คำอธิบายกฎหมายอาญา ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน


ลักษณะ ๕ ความผิดเกี่ยวกับความสงบสุขของประชาชน

มาตรา ๒๐๙  อังยี่ผู้ใดเป็นสมาชิกของคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี  และปรับไม่เกินสองพันบาท

ถ้าผู้กระทำความผิดเป็นหัวหน้า  ผู้จัดการ หรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น ผู้นั้นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองหมื่นบาท

องค์ประกอบภายนอก  ๑. ผู้ใด

๒. เป็นสมาชิกของคณะบุคคล

๓.ซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

องค์ประกอบภายใน เจตนา

การกระทำ คือ การเป็นสมาชิกของคณะบุคคล (มีบุคคล ๒ คนขึ้นไป)

คณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ หมายความว่า รู้กันเฉพาะในหมู่คณะที่ไม่เปิดเผยแก่ผู้อื่น

คณะบุคคลนั้น มีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งอาจเป็นความผิดอาญา หรือละเมิด หรือผิดสัญญาในทางแพ่งก็ได้ หากความมุ่งหมายนั้นเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนแล้วก็ถือได้ว่าเป็นการอันมิชอบด้วยกฎหมาย

เหตุฉกรรจ์ตามวรรคสอง ผู้กระทำความผิดเป็น

หัวหน้า

ผู้จัดการ หรือ

ผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในคณะบุคคลนั้น

ฎีกาที่ ๑๑๗๖/๒๕๔๓ เป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธ โจรก่อการร้ายขบวนการ บี อาร์ เอ็น กลุ่มนาย อ.
โดยมีพฤติการณ์ทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครอง ซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธีดำเนินการ และมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐาน ผิดอั้งยี่ตามมาตรา ๒๐๙ วรรคหนึ่ง

...................................................................................................................................................................................................

มาตรา ๒๑๐  ซ่องโจรผู้ใดสมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค 2 นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจร  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

(วรรคสอง) ถ้าเป็นการสมคบกัน เพื่อกระทำความผิดที่มีระวางโทษถึงประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิต หรือจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สองปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่สี่พันบาทถึงสองหมื่นบาท

องค์ประกอบภายนอก ๑. ผู้ใด

๒.สมคบกันตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป

องค์ประกอบภายใน เจตนา

เจตนาพิเศษ“เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ นี้ และความผิดนั้นมีกำหนดโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป”

สมคบ คือ การแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำผิดร่วมกัน เช่น ชาย ๖ คน ยืนจับกลุ่มอยู่หน้ารถยนต์คันหนึ่งในเวลาตี ๕ ปรึกษากันจะงัดประตูรถ เอาวิทยุและของมีค่าในรถ ทั้ง ๖ คนผิดมาตรา ๒๑๐ (ฎีกาที่ ๑๓๔๑/๒๕๒๑)

การประชุมหรือหารือร่วมกัน และตกลงกันว่าจะกระทำความผิดอะไร เป็นข้อสาระสำคัญที่จะแสดงให้เห็นว่ามีการกระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรหรือไม่ 

ความผิดที่สมคบกันเพื่อกระทำ ต้องเป็นความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติในภาค ๒ แห่ง ป.อ. เท่านั้น
และอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แตกต่างจากการเป็นอั้งยี่ตามมาตรา ๒๐๙ ซึ่งอาจเป็นความผิดตามกฎหมายอื่นๆก็ได้ ความผิดที่มุ่งหมายจะกระทำยังไม่จำต้องกระทำลง ด้วยเหตุนี้ แม้เลิกล้มไม่กระทำตามที่สมคบกัน ก็เป็นความผิดสำเร็จตามมาตรานี้

เจตนาพิเศษ คือ เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่บัญญัติไว้ในภาค ๒ ของ ป.อ. ซึ่งมีโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป

ฎีกาที่ ๔๙๘๖/๒๕๓๓บุคคล ๔ คน ร่วมกันเจรจากับเจ้าพนักงานตำรวจที่ไปล่อซื้อ เสนอขายรถจักรยานยนต์ที่ถูกลักมาให้แก่เจ้าพนักงานตำรวจดังกล่าว เข้าลักษณะเป็นการกระทำต่อบุคคลภายนอก จึงมิใช่การแสดงออกซึ่งความตกลงจะกระทำความผิดร่วมกันในระหว่างผู้ร่วมกระทำผิดด้วยกัน
การกระทำดังกล่าวไม่เป็นความผิดฐานซ่องโจร

วรรคสองเป็นเหตุฉกรรจ์ ผู้กระทำความผิดจะรับผิดตามวรรคสอง
จะต้องรู้ว่าสมคบกันไปกระทำความผิดอะไร (มาตรา ๖๒ วรรคท้าย) เช่น รู้ว่าสมคบกันไปฆ่าคนตาย
แต่ไม่จำต้องรู้ว่าความผิดที่สมคบมีอัตราโทษเท่าใด

.................................................................................................................................................................................. 

มาตรา ๒๑๑ ประชุมในที่ประชุมอังยี่ หรือซ่องโจรผู้ใดประชุมในที่ประชุมอั้งยี่หรือซ่องโจร  ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่  หรือซ่องโจร เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงได้ว่าได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร

องค์ประกอบภายนอก ๑.ผู้ใด

๒.ประชุมในที่ประชุมอังยี่หรือซ่องโจร

องค์ประกอบภายใน เจตนา

ผู้นั้นกระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร

ข้อแก้ตัว เว้นแต่ผู้นั้นจะแสดงได้ว่าได้ประชุมโดยไม่รู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรือซ่องโจร

การกระทำคือ ประชุม ซึ่งผู้กระทำจะต้องมี เจตนาประชุมคือต้องรู้ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่หรืซ่องโจร

หากประชุมโดยรู้แล้วว่าเป็นการประชุม ก็ถือว่ามีเจตนาประชุม ก็มีความผิดฐานเป็นอั้งยี่ หรือซ่องโจร 
ทันที แต่มาตรา ๒๑๑ เปิดโอกาสให้นำสืบหักล้างได้ว่าตนเข้าประชุมโดยหารู้ไม่ว่าเป็นการประชุมของอั้งยี่
หรือซ่องโจร

คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๘๑/๒๔๖๑ เจ้าพนักงานจับจำเลยได้ในตึกแห่งหนึ่งซึ่งปรากฏชัดว่าเป็นสำนักงานของอั้งยี่คณะเต็กง้วยกงซ้อ มีหนังสือปิดไว้ว่า “เต็กง้วยกงซ้อ” ซึ่งตรงกับชื่อพวกอั้งยี่ ทั้งพวกจีนที่ไปมั่วสุมชุมนุมกันที่ห้องเช่าจำเลยนี้ ได้ไปเที่ยวก่อการวิวาทและทำร้ายผู้อื่นจนปรากฏว่าเคยต้องคำพิพากษาลงโทษมาแล้ว เวลาเจ้าพนักงานไปจับกุมก็พบมั่วสุมชุมนุมกันอยู่หลายคน ค้นได้ของกลางอันเป็นหลักฐานของพวกอั้งยี่ด้วย ดังนี้ จึงต้องฟังว่าเป็นพวกอั้งยี่ ซึ่งเป็นสมาคมเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมาย เมื่อฟังได้เช่นนี้จำเลยต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ เมื่อแสดงความบริสุทธิ์ของตนไม่ได้ ย่อมมีความผิดฐานเป็นอั้งยี่

............................................................................................................................................................................................มาตรา ๒๑๒  “ช่วยเหลือเกื้อกูลอั้งยี่ หรือซ่องโจรผู้ใด

(๑) จัดหาที่ประชุมหรือที่พำนักให้แก่อั้งยี่หรือซ่องโจร

(๒) ชักชวนบุคคลให้เข้าเป็นสมาชิกอั้งยี่ หรือพรรคพวกซ่องโจร

(๓)อุปการะอั้งยี่หรือซ่องโจรโดยให้ทรัพย์หรือโดยประการอื่น หรือ

(๔) ช่วยจำหน่ายทรัพย์ที่อั้งยี่หรือซ่องโจรได้มาโดยการกระทำความผิด

ต้องระวางโทษ เช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร แล้วแต่กรณี

องค์ประกอบภายนอก (๑)(๒)(๓)(๔)

องค์ประกอบภายใน เจตนา

ข้อสังเกต ผู้ช่วยเหลือเกื้อกูล เพียงแต่ระวางโทษเช่นเดียวกับสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจร แต่ไม่ผิดฐานเป็นอั้งยี่หรือซ่องโจร ผู้ช่วยเหลือจึงไม่ใช่สมาชิกอั้งยี่ หรือพรรคพวกซ่องโจร

(ด้วยเหตุนี้มาตรา ๒๑๓ จึงไม่อาจนำมาใช้แก่กระทำความผิดตามมาตรา ๒๑๒ ได้ ดังนั้น ผู้จัดให้ใช้บ้านของตนเป็นที่ประชุมซ่องโจร  แต่ไม่ได้เข้าประชุมด้วย จึงไม่ใช่พรรคพวกซ่องโจร หากพรรคพวกซ่องโจรคนใดไปกระทำความผิด  ผู้จัดหาที่ประชุมให้ ก็ไม่ต้องรับผิดในความผิดที่พรรคพวกซ่องโจรได้ไปกระทำนั้น)
...............................................................................................................................................................................................

มาตรา ๒๑๓ สมาชิกหรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำ  ความผิดตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจร

ถ้าสมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งคนใดได้กระทำความผิด  ตามความมุ่งหมายของอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรืออยู่ด้วยในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น และบรรดาหัวหน้า ผู้จัดการหรือผู้มีตำแหน่งหน้าที่ในอั้งยี่หรือซ่องโจรนั้น  ต้องระวางโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้นทุกคน

มาตรา ๒๑๓ ผู้ที่จะต้องมีความผิดด้วยเช่นเดียวกับผู้ลงมือกระทำความผิด คือ หัวหน้า ผู้จัดการ ผู้มีตำแหน่งหน้าที่

สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในขณะกระทำความผิด หรือ สมาชิกอั้งยี่หรือพรรคพวกซ่องโจรที่อยู่ด้วยในที่ประชุม แต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลงให้กระทำความผิดนั้น

คำถาม ดำ ขาว เขียว เหลือง และส้ม รวม ๕ คน สมคบกันจะไปล้วงกระเป๋าประชาชนที่เข้าชมการแสดงดนตรีของเบิร์ด ธงไชย ก่อนถึงวันแสดง นายดำกับพรรคพวกดังกล่าว  นัดประชุมชักชวนกันอีกครั้งที่บ้านนายแดง
นายแดงเป็นผู้จัดให้ใช้บ้านของตนเป็นที่ประชุม แต่ไม่ได้เข้าประชุม ครั้นถึงวันงานนายขาวป่วยไปร่วมไม่ได้ 
ดำกับพวกจึงไปลักทรัพย์ตามแผนที่เตรียมไว้ เจ้าพนักงานตำรวจจับนายดำกับพวกได้พร้อมทรัพย์สินที่ลักมา 

ตอบ นายขาวมีความผิดตามมาตรา ๒๑๐ คือเป็นพรรคพวกซ่องโจรและผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา ๓๓๕ (๗) ด้วยตามมาตรา ๒๑๓ เพราะขาวอยู่ในที่ประชุมแต่ไม่ได้คัดค้านในการตกลง  ส่วนแดงเป็นผู้จัดหาที่ประชุมให้แก่ซ่องโจรจึงมีความผิดตามมาตรา ๒๑๒ อย่างเดียว เพราะการจัดหาที่ประชุมให้แก่ซ่องโจรนั้นมาตรา ๒๑๒ ให้ระวางโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดฐานเป็นซ่องโจรเท่านั้น มิได้บัญญัติให้แดงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจรด้วย  ฉะนั้นจึงลงโทษแดงตามมาตรา ๓๓๕(๗) ประกอบด้วยมาตรา ๒๑๓ ไม่ได้

ข้อสังเกต มาตรา ๒๑๓ จะนำมาใช้ก็ต่อเมื่อพรรคพวกซ่องโจรคนใดคนหนึ่ง “ได้กระทำความผิดตามความมุ่งหมายของซ่องโจรนั้น” หากเป็นความผิดนอกความมุ่งหมายก็ไม่นำมาตรา ๒๑๓ มาใช้ เช่น พรรคพวกซ่องโจรกำลังประชุมวางแผนจะไปลักรถยนต์เพื่อส่งขายต่างประเทศ  มีบุคคลภายนอกมารู้เห็นการประชุมนั้น นายเขียวพรรคพวกซ่องโจรคนหนึ่งยิงผู้มารู้เห็นนั้นตาย  พรรคพวกซ่องโจรคนอื่นๆ ไม่ต้องรับผิดฐานฆ่าตนตายด้วย  จะนำมาตรา
๒๑๓ มาปรับใช้ไม่ได้ เพราะการฆ่าคนตายอยู่นอกความมุ่งหมายของการเป็นซ่องโจร (เพื่อลักทรัพย์)

ข้อสังเกต พรรคพวกซ่องโจรสมคบกันวันที่ ๕ ธันวาคม เพื่อจะทำการปล้นทรัพย์ในวันนั้น แต่ปรากฏว่ามีอุปสรรคจึงตกลงยกเลิกการปล้นในวันนั้น  ต่อมาวันที่ ๖ ธันวาคม พรรคพวกซ่องโจรบางคนได้นัดหมายกันใหม่ และลงมือปล้นวันที่ ๖ ธันวาคมนั้นเอง  ผู้ที่ประชุมด้วยในวันที่ ๕ แต่ไม่ได้ประชุมด้วยวันที่ ๖ ไม่มีความผิดฐานปล้นทรัพย์ด้วย (ฎีกาที่ ๑๐๓-๑๑๐๔/๒๔๙๖) เพราะการปล้นทรัพย์ในวันที่ ๖ ไม่ใช่การกระทำความผิด “ตามความมุ่งหมาย” ของพรรคพวกซ่องโจรซึ่งประชุมวันที่ ๕  ผู้มาประชุมวันที่ ๕ คงมีความผิดฐานเป็นซ่องโจรตามมาตรา ๒๑๐ วรรคสอง (เพราะปล้นทรัพย์ตามมาตรา ๓๔๐ มีโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี)

................................................................................................................................................................................................

อ้างอิง

เกียรติขจร วัจนะสวัสดิ์. กฎหมายอาญาภาคความผิด.

สถิต ไพเราะ. คำบรรยาเนติ์ ภาคหนึ่ง สมัย ๖๔ ปีการศึกษา ๒๕๕๕.



 

หมายเลขบันทึก: 511668เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 21:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 21:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท