เลียบเลาะตู้หนังสือนายแผ่นดิน (๘) : เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง


บทกวีบางบททำให้ผมหวนคิดถึง “บ้าน” คิดถึง “ปลายทาง” ที่กำลังเดินไป หรือแม้แต่ “ทางออก” ที่ผมกำลังเสาะแสวงหา และนั่นยังรวมถึงเรื่องราวหลากเรื่อง กระทั่ง “คนของความรัก” อีกมากมายที่ผมมักคุ้น

บ่อยครั้ง,ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่าเพื่อนเดินทางที่ดีที่สุดของชีวิตคืออะไรบ้าง –

ทุกครั้งที่ถามเช่นนั้น  ก็มักได้รับคำตอบในทำนองเดียวกัน  นั่นก็คือ “หนังสือ”

ทุกครั้งที่ต้องเดินทางไปที่ไหนสักแห่ง  ผมมักหยิบจับหนังสือติดไม้ติดมือไปด้วย 2 ถึง 3เล่มเสมอ เผลอลืมไม่ได้เด็ดขาด  มิเช่นนั้นมีหวัง“ลงแดง”  ระหว่างทางเป็นแน่

ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน  การเดินทางอันปลีกวิเวกของผม  - ผมนำหนังสือติดตัวมาด้วย  4 เล่ม  1 ในนั้นก็คือหนังสือรวมบทกวีที่มีชื่อว่า “เรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง” (CallMe by My True Names) ของท่าน “ติช นัท ฮันห์”  ซึ่งแปลโดยนักแปลเลื่องชื่อนาม “ร.จันเสน”  และจัดพิมพ์ครั้งที่ 2 โดยมูลนิธิโกมลคีมทอง




ครับ,ท่าน ติช นัท ฮันห์ เป็นพระเชนชาวเวียดนาม  ส่วน “ร.จันเสน”  ก็เป็นนักแปลชั้นครู  มีผลงานการแปลมาหลายเรื่อง  โดยเฉพาะที่รู้จักดีก็คือนวนิยายเรื่อง “หนึ่งร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว”ของ “กาเบรียล  มาร์เกซ”

หนังสือรวมบทกวีในเล่มนี้ถูกเขียนขึ้นจากเรื่องราวอันเป็นชะตากรรมของผู้คนทั้งในวิกฤตสงครามและการดำเนินชีวิตทั่วไป  อัดแน่นด้วยน้ำเสียงแห่งความรัก  ความเมตตา หรือความปรารถนาอันดีงามในฐานเพื่อนมนุษย์ที่พึงมีต่อกันและกัน

ผมชื่นชอบบทกวีในเล่มนี้มากเป็นพิเศษ  อ่านง่าย ไหลรื่น  ถึงแม้หลายบทพูดถึงชะตากรรมของชีวิตและสังคมในบริบทของสงครามห รือแม้แต่ปากท้องอันทุกข์ยากภายใต้วิกฤตของผลพวงของเศรษฐกิจ  สังคม  และการศึกษา  รวมถึงเรื่องราวอันเป็นนาฏการณ์ชีวิตของผู้คนและสรรพสิ่งที่ท่านได้พบพานในเส้นทางต่างๆทั้งในเวียดนามและหลากดินแดนที่ท่านสัญจรผ่าน--
  

บทกวีหลายบทสื่อถึงเรื่องหนักอึ้งของสังคม  เป็นการบันทึก “ประวัติศาสตร์”ของสังคมไปในที  เสมือนการยืนยันความเป็น “วรรณกรรมเพื่อสังคม”  หรือ “วรรณกรรมเพื่อชีวิต”  แต่เชื่อไหม ขณะที่อ่าน  ผมกลับไม่รู้สึกถูกบีบรัด,  อึดอัด หรือแม้แต่หดหู่   ตรงกันข้าม ยิ่งอ่านยิ่งสัมผัสถึงความคลาสสิก –ผ่อนคลาย- โรแมนติก  เห็นถึงพลังและความหวัง  การละวางอย่างเข้าใจ  ... ราวกับกำลังอ่านปรัชญาชีวิตปรัชญาความรักอย่างไม่ผิดเพี้ยน

 

ครับ,  ยิ่งอ่าน ยิ่งเป็นการพักผ่อนอันดีเยี่ยม เติมพลังและจินตนาการในการหยัดยืนท้าทายกับอุปสรรคและความเป็นจริงอันบูดเบี้ยวของชะตากรรม 


บทกวีบางบททำให้ผมหวนคิดถึง“บ้าน”  คิดถึง “ปลายทาง”  ที่กำลังเดินไป  หรือแม้แต่ “ทางออก”  ที่ผมกำลังเสาะแสวงหา  และนั่นยังรวมถึงเรื่องราวหลากเรื่อง กระทั่ง “คนของความรัก”  อีกมากมายที่ผมมักคุ้น –




และนี่คือส่วนหนึ่งของบทกวีที่ว่านั้น


การออกเดินทางของเช้าวันนี้

เธอออกเดินทางเช้าวันนี้
เพื่อให้อนาคตแก่อวกาศสีเงิน
นกวายุภักษ์สยายปีก
เหินทะยานสู่ฟ้ากว้าง
น้ำคลอเคลียตีนสะพาน
ขณะตะวันฉายเพรียกนกเยาว์
ที่พักพิงของเธอเมื่อหลายปีก่อน
บัดนี้คือพยานการจากไปของเธอ
จากไป เพื่อลำน้ำและห้วงสมุทรแห่งบ้านเกิดของเธอ


บ้านเกิด

บ้านเกิดฉันอยู่ที่นี่
มีสวนกล้วย ดงไผ่ แม่น้ำ  ข้าวโอ๊ต
ผืนดินข้างล่าง เต็มด้วยฝุ่น
แต่ทุกครั้งที่เงยหน้า
ฉันเห็นหมู่ดาวสวยเสมอ


กวักเรียก


ฟ้าสางเช้าวันนี้
ฉันอยู่ที่นี่
ซากกรุ่นไอถ้วยหนึ่ง
สนามหญ้าเขียว
ภาพเธอพลันปรากฏจากเวลานานโพ้น
มือของเธอ
หรือสายลม
กวักเรียก
ดอกตูมสดใส
ดอกไม้ ใบไม้ และเกร็ดกรวด
ล้วนสวดบท สัทธรรมปุณฑริกสูตร


หยดแห่งความว่าง


หัวใจฉันเย็นเยือก
ด้วยหยดแห่งความว่าง
ฉับพลันฉันแลเห็น
เรือของฉันข้ามลำน้ำ
บรรลุอีกฟากฝั่ง
ทรายนุ่ม หาดว่าง
สัญญาเก่าแก่...


การเดินทาง


นี้คือถ้อยจารึก
รอยเท้าบนผืนทราย
เมฆหลายหลากรูป

พรุ่งนี้
ฉันก็ไปแล้ว


สหสัมพันธ์

เธอคือฉันและฉันคือเธอ
ไม่ชัดเจนดอกหรือว่าเรา"เป็นซึ่งกันและกัน"
เธอเพาะดอกไม้ภายในเธอ
เพื่อฉันจะได้งดงาม
ฉันแปรขยะภายในฉัน
เพื่อเธอจะได้ไม่ต้องทุกข์

ฉันเกื้อเธอ
เธอเกื้อฉัน
ฉันอยู่ในโลกนี้เพื่อเอื้อสันติแด่เธอ
เธออยู่ในโลกนี้เพื่อเป็นความเบิกบานของฉัน


ผู้รู้เห็นยังคงอยู่


ระเบิดพลุสว่างจ้าบนฟ้ามืด
เด็กคนหนึ่งตบมือ หัวเราะ
ฉันได้ยินเสียงปืน
แล้วผู้หัวเราะก็ตาย


แต่ผู้รู้เห็นยังคงอยู่


โปรดเรียกฉันด้วยนามอันแท้จริง

อย่ากล่าวว่าฉันจะจากในวันพรุ่ง
แม้วันนี้ฉันก็ยังกำลังมาถึง
...
ฉันคือเด็กหญิงสิบสองขวบ
ลี้ภัยในเรือน้อย
โถมร่างลงกลางสมุทร
หลังถูกโจรสลัดข่มขืน
และฉันคือโจรสลัด
หัวใจฉันยังขาดความสามารถ
ในการเห็น และรัก

...


ครับ-ยิ่งอ่านยิ่งเห็นถึงมิติอรรถรสอันเป็นความงดงามของวรรณกรรม  ทั้งในความเป็น “ศิลปะเพื่อศิลปะ” และ “ศิลปะเพื่อชีวิต”

หมายเลขบันทึก: 512074เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 09:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2018 15:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

หนังสือคือมิตรรักทางปัญญาค่ะ..

มาอ่านหนังสือเล่มนี้จากท่านอาจารย์อีกครั้งค่ะ คิดถึงตู้หนังสือที่บ้านเช่นกัน...

สวัสดียามสายวันเสาร์ค่ะ

 หนังสือเป็นแหล่งเรียนรู้ที่ดีที่สุดนะคะ

ขอบคุณค่ะ

เพื่อนแท้คู่ใจที่อยู่เคียงข้างตลอดเวลาไม่ว่ายามเหงา ยามหนาว ยามเศร้า ยามสุข

สุขสันต์วันหยุดค่ะ

ขอบพระคุณพค่ใหญ่ที่แวะมาเยี่ยมนะครั

ผมเห้นด้วยกับแนวคิดของการมองว่าหนังสือคือมิตรรักทางปัญญา. การอ่านทำให้มองเห็นโลกและชีวิตหลากแง่มุม. สามารถหยิบจับแนวคิดมาประยุกต์ใช้กับตัวเองได้   

แต่ก็น่าเสียดายไม่น้อยที่หลายคนขาดโอกาสจากการอ่านหนังสือ  ส่วนหนึ่งคือราคาหนังสือแพงเกินเหตุ  เกินกำลังซื้อของใครอีกหลายคน..

สวัสดีครับคุณปริม. 

ผมเป้นอีกคนที่กล้ายืนยันว่าเติบโตมาจากหนังสื

สมัยเรียนเคยเขียนบทความได้  พอได้ค่าเรื่อง ก็ซื้อหนังสือที่อยากได้..

ระยะหลัง ไม่ค่อยได้ซื้อและไม่ค่อยได้อ่าน...อ่านทีก็ไม่เคยจบเล่ม เพราะเวลาไม่ลงตั

การเดินทางครั้งนี้  ทำให้มีเวลาได้อ่านหนังสือมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด


สวัสดีครับพี่เอื้องแซะ 

ครับ หนังสือเป็นแหล่งเรียนรู้ของสังคม

ขณะหนึ่งก็เป็นเสมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ด้วยเหมือนกั

ขอบคุณที่แวะมาให้กำลังใจ นะครับ

สวัสดีครับ พี่ศิลา

...การอ่านหนังสือ ไม่ว่าเรื่องนั้นจะสนุกหรือทุกข์ใจ. ที่สุดแล้วเราก็เบิกบาน. ได้ครบทั้งบันเทิง เริงปัญญา. ..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท