทฺธิมคฺค, ตติยภาค. น.93)

สมุทัย คือ อะไร ?

ทรงแสดงตัวตนเหตุสำคัญไว้ใน  พระธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ว่า คือ ตัณหา โดยตรัสว่า

“อิทํ  โข  ปน  ภิกฺขเว  ทุกฺขสมุทโย  อริยสจฺจํ  ยายํ  ตณฺหา  โปโนพฺภวิกา  นนฺทิราคสหคตา  ตตฺรตตฺราภินนฺทินี, เสยฺยถีทํ;  กามตณฺหา  ภวตณฺหา  วิภวตณฺหา

แปลว่า “ภิกษุทั้งหลาย อันอริยสัจจ์ เหตุเป็นแดนเกิดแห่งทุกข์ คือ สิ่งนี้แล,  ตัณหานี้ใด ก่อให้เกิดภพต่อ ๆ ไป  ประกอบด้วยความกำหนัดเพลิดเพลินยินดี มีความเพลิดเพลินในภพนั้น ๆ คือ ต่อไปนี้ อย่างไรเหล่า ;- ตัณหาในกามภพ 1, ตัณหาในรูปภพ 1,  ตัณหาในอรูปภพ 1”

สมุทัยเป็นต้นเหตุสำคัญของทุกข์แล้ว ควรรู้จักอกุศลบาปธรรม โดยทั่วไปที่ร่วมปิดบัง เพื่อประกอบความรู้ความเข้าใจในเรื่อง การเห็นพระนิพพาน  อันอกุศลบาปธรรมทั้งหลาย มี ใหญ่  น้อย  ละเอียด  ที่กีดกั้น เร้ารุม หุ้มห่อ หมักดอง รึงรัด พัดพา แผดเผา ร้อนแรง เหนี่ยวรั้ง ผูกพัน ย่ำยี แก่ปวงสัตว์ทั้งหลายไว้ ทำให้ดิ้นรน  เศร้าหมอง  และมัวเมาหมกมุ่น เวียนว่ายตายเกิด อยู่ในสังสารวัฏนั้น ท่านบัญญัติเรียกชือไว้ตามชนิด ซึ่งพระเถระโบราณจารย์ระบุไว้ในคัมภีร์- (ABHIDHAMMAVATARA (P.T.S.) 1980. PP. 129-130) คือ:-

1. สังโยชน์  (เครื่องผูกพัน) 10

2. กิเลส  (สิ่งเศร้าหมอง) 10

3. มิจฉัตตะ (ความเป็นผิด) 10

4. โลกธรรม  (สิ่งประจำโลก) 8

5. มัจฉริยะ  (ความตระหนี่) 5

6. วิปลาส  (ความคลาดเคลื่อนจากความจริง) 3

7. คันถะ  (สิ่งร้อยรัด) 4

8. อคติ  (ความลำเอียง) 4

9. อาสวะ  (เครื่องหมักดอง) 4

10. โอฆะ  (ท่วมทับ-พัดพา) 4

11. โยคะ  (สิ่งผูกมัด) 4

12. นิวรณ์  (สิ่งกีดกั้น-ปิดบัง) 5

13. ปรามาส  (ความยึดถือ) 4

14. อุปาทาน  (ความยึดมั่น) 4

15. อนุสัย  (นอนเนื่องแทรกซึมในสันดาน) 7

16. มละ  (สิ่งมัวหมอง) 3

17. อกุศลกรรมบถ  (ทางเดินของกรรมเป็นอกุศล) 10

18. อกุศลจิตตุปบาท  (เกิดอกุศลจิต) 12

ในที่นี้จะขอกล่าวแต่เฉพาะบางอย่างเท่านั้น  เช่น

อาสวะ 4, โอฆะ 4 และ โยคะ 4 คือ:-

1. กามราคะ  กำหนัดยินดีในกาม

2. ภวราคะ  กำหนัดยินดีในภพ

3. ทิฏฐิ (มิจฉา)  เห็นผิด

4. อวิชชา  ไม่รู้

ทั้ง 4 อย่างนี้ เรียกชื่อไปตามอาการว่า  “อาสวะ”  เพราะ หมักดอง, หลั่งไหล,  เรียกว่า  “โอฆะ” เพราะท่วมทับและพัดพาให้วนว่ายอยู่ในสาคร (ทะเลแห่งสังสารวัฏ),  เรียกว่า  “โยคะ”  เพราะผูกมัดให้เกาะติดอยู่ในอารมณ์และความทุกข์ ระงับและตัดขาดหลุดพ้นด้วย ปัญญา เป็นต้น.

สังโยชน์  (เครื่องผูกพัน) 10 คือ:-

1. สักกายทิฏฐิ  เห็นว่ามีอัตตา

2. วิจิกิจฉา  สงสัยลังเลใจ

3. สีลพตะปรามาส  ยึดถือศีล และ พรต (งมงาย)

4. กามราคะ  กำหนัดยินดีในกามภพ

5. ปฏิฆะ    โกรธเคือง

6. รูปราคะ    กำหนัดยินดีในภพ

7. อรูปราคะ  กำหนัดยินดีในอรูปภพ

8. มานะ  ถือตัว

9. อุทธัจจะ    คิดฟุ้งซ่าน

10. อวิชชา    ไม่รู้

ตั้งแต่ 1 ถึง 4 เรียกว่า  “อโธภาคิยสังโยชน์”  หรือ  “โฮรัมภาคิยสังโยชน์”  แปลว่า  สังโยชน์ส่วนเบื้องต่ำ เพราะผูกสัตว์ไว้ให้เกิดอยู่ในภพเบื้องล่าง คือ กามภพ และตั้งแต่ 6 ถึง 10 เรียกรวมว่า  “อุทธัมภาคิยสังโยชน์”  แปลว่า  สังโยชน์ส่วนเบื้องสูง เพราะผูกพันให้เกิดในภพเบื้องบน คือ รูปภพ และอรูปภพ

กิเลส  (สิ่งเศร้าหมอง) 10 คือ:-

1.โลภะ  อยากได้

2.โทสะ  คิดประทุษร้าย

3.โมหะ  หลง

4.มานะ  ถือตัว

5.ทิฏฐิ  เห็นผิด

6.วิจิกิจฉา  สงสัย

7.ถีนะ  จิตใจหดหู่-ท้อแท้

8.อุทธัจจะ  คิดฟุ้งซ่าน

9.อหิริกะ  ไม่มีความละอายบาป

10.อโนตตัปปะ  ไม่มีความเกรงกลัวบาป

ที่เรียกว่า  “กิเลส”  อธิบายอาการว่า ตัวมันเองก็เศร้าหมองและทำให้สัมปยุตตธรรมทั้งหลายเศร้าหมองไปด้วย

อนุสัย  (กิเลสนอนเนื่อง-แทรกซึม) 7 คือ;-

1.กามราคะกำหนัดยินดีในกาม

2.ปฏิฆะ  ขัดเคือง

3.มานะ  ถือตัว

4.ทิฏฐิ  เห็นผิด

5.วิจิกิจฉา    สงสัย

6.ภวราคะ    กำหนัดยินดีในภพ

7.อวิชชา    ไม่รู้

ที่เรียกว่า    “อนุสัย”  เพราะนอนเนื่อง-แทรกซึมอยู่ในสันดาน

เห็นได้ว่า  อกุศลบาปธรรมเหล่านี้แหละที่กีดกันเหนี่ยวรั้งย่ำยีท่วมทับผูกมัดและพัดพาให้หลงผิดไม่รู้ไม่เห็นนิพพาน  และตัวการสำคัญที่เป็นหัวหน้าก็คือ อวิชชาและตัณหา และตัณหาซึ่งถูกระบุถึงไว้ในพระธรรมจักกัปปวัตตนสูตรเป็นตัณหานุสัย  ตัวการสำคัญก่อให้เกิดทุกข์

เพราะฉะนั้น  พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า  ทุกขสมุทัยได้แก่  ตัณหาและการดับทุกข์ต้องดับที่สมุทัยคือ ตัณหาโดยตรัสว่า

โย  ตสฺสาเยว  ตณฺหาย  อเสสวิราคนิโรโธ  จาโค  ปฏินิสฺสคฺโค  มุตฺติ  อนาลโย

แปลว่า  “ความดับโดยปราศจากกำหนัดยินดีไม่มีเหลือแห่งตัณหาดังกล่าวนั้นนั่นแลอันใด ก็คือ  การละสลัดออกไปโดยเฉพาะหลุดพ้นไม่เกาะเกี่ยว (แห่งตัณหานั้น)”

ตณฺหาย  วิปฺปหาเนน  นิพฺพานํ  อิติ  วุจฺจติ – (ขุ.สุ. 25/527, ขุ.อุ. 25/122, ขุ.ธ. 25/63)

แปลว่า  “เพราะละตัณหาได้  เรา-ตถาคตเรียกว่า  พระนิพพาน”

วิถีทางเห็นแจ้งพระนิพพาน

อันว่า  กิเลสตัวการสำคัญคือ ตัณหาและมีอวิชชาเป็นรากเง้าในที่นี้ก็เป็นที่ทราบกันดีแล้วการปฏิบัติเพื่อละกิเลสตัณหานั้นย่อมละ (ปหานะ-ละ)ได้หลายนัยเช่น:-

1. ตทังคปหาน    ละด้วยองค์วิปัสสนานั้น ๆ

2. วิกขัมภนปหาน  ละด้วยการข่มไว้ (ด้วยรูปฌาน-อรูปฌาน)

3. สมุจเฉทปหาน  ละด้วยตัดขาด (ด้วยมรรคญาณ)

4. ปฏิปัสสัทธิปหาน  ละด้วยสงบราบคาบ (ด้วยผลญาณ)

5. นิสสรณปหานละด้วยพ้นออกไป (บรรลุนิพพาน)


 

1 อิติ.อ.215 ว่า: โดยปรมัตถ์ (ความหมายสูงสุดหรือความหมายที่แท้จริง) นิพพานไม่มีการแบ่งประเภท แต่ที่แบ่งเ็น 2 นั้น เป็นการแบ่งโดยปริยายเท่านั้น.

2นิพฺพุต” มักใช้ในรูปของกริยาศัพท์หรือคุณนาม เป็น “นิพฺพุต” เช่น องฺ.ติก.20/497/207;  506/253;  องฺ.จตุกฺก.21/198/288;

3 ข้อความแสดงวิเคราะห์ศัพท์นิพพานมาในคัมภีร์หลายแห่ง โดยเฉพาะ  วินย.อ.1/255;  ที.อ.2/78;  วิสุทธิ.2/88;  สงฺคห.ฎีกา 68 แต่ส่วนมากซ้ำกันหรือคล้ายกัน นอกจากความหมายที่กล่าวข้างต้นแล้ว ยังอาจแปลว่า  “ปราศจากป่า”  ไม่มีป่ากิเลส  ไม่มีดงกิเลส  องฺ.ฉกฺก.22/314/386;  ขุ.ธ.25/300/52;  หรือแปลว่า ดับทุกข์ทั้ง 3 ชนิดคือ ทุกขทุกข์ วิปริณามทุกข์ และ สังขารทุกข์ (วิสุทธิ.ฎีกา2/246);  สมเด็จพระสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส  ทรงแสดงมติว่า อีกนัยหนึ่ง ควรแปลว่า หาของเสียบแทงมิได้ (ธรรมวิจารย์, หน้า 50,57) 

4 ขุ.อิติ.25/222/258;  คัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะ เรียกการแบ่งอย่างนี้ว่า เป็นการแบ่งตามปริยายแห่งเหตุ (การณปริยาย)  แล้วแสดงวิธีแบ่งอีกอย่างหนึ่งตามประเภทแห่งอาการ เป็นนิพพาน 3 คือ สุญญตนิพพาน  อนิมิตตนิพพาน  และอัปปณิหิตนิพพาน (สงฺคห.39)

5อิติ.อ.215;  สุตต.อ.2/268;  วิสุทธิ.ฎีกา. 3/214;  สงฺคห.ฎีกา.214; 

6 เช่น ในข้อความว่า  “ตถาคต…เป็นผู้ดับร้อนหมดแล้ว เย็นซึ้งเหมือนห้วงน้ำลึก”  (ขุ.สุ.25/359/41);  และ  “(ผู้มีจิตหลุดพ้นแ้ว) เป็นผู้หายหิว  ดับร้อน เย็นซึ้ง เสวยแต่ความสุข มีตนเป็นพรหมอยู่แล้วตั้งแต่ในปัจจุบันทีเดียว”  (ม.ม.13/17;123/121;643/588;  มีในเล่มอื่น เช่น  สํ.ส.15/566/208;  699/262;  องฺ.จตุกฺก.21/198/288; 

7 ธัมมายตนะ  อายตนะภายนอกอย่างที่ 6 ได้แก่ ธรรมารมณ์ ซึ่งแยกได้เป็นขันธ์ 5 กับนิพพาน (นิพพานเป็นธรรมนอกเหนือจากขันธ์ 5 ดังในคัมภีร์ชั้นหลัง มีคำแสดงลักษณะนิพพานอีกคำหนึ่งว่า  “ขันธวินิมุต”  แปลว่า  พ้นจากทุกข์ คือ จัดเข้าในขันธ์ 5 ไม่ได้  ดู ปญฺจ.อ.389;  สงฺคห.44;  สงฺคห.ฎีกา230 แต่ก็จัดเข้าในธัมมายตนะด้วย.

8 ข้อความตอนท้ายว่า  “จักเป็นของเย็นอยู่ที่ (อายตนะ12) นี้เอง”  หมายความว่า หมดพิษสงหมดอิทธิพลอยู่เพียงแค่ที่อายตนะ12 เท่านั้น อย่างนี้แปลตามนัย  ม.อ.3/700.  แต่ถ้าแปลตาม  อิติ.อ.218;  สํ.อ.2/102; องฺ.อ.2/478 ต้องแปลว่า  “จักเป็นของเย็นอยู่ในอัตภาพนี้เอง”  คือไม่เลยต่อไปเกิดปฏิสนธิใหม่

9 วินย.7/198/85

10 ขุ.อุ.25/65/101

11 องฺ.จตุกฺก.21/35/46  (บาลีแห่งที่มานี้หมายถึงพระพุทธเจ้า ในฐานะทรงเป็นมหาบุรุษ แต่หลักฐานอื่น ๆ แสดงว่า คุณสมบัตินี้มีแก่พระขีณาสพทั่วไป  ดู ม.มู.12/262/247; 375/401; องฺ.อ.2/3228,417)

12 ขุ.อุ.25/108/142

13 ขุ.เถร.26/396/403; เทียบ 26/381/363; 383/367 เป็นต้น

14 องฺ.ติก.20/510/271;

15 ขุ.ขุ.25/10/13; ขุ.สุ.25/308/353 (ที่มานี้และ  ม.มู.12/3422/351 เป็นคำสอนสำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อนิพพาน ในฐานะที่พระอรหันต์เป็นผู้ปฏิบัติตามนี้ได้บริบูรณ์แล้ว)

16 สํ.ส.15/454/162

16 ธรรม 9 อย่างนี้เรียกว่าอนุปุพพวิหาร 9 แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ที่ปราณีตต่อ ๆ กันไปทีละขั้น ๆ ตามลำดับ หรืออนุปุพพวิหารสมาบัติ 9 แปลว่า ธรรมเครื่องอยู่ที่พึงเข้าต่อกันขึ้นไปตามลำดับ

17 แต่ถ้ายึดเอาการได้ฌาณเป็นการบรรลุนิพพานแท้จริง  ก็กลายเป็นมิจฉาทิฏฐิไป (ม.อุ.14/29/27;40/39)

18 องฺ.นวก.23/237,251,255/425,475,476

19(มิลินฺทปญฺหา, (407-410)

20 สํ. สคาถ. 15/87-89,  อํ. จตุกฺก. 21/62, ขุ.อุ. 25/207

21 ปรมตฺถทีปนี นาม  ขุทฺทกนิกายยฏฺฐกถา อุทานนวณฺณนา (น. 495-6) ว่า  “ตตฺราปาหิ….” แปลไว้ตามนัยในอรรถกถา

22 ไม่กล่าวถึง,  ไม่เรียกว่า

23 หมายถึง พระนิพพานเองไม่มีอารมณ์ แต่พระนิพพานเป็นอารมณ์ คือ  “เป้าหมาย”  ของมรรคผล

24 ตรัสอยู่กับ  อุปสีวะมาณพ

25 และดู-สทฺธมฺมปฺปชฺโชติกา,  ทุติยภาค น. 249.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท