" ความรักของ....พ่อ "


ความรักของ...พ่อ

ครัวอบอุ่น เป็นสุข ด้วยสองมือ.....พ่อ ”

                               โดย    ครูสุธะนะ  พามนตรี

*********************************************************************************************************

    …..เอ่…เอ่…เอ๊…นอนซาเด้อ เด้อ หล่า หลับตาพ่อสิกล่อม

    พ่อไปไฮ่เอาไก่มาหา  พ่อไปนาสิเอาปลามาป้อน

  พ่อเลี้ยงม้อนอยู่ป่าสวนมอน  ไผบ่นอนแมวเป้าจกตับ

  ไผบ่หลับสิเอาไปโผดป่า  เอ่…เอ่…เอ๊…..

          เสียงบทเพลงกล่อมลูกบทนี้ บ่งบอกถึงวัฒนธรรมอันอบอุ่นและเป็นสุข  แสดงให้เห็นถึงความรู้สึกความรัก ความผูกพัน ห่วงหา อาทร ต่อลูกในครอบครัว  ตั้งแต่วันแรกเกิด  ไม่ว่าพ่อ จะมีความเป็นอยู่เช่นไร มีความสุข มีความทุกข์ขนาดไหน ความรัก ความห่วงใย ที่มีต่อสมาชิกในครอบครัว ก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไป  เพราะพ่อ มีหน้าที่ต้องสร้างความอบอุ่นและความสุขให้เกิดขึ้นในครอบครัว มีลูกเป็นกำลังใจที่ดี ลูกคือนิยามเดียวเท่านั้นที่มีความหมายต่อชีวิตของ พ่อ  เพราะ…

ลูกเป็นลมหายใจของพ่อ

ลูกเป็นกำลงใจของพ่อ

ลูกเป็นความหวังของพ่อ

ลูกเป็นทุกสิ่งทุกอย่างของพ่อ

ลูกต้องมาก่อนสิ่งอื่นใดทั้งหมด

                  แต่…ถึงแม้ว่าพ่อ จะรักลูกมากเพียงใดก็ตาม พ่อก็ไม่ควรที่จะตามอก ตามใจลูกไปเสียทุกอย่าง หรือ ส่งเสริมลูกในทางที่ไม่ถูกต้อง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ให้ลูกจะต้องเป็นสิ่งดี พ่อควรที่จะให้เหตุผลกับลูกเสมอ ๆ อย่าให้ลูกเลือกตัดสินใจเองในบางเรื่อง  เพราะหากเกิดความผิดพลาด ล้มเหลว ปัญหาอันใหญ่หลวงย่อมเกิดตามมาอย่างแน่นอน จึงจำเป็นที่พ่อต้องขีดเส้นเล็ก ๆ ตีกรอบบาง ๆ เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายให้แก่ลูก ความรัก ความห่วงหวงลูกของพ่อนั้น ไม่ได้เปลี่ยนไปตามกาลเวลา  เมื่อลูกเริ่มโตขึ้น เริ่มรู้สึกว่า ลูกไปไหนมาไหนดูแลตัวเองได้ พอเลิกเรียนพ่อก็ยังหวังว่า ลูกควรจะกลับถึงบ้านเลย อย่างเช่นโรงเรียนเลิกสามโมงครึ่ง พ่อก็ว่าสี่โมงลูกต้องถึงบ้านแล้ว บางครั้งลูกมีกิจกรรมต้องทำกับเพื่อน หรือมีเรื่องอะไรทำเล็ก ๆน้อย ๆ ลูกกลับผิดเวลา พ่อก็จะซักไซ้ว่าทำไมกลับบ้านช้า จะออกจากบ้านตอนเช้า พ่อก็ถาม วันนี้จะกลับบ้านกี่โมง หากลูกรู้จักคิด และเข้าใจว่า คนที่รักลูก ดูแลลูก เข้มงวดเกินไป ลูกก็หาเหตุผลหรือถามไถ่ว่าทำอย่างนี้เพราะอะไร พ่อ ลูก ก็จะเข้าใจวิธีคิดของกันและกัน เมื่อทุกคนเข้าใจกันแล้ว ก็จะไม่รู้สึกอึดอัดคับข้องใจ พ่อรักลูก ก็อยากให้ลูก  เป็นคนดี ดีแล้วก็อยากให้ดียิ่งขึ้น จึงดูเหมือนว่า พ่อ เข้มงวดเกินไป เหมือนกับว่าลูกทำดีเท่าไหร่ก็ยังดีไม่พอสักที จึงอยากจะให้ลูกเข้าใจตรงนี้ว่า สิ่งที่พ่อทำไป นั่นแหละคือการให้ทั้งชีวิตของพ่อ เมื่อพ่อเข้าใจลูก ลูกเข้าใจพ่อ ความรัก ความอบอุ่น และ ความสุข  ในครอบครัว ย่อมเกิดขึ้น ปัญหาต่าง ๆ ก็จะไม่ตามมา ยาเสพย์ติด ที่ว่าเป็นศัตรูร้ายอย่างมหันต์ก็ไม่สามารถที่จะมาทำลายชีวิตของสมาชิกในครอบครัวได้ โดยเฉพาะลูก ซึ่งเป็นเสมือนหนึ่งผ้าขาวสะอาดบริสุทธิ์ โอนเอน อ่อนไหว  หากมีช่องว่างภายในครอบครัวเกิดขึ้น  สิ่งที่พ่อคาดไม่ถึงก็จะตามมา เพราะยุคสมัยในโลกปัจจุบัน  มีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมทางสังคมอย่างไม่หยุดยั้ง  โดยเฉพาะเด็กยุคใหม่ สมัยโลกาภิวัฒน์ เมื่อลูกขาดความรัก ความอบอุ่น  ก็จะหาวิธีแก้ ประชดประชัน ด้วยการพึ่งพายาเสพย์ติด  ทั้งด้วยความสมัครใจของตนเอง ทั้งอยากลิ้ม อยากลอง  หรือ คำเชิญชวนของเพื่อน ที่บรรยายสรรพคุณอันเลิศหรูของยาเสพย์ติดไปในทางที่ผิด  ปัจจุบันปัญหาเรื่องยาเสพย์ติด  นับว่ามีความรุนแรงและมีอิทธิพลต่อกลุ่มเด็กวัยรุ่นเป็นอย่างมาก  นั่นอาจมีลูกเรารวมอยู่ด้วย เนื่องจากยาเสพย์ติดได้แพร่กระจายไปทั่วทุกแห่งหน ในเมือง หรือชนบท จำนวนผู้ติดยาเสพย์ติด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ราวกับปรอทเจอน้ำเดือด 100 องศา  ทำให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะ สังคมในครอบครัว จึงอยากจะให้ พ่อ ลูก ได้เข้าใจและเห็นพิษภัยอันร้ายแรงที่เกิดจากยาเสพย์ติด โดยให้ความสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวทุก ๆ คน สร้างบรรยากาศ ความรัก ความอบอุ่น ความห่วงหาอาทร  และ ความเข้าใจซึ่งกันและกันให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว ซึ่งสิ่งเหล่านี้แหละคือเกราะกำบังที่แข็งแกร่งที่สุดในการป้องกันภัยร้ายจากยาเสพย์ติด  เนื่องจากในสภาพสังคมปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน เด็กวัยรุ่น หรือ บุคคลทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ล้วนมียาเสพย์ติดเข้าไปเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เกือบทั้งนั้น โดยแต่ละเพศ แต่ละอาชีพ ก็จะอ้างเหตุผลที่แตกต่างกันไป โดยเฉพาะความเครียด ความเหงา ความว้าเหว่ หัวใจของพ่อ  คงสลาย ความอบอุ่น และ ความสุข ในครอบครัว ก็คงค่อยแทรกซึม จนกลายเป็นปัญหาเรื้อรัง  เมื่อลูกอันเป็นที่รักอ้างเหตุผลว่า พ่อ  ไม่มีเวลาให้ พ่อไม่เคยสนใจลูกเลย พ่อทำแต่งาน พ่อให้แต่เงิน เวลามีปัญหาลูกไม่มีใครที่จะปรึกษา จึงต้องพึ่งพายาเสพย์ติด เพื่อคลายเหงา จึงขอย้ำเตือนพ่อว่ามีเวลาให้ลูกสักนิด ก่อนที่ลูกคิดจะไปติดยา  สร้างความอบอุ่น ให้เกิดขึ้นในครอบครัว แล้วความสุขก็จะตามมา

       เพื่อเป็นการป้องกันมหันตภัยร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นกับสมาชิกในครอบครัวที่แสนจะอบอุ่นและเป็นสุข  โดยเฉพาะ ลูก ผู้เป็นแก้วตาดวงใจ พ่อ ในฐานะ เป็นผู้ดูแลสถาบันครอบครัว  ควรหมั่นสังเกตสมาชิกในครอบครัว คนใดคนหนึ่งมีอาการ วิตกจริต ไม่รับรู้เรื่องโลกภายนอก ปวดเมื่อยบ่อย ๆ หงอยเหงา ซึมเศร้า เหม่อลอย มือสั่น ผิวแห้ง ระบบหายใจไม่ปกติ  กระเพาะอาหารทะลุ ปวดท้องอย่างรุนแรง น้ำหนักตัวลดลง ตัวเหลืองขาดวิตามิน อาการทางประสาทพิการ  เมื่อเกิดอาการเหล่านี้ขึ้นกับสมาชิกในครอบครัว พ่อ  ควรรีบหาทางสร้างเกราะป้องกัน โดยเริ่มต้นที่สมาชิกในครอบครัว แสดงออกซึ่งความรัก ความเข้าใจ ความห่วงใยซึ่งกันและกัน  ดูแลและให้เวลาแก่สมาชิกในครอบครัวเป็นพิเศษมากขึ้น พยายามรักษาสภาพจิตใจของสมาชิกในครอบครัวอย่าให้ท้อแท้ สิ้นหวัง ให้ความสำคัญกับชีวิต ชีวิตยังมีความหมาย ตราบใดที่ยังมีลมหายใจอยู่  ชีวิตย่อมเริ่มต้นใหม่ได้ตลอดเวลา ยังไม่สายเกินไปสำหรับการจะกลับคืนมาเป็นคนดีดังเดิม

       ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่พ่อ ลูกจะมาช่วยกันสร้างความอบอุ่นและความสุขให้เกิดขึ้นภายในครอบครัว และ สังคม ด้วยการเป็นคนดี ช่วยกันสร้างสรรค์สังคมให้มีแต่เรื่องที่ดี แม้ว่ายามนี้เศรษฐกิจจะไม่เป็นใจ พ่อ ต้องดิ้นรนทำมาหากิน  แต่พ่อก็สามารถสร้างกำลังใจซึ่งกันและกันได้  พ่อห่วงใย พ่อให้กำลังใจ ลูกใฝ่ศึกษา รวมพลังสรรค์สร้างสายใย ประสานใจเป็นหนึ่งเดียว สร้างความอบอุ่นและความสุขในครอบครัว ก็สามารถสร้างภูมิคุ้มกันสิ่งเลวร้ายที่อาจจะเกิดขึ้นในครอบครัว  และ สังคม ได้เช่นกัน ครอบครัวคือดวงใจ  ครอบครัวคือความอบอุ่น  ครอบครัวคือชีวิต เรามาสร้างความสุขในครอบครัวให้กันสักนิด
นี่แหละ….คือ…..ครอบครัว…..ที่มี…..ความอบอุ่น…..และ…..ความสุข

*************************************************************************************


อธิบายศัพท์  นอนซาเด้อ เด้อ หล่า = หลับเสียเถิดลูกรัก , สิ  = จะ , ไฮ่  =  ไร่ , ม้อน =  ตัวหม่อน ,
                      สวนมอน  =  สวนหม่อน  , ไผ  =  ใคร , บ่  =  ไม่ ,
 แมวเป้า = แมวป่าตัวใหญ่  ,
                      จก = ล้วง , โผด =  ปล่อยทิ้ง 

 

ครูสุธะนะ  พามนตรี

โรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย  เลย

อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย  42110

โทรศัพท์  01  -  2638039

 

                                       

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ
หมายเลขบันทึก: 511411เขียนเมื่อ 9 ธันวาคม 2012 12:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 22:11 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

เป็นบทความที่มีความหมายดีหมาก และสะท้อนปัญหาสังคมไทยได้ดีมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท