วิถีชีวิตในอ่าวฯ: “รอยยิ้ม อิ่มใจ”


รอยยิ้ม..อิ่มใจ”..สุขในวิถี ทั้งนก คน พืช สัตว์ สรรพสิ่งล้วนพึ่งพิง..วิถีชีวิตริมอ่าวฯ.. ณ. ป่าชายเลน บ้านบือเจาะ อ. ยะหริ่ง จ.ปัตตานี

 วิถีชีวิตในอ่าวฯ: “รอยยิ้ม อิ่มใจ”


ธรรมชาตินี้ช่างรังสรรค์  สัมพันธ์กันเสมอทั้งโครงสร้างและหน้าที่ (form & function)... .. ภาพมุมกว้างมองออกไปไกลตา บริเวณก้นอ่าวปัตตานี  แนวป่าชายเลนรายรอบ พืชชนิดที่มีรากค้ำยันระเกะระกะ ออกจากโคนต้นไม่สูงนัก อีกทั้งลักษณะใบและฝัก บอกได้ว่าเป็นต้นโกงกางใบเล็ก (Rhizophora apiculata) เป็นพืชเด่นในบริเวณนี้ ซึ่งเบื้องด้นเริ่มจากการเป็นแปลงปลูกป่าชายเลน   ใกล้เข้ามาเป็นกลุ่มป่าแสมขาว (Avicennia alba) และแสมทะเล (Avicenia marina) แซมด้วยพืชชนิดอื่นๆเช่น ลำพู ลำแพน ตะบูน ฯลฯ เป็นแหล่งอาศัยพักนอนของเหล่านก กาน้ำและนกยางหลายชนิด  ในขณะที่ด้านหน้าระยะใกล้แนวน้ำตื้นเป็นพืชน้ำ สูงจากพื้นไม่มาก ประมาณ1-2 เมตร บ้างเรียกว่าเป็นวัชพืข ..กระจูด (Lepironia articulata).. แตกเป็นกอ ใบกลมกลวงยาว คล้ายๆกับกก มีดอกคล้ายดอกกุยฉ่าย สีน้ำตาลแดง   มีรอยคราบโคลนเห็นเป็นแถบตัดกับสีเขียวเข้มของกอ บ่งบอกระดับน้ำที่เปลี่ยนไปในแต่ละช่วง  พืชชนิดนี้หากขยายอาณาเขตเพิ่มขี้น บ่งชี้ว่าบริเวณนี้มีน้ำจืดปะปนเข้ามามากขึ้น ซึ่งปริมาณน้ำจืดไหลมาจากคลองยะหริ่ง และมวลน้ำจืดปริมาณมากเติมเข้าสู่อ่าวฯ อีกด้านหนึ่งจากแม่น้ำปัตตานี   ทั้งหมดนี้จึงเป็นสภาพทางนิเวศที่เือื้อต่อการเติบโตของป่าชายเลน ที่มีความสำคัญมากต่อวงชีวิิตของสัตว์น้ำ ส่งผลต่อวิถีชาวประมงพื้นบ้านรอบอ่าวฯ

องค์ประกอบและชนิดพืชพรรณเหล่านี้ มีการกระจายให้เห็นเป็นบริเวณ ๆ (zonation) ที่ชัดเจนของสังคมพืชป่าชายเลน ภาพเบื้องหน้าเสมือนกับม่านที่แต้มแ่ต่งด้วยพืชพรรณที่ต่างความสูง ต่างเฉดด้วยสีเขียวมีสีอ่อนสีแก่ช่างรังสรรค์มา พืชแต่ละชนิดมีระบบรากแตกต่างกัน ทำหน้าที่ช่วยดักตะกอนที่ไหลลงสู่อ่าว และกล้าไม้ชายเลนก็หยั่งรากลึกในดินเลนที่แปรเปลี่ยนตามระดับน้ำขึ้นน้ำลง เหมาะสมกับระบบรากพืชแต่ละชนิด ทั้งรากหายใจ รากค้ำยัน ส่วนบริเวณใกล้กัน..มีต้นตาตุ่มทะเล ต้นขลู่ให้สัมผัสในทุกองศา...เห็นการเปลี่ยนแปลงทุกเดือนที่เรามาเยี่ยมเยือน..อ่าวฯ

ธรรมชาติมีระบบควบคุมสมดุลกันเองเป็นองค์รวม…  ระบบนิเวศในเขตน้ำกร่อย (Estuarine ecology)..ที่ ผสมผสานทั้งมวลน้ำเค็มและน้ำจืดในแต่ละฤดูกาล ทำให้สรรพสิ่งในอ่าวฯ ทั้งด้านชีวภาพและกายภาพเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะแห่งเวลา ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำ หรือระดับความเค็มที่แปรเปลี่ยน (ความเค็มจัด..ที่ด้านนอกประมาณ 30 ppt.) ทำให้ทั้งสาหร่าย พืช สัตว์และอื่นๆ เจริญอยู่ได้ หรือตายไปในแต่ละช่วงเวลาด้วยปัจจัยจำกัด เป็นการปรับตัวตามความชอบ (niche)... สภาพดังกล่าวจึงเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ...แพลงตอนพืช/สัตว์ กุ้ง หอย ปู ปลาน้อยใหญ่ ได้อาศัยพึ่งพา   รวมถึงมนุษย์ที่เป็น “ผู้ล่า”..ในสายใยอาหารที่ซับซ้อน   "การล่า" หากตั้งอยู่บนจิตสำนึกเพื่อการกินอยู่อย่างพอดี รู้จักพอ ก็จะทำให้ระบบยั่งยืนอยู่ได้นาน...


วิถีออกเรือหาปลา.......เรือลำน้อยค่อยๆพายผ่านไป  วิถีชาวประมงพื้นบ้าน ที่นี่ออกหาสัตว์น้ำตามกำลัง ทั้งเครื่องมือที่มีอยู่และแรงงานตน  เสียงทักทายกันฉันท์คนรอบอ่าวฯ เป็นภาษามลายูถิ่น..ขณะที่ "ครูพื้นที่"และเพือนนั่งอยู่ริมฝั่ง  ตอบออกไปดังๆได้เพียงแต่คำว่า “บุรง-นก”เพื่อสื่อว่า..เรามานั่งนับนกกัน    ไม่นานนัก..เรือน้อยจอดลอยลำ  ชายชาวประมงวัยกลางคนหย่อนตัวลงในน้ำ  ระดับไม่ลึกมากยังพอเดินไปมาได้  ไม้เสาถูกนำมาปักไว้เพื่อระบุตำแหน่ง  ก่อนที่จะค่อยๆสาวตาข่ายที่กองอยู่บนเรือ ปล่อยลงน้ำ  ตะกั่วที่ถ่วงน้ำหนักและทุ่นต่างทำหน้าที่  เรือลำนี้ไม่มีใครกำหนดทิศทางจึงไหลไปตามกระแส ออกไปยังปากอ่าวฯ  ชายผู้นี้เดินตามปล่อยตาข่ายจนหมดจากลำเรือ  ...รอย ยิ้ม...สีหน้า.. ความตั้งใจ..ที่ง่วนกับงาน บอกได้ว่าสุขใจ...อาหารมื้อถัดไปสำหรับทุกชีวีที่บ้านขึ้นอยู่กับผลงานค่ำนี้..ไม่ว่าจะโดยตรงหรือนำไปเปลี่ยนเป็นรายได้เพื่อยังชีพ..

วิถีประมงพื้นบ้านยังคงอยู่และเลี้ยงชีพได้   หากปริมาณสัตว์น้ำยังคงมีอยู่สร้างความภูมิใจไม่น้อย..... เสียงเรือยนต์ผ่านเข้ามา เด็กน้อยเริงร่านั่งมาเต็มลำ  นายท้ายชะลอเครื่องเรือ....เมื่อเห็นชาวประมงวางตาข่าย  เสียงทักทายดั่งคนรู้จักกัน.. ฉันท์คนในอ่าวฯ  ...รอยยิ้ม..มอบให้เป็นกำลังใจ ตามด้วยการถามไถ่ .. วิถีเรียบง่าย จากชายผู้ทำหน้าที่นำเที่ยวเชิงนิเวศ .... เยาวชนรุ่นจิ๋วทั้งหญิงและชาย ได้สัมผัสกับภาพชีวิตในอ่าวฯ..  หากรู้จักและรักษ์ป่าชายเลน  คงเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการรักษาทรัพยากรในอ่าวฯ ที่ทุกคนต้องช่วยกันดูแล...เพราะเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำที่สำคัญ... เสียงเรือเร่งเครื่องจากไป ...ตาข่ายถูกวางเสร็จก่อนค่ำ ...รอเวลาเก็บเช้านี้..

น้ำกับฟ้าได้สะท้อนความเป็นหนึ่งเดียวกัน....  แหงนมองฟ้าพลัน ฝูงนกโผบินเข้ามาเป็นระลอกใหญ่ๆ ไม่ขาดสาย ติดๆกันเมื่อใกล้ค่ำ นับได้ครั้งละร้อย/สองร้อย หรือมากกว่า (ช่วง peak รวมแล้วที่นี่มีนกอาศัยอยู่ร่วมกันประมาณหมื่นตัว).. มีทั้งนกกาน้ำ นกยางควาย ยางเปีย ยางโทนใหญ่ ยางกรอก  ต่างบินกลับมาแหล่งพักนอนในป่าแสมใหญ่   ความสงบของผืนน้ำกลับมาอีกครา หลังจากถูกรบกวนจากการวางตาข่ายและเรือที่แล่นผ่านไป  สีขาวของปีกเจ้าเหล่านกที่บินเหนือร่องน้ำเป็นกลุ่มก้อน สะท้อนจากกระจกผืนใหญ่ที่ราบเรียบเหนือท้องน้ำ... ภาพเสมือนของนกในน้ำสะท้อนจำนวนนกในท้องฟ้า..ได้เช่นกัน.....รอยยิ้ม..พิมพ์ใจ.. จากคนริมฝั่งกับภาพสงบๆ สบายๆ  ความสุขที่มอบให้จากเพื่อนที่มีปีกบินอย่างอิสระ ..เป็นรางวัลที่เปี่ยมด้วยพลังจากธรรมชาติเย็นย่ำค่ำนี้


อ่าวปัตตานีและวิถีองค์รวม ... สร้างมิติแห่งความสุข-ทุกข์  อย่างที่เห็นตามครรลอง ..ทั้งป่าเลน  สายน้ำ ท้องฟ้า  ดวงตะวันกำลังอ่อนแรง แสงสีกำลังจะลับฟ้า  ชายชาวประมงพายเรือจากลา  นกกาบ่ายหน้าบินกลับรัง ... รอเวลาเริ่มต้นแห่งวันพรุ่งนี้....ทุกชีวีเปี่ยมไปด้วยความหวัง มีพลังเติมเต็ม  ตามฝันต่อไป.. “รอยยิ้ม..อิ่มใจ”...ทั้งนก คน พืช สัตว์ สรรพสิ่งล้วนพึ่งพิง..สุขในวิถี..ชีวีริมอ่าวฯ  

ภาพชีวิต ณ. บริเวณก้นอ่าวฯ บ้านบือเจาะ อ. ยะหริ่ง จ.ปัตตานี ประเทศไทย..

(อ่านเพิ่มเิติมได้ที่ http://burongtani.oas.psu.ac.th/blog/1149)


สุขที่โน่น...สุขที่นี่ ...สุขที่ไหน

อันความสุข ที่ใครๆเฝ้าวิ่งหา    ความสุขจ๋า เจ้าอยู่ แห่งหนไหน

เห็นผู้คนไล่ตาม เจ้าเรื่อยไป      อิ่มแค่ไหน เหตุไฉน ยังไม่พอ

สุขที่โน่น สุขที่นั่น สุขที่ไหน       ไม่มีใคร ตอบได้ รู้ไหมหนอ

หยุดวิ่งหา หวนคิด ฤา..สุขกำมะลอ        สุขแท้ๆ ก่อเกิด ภายใน ใจเราเอ


โดย: วรรณชไม

การถนัด

๑๒.๑๒.๑๒

หมายเลขบันทึก: 511696เขียนเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 09:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 ธันวาคม 2012 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (22)

ขอบคุณนะคะ วิถีชาวประมง น้ำกับฟ้า รอยยิ้ม ความสุข

ดีจังเลย ขอบคุณนะคะ

   อ่านบันทึกนี้ด้วยความสุขมากๆค่ะ..เก็บภาพชาว SCB จิตอาสาร่วมปลูกป่าชายเลนที่จ.สุราษฎร์ธานี มาฝาก..

  • พี่อาจารย์ครับ
  • ดูแล้วคิดถึงภาคใต้
  • นึกถึงตอนไปทำกิจกรรมที่ปานาแระ
  • ศูนย์พิกุลทอง
  • ชอบภาพนี้ครับ

สวัสดีค่ะพี่เปิ้ล,

ขอบคุณที่แวะมาทักทายให้กำลังใจเสมอค่ะ

วิิถีชาวประมง น้ำฟ้า ความสุข รอยยิ้ม ในปีนี้ อาจจะต่างไปจากปีก่อนๆ  เนื่องจากชีวิตชาวประมงพื้นบ้านทีนี่ก็เผชิญกับสภาพปัญหา ความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในอ่าวฯ การแย่งชิงทรัพยากรเช่นกันค่ะ 

ขณะนี้มีความร่วมมือในการฟื้นฟูอ่าวฯ และสร้างความตระหนักในการอนุรักษ์มากขึ้น แต่ป่าชายเลนก็ยังคงถูกทำลาย  

หากใครที่อยู่แบบรู้จักพอ ก็จะปรับตัวได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน  ยังมีรอยยิ้มส่งมาทักทายกันได้  ท่ามกลางความสุขกับทุกข์ที่ปนๆกันค่ะ :-))

 สวัสดีค่ะพี่ใหญ่,

การร่วมมือร่วมแรงกัน คนละไม้ละมือ สักวันเราคงมีป่าชายเลนมากขึ้นนะค่ะ พี่ใหญ่.. ต้องขอบคุณการสนับสนุนกิจกรรมดีๆจาก SCB ที่พี่ใหญ่นำมาให้เราได้ร่วมชื่นชมเสมอ ขอบคุณค่ะ

ที่สุราษฏร์ชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยนอกจากอ่าวเล็กอ่าวน้อยมากมายยังมีอ่าว "บ้านดอน" ที่เป็นแหล่งผลิตอาหารทะเลมีคุณภาพ ทั้งประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ต่างอาศัยและยังประโยชน์จากป่าชายเลน

หอยนางรม ตัวโตและอร่อยค่ะที่นั่นอ่าวบ้านดอน   ปู ปลา กุ้ง หมึก ก็ไม่เป็นรองใครค่ะ..แฮ่ๆๆ น้องชอบอาหารทะเลค่ะ พี่ใหญ่ เลยอดไม่ได้ที่จะนึกถึง   อืมม์ ..ถึงเวลามื้อเย็นละค่ะ   เลยนึกถึง..คุณภาพของอาหารทะเลเมื่อนำไปปรุงเป็นเมนูต่างๆ ก็ได้อานิสงส์จากการมีแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ ป่าช่ายเลนนี่หล่ะค่ะ..ขอบคุณค่ะพีใหญ่:-))

นิเวศวัฒนธรรม
ร้อยรัดความเป็นชีวิตแต่ละชีวิตเข้าเป็นหนึ่งเดียว

ชื่นชมครับ

  • ช่างร่มรื่น ฉ่ำชื่นใจจังครับ

 สวัสดีค่ะน้องแอ๊ด

คิดถึงภาคใต้เหรอค่ะน้องแอ๊ด??  มีโอกาสก็มาเยี่ยมนะค่ะ ว่าแต่ว่าพ่อดร.ขจิตคนขยัน จะมีตารางว่างสำหรับตัวเองบ้างไหม๊เนี่ย ..

ดีใจจังที่บันทึกนี้  ม่ส่วนที่น้องแอ๊ดชอบ...ภาพและบรรยากาศ..อืมม์.. เป็นช่วงที่พี่่ออกไปนับนกในแหล่งพักนอนนะค่ะ ..หัวหน้าเด็กก็หาเรื่องซนๆปนๆคำถามที่สงสัยกันค่ะ ..ทำทุกเดือนก็เห็นการเปลี่ยนแปลงในหลายๆเรื่อง ช่วงมืดๆนับมองเห็นนกแล้วจึงจะกลับโดยประมาณก็หกโมงครึ่งค่ะ  เพราะเริ่มนับตั้งแต่ 5 โมงเย็นค่ะ ..ออกไปจากห้องแล็บบ้างก็สดชื่นดีค่ะน้องแอ๊ด ไปรับพลังจากธรรมชาติ  เอามาฝากน้องแอ๊ดด้วยค่ะ ..ขอบคุณที่แวะมาทักทายเสมอค่ะ:-))


 สวัสดีค่ะอาจารย์Was,

ขอบคุณที่แวะมาทักทาย บรรยากาศป่าชายเลนค่ะ.  หลังจากอาจารย์ขึ้นไปเที่ยวดอย..ที่น่าประทับใจ ภาพและคำบรรยายส่งผ่านความสดชื่นมายังปักษ์ใต้เลยค่ะ  ยกเว้นกลิ่นอายความหนาวเย็น ยังไม่ได้รับนะค่ะ .. ที่นี่ริมอ่าวฯ ฝนยังพรำๆในบางวัน  ยิ่งทำให้เพิ่มความ "เย็นใจ" ค่ะ อาจารย์..:-))

ขอ "ปลาทู" เรือเล็ก สดๆตาใสๆสักโลมาต้มส้มแขก นะคะ อยากกิน :)

 สวัสดีค่ะอาจารย์แผ่นดิน,

ค่ะอาจารย์แผ่นดิน..เป็นนิเวศวัฒนธรรม บูรณาการอยู่ในวิถีของคนในอ่าวฯ ซึ่งเป็นปลายน้ำ เอื้ออิงกับวิถีคนกลางน้ำ (พรุ) และคนต้นน้ำ (ป่าเขา)  ในความเป็นภูมินิเวศ ของ "เขา นา เล" ที่ปักษ์ใต้ค่ะ  เป็นอะไรที่น่าสนใจมากค่ะ 

ได้มีโอกาสร่วมงานวิจัยของลุ่มน้ำ  และเรียนรู้ในความเชื่อมโยงและความเป็นอัตลักษณ์ในแต่ละที่ จึงได้เอามาเล่าให้นักศึกษาฟังด้วยความชื่นชมและฝึกวิเคราะห์   เพื่อให้เขารู้จักและเหลียวกับมามองบ้านเกิดอย่า่งเห็นคุณค่า ก่อนที่จะถุกลืมเลือนไป   เลยเป็นหน้าที่ที่ต้องทำหน้าที่เป็น "ตัวเชื่อม"  ค่ะอาจารย์ จึงได้เห็นคุณค่า และเข้าใจ สภาพการทำงานที่อาจารย์แผ่นดิน..ได้ลงมือลงแรงลงความคิดร่วมกันกับคณะทำงานที่มอ.นะ่ค่ะ ... ชื่นชมค่ะ..   ขอบคุณที่แวะมาทักทายฝากความเห็นเป็นพลังในการทำงานต่อไปค่ะ :-))

 สวัสดีค่ะคุณสามสัก,

บรรยากาศทะเล คงต่างกับเขาลับงา นะค่ะ..แต่ให้ความรู้สึกเีดียวกัน "สงบ ร่มรื่น ฉ่ำชื่นใจ" ค่ะ  แฮ่ๆ..ตอนเย็นที่นั่งนับนกกันนะค่ะ  ถ้ากลางวันละก้อ  เปรี้ยงปร้างค่ะ..แดด นะคะ ทั้งแดดทั้งลมทะเล  อย่างที่เค้าว่า  ผิวเกรียมแดด น้ำเค็ม อย่างนั้นเลยค่ะ...

อืมม์..เคยพายเรือคะยักค่ะ จากก้นอ่าวออกไปปากอ่าว  ขาไปก็ไม่กระไรนัก ทำตัวตามน้ำได้เลย...โห แต่ขากลับ น้ำลงและเราพายเรือทวนน้ำ. พายกันจนเคล็ดขัดยอกล้าไปทั่วตัว ก็มันไกลไม่ย่อยนะ  แต่ก็มาจนถึง..ไม่ยอมแปะกับเรือใหญ่...สุดท้ายได้รับคำชมจากพลพรรคที่ถอดใจขึ้นเรือใหญ่ว่า อึดจริงๆ..มีสามลำที่เป็นอย่างนั้น... ก็ยิ้มรับ salute!!!..ด้วยความยินดี ...  แต่นี่ซิ ..ของแถม..ดำเกรียมแดดไปเลย หนึ่งปีก็ไม่หายค่ะ  กลับไปบ้านพ่อกับแม่เห็นก็เดาได้เลยว่า ทำงานหนักหรือเที่ยวหนัก..ประเมินได้ทันที.. แต่ตอบว่าทั้งคู่ค่ะ.. ทำงานไปด้วยชื่นชมธรรมชาติไปด้วยค่ะคุณสามสัก.  เสียดายไม่ได้ดูแมลงสักกะตัว ทริบนั้น  ค่อยไปใหม่ค่ะเผื่อจะมี "ชันโรง" บ้าง.:-))

 สวัสดียามค่ำค่ะน้องหนูรี

น้องหนูรีจ๋า ..ที่ขอหน่ะ แม้เพียงหนึ่งโล ก็หายากน้องประเภทสดๆตาใสตัวใหญ่  ขอบอกว่า ถ้ามีก็คงเป็นจากเรือใหญ่แล้วหล่ะค่ะ  แถมตัวโตก็ส่งออกไปจากปัตตานีขายทีอื่น  เราลูกที่กินตัวเล็กๆ ..โชคดีอะไรปานนั้น .แม้กระทั่งไปที่แพปลา (พี่ชอบไปเพราะเป็นนักสำรวจ ดูสัตว์น้ำแปลกๆดีค่ะ) ชาวเรือก็บ่นๆกันว่าปลาทูมีน้อยลง  และไม่ใช่เป็นปลาในอ่าวด้วยค่ะน้องหนูรี   สวนใหญ่โน่นออกไปจับไกลๆ น้ำลึกเรือประเภทใหญ่ๆ..ก็เล่นจับกันมากซะจนไม่เหลือรอดตาถี่อวนหล่ะซิค่ะ...แต่อ่าวฯก็ยังมีความสำคัญที่เป็นแหล่งเลี้ยงดูสัตว์น้ำวัยอ่อนค่ะ

อืมม์...ตาใสๆ เหรอค่ะ..เอ..จะตาปลาหรือตาเราเนี่ยที่ ตาใสๆ.. ..แต่แถวบ้านที่ชุมพร..ยังมีปลาทูประเภทตาใสๆ ตัวโตๆให้กินค่ะ เพียงแต่ไม่ได้ทำเมนูต้มส้มแขกค่ะ  สงสัยต้องลองบ้างละ สูตรแม่ครัวหนูรี การันตีความน่าทาน :-))  พี่มีต้นส้มแขกเอาไปปลูกไว้เป็นที่ระลึกหนึ่งต้น ออกลูกแล้วด้วย  แต่ไม่ค่อยคุ้นชินกับรสชาติเค้าค่ะ เลยเอาไว้ดูลูกสวยๆดีคะ น้องหนุรี

แถวบ้านพี่ ถิ่นปลาทูอร่อยจากอ่าวไทย ช่วงฤดูวางไข่ ก็ยังมีปลาขาย..แฮ่ๆ ขนาดว่ามีกฏหมายควบคุม ห้ามจับปลาในฤดูวางไข่นะ แต่..การบังคับใช้ก็เหมือนกันกะทุกๆเรื่องทุกที่ในบ้านเรา อ่อนใจจริงๆเชียว ..แถมจับปลาได้..ถ้าตัวเล็กก็ทิ้งลงทะเลอีก ทิ้งแบบตายนะค่ะ ถ้าทิ้งแบบที่ยังมีชีวิตอยู่ก็พอจะได้มีตัวโตขึ้นมาบ้าง  เพื่อนๆทำอาชีพประมงแถวบ้านที่เค้าเศร้าใจ เลยได้รับฟังปีละหนึ่งครั้งที่เจอกันตอนเลี้ยงรุ่น ค่ะน้องหนูรี ...ไปก่อนละ เมนูปลาทูต้มส้ม ชวนหิวจริงๆนะเนี่ย..ขอบคุณค่ะที่แวะมาแหย่กัน :-)

อ่านเพลินเลยค่ะ

ทำให้คิดถึงบ้าน  คิดถึงเกาะยอ สงขลา

หากเป็นเมื่อก่อน วิถีชีวิตไม่ต่างกันมากนัำก แต่ปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงไป

ภาพวิถีชีวิตชาวบ้านที่งดงามหายไปมาก  เหลือไว้เพียงวิุถีชีวิตคนเมืองเข้ามาแทน

ขอบคุณที่แบ่งปันค่ะ  

สวัสดียามเช้าค่ะพี่ครูอิงจันทร์

ค่ะ วิถีชีวิตพื้นบ้านกำลังจะหายไป ด้วยภาะวคุกคามหลายๆอย่างค่ะพี่ครู   ที่นี่ในอ่าวปัตตานี การเปลี่ยนแปลงที่กระทบต่อวิถีเห็นไ้ดชัดเลยว่า เมื่อคนรุ่นใหม่เข้ามาในระบบการศึกษาความผูกพันกับวิถีที่รุ่นพ่อแม่ปู่ย่าตาเป็นอยู่ ก็จะน้อยลง หากแต่ถ้ายังคงรักษาไว้ไม่ให้ขาดความต่อเนื่อง เชื่อมโยงกันไว้ ก็จะหายไปในที่สุดค่ะ เรามีหน้าที่เชื่อมต่อ ให้นักศึกษาเห็นถึงความสำคัญทั้งระบบนิเวศ และวิถีชีวิตซึ่งเอื้ออิง พึ่งพากันค่ะ 

น้องเคยถามนักศึกษาว่า ในฐานะที่บ้านใครมีสวนยาง เคยสังเกตไหม๊มีดกรีดยางต่างจากมืดอื่นอย่างไร จะลับให้คมอย่างไร ตัดยางเป็นไหม๊  พบว่าส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนใหญ่ทำไม่ได้ ไม่เป็นเพราะบอกว่าพ่อแม่ไม่ให้ทำ  แต่ส่วนที่ยังทำอยู่ต่อเนื่องกลับไปจากมหาวิทยาลัยก็ไปช่วยที่บ้านก็จะเล่าให้ฟังถึงวิถีที่เป็นอยู่  ก็ได้ใช้โอกาสนี้ชื่นชม ใครที่ยังดำเนินรอยตามวิถีที่บ้านดำเนินอยู่  เชิญชวนในการแลกเปลี่ยนและแนะนำว่า อะไรที่ใกล้ตัว เป็นวิถีที่สั่งสมมา ก็ควรใช้โอกาสในการเรียนรู้ศึกษากันให้ ด้วยความใส่ใจกัน มากขึ้นค่ะ 

ที่เกาะยอ วิถีประมงพื้นบ้านก็ยังคงมีให้เห็น และเรียนรู้ได้ แต่ปัจจุบันระบบนิเวศของทะเลสาบก็เปลี่ยนไป ชาวประมงก็คงต้องปรับเปลี่ยนไป  เพียงแต่คงไม่ทิ้งวิถีเดิม ๆ  ปัจจุบันนี้กระแสโฮมเสตย์ ก็เข้ามามีบทบาทอาจมองได้ทั้งสองด้าน ด้านที่ดีก็เห็นว่ามีการรวมกลุ่มอนุรักษ์วิถีพื้นบ้านเอาไว้  น้องเคยไปพักบนเกาะยอ บ้านที่เราไปพักแบบโฮมเสตย์ เป็นวิถีชีวิตในสวนละมุด  ละมุดสีดา ที่มีชื่ออร่อยของเกาะยอ  แถวๆนี้เรียก "ลูกสวา" น่ะค่ะ       เช้าตื่นมากินข้าวยำ  เดินดูวัดเกาะยอที่ติดกับเลสาป ศาลาธรรมก็ยังเก็บไว้ได้อย่างเดิมๆๆ มากด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์ ชมการทอผ้าเกาะยอตั้งแต่สมัย ร 5  เสด็จประพาสต้น  เวลาไปก็จะไปพูดคุยให้กำลังใจกัน เพราะแกนนำก็มีทุกความรู้สึกของการต่อสู้ให้วิถียังคงมีอยู่ รักษาไว้ เพียงบางส่วน

น้องเที่ยวที่บ้านพี่ครู เผื่อแล้วนะค่ะ  มีโอกาสก็จะไปอีก และดูว่าเห็นการเปลี่ยนแปลงไปมาก ทุกครั้งที่แวะเข้าไปเที่ยวในเกาะค่ะ   ขอบคุณค่ะที่แวะมาเยี่ยม บันทึกอ่าวฯ  แต่อาจจะไม่เอาอ่าว!! เท่าไหร่นะค่ะ :-))

สวัสดีครับ เป็นวิถีที่คนเมืองอย่างผมไม่คุ้นเคย ได้อ่าน ได้เรียนรู้ ได้ดูภาพถ่าย เป็นวิถีที่เรียบง่าย ไม่แก่งแย่งอย่างในเมืองหลวงเลย แต่ก็อดคิดไม่ได้ว่า วิถีแบบนี้ก็คงจะค่อยๆถูกเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่ต้องวิ่งไปตามเทคโนโลยี

สวัสดีค่ะลุงชาติ

ขอบคุณที่ลุงชาติเข้ามาให้กำลัง บันทึก  "วิถีพื้นบ้านในอ่าวปัตตานี "  ดูว่าเป็นวิถีที่เรียบง่าย ถ้าเทียบกับวิถีของสังคมเมื่อง แต่ก็ไม่ง่ายนักค่ะ เพราะการดำรงชีพพึ่งพิงกับทรัพยกรสัตว์น้ำในอ่าว ถ้าระบบนิเวศเสียไป เพราะปัญหาการแก่งแย่งทรัพยกรทั้งในอ่าวและในทะเลใหญ่ มีผลต่อการดำรงชีพของชาวประมงพื้นบ้านเช่นกันค่ะ  

แต่คำว่า " พอ" อาจจะต่างกันในวิถีของชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็ก กับวิถีอื่นๆ  วิถีชาวประมงในอ่าวปัตตานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชุมชนมุสลิม เรือที่ออกหาสัตว์น้ำสังเกตดูว่า เป็นการทำงานด้วยกัน อาจเป็นสามีและภรรยา หรือ พ่อและลูกชาย  ออกเรือไปวางตาข่าย  เสร็จแล็วก็กลับเข้าฝั่ง แกะปลา ปู ออกจากอวน จากนั้นเอาปลาไปขายให้กับเถ้าแ่ก่ในหมู่บ้าน บ่ายก็พักเตรียมออกเรือสำหรับวันใหม่  หากคลื่นลมแรงออกเรือไม่ได้ก็ซ่อมอวน ซ่อมเรือ  วนกันเป็นวัฏจักรชีวิต  ครอบครัวยังได้เห็นหน้าตาอยู่ร่วมกันขณะทำงาน นั่นคงเป็นคำว่า "พอ"  ตามวิถีที่นี่ ซึ่งความมั่นคงในชีวิตขึ้นอยุ่บนความยั่งยืนของฐานทรัพยกรธรรมชาติ  จึงมีความสำคัญในการอนุรักษป่าชายเลนให้คงอยู่และมีคุณภาพค่ะลุงชาติ :-)) 

 ขอบคุณกัลยาณมิตรทุกท่านที่มอบดอกไม้และให้กำลังใจด้วยการฝากความเห็นไว้ค่ะ:-))


 ความสุข....มีอยู่ในทุกหนแห่งและทุกช่วงเวลาของชีวิตนะครับ อาจารย์

 สวัสดีค่ะ คุณพ่อ-ชาวบ้านอารมณดี

ขอบคุณทีแวะมาทักทายค่ะ   อืมม์..เห็นเป็นเช่นนั้น จริงๆ  วิถีชีวิตที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยแบ่งปันยังมีให้เห็นได้สัมผัสได้ ชื่นชมได้ค่ะในสังคมบ้านเรา  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่นี่สิ่งที่ได้เรียนรู้รอบตัวในสังคมพหุวัฒนธรรม การอยู่ร่วมกันอย่างลงตัว บนความแตกต่างได้ ใจก็จะสงบ 

ที่นี่..บางครั้งการไปตลาดเช้า เอารถไปเติมน้ำมัน ปั๊มน้ำมันอยู่ตรงข้ามกับตลาดนัดเช้าที่มีมาแต่ดั้งเดิม วิถีชีวิตที่เห็น เป็นสภาพการใช้ถนนมีตั้งแต่ รถพ่วงข้าง รถยนต์ รถจักรยาน รถสามล้อ คนเดินถนน พ่อค้าแม่ขาย รถทุกประเภทจะจอดรถส่งของ ซื้อของ รอขนของ ทุกคนก็มีบทบาทที่ต้องดำรงชีวิต ที่ดูจะเร่งรีบในเวลานั้น   หากแต่การขับรถที่รีบไม่ได้ ต้องคล่อยๆเคลื่อนไป ต้องจอด ต้องรอ ต้องซิกแซก ไปตามเท่าที่มีพื้นที่   สิ่งที่่แปลกใจและชื่นชมคือ... ไม่มีการใช้เสียงแตร เสมือนการเตือน การบ่น การต่อว่า ให้เร่งรีบเลย  ไปทุกครั้งก็เห็นอย่างนั้นทุกครั้ง  รู้สึกดีทุกครั้ง ตื่นมาเช้าก็ได้มีโอกาสเห็นและชื่นชมความดี ความมีน้ำใจของเพื่อนมนุษย์บนโลก  ที่ให้โอกาสกัน ... รอได้ ช้าได้ ไหลไปตามๆกัน ซึ่งทุกกิจรรมที่เกิดขึ้นในขณะนั้น แต่ละบทบาทก็รู้ว่ามีคนอื่นรอ ก็ไม่ได้อ้อยสร้อยอะไร ผ่านไปได้ด้วยดี  ต่างคนต่างระวังไม่ให้ก่อความเสียหาย โดยไม่ต้องพึ่งพาจราจร หรือไฟแดง.เป็นคุณภาพชีวิตของสังคมชนบท-ในเมืองค่ะ..นี่ก็เป็น "ความสุข" ที่นำมาแบ่งปันค่ะ คุณอักขณิช :-))

อ่านรายงานพร้อมด้วยดูภาพแล้วรู้สึกถึงความร่มเย็น น่าอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ ขอบคุณที่นำเสนอให้ดูให้อ่านกัน


พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท