มหาธี
อาจารย์ ธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

คัมภีร์พระนิพพาน


 

โครงการธรรมศึกษาวิจัย

คัมภีร์เรื่องนิพพาน

: ศึกษาจากคัมภีร์พระไตรปิฎก

อรรถกถา ฎีกาตลอดจนคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

ธีรวัส  บำเพ็ญบุญบารมี

ผู้อำนวยการโครงการอนุรักษ์คัมภีร์

มหาบัณฑิตสาขาวิชาพุทธศาสน์ศึกษา

มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย

ธรรมศึกษานี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาค้นคว้าเพื่อเป็นหลักฐานทางวิชาการทางพระพุทธศาสนา

ตามหลักสูตรวิจัยคัมภีร์พระพุทธศาสนา มูลนิธิเบญจนิกาย พุทธศักราช  ๒๕๕๐พิมพ์ครั้งที่ ๑  ๕๐๐ เล่ม

เพื่อเป็นธรรมทานไม่สงวนลิขสิทธิ์


คัมภีร์เรื่องนิพพาน

ไม่มีคัมภีร์ใดว่านิพพานเป็นอัตตา มีแต่คัมภีร์ว่านิพพานเป็นอนัตตา

   เมื่อสำรวจมติเกี่ยวกับเรื่องนี้ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา โดยเฉพาะพระไตรปิฎก และอรรถกถา ( คัมภีร์ ระดับสูงสุด ) ตามถ้อยคำของคัมภีร์นั้นๆ เอง ( ไม่ใช่อ่านแล้วมาสรุปเอง ) ก็เป็นที่ชัดเจนว่า

 - ไม่มีหลักฐานในคัมภีร์ใดเลย ที่กล่าวถ้อยคำระบุลงไปว่านิพพานเป็นอัตตา

-แต่หลักฐานในคัมภีร์ที่กล่าวระบุลงไปว่านิพพานเป็นอนัตตานั้นมี และมีหลายแห่ง

  พระไตรปิฎกและอรรถกถากล่าวคำระบุชัดว่า

  นิพพานเป็นอนัตตา ( ไม่เป็นอัตตา )

   ในพระไตรปิฎก และอรรถกถาหลายแห่ง กล่าวคำระบุชัดลงไปทีเดียว

( โดยไม่ต้องตีความแล้วสรุปเอา ) ว่านิพพานเป็นอนัตตา

   ก. พระไตรปิฎก

   ในพระไตรปิฎกเล่มที่ ๘ กล่าวคำระบุชัด ดังนี้

   อนิจฺจา สพฺพสงฺขารา ทุกฺขานตฺตา จ สงฺขตา ฯ

   นิพฺพานญเจว ปณฺณตฺติอนตฺตา อิติ นิจฺฉยา ฯ(วินย. ๘/๘๒๖/๒๒๔)

   แปลว่า: " สังขารทั้งปวงอันปัจจัยปรุ่งแต่ง ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา นิพพานและบัญญัติ เป็นอนัตตา วินิจฉัยมีดังนี้ "

   ในพระไตรปิฎก เล่ม ๓๑ กล่าวถึงนิพพานในชื่อของนิโรธอริยสัจจ์ว่าเป็นอนัตตา ดังนี้

   จตูหากาเรหิ อนตฺตฏฺเฐน จตฺตาริ สจฺจานิ เอกปฏิเวธานิ ... นิโรธสฺส นิโรธฏฺโฐ อนตฺตฏฺโฐ  (ขุ.ปฏิ. ๓๑/๕๔๖/๔๕0)

   แปลว่า: " สัจจะ ๔ มีการแทงตลอดด้วยญาณเดียว โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา โดยอาการ ๔ คือ

  ... นิโรธ มีอรรถ คือนิโรธ เป็นความหมายว่าเป็นอนัตตา " * ( นิโรธเป็นชื่อหนึ่งของ นิพพาน )

   * อรรถกถาอธิบายว่า : อนตฺตฏฺเฐนาติ จตุนฺนมฺปิ สจฺจานํ อตฺตวิรหิตตฺตา อนตฺตฏฺเฐน  (ปฏิสํ.อ.๒/๒๒๙)

   แปลว่า: " คำว่า ' โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา ' หมายความว่า โดยความหมายว่าเป็นอนัตตา เพราะสัจจะ แม้ทั้ง ๔ เป็นสภาวะปราศจากอนัตตา "

   ข. อรรถกถา

   อรรถกาถาหลายแห่งหลายคัมภีร์ กล่าวระบุชัดลงไปด้วยถ้อยคำของท่านเอง ( โดยตัวหนังสือ หรือพยัญชนะ ไม่ต้องเอามาตีความ ) ว่านิพพานเป็นอนัตตา เช่น

   " สพฺเพ ธมฺมา อนตฺตานิ นิพฺพานํ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตํ  (นิทฺ.อ.-จูฬ.๘)

   แปลว่า: " ข้อความว่า ' ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา ' นั้นพระพุทธองค์ตรัสรวมทั้งนิพพานด้วย "  " สพฺเพ ธมฺมาติ นิพฺพานมฺปิ อนฺโตกริตฺวา วุตฺตา อนตฺตา อวสวตฺตนฏฺเฐน"    (นิทฺ.อ.-มหา.๒๑๙)

   แปลว่า: " ข้อความว่า ' ธรรมทั้งปวง ' ตรัสไว้รวมแม้ทั้งนิพพานด้วย ชื่อว่าเป็นอนัตตา โดย ความหมายว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ "

   " สพฺเพ ธมฺมาติ นิพฺพานมฺปิ อนฺโต กตฺวา วุตฺตา อนตฺตาติ อวสวตฺตนฏฺเฐน  (ปฏิสํ.อ.๑/๖๘)

   แปลว่า: " ข้อความว่า ' ธรรมทั้งปวง ' ตรัสรวมแม้ทั้งนิพพานเข้าด้วย ชื่อว่าเป็นอนัตตา โดยความหมายว่า ไม่เป็นไปในอำนาจ "พระพุทธเจ้าตรัสว่าพระพุทธศาสนาไม่ยอมรับการถืออัตตาไม่ว่าอย่างใดๆ

   ลัทธิศาสนาทั่วไปล้วนสอนให้ยึดถืออัตตาในลักษณะต่างๆ ตั้งแต่หยาบไปจนละเอียด บางลัทธิก็ยึดเรื่องอัตตา หรืออาตมันเป็นหลัการสำคัญ พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาเดียวที่สอนหลักอนัตตา พระพุทธเจ้าทรงสอน

  ให้ละการยึดถืออัตตา โดยประการทั้งปวง เมื่อละสิ่งที่เคยยึดมั่นอย่างใดอย่าง

หนึ่งเป็นอัตตาแล้ว ก็ไม่สอนให้ยึด อะไรอื่นเป็นอัตตาหรือยึดถืออัตตาอื่นอย่างหนึ่งอย่างใดต่อไปอีก

   มีพุทธพจน์แห่งหนึ่งตรัสแสดงหลักการเกี่ยวกับอัตตาไว้เพื่อให้ชาวพุทธชัดเจนในธรรมของตนว่า

   "ดูก่อนเสนิยะ ศาสดา๓ประเภทนี้ มีปรากฏอยู่ในโลก กล่าวคือ

   ศาสดาบางคนในโลกนี้ บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน และในเบื้องหน้า

   ศาสดาบางคนในโลกนี้ บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ เฉพาะในปัจจุบัน ไม่บัญญัติเช่นนั้นในเบื้องหน้า

   ศาสดาบางคนในโลกนี้ ไม่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า

   ในศาสดา๓จำพวกนั้น ศาสดาที่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาผู้เป็นสัสตวาท

   ศาสดาที่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ เฉพาะในปัจจุบัน ไม่บัญญัติเช่นนั้นในเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาผู้เป็นอุจเฉทวาท

   ศาสดาที่ไม่บัญญัติอัตตาโดยความเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบัน ทั้งในเบื้องหน้า นี้เรียกว่า ศาสดาผู้สัมมาสัมพุทธะ"

  (อภิ.ก. ๓๗/๑๘๘/๘๒ และดู อภิ.ปุ. ๓๖/๑๐๓/๑๗๙)

   ** อรรถกถาอธิบายทิฏฐิของศาสดาประเภทสัสสตวาท ซึ่งเป็นมิจฉาทิฏฐิ ( ความเห็นผิดจากสภาวะความเป็นจริง )ว่า อตฺตานํ สจฺจโต เถตโต

  ปญฺญเปตีติ อตฺตา นาเมโก อตฺถิ นิจฺโจ ธุโว สสฺสโตติ ภูตโต ถิรโต ปญฺญเปติ

  แปลว่า : " ข้อความว่า บัญญัตติอัตตา โดยเป็นของจริง โดยความเป็นของแท้ หมายความว่า บัญญัติ โดยความเป็นของจริง โดยเป็นของมั่นคงว่ามีภาวะอย่างหนึ่งอันเป็นอัตตา ซึ่งเที่ยง ( นิจจะ ) คงที่ ( ธุวะ ) ยั่งยืน ( สัสสตะ )

หนังสือ "นิพพาน อนัตตา" ของพระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต ) หน้า ๔๒-๔๘

   หนทางสุดท้ายที่ผู้สอนนิพพานเป็นอัตตาจะนำมาใช้ ก็คือ การอ้างว่าตนรู้อย่างนี้จากผลการ ปฏิบัติ ตนเองได้ปฏิบัติ แต่ผู้อื่นไม่ได้ปฏิบัติ

   การพิจารณาเรื่องใดก็ต้องให้วิธีการตรงกับเรื่องที่พิจารณานั้น เรื่องที่กำลังพิจารณาในที่นี้ไม่เกี่ยวกับการปฏิบัติและไม่ใช่เรื่องความคิดเห็นด้วยซ้ำ แต่เป็นเรื่องของข้อเท็จจริงว่า ข้อความใน คัมภีร์ว่าอย่างไร เหมือนกับจะพิสูจน์ว่าใครพูดจากล่าวถ้อยคำไว้อย่างไรก็ต้องไปหาหลักฐานคือบันทึกถ้อยคำที่เขาพูดหรือเขาเขียนไว้มาดูกัน ไม่ใช่มาอ้างว่าตัวไปปฏิบัติการอะไรรู้มา เมื่อตรวจสอบหลักฐาน

  เรื่องนี้ในพระไตรปิฎกและอรรถกถาว่าท่านว่าไว้อย่างไร ก็ต้องไปเอาคัมภีร์เหล่านั้นมาเปิดดู ถึงจะไปนั่งเข้า สมาธิทำภาวนาอย่างไร

  ถ้าไม่ไปเปิดคัมภีร์ดูก็ไม่มีทางสำเร็จ และเมื่อยกข้อความในคัมภีร์มาอ้างแล้ว ถ้า มีการพูดเสริมเติมอะไร

  ผู้ที่ได้ศึกษาดีแล้วก็จะแยกได้ว่า ส่วนไหนเป็นของคัมภีร์ ส่วนไหนเป็นของผู้แสดง ความคิดเห็นพูดขยายออกไป

   ถ้าไปอ้างว่าตัวเองปฏิบัติ ผู้อื่นไม่ปฏิบัติ ก็กลายเป็นเปิดประเด็นใหม่ ผู้ปฏิบัติที่อ้างว่าตนเห็นจาก การปฏิบัติว่านิพพานเป็นอัตตา

  ก็คงจะต้องไปเถียงกับผู้ปฏิบัติอีกฝ่ายหนึ่ง ที่กล่าวว่าเขาก็เห็นจากการ ปฏิบัติว่านิพพานเป็นอนัตตา แต่ว่าให้ถูกต้องแล้ว

  ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงย่อมจะไม่สับสนในเรื่องนี้ จะแยกได้ว่า ส่วนใดเป็นเรื่องของหลักฐานทางเอกสารส่วนใดป็นเรื่องของผลจากการปฏิบัติ

   และตรงนี้อีกเช่นกันคือจุดที่อาตมาได้บอกไว้แล้วว่า เพื่อให้เกิดความตรงไปตรงมา และเป็นการใช้เสรีภาพทางปัญญาที่พระพุทธศาสนาเปิดโอกาสอยู่แล้ว ถ้าความรู้จากผลการปฏิบัติของท่านไม่ตรงกับที่พระไตรปิฎกและอรรถกถาว่าไว้ ก็ควรเถียงกับพระไตรปิฎกและอรรถกถานั้นอย่างตรงไปตรงมาจะดีกว่า

   การแสดงหลักธรรมสำคัญให้ผิดเพี้ยนไปด้วยวิธีบิดเบือนอำพรางหลักฐานนี่สิ เป็นการทำลายพระพุทธศาสนาอย่างร้ายแรง ยิ่งกว่าพฤติการณ์ของบุคคลบางกลุ่มบางคณะที่มัวหมองวุ่นวายเสียอีก

  เพราะเป็นการทำลายถึงรากเหง้าของพระพุทธศาสนา หรือเป็นการลบล้างพระพุทธศาสนาออกไปเลย  เรียกว่าเป็นการทำพระธรรมวินัยให้วิปริต ซึ่งร้ายแรงกว่าการประพฤติวิปริตจากพระธรรมวินัย ที่เป็นเพียงการทำสกปรกเปรอะเปื้อนแก่พระศาสนา ซึ่งเราสามารถชำระล้างออกไปได้

   นอกจากนั้นประเด็นการอ้างผลจากการปฏิบัติ ไม่ควรจะยกมาพูดในกรณีนี้เลย เพราะปัญหา ในหมู่คณะของตนเองว่าที่ปฏิบัติอยู่นั้น ตรงตามคำสอนและความหมายของธรรมกายอย่างที่หลวงพ่อ สดท่านประสงค์หรือไม่ ก็ยังไม่ยุติ

  ไม่ต้องพูดถึงปัญหาที่ว่าการปฏิบัตินั้นตรงตามพุทธประสงค์หรือไม่

   แท้จริง การปฏิบัติต่างๆ ทั้งหลายนั่นเสียอีกที่จะต้องมีวิธีตรวจสอบว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้อง หรือไม่ สำหรับในกรณีนี้ก็คือการตรวจสอบว่าเป็นการปฏิบัติที่ถูกต้องในพระพุทธศาสนาหรือไม่

   เมื่อมีการปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งที่น่าสงสัยว่า ถูกต้องตามหลักพระพุทธศาสนาหรือไม่ หรือเป็นการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาหรือไม่ ก็ตาม หรือว่ามีการปฏิบัติต่างกันของต่างบุคคลต่างกลุ่ม จะต้องวินิจฉัยว่า การปฏิบัติของใครหรือของกลุ่มไหนถูกต้อง อยู่ในพระพุทธศาสนา ก็ตาม ผู้ที่ตัดสินชี้ขาดก็คือ

  พระพุทธเจ้าแม้แต่ผลของการปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน เมื่อหลายคนปฏิบัติกันไปแล้ว ได้พบประสบเห็นหรือหยั่งรู้ อะไร อาจจะเป็นผลที่ถูกต้อง หรือเป็นผลที่ผิดพลาดเกิดจากความหลงหรือเข้าใจผิดของตน แม้แต่จะเป็นผลที่ถูกต้อง ก็มีหลายชั้นหลายระดับ เมื่อเป็นการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาผู้ที่จะตัดสินชี้ขาดว่าเป็นผลที่ถูกต้องหรือผิดพลาด และเป็นผลในขั้นไหนระดับไหน ก็คือพระพุทธเจ้า

   เมื่อพระพุทธเจ้ายังทรงพระชนม์อยู่ ก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว จะตัดสิน ได้อย่างไร ใครจะตัดสิน ก็ตอบได้ว่า ต้องตัดสินด้วยคำสอนหรือสิ่งที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ คำสอนหรือคำตรัสของพระพุทธเจ้านั้นจะหาได้ที่ไหน บันทึกไว้ที่ใด ตอบได้ว่าอยู่ในพระไตรปิฎก เพราะพระไตรปิฎกเป็นที่บรรจุคำสอนของพระพุทธเจ้า คำสอน หรือคำตรัสของพระพุทธเจ้าเท่าที่เก็บรวบรวมไว้ได้มีอยู่ในพระไตรปิฎก ท่านรักษากันไว้ในพระไตรปิฎก

   เมื่อพระพุทธเจ้าจะปรินิพพาน พระองค์ไม่ได้ทรงแต่งตั้งใครเป็นพระศาสดาแทนพระองค์จึงไม่มีบุคคลใดเป็นผู้ตัดสินชี้ขาดคำสอน การปฏิบัติ และผลการปฏิบัติในพระพุทธศาสนาแทนพระองค์ แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า

  ธรรมและวินัย คือคำสั่งสอนที่พระองค์ได้ทรงแสดงแล้ว และบัญญัติไว้แล้วแก่

  พระสาวกทั้งหลาย จะเป็นพระศาสดา ของชาวพุทธในเมื่อ พระองค์ล่วงลับไปแล้ว

ต้องย้ำว่า ธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้ ไม่ใช่ธรรมและวินัยที่ใคร ก็ตามจะมาอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น จากการปฏิบัติของตน หรือจากญาณหยั่งรู้ของตน เพราะธรรม หรือวินัยที่บุคคลนั้นเห็น (ถ้าไม่ตรงกับธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติ ) ก็เป็นธรรมหรือวินัยของผู้นั้นไม่ใช่ธรรมหรือวินัยของพระพุทธเจ้า

   ธรรมและวินัยที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงและบัญญัติไว้เท่าที่เก็บรวบรวมมาได้ มีอยู่ในพระไตรปิฎก คือ พุทธพจน์ใน พระไตรปิฎกนั้น รวมมาได้และรักษาไว้ได้เท่าไร ก็มีเท่านั้น พระพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกเป็นองค์แทนของพระพุทธเจ้า ที่จะตัดสินคำสอน การปฏิบัติ และผลการปฏิบัติในพระพุทธศาสนา จึงมีความสำคัญสูงสุดและเราก็มีพุทธพจน์ที่แสดง ธรรมและวินัย ของพระพุทธองค์อยู่เท่านั้นกับที่ท่านนำจากพระไตรปิฎกไปอ้างอิงไว้ในคัมภีร์อรรถกถาเป็นต้น จะหาที่อื่นไม่ได้แล้ว เพราะฉะนั้นพระอรหันต์สาวกและพระเถราจารย์ตลอดมาทุกรุ่นจึงถือเป็นหน้าที่สำคัญสูงสุดที่จะรักษาพระไตรปิฎกไว้ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ไว้อย่างดีที่สุดเท่าที่ท่านจะทำได้ เมื่อใดพุทธพจน์ในพระไตรปิฎกหมดไป ก็ต้องยอบรับความจริงว่าเมื่อนั้นมาตราฐานของพุทธศาสนาได้หมดสิ้นไปแล้ว

   พระไตรปิฎกบาลีของพระพุทธศาสนาเถรวาท เป็นที่ยอมรับนับถือในวงการพุทธศาสนาทุกฝ่ายทั่วทั้งหมดว่า เป็น คัมภีร์บรรจุพุทธพจน์ที่เก่าแก่ดั้งเดิมและมั่นคงยืนนานที่สุดเท่าที่มีอยู่ ดังได้พูดมาข้างต้นแล้ว นอกจากความเก่าแก่ต่อเนื่อง แล้ว ระบบการจัดหมวดหมู่ การลำดับเนื้อหา วิธีการทางภาษา เช่น คำชุด ข้อความซ้ำๆ และการบรรจุพระสูตรและเนื้อ ความที่เหมือนกันให้กระจายอยู่หลายแห่งหลายเล่ม โดยอยู่ในความรับผิดชอบของผู้ทรงจำต่างกลุ่มกันอย่างท้าทายการตรวจสอบเป็นต้น วิธีการเหล่านี้ซึ่งมีรายละเอียดมากไม่อาจบรรยายไว้ในที่นี้ เป็นทั้งเครื่องแสดงความตั้งใจจริงของ พระเถระในอดีตที่จะรักษาความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของพุทธพจน์และเป็นเครื่องเสริมสร้างความมั่นใจว่า

  คัมภีร์ได้รับการนำสืบกันมาอย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้จริงอยู่ ไม่ว่าจะรักษาไว้ดีอย่างไร เนื้อหาที่มากมาย และกาลเวลาที่ยาวนานเป็นพันๆ ปี ย่อมต้องมีช่องให้เกิด ความตกหล่นคลาดเคลื่อนขาดเกินไปบ้าง แต่จากเหตุผลที่ว่ามาแล้ว ก็สบายใจได้ว่าความบกพร่องเหล่านั้นจะมีอัตราส่วนน้อยยิ่งและที่ปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ศึกษาก็เห็นชัดว่า หลักการใหญ่ ถ้อยความสำคัญๆ

  และเนื้อหาส่วนมากอยู่ในสภาพ ที่มั่นใจได้

   คำในจดหมายถึง บก. "สมาธิ" ฉบับที่ ๗๑ ที่ว่า " พระไตรปิฎกก็คือตำราเก่าแก่เล่มหนึ่งที่มีอายุยืนยาวนานมาถึง ๒๕00 ปี จึงย่อมมีการต่อเติมเสริมแต่งกันมา และแปลผิดบ้างถูกบ้าง " ข้อความนี้ อ่านแล้วน่าห่วงมากถ้าชาวพุทธมากคนมีความเข้าใจอย่างนี้ ก็จะมีท่าทีที่ผิดต่อพระพุทธศาสนา เป็นความเสื่อมแก่ทั้งตนเอง

  และต่อพระศาสนาโดยส่วนรวม ท่านที่พูดอย่างนี้เป็นผู้ทำร้ายพระศาสนา แม้ถ้ามิใช่โดยตั้งใจ ก็ทำไปโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ตนกำลังพูดถึง อีกทั้งท่าทีของการพูดก็มีลักษณะของการลบหลู่ ไม่เห็นความสำคัญ จะพาผู้อื่นไขว้เขวไปด้วย

   พระไตรปิฎกไม่ใช่เป็นเพียงตำราเก่าแก่ ที่อยู่มากับเวลาแล้วเก่าไปตามกาลเท่านั้น แต่เป็นหลักฐานสมัยโบราณที่มี ระบบการรักษาอย่างดีที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยรู้จัก พระไตรปิฎกมิใช่มีเพียงเล่มหนึ่ง แต่เป็นประมวลแห่งหลักฐานที่มีปริมาณ มากมาย การต่อเติมเสริมแต่งทำได้ยากยิ่งนัก และเพื่อป้องกันการแปลผิดแปลถูกก็ได้รักษาไว้ในภาษาเก่า ให้อยู่ในรูปลักษณ์ดั้งเดิมที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งแม้ถ้าจะมีการแปลผิดไปบ้างก็จะมีต้นฉบับเดิมไว้ตรวจสอบได้ตลอดไป และไม่ให้คำแปลผิดไปนั้นไปกระทบต่อความบริสุทธิ์บริบูรณ์ของต้นฉบับเดิม

   พุทธพจน์ในกาลามสูตรที่ว่า " อย่าปลงใจเชื่อ เพราะอ้างตำรา " มีไว้สำหรับการใช้อ้างของบุคคลที่ตั้งใจศึกษาหาความรู้จริงซึ่งเป็นผู้มีความเคารพ และมองเห็นความสำคัญของคัมภีร์หรือตำรา

  อย่างถูกต้องเช่นเดียวกับพุทธพจน์อีกข้อหนึ่งที่ว่า " อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านสมณะนี้เป็นครู ของเรา " ก็มีไว้สำหรับการใช้อ้างของบุคคลที่ใฝ่ธรรม แสวงปัญญา ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จักเคารพ และมองเห็น ความสำคัญของครูอาจารย์

  ไม่ใช่มีไว้สำหรับการใช้อ้างของผู้ที่ไม่มีความรับผิดชอบ ขาดความเคารพลบหลู่ คุณค่าและความสำคัญของครูอาจารย์และคัมภีร์ความรู้ความเข้าใจเบื้องต้น หรือแม้แต่ความเชื่อ เกี่ยวกับหลักการพื้นฐานของพระพุทธศาสนาเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับการเป็นพุทธศาสนิกชน แม้ว่าจะยังไม่สามารถเข้าถึงความรู้แจ้งประจักษ์ใน เรื่องนั้น อย่างน้อยก็เป็นหลักให้เดินอยู่ในแนวทางของพระพุทธศาสนา ไม่ถูกดึงเขวออกไปนอกทางเสียก่อนที่จะมีโอกาสเข้าถึงความจริงนั้นพุทธศาสนิกชนจึงต้องเชื่อกรรม เชื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตาแม้จะยังไม่รู้แจ้งประจักษ์สภาวธรรมจากการปฏิบัติ อย่างน้อยก็ไม่หลงออกไปเชื่อลัทธิหวังอำนาจดล บันดาล หรือลัทธินอนคอยโชค ปัจจุบันนี้การที่มีสภาพไขว้เขวต่างๆ เกิดขึ้นในหมู่ผู้ที่เรียกว่าเป็นพุทธศาสนิกชนอย่างน่าเป็นห่วง ก็เพราะเราไม่ให้ความสำคัญที่จะเน้นกันให้พุทธศาสนิกชนมีความเชื่อหรือยึดถือในหลักการพื้นฐานที่ถูกต้องเหล่านี้

   ในพระพุทธศาสนาท่านสอนไว้ ให้ผู้เชี่ยวชาญธรรม กับผู้ชำนาญฌาน มองเห็นคุณค่าของกันและกัน เพราะต่างก็จะเป็นส่วนเสริมกำลังของพระศาสนา จึงไม่ควรจะนำคุณความดีต่างด้านมาข่มขี่กระทบกระทั่งกัน เราเพียงแค่กระตุ้นเตือนกันให้ไม่ประมาท ให้ผู้รู้ปริยัติก็เอาใจใส่ที่จะปฏิบัติด้วย

  และผู้ที่ปฏิบัติก็ให้เรียนรู้ปริยัติให้พอแก่การด้วย เพื่อประโยชน์จะได้สมบูรณ์ การกระทำอย่างนี้ เป็นกิจที่สมควรโดยธรรม

   จุดสำคัญก็คือ เมื่อมีความผิดพลาดจากหลักพระศาสนาเกิดขึ้น จะเป็นผู้รู้ปริยัติแต่เข้าใจและเผยแพร่ความรู้ผิดๆ ไปก็ตาม จะเป็นผู้ปฏิบัติแต่หลงทางเสียหลักก็ตาม ผู้ที่รู้เข้าใจมองเห็นก็ควรเอาใจใส่ที่จะช่วยกันชี้แจงบอกกล่าว เพื่อให้ เกิดความถูกต้องอันจะเป็นประโยชน์ทั้งแก่ผู้ที่รู้หรือปฏิบัติผิดพลาดไปนั้น แก่พระศาสนา และแก่มหาชนการเขียนชี้แจงอธิบายต่างๆ ที่มุ่งตรงต่อวัตถุประสงค์ คือ มุ่งอรรถมุ่งธรรมอย่างนี้ ก็จะไม่มีการกล่าวร้ายกันไม่มีการยึดถือเป็นฝักฝ่าย เป็นการบำเพ็ญประโยชน์แก่พระศาสนา และบรรยากาศแห่งความใฝ่รู้ใฝ่ธรรมและแสวงหาปัญญาก็จะเกิดขึ้น

   เราควรจะเห็นแก่พระศาสนาส่วนรวม เห็นแก่ธรรม ถือธรรมเป็นใหญ่ ถ้าลัทธิที่ตนยึด ถือหรือทิฏฐิของตนมีส่วนใดผิดพลาดไปจากหลักใหญ่ของพระศาสนา ก็ควรยอมรับในส่วนนั้น จะได้ปรับปรุงเข้าให้ถูกต้อง ซึ่งจะมีแต่ความดีงาม และทำให้เกิดความสมบูรณ์ ไม่ควรสละ พระศาสนา หรือลบล้างธรรม

  เพื่อจะรักษาทิฏฐิหรือลัทธิของตน พุทธศาสนิกชนทุกคนควรจะ ตระหนักถึงความสำคัญในการรักษาหลักการของพระพุทธศาสนา และเอาใจใส่รับผิดชอบใน การทำหน้าที่รักษาสืบต่อพระพุทธศาสนา อย่าเห็นแก่บุคคลมากกว่าเห็นแก่ธรรม หรือยอมสละธรรมเพราะเห็นแก่บุคคล

   ความเป็น อนัตตา นี้ เป็นคำสอนสำคัญยิ่งหลักหนึ่ง ในบรรดาหลักธรรมสำคัญที่เป็นข้อพิเศษ ของพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้พระพุทธศาสนาเป็นพระพุทธศาสนา อันแตกต่างหรือแยกออกได้จากศาสนาอื่น การเข้าใจถูกต้องหรือถือผิดต่อหลักอนัตตานี้ มีความสำคัญถึงขั้นเป็นความเป็นความตายของพระพุทธศาสนาเลยทีเดียว ถ้าเราถือผิดหลงผิดในเรื่องนี้ ก็เท่ากับเป็นการช่วยทำลายพระพุทธศาสนาเพราะฉะนั้นจึงควรทำใจให้บริสุทธิ์เป็นกลาง ตัดความรู้สึกที่จะกระทบกระทั่ง ตัดความเห็นแก่ท่านผู้นั้นผู้นี้และแม้แต่ความยึดถือต่างๆ ที่เนื่องด้วยตนและของตนออกเสีย มุ่งแต่อรรถมุ่งแต่ธรรม คิดแต่จะเข้าให้ถึง

  ความจริง เอาธรรมเอาความเป็นจริงเป็นที่หมาย สละละปล่อยวางสิ่งขวางใจได้ เพื่อเห็นแก่ความบริสุทธิ์แห่งพระสัทธรรมและความดำรงอยู่ของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง แม้แต่ผู้ที่ปฏิบัติดี หรือปฏิบัติก้าวหน้าไปแล้วในระหว่าง ก็อาจจะมีความเข้าใจผิดบางอย่างเกิดขึ้นได้บ้าง เมื่อรู้เห็นเข้าใจจุดที่ผิดพลาดนั้นแล้ว แก้ไขหรือปรับให้สอดคล้องตามธรรม ความดีที่มีอยู่แล้ว ก็จะยิ่งงอกงามสมบูรณ์เป็นผู้ที่ท่านยกย่องสรรเสริญในพระพุทธศาสนา

คำสำคัญ (Tags): #นิพพาน
หมายเลขบันทึก: 512382เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 17:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 17 ธันวาคม 2012 17:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 

   ๓. ประเด็นเกี่ยวกับผลจากการปฏิบัติ

   ความรู้ความเห็นที่เป็นผลจากการปฏิบัติของบุคคลใดสำนักใด ก็เป็นมติของบุคคลหรือสำนักนั้นจะอ้างว่าเป็นมติของพระพุทธศาสนาไม่ได้ จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบด้วยมาตราฐานคือคำสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งปัจจุบันได้แก่พุทธพจน์เท่าที่มีอยู่หรือคงเหลืออยู่ในพระไตรปิฎกบาลี

   ปรากฏบ่อยครั้งว่า หลายบุคคลหลายสำนักได้ความรู้ความเห็นที่เป็นผลจากการปฏิบัติของตนๆ แตกต่างกันและขัดแย้งกันและต่างก็ว่าตนเป็นพระศาสนา มาตราฐานที่จะตัดสินว่าของใครถูก ของใครผิด ก็คือ พุทธพจน์เท่าที่มีอยู่หรือคงเหลืออยู่ในพระไตรปิฎกบาลีนั้น

   ถ้ามีอันเป็นไปว่า พุทธพจน์ที่แท้จริงไม่มีเหลืออยู่แล้วในพระไตรปิฎก และพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์ ที่ไม่อาจเชื่อถือได้

  ก็ต้องยอบรับความจริงว่า มาตราฐานที่จะวัดความเป็นพุทธศาสนาได้สูญสิ้นไปแล้ว

  ในกรณีเช่นนี้ ความรู้ความเห็นที่เป็นผลจากการปฏิบัติของบุคคลหรือสำนักทั้งหลาย ก็จะมีฐานะเช่นเดียว กับผลการปฏิบัติของโยคี ฤาษี ดาบส เป็นต้น ที่มีมาตั้งแต่ก่อนพุทธกาล ซึ่งต่างก็ตั้งใจปฏิบัติและต่างก็ อ้างว่าได้รับผลจากการปฏิบัติของตนๆ ด้วยกันทั้งนั้นแต่ก็ไม่อาจพูดได้ว่ามติของตนเป็นพุทธศาสนา

   อย่างไรก็ตาม เรามีเหตุผลที่มำให้มั่นใจได้ว่า คำสอนส่วนใหญ่ในพระไตรปิฎกยังดำรงรักษาพุทธ พจน์ไว้ได้มากมายอย่างน้อยก็เพียงพอที่จะเป็นมาตราฐานวัดความเป็นพุทธศาสนาได้ เช่นหลักเกณฑ์ที่ว่า ไม่ว่าผู้ใดจะปฏิบัติแล้วได้ผลมีฤทธิ์เดชอภินิหาร หรือมองเห็นสวรรค์ เห็นเทวดา เห็นพระพรหม หรือ สิ่งวิเศษอันใด แต่ถ้าการปฏิบัตินั้นไม่ทำให้โลภะ โทสะโมหะ หมดสิ้น หรือเบาบางไปจากจิตใจของผู้ปฏิบัติ ก็วินิจฉัยได้ว่า อันนั้นไม่ใช่ผลที่ประสงค์ในพระพุทธศาสนาหนังสือ "นิพพาน อนัตตา" ของพระธรรมปิฎก ( ป.อ. ปยุตฺโต ) หน้า ๑๑๕-๑๒๑

   ค. ถ้านิพพานเป็นอนัตตา ทำไมจึงตรัสแต่เรื่องขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา

   บางท่านสงสัยว่า ในพระไตรปิฎกทั่วไป เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสถึงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็เห็น แต่ตรัสเพียงแค่ขันธ์ ๕หรือสังขาร เป็นอนัตตา จบแล้วก็ไม่ตรัสต่อไปอีกว่านิพพานเป็นอนัตตา แสดง ว่านิพพานต้องเป็นอัตตา แต่มองอีกทีก็สงสัยว่าถ้านิพพานเป็นอัตตา ทำไมเมื่อตรัสว่า ขันธ์ ๕ หรือ สังขารเป็นอนัตตาเสร็จแล้ว เมื่อทรงปฏิเสธสิ่งที่ไม่ใช่อัตตาเสร็จแล้ว

  ทำไมไม่ตรัสต่อไปว่านิพพานเป็นอัตตา เหตุผลเป็นอย่างไรกันแน่

   ขอประมวลเหตุผลโดยย่อดังนี้

   - คำว่า ตน ตัวตน หรือ อัตตานี้ ในพระพุทธศาสนา ถือเป็นคำระดับสมมติ ที่มนุษย์บัญญัติขึ้น มาจากความยึดถือเช่นเดียวกับคำสามัญอื่นๆ ทั้งหลาย เช่น สัตว์ บุคคล มนุษย์ สตรี เรา เขา แม้ พระพุทธองค์ก็ทรงใช้ไปตามสมมติของชาวโลกนั้นสำหรับเป็นเครื่องสื่อสารกัน แต่ทรงใช้ด้วยความรู้ เท่าทันความจริงไม่ยึดติดถือมั่น ไม่หลงสมมตินั้น

   แต่เมื่อพูดถึงความจริงแท้โดยปรมัตถ์ ถ้อยคำเหล่านี้ท่านไม่ใช้ ท่านจึงไม่พูดถึงคำว่า สัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เรา เขา จะพูดถึงสภาวธรรมอันมีอยู่ตามธรรมดาของธรรมชาติ

   - การที่มนุษย์จะบัญญัติถ้อยคำอะไรขึ้นมาสมมตินั้นก็บัญญัติจากสิ่งที่เขายึดถือ ซึ่งก็คือสังขารทั้ง หลายหรือขันธ์ ๕ นั่นเอง

   - มองในทางกลับกัน สิ่งที่มนุษย์จะยึดถือได้ ก็มีเพียงสังขารหรือขันธ์ ๕ นั้น เท่านั้น และมนุษย์ที่จะยึดถืออย่างนั้นก็คือมนุษย์ปุถุชน หรือคนที่ยังไม่หมดกิเลส แม้แต่สิ่งหรือสภาวะที่ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ไม่ใช่

  สังขาร เมื่ออยู่ในความคิดนึกของมนุษย์เหล่านี้ ก็เป็นเพียงภาพในความคิดปรุงแต่ง จึงเป็นสังขารหรือ องค์ประกอบในขันธ์ ๕อยู่นั่นเอง

   - ในการปฏิบัติธรรม เพื่อแก้ไขความยึดถือนั้น ก็คือทำให้เกิดปัญญารู้เข้าใจความจริง เมื่อเขารู้ เท่าทันความจริง รู้ทันสมมติแล้วก็เลิกเข้าใจผิด เลิกยึดถือสังขารหรือขันธ์ ๕ เป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เรา เขา และรู้ไปตามสภาวธรรม เรื่อง อัตตา ตัวตน สัตว์ บุคคล ก็จบลงไปกับความยึดติดถือมั่นหรือ

  หลงผิด ที่หมดไปนั่นเอง สิ่งเหล่านี้ก็ไม่มีเหลืออยู่อีก ( ในความยึดถือ ) นอกจากใช้ในการสื่อสารด้วย ความรู้เท่าทันตามโอกาสเพราะฉะนั้น

   - สำหรับผู้ปฏิบัติเพื่อเลิกละความยึดถือ ก็จึงเจริญปัญญาให้รู้เท่าทันตามเป็นจริงว่า สังขารหรือ ขันธ์ ๕ ไม่ใช่ และไม่อาจยึดเอาเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เรา เขา ได้ และคำสมมติเหล่านี้ก็เป็นสิ่งที่ไม่มีจริง ดังที่ผู้บำเพ็ญ

  วิปัสสนาก็พิจารณาสังขารถึงความที่สังขารหรือขันธ์ ๕ เป็น อนิจจัง (ไม่เที่ยงต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา) ทุกขัง (เป็นทุกขคือไม่สามารถทนอยู่ได้ตลอดกาลต้องเสื่อมสลายหายไปเป็นธรรมดา) อนัตตา (ไม่ใช่ตัวตนอะไรของเราดังนั้นถึงไปบังคับบัญชาอะไรไม่ได้เป็นเพียงสภาวธรรมตามธรรมชาติเท่านั้น) ( จึงมีวิปัสสนาวิธี สำหรับปฏิบัติต่อสังขารหรือขันธ์ ๕ นั้น )

   - ส่วนผู้รู้แจ้งถึงธรรมเท่าทันต่อสภาวะแล้ว ก็รู้เท่าทันว่าสังขาร หรือขันธ์ ๕นั้นไม่ใช่สัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เรา เขา ฯลฯ เมื่อรู้แจ้งความจริงแล้ว ก็ละเลิกข้ามพ้นเลยความยึดถือนั้นไป เรื่อง สัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เราเขา ก็หมดไปพร้อมกับความยึดถือในสังขาร หรือขันธ์ ๕ ไม่มีที่จะให้หลงยึด เป็นความจริงอีกต่อไปจึงไม่มีและไม่พูดถึงสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เรา เขา พ้นเลยจากเรื่องของขันธ์ ๕ หรือสังขารทั้งหลายต่อไป

   สัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เรา เขา มีอยู่เพียงในความยึดถือโดยสังขารหรือขันธ์ ๕ เป็นฐานแห่ง การยึดถือนั้นเป็นภาพซ้อนขึ้นมาบนสภาวธรรม เมื่อรู้แจ้งความจริงของสังขารหรือขันธ์ ๕ ตามสภาวะ

  แล้ว ภาพซ้อนนั้นก็หายไป ความจริงประจักษ์ เรื่องก็จบ ไม่มีความยึดถือที่จะไปเกาะจับเอาอะไรขึ้นมา เป็นสัตว์ บุคคล อัตตา ตัวตน เรา เขา อีกต่อไป

   จึงไม่ต้องพูดถึงสภาวะที่มีอยู่เหนือกว่านั้นไปว่าเป็นอนัตตา เพราะไม่เป็นอัตตาอยู่แล้ว และไม่มีความหลงผิดอะไรที่จะมายึดให้เป็น จึงไม่ต้องบอกว่านิพพานเป็นอนัตตา เพราะไม่ได้เป็นอัตตา และไม่มีใครจะมายึดว่าเป็นอัตตาอยู่แล้วความที่ว่ามานี้จะเห็นได้ชัดเจน กล่าวคือ เมื่อพระพุทธเจ้าทรงสอนให้เลิกยึดขันธ์ ๕ เป็นอนัตตา หรือให้รู้ความจริงว่าขันธ์ ๕ทั้งหมดเป็นอนัตตาแล้ว คำสอนของพระองค์ส่วนนี้ก็ไปต่อรับกันกับพระพุทธพจน์ที่ตรัสรวบยอดไว้ ตัดเรื่องอัตตาออกไปเด็ดขาดหมดสิ้น ดังหลักฐานว่า " ศาสดาที่ไม่บัญญัติอัตตาโดย ความเป็นของจริงโดยความเป็นของแท้ ทั้งในปัจจุบันและเบื้องหน้า นี้เรียกว่าศาสดาผู้สัมมาสัมพุทธะ " (อภิ.ก.๓๗/๑๘๘/๘๒)

   ง. เมื่อมีสภาวะนิพพาน ก็ต้องมีผู้ทรงสภาวะนั้น

   มีการถือความเห็นตามหัวข้อที่นำมาตั้งไว้นี้ แต่หลักการที่แท้ของพระพุทธศาสนาสอนไว้ตรงข้าม กับความเห็นนี้ คือ

  ท่านสอนไว้ชัดเจนว่า สภาวะนิพพานมีอยู่ แต่ผู้ทรงสภาวะนิพพานไม่มี หลักการนี้ได้สืบทอดมาอย่างมั่นคงในวงการศึกษาปฏิบัติพระพุทธศาสนา ดังมีคำกล่าวยืนยันปรากฏอยู่ในคัมภีร์ต่างๆ ที่ทรงจำและจารึกไว้ทั่วไปว่า

   " แท้จริง โดยปรมัตถ์ สัจจะทั้งหมดทุกข้อทีเดียว พึงทราบว่า เป็นสภาพสูญ ( ว่าง ) เพราะไม่มี ผู้เสวย ( ผู้ครอบครอง ) ผู้กระทำ ผู้นิพพาน และผู้ดำเนิน ; เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า

   " ทุกข์มีอยู่แท้แต่ไม่มีผู้ที่ทุกข์

   การกระทำมีอยู่ แต่ผู้กระทำไม่มี

   นิพพานมีอยู่แต่ผู้นิพพานหามีไม่

  มรรคมีอยู่แต่ผู้ดำเนินไม่มี" (ปฏิสํ.อ.๑/๒๑๔;๒/๒๒๙;วิภงฺค.อ.๙๕;วิสุทฺธิ.๓/๑0๑)

   จ. กลัวว่า ถ้านิพพานเป็นอนัตตา ทุกอย่างจะสูญสิ้น

   เหตุหนึ่งที่ทำให้บางท่านพยายามอธิบายนิพพานให้เป็นอัตตา ก็เพราะเกรงว่า ถ้านิพพานไม่เป็นอัตตาแล้ว นิพพานก็จะเป็นสิ่งที่ไม่มี เลยจะกลายเป็นความขาดสูญ

   ความเข้าใจอย่างนี้เกิดจากความสับสนในเรื่องสิ่งที่มีอยู่กับอัตตา ( สภาวธรรม กับ อัตตา ) ซึ่งที่จริงเป็นคนละเรื่องกันนิพพานนั้น ท่านประกาศชัดเจนว่ามีอยู่ คือเป็นสภาวธรรมที่เป็นอสังขตะ (ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง) สภาวธรรมนั้นเป็นสิ่งที่มีจริงแต่มีอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่ใช่มีอยู่ในความยึดถือ จึงเกิดเป็นอัตตา ถ้าไม่มีการยึดถือ อัตตาก็ไม่มีเช่นเดียวกับถ้อยคำที่ใช้กันในโลกอีกมากมาย เช่น สัตว์ บุคคล หญิง ชาย เรา เขา ท่าน เธอซึ่งท่านเรียกว่าเป็นคำสมมติอันเกิดจากความยึดถือ เป็นเพียงสมมติสัจจะ ไม่เหมือนอนัตตา ที่เป็นลักษณะ ตามสภาวะใครจะยึดถือหรือไม่ยึดมันก็เป็นอย่างนั้น

   เพราะฉะนั้น ท่านจึงใช้คำว่า อัตตา ในระดับเดียวกับคำว่า สัตว์ บุคคล คน เรา เขา เป็นต้น อันเป็นระดับสมมติจะเอาความจริงในระดับปรมัตถ์กันแล้วก็พูดกันถึงสภาวธรรมเท่านั้น คำว่า สัตว์ บุคคล อัตตา ฯลฯ ก็ถูกปฏิเสธ ไม่มีการยึดถืออีกคนจะยึดหรือไม่ยึดก็ตาม อัตตาจะมีอยู่ในความยึดถือของคนหรือไม่ก็ตาม สภาวธรรมที่เรียกว่า นิพพานก็มีอยู่แต่เพราะความยึดถือจนเกิดมีอัตตา ก็จึงทำให้มองไม่เห็นนิพพานที่มีอยู่ในสภาวธรรมนั้น หมดความยึดถือว่าเป็นอัตตาเมื่อใด

ก็พบสภาวธรรมที่มีอยู่อันเป็นนิพพานเมื่อนั้น

   พระพุทธเจ้าได้ตรัสแสดงไว้ว่า มีลัทธิที่ตรงกันข้ามอยู่คู่หนึ่ง ฝ่ายหนึ่งถือว่าเบื้องหลังภาพของสิ่งต่างๆ ที่มองเห็นเป็นไปทั้งหลายนี้ มีสิ่งหนึ่งเป็นอัตตา ตัวตน ที่จริงแท้เที่ยง ถาวร คงอยู่ตลอดไป แต่อีกฝ่ายหนึ่งถือว่า อะไรๆ

  ก็ไม่มีจริง มีแต่รูปร่างอย่างที่มองเห็นปรากฏเป็นไปอยู่ชั่วคราว แล้วก็หมดสิ้น หายไปไม่มีอะไรเหลือพระพุทธศาสนาสอนว่า ลัทธิ ๒ ฝ่ายนี้ เป็นสุดโต่งเลยเถิดไป จึงหลุดพลาดออกจากสัจธรรม ไม่ตรงตามความจริงเป็นมิจฉาทิฏฐิ

   พระพุทธศาสนาสอนว่า สิ่งทั้งหลายมิใช่มีอยู่หรือไม่มี ตามความเห็นหรือความยึดถือของเราแต่ดำรงอยู่หรือเป็นไปอยู่ตามธรรมดาของมัน ไม่เกี่ยวข้องกับใคร ไม่ขึ้นต่อการที่ใครๆ จะยึดถืออย่างไร ใครๆ จะยึดถือครอบครองเป็นเจ้าของสั่งบังคับไม่ได้ ไม่อยู่ในอำนาจของใคร เรียกว่า ไม่ใช่ตัวตน เป็นอนัตตา

   คำสอนนี้แสดงความจริงตามที่มันเป็น จึงเป็นความจริงอย่างเป็นกลาง เรียกว่า มัชเฌนธรรมเทศนา จัดเป็นมัชฌิมาปฏิปทาคือทางสายกลางในแง่หนึ่ง หลักอนัตตาแสดงลักษณะของพระพุทธศาสนา ที่เป็น มัชฌิชมาปฏิปทาอย่างนี้ด้วยหนังสือทั้ง 4 เล่มคือ

  (1) พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปล ของมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

  (2)พระไตรปิฎกฉบับประชาชน ของมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

  (3) พจนานุกรม พุทธศาสนํ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต)

  (4) วิสุทธิมรรคแปล ฉบับมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์

คัดมาบางส่วนจาก พระไตรปิฎก และอรรถกถาแปล ของมหามกุฏราชวิทยาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่มที่ 15 ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค หน้า 150 เรื่อง อัคคัญญสูตร

 

 

อัคคัญญสูตร

  ว่าด้วยบุตรเกิดแต่พระอุระ พระโอษฐ์พระผู้มีพระภาค

  พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนวาเสฏฐะและภารทวาชะ เธอทั้งหลายแล มีชาติเกิดต่างกัน มีชื่อต่างกัน มีโคตรต่างกัน

  ออกจาก เรือนมาบวชเป็นบรรชิต ถูกเขาถามว่า ท่านเป็นพวกไหนดังนี้ พึงตอบ เขาว่า พวกเราเป็นพวกพระสมณะศากยะบุตร

  ดังนี้ ดูก่อนวาเสฏฐะและภารท- วาชะ ก็ผู้ใดแลมีศรัทธาในพระตถาคตตั้งมั่น เกิดแต่มูลราก ตั้งมั่นอย่าง มั่นคง อันสมณพราหมณ์ เทวดา มาร

  พรหม หรือใครๆ ในโลกให้เคลื่อน ย้ายไม่ได้ ควรจะเรียกผู้นั้นว่าเราเป็นบุตรเกิดแต่พระอุระเกิดจากพระโอษฐ์ ของพระผู้มีพระภาค เกิดจาก

  พระธรรม พระธรรมเนรมิตขึ้น เป็น ทายาทของพระธรรมดังนี้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะคำว่า "ธรรมกาย" ก็ดี "พรหมกาย" ก็ดี

  "ธรรมภูต" ก็ดี "พรหมภูต" ก็ดีเป็นชื่อของพระตถาคต

  ........มาดูในอรรถกถาหน้า ที่ 175 ในเล่มเดียวกันนี้...................

  ความจริง พระอริยสาวกนั้นอาศัยพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงเกิดขึ้นในภูมิของ พระอริยะ ฉะนั้น จึงชื่อว่า เป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค และชื่อว่าเป็น โอรสเกิดแต่พระโอษฐ์ เพราะอยู่ในอกแล้วดำรงอยู่ในมรรคในผลด้วยอำนาจแก่การกล่าวธรรมอันออกมาจากพระโอษฐ์ ชื่อว่าเกิดแต่ธรรม เพราะ เกิดจากอริยธรรม และชื่อว่าธรรมอันเนรมิตขึ้น เพราะถูกอริยเนรมิตขึ้น ชื่อว่าธรรมทายาท เพราะควรได้รับมรดกคือ นวโลกุตตรธรรม (โลกุตตรธรรม 9)

  คำว่า ธมฺมกาโย อิติปิ ความว่า เพราะเหตุไร พระ ตถาคตจึงได้รับขนานนามว่า ธรรมกาย เพราะพระตถาคตทรงคิดพระพุทธพจน์คือพระไตรปิฎกด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกแสดงด้วยพระวาจา ด้วยเหตุนั้น พระวรกายของพระผู้มีพระภาคเจ้าจึงจัดเป็นธรรมโดยแท้เพราะ สำเร็จด้วยธรรม

  พระธรรมเป็นกายของพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นดังพรรณนา มานี้ ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงชื่อว่าธรรมกาย

  ชื่อว่าพรหมกายเพราะ มีธรรมเป็นกายนั่นเอง แท้จริง พระธรรมท่านเรียกว่าพรหมเพราะเป็น ของประเสริฐ บทว่า ธมฺมภูโต ได้แก่สภาวธรรม

  ชื่อว่า พรหมภูต เพราะเป็นผู้ที่เกิดจากพระธรรมนั่นเอง

  พจนานุกรมพุทธศานํ ฉบับ ประมวลศัพท์ ของท่าน พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) หน้า 106

  ธรรมกาย : "ผู้มีธรรมเป็นกาย" เป็นพระนามอย่างหนึ่ง ของพระพุทธเจ้า (ตามความในอัคคัญญสูตร แห่ง ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค) หมายความว่าพระองค์ทรงคิดคำสอนด้วยพระหทัยแล้ว ทรงนำออกเผยแพร่ด้วยพระวาจา เป็นเหตุให้พระองค์ก็คือพระธรรมเพราะทรงเป็นแหล่งที่ประมวลหรือประชุมอยู่แห่งพระธรรมอันปรากฎ เปิดเผยออกมาแก่ชาวโลก;

  อนึ่งธรรมกายคือกองธรรมหรือชุมนุม แห่งธรรมนั้น ย่อมเจริญงอกงามเติบขยายได้โดยลำดับจนไพบูลย์

  ในบุคคลผู้เมื่อได้สดับคำสอนของพระองค์ แล้วอบรมตนด้วย ไตรสิกขาเจริญมรรคาให้บรรลุภูมิแห่งอริยชน ดังตัวอย่างดำรัสของ พระมหาปชาบดีโคตมี เมื่อครั้งกราบทูลลาพระพุทธเจ้าเพื่อ ปรินิพพานตามความในคัมภีร์ อปทาน ตอนหนึ่งว่า "ข้าแต่พระสุคตเจ้า

  หม่อมฉันเป็นมารดาของพระองค์, ข้าแต่พระธีรเจ้า.....รูปกาย ของพระองค์นี้ หม่อมฉันได้ทำให้เจริญเติบโต ส่วนธรรมกายอันเอิบสุข ของหม่อมฉัน ก็เป็นสิ่งอันพระองค์ได้ทำให้เจริญเติบโต"; สรุปตามนัย

  อรรถกถา ธรรมกาย คือ โลกุตตรธรรม 9 หรือ อริยสัจ หน้า 261

  โลกุตตรธรรม : ธรรมอันมิใช่วิสัยของโลก,สภาวะพ้นโลก มี 9 ได้แก่ มรรค 4 ผล 4 นิพพาน1

  อริยสัจ : ความจริงอย่างประเสริฐ, ความจริงของพระอริยะ, ความจริงที่ทำให้คนเป็นพระอริยะ มี 4 อย่าง คือทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

  (เรียกเต็มว่า ทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา)

  ------------ ว่าด้วยวิชาในพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎก-------------

   พระอรหันต์ทั่วๆ ไปนี้ยังจำแนกได้เป็น ๒ประเภท คือ ปัญญาวิมุตติ และ เจโตวิมุตติปัญญาวิมุตติ หมายถึงพระอรหันต์ผู้ไม่ได้ฌานเลย กล่าวคือไม่ได้เจริญสมถภาวนาไม่ได้ทำฌาน เป็นแต่เจริญ

  วิปัสสนาภาวนาแต่อย่างเดียวจนบรรลุอรหัตตมัคคอรหัตตผล พระอรหันต์ผู้ที่ไม่ได้ฌานนี้เรียกว่า สุกขวิปัสสก พระอรหันต์ส่วน เจโตวิมุตติ หมายถึงพระอรหันต์ผู้ที่ได้ฌานด้วย ( ผู้ที่ได้ฌานเรียกว่า ฌานลาภีบุคคล ) การได้ฌานก็สามารถได้มาด้วย ๒ประการ คือ

   ก. เป็นผู้เจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน เช่นนี้เรียกว่า ปฏิปทาสิทธิฌาน ได้ฌานด้วยการปฏิบัติ แล้วก็มาเจริญวิปัสสนา ภาวนาตามลำดับ จนบรรลุพระอรหันต์

   ข. เป็นผู้ที่แม้จะไม่ได้เจริญสมถภาวนามาก่อนก็ตาม แต่ว่าเมื่อได้เจริญวิปัสสนาภาวนามาตามลำดับจนบรรลุอรหัตตมัคค อรหัตตผล ด้วยผลแห่งบุญญาธิการแต่ปางก่อน เมื่อบรรลุอรหัตตผล ก็ถึงพร้อมซึ่งฌานด้วยเช่นนี้เรียกว่า มัคคสิทธิฌานได้ฌานด้วยอำนาจแห่งมัคค จนถึงได้อภิญญาด้วยก็มี เช่น พระจุฬปัณถก เมือสำเร็จเป็นพระอรหันต์ก็มีอภิญญา ด้วยคือมีอิทธิฤทธิถึงสำแดงปาฏิหารย์ เป็นพระภิกษุหลายรูปจนเต็มพระเชตวันรวมความว่า พระอรหันต์ประเภทปัญญาวิมุตติ ไมได้ฌานด้วยเรียกว่า สุกขวิปัสสกพระอรหันต์ พระอรหันต์ประเภทเจโตวิมุตตินั้นเป็นผู้ได้ฌานด้วย เรียกว่าพระอรหันตฌานลาภีบุคคล

   พระอรหันต์ผู้เป็นฌานลาภีบุคคลนั้น ได้ฌานจนถึงได้อภิญญาด้วยก็มี ได้ฌานก็จริงแต่ไม่ถึงได้อภิญญาด้วยก็มีฌานลาภีอรหัตตบุคคลนั้นที่ได้ถึงอภิญญาด้วยนั้น บางองค์ก็ได้เพียง อภิญญา ๓ บางองค์ก็ได้ถึง อภิญญา ๖ อภิญญา ๓ หรือบางทีก็เรียกว่า วิชา ๓นั้นได้แก่

  ( ๑ ) ปุพเพนิวาสนุสติญาณ ระลึกชาติได้

  ( ๒ ) ทิพพจักขุญาณ หรือ จุตูปปาตญาณ ตาทิพย์ รู้จุติและปฏิสนธิของสัตว์ทั้งหลาย

  ( ๓ ) อาสวักขยญาณ รู้วิชาที่ทำให้สิ้นกิเลสและอาสวะ เฉพาะอภิญญาข้อ ๓ นี้ จะเป็นสุกขวิปัสสกพระอรหันต์ก็ตามหรือฌานลาภีอรหัตตบุคคลได้ถึงอภิญญาด้วยหรือ ไม่ก็ตาม ต้องมีอภิญญาข้อ ๓ นี้ด้วยทุกๆ องค์

  อภิญญา ๖ หรือบางทีก็เรียกว่า วิชา ๖ นั้น คือวิชา ๓ นั่นเอง และเพิ่มขึ้นอีก ๓ คือ

  ( ๔ ) ปรจิตตวิชานน หรือ เจโตปริยญาณ รู้จิตใจผู้อื่น

  ( ๕ ) ทิพพโสตญาณ หูทิพย์

  ( ๖ ) อิทธิวิธี สำแดงฤทธิ์ได้

  อีกนัยหนึ่งนั้น จำแนกพระอรหันต์เป็น ๒ ประเภท โดยจำแนกเป็นพระอรหันต์ผู้มี ปฏิสัมภิทาญาณ และพระอรหันต์ ผู้ไม่มี ปฏิสัมภิทาญาณ

  ปฏิสัมภิทาญาณ คือ ถึงพร้อมด้วยความรู้อันแตกฉาน แปลสั้นๆ ว่า ปัญญาแตกฉาน ปฏิสัมภิทาญาณ มี ๔ ประการคือ

   ๑. อตฺถปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในผลทั้งปวง อันบังเกิดจากเหตุ ชื่อว่า อัตถะปฏิสัมภิทาญาณ อัตถะ หรือ ผล

  นั้นได้แก่ธรรม ๕ ประการ คือ

  ก.ยํ กิญฺจิ ปจฺจยสมฺภูตํ คือรูปธรรมทั้งปวงที่เกิดขึ้นโดยมีปัจจัยประชุมปรุงแต่ง

  ข. นิพฺพานํ คือพระนิพพาน

  ค. ภาสิตตฺโถ คืออรรถที่กล่าวแก้ให้รู้วิบากขันธ์ ๓๒ ดวง

  ง. กิริยาจิตฺตํ คือกิริยาจิต ๒0 ดวง

  จ. ผลจิตฺตํ คือผลจิต ๔ ดวง

   ๒. ธมฺมปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในเหตุที่ทำให้บังเกิดผลชื่อว่า ธัมมาปฏิสัมภิทาญาณ ธรรม หรือ เหตุนั้นได้แก่ธรรม ๕ ประการ คือ

  ก. โย โกจิ ผลนิพฺพตฺตโก เหตุ คือเหตุทั้งปวงบรรดาที่ยังผลให้เกิดขึ้น

  ข. อริยมคฺโค คือมัคคจิตทั้ง ๔

  ค. ภาสิตํ คือพระธรรมทั้ง๓ ปิฎก

  ง. กุสลจิตฺตํ คือกุศลจิต ๑๗ ดวง

  จ. อกุศลจิตฺตํ คือ อกุศลจิต ๑๒ ดวง

   ๓. นิรุตฺติปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในภาษา คือบัญญัติแห่งอัตถะปฏิสัมภิทาและธัมมะปฏิสัมภิทาย่อมมีด้วย

  นิรุตติใด ความรู้แตกฉานในอันกล่าว ธมฺมนิรุตฺติ นั้น ชื่อว่า นิรุตติปฏิสัมภิทาญาณ หมายความว่ารู้จักถ้อยคำหรือ

  ภาษาอัน เป็นบัญญัติที่เรียกว่า โวหารในการอธิบายขยายความแห่งอัตถปฏิสัมภิทาและธัมมปฏิสัมภิทา ให้ผู้สดับตรับฟังรู้และเข้าใจ ได้แจ่มแจ้งลึกซึ้งโดยถ้วนถี่ เช่นนี้เป็นต้น

  ๔. ปฏิภาณปฏิสมฺภิทาญาณ ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ คือมีปัญญาว่องไว ไหวพริบ เฉียบแหลม คมคาย ในการตอบโต้อัตถปฏิสัมภิทา

  ธัมมปฏิสัมภิทา และนิรุตติปฏิสัมภิทา ทั้ง ๓ นั้น ได้อย่างถูกต้อง คล่องแคล่วชัดแจ้งโดยฉับ พลันทันที ความรู้แตกฉานเช่นนี้แหละชื่อว่า ปฏิภาณปฏิสัมภิทาญาณ

  ประวัติผู้รวบรวมเรียบเรียงเขียน

ชื่อสกุล  นายธีรวัส บำเพ็ญบุญบารมี

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท