การพัฒนาครูในศตวรรษที่ ๒๑



          ที่จริงบันทึกนี้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาครูของประเทศไทย ในบริบทปัจจุบัน  และผมเขียนบันทึกนี้จากแรงบันดาลใจ ที่ได้เข้าร่วมประชุม ๒ การประชุมในวันที่ ๑๙ และ ๒๐ พ.ย.​๕๕ ติดกันสองวัน  และเกี่ยวข้องกับ สสค. ทั้งสองวัน  คือวันที่ ๑๙ พ.ย. เป็นการประชุม เสวนาโต๊ะกลมนานาชาติทางการศึกษา ครั้งที่ ๑  จัดโดย สสค. ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  โดยจัดที่ห้องประชุมสัญญา ธรรมศักดิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์   มี Assoc. Prof. Ora Kwo คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮ่องกง มาปาฐกถานำเรื่อง “Teachers’ Challenges in 21st Century : Pedagogy, Standardized Testing, and Paychecks”  ตามด้วยการเสวนาโต๊ะกลม ๒ เรื่อง คือ “บทบาทหน้าที่ของครู และการทดสอบมาตรฐานในศตวรรษที่ ๒๑” และ “การวัดผลการทำงานครู และการผูกโยงเงินเดือนครูเข้ากับคะแนนการทดสอบมาตรฐาน”   การประชุมนี้จัดช่วงเช้า


          ส่วนการประชุมวันที่ ๒๐ จัดช่วงบ่าย  จัดโดย สกว. กับสถาบันรามจิตติ แต่ไปใช้สถานที่ที่ สสค.  เรื่อง “โครงการจับกระแสความเคลื่อนไหว และนวัตกรรมในการจัดการศึกษาและพัฒนาเด็กและเยาวชน”   มี ดร. จุฬากรณ์ มาเสถียรวงศ์ เสนอผลการทบทวนองค์ความรู้ เรื่อง “จับกระแสการพัฒนาครูใน ศตวรรษที่ ๒๑ : ข้อคิดและทิศทางเพื่อการพัฒนาครูไทย”   ซึ่งทบทวนความรู้สากลมาได้กว้างขวาง  แต่ยังเก็บข้อมูลของไทยมาได้น้อย  โดยข้อสรุปที่สำคัญยิ่งที่ได้จากการทบทวนความรู้ของ ดร. จุฬากรณ์ คือยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของการพัฒนาการศึกษาที่เวลานี้ใช้กันทั่วโลก คือเน้นที่การพัฒนาครู


          ที่จริงเมื่อจบการประชุมวันแรก ผมก็มีความสุขมาก ที่เห็นช่องทางการพัฒนาครูไทยชัดเจนแจ๋วแหวว  ตามมุมมองของผม  ซึ่งเป็นการมองหลักการ  ส่วนการดำเนินการจริงนั้น สิ่งน่าหนักใจคือยุทธศาสตร์ Change Management หรืออุปสรรคในการเปลี่ยนแปลงระบบนั่นเอง


          ในการประชุมวันที่ ๒ ผมจึงฟันธงเสนอที่ประชุม  ว่าวิธีพัฒนาครูไทยที่จะให้ได้ผลต้องเริ่มที่การให้คุณ (reward) แก่ครู ผ่านผลงานการยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการเรียน (Learning Outcomes) ของศิษย์   โดยหน่วยงานต้นสังกัดและโครงการพิเศษต่างๆ เข้าไปส่งเสริม(empower)ให้ครู โรงเรียน เขตพื้นที่การศึกษา หรือชุมชน ที่รวมตัวกันทำแผนยุทธศาสตร์และดำเนินการยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียน


           การ empower ดังกล่าวทำโดยส่งเสริมการเรียนรู้ของครู ให้ทำหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ดีขึ้น  ให้ครูรวมตัวกันเรียนรู้จากการทำงานประจำ คือหน้าที่ครูในศตวรรษที่ ๒๑ ซึ่งต้องไม่เน้นสอนสาระวิชา  แต่เน้นสร้างแรงบันดาลใจ และอำนวยความสะดวกในการเรียนแบบลงมือทำของนักเรียน  การรวมตัวกันเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครูนี้ เรียกว่า PLC (Professional Learning Community)


          จะให้รางวัลแก่ครูได้ ต้องมีหลักฐานว่าครูได้ทำหน้าที่ยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของศิษย์ได้ผลดีกว่าเดิมจริง  ซึ่งทางกระทรวงศึกษาฯ ได้มีดำริว่า จะผูกโยงเงินเดือนครูเข้ากับคะแนนการทดสอบมาตรฐานของศิษย์  และในวงเสวนาเมื่อวันที่ ๑๙ พ.ย. ครูและ ผอ. สถานศึกษาหลายแห่งมาบอกว่าเป็นวิธีคิดที่ตื้นเขินเกินไป  เพราะการทดสอบมาตรฐานนั้น วัดเพียง ๑ ด้านใน ๔ ด้านของการเรียนรู้เท่านั้น  นอกจากนั้นเด็กนักเรียนของต่างโรงเรียนอาจมีขีดความสามารถหรือพื้นฐานแตกต่างกันมาก  จากการประชุม ผมคิดว่า ได้มติที่ชัดว่า ควรผูกโยงเงินเดือนหรือการให้คุณแก่ครูและผู้บริหารการศึกษา เข้ากับผลสัมฤทธิ์ในการเรียนของนักเรียนที่ตนรับผิดชอบ  โดยมีวิธีวัดผลสัมฤทธิ์ที่รอบด้าน และดูที่ผลสัมฤทธิ์ที่เพิ่มขึ้นจากฐานเดิม  ซึ่งผมคิดว่าต้องมีวิธีวัดทักษะ (แห่งศตวรรษที่ ๒๑) สำคัญ  รวมทั้งให้ครูมีส่วนสร้างสรรค์วิธีวัดผลสัมฤทธิ์ด้านที่เป็นามธรรม และด้านคุณลักษณะด้วย


          นั่นหมายความว่า กระทรวงศึกษาฯ ต้องเลิกคิดพัฒนาครูโดยการจับมาเข้าหลักสูตรฝึกอบรมตามที่ตนจัด  ควรเอาเงินจำนวนนั้นไปสนับสนุนการจัดกิจกรรม PLC ของครู  คือต้องพัฒนาครูโดยเน้นที่ Learning ไม่ใช่ที่ Training  หรือใช้ในสัดส่วน Learning : Training = 80-90 : 10-20  และส่วน Training นั้น ให้ตัวครูเองเป็นผู้ตัดสินใจบอกความต้องการเองว่าต้องการเรียนอะไร จากหลักสูตรฝึกอบรมใด


          Learning ในที่นี้คือ in-service learning หรือ PLC นั่นเอง


          ผมได้เสนอที่ประชุมว่า เรื่องการพัฒนาครูในภาพใหญ่นั้น  น่าจะพิจารณาสถาบันผลิตครู  ซึ่งก็คือคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ นั่นเอง  ผมคิดว่า สถาบันเหล่านี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบของสถาบันผลิตครูแห่งศตวรรษที่ ๒๐  เวลานี้ประเทศที่ครูมีคุณภาพเขาไม่ได้ผลิตครูแบบที่เราทำกันแล้ว  และตัวสถาบันเขาก็เปลี่ยนแปลงไปมากมาย เป็นสถาบันผลิตครูแห่งศตวรรษที่ ๒๑  แต่ของเรายังคงที่ยึดมั่นอยู่กับรูปแบบของศตวรรษที่ ๒๐ 


          ผมเสนอในย่อหน้าบนด้วยความเจียมตนว่าอาจเป็นความเห็นที่ผิด  แต่ท่าน ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ท่านบอกว่า ท่านเสนอตามที่ผมพูดเป๊ะตั้งแต่ปี พ.ศ.​๒๕๒๕ แต่ไม่มีคนยอมทำตาม


          สรุปอีกทีว่า การพัฒนาครูในศตวรรษที่ ๒๑ ต้องเน้นที่การเรียนรู้ของครู  ที่เป็นการเรียนรู้จากการทำหน้าที่ครูโดยตรง  เพื่อให้ทำหน้าที่ครูได้ผลดีขึ้น โดยวัดที่ผลการเรียนของศิษย์  เน้นที่การเรียนให้ได้ทักษะแห่งศตวรรษที่ ๒๑




วิจารณ์ พานิช

๒๐ พ.ย.​๕๕




หมายเลขบันทึก: 511240เขียนเมื่อ 7 ธันวาคม 2012 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 13:54 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

เห็นด้วยกับแนวคิดนี้ครับ

น่าจะพิจารณาสถาบันผลิตครู ซึ่งก็คือคณะศึกษาศาสตร์ ครุศาสตร์ นั่นเอง ผมคิดว่า สถาบันเหล่านี้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน เป็นรูปแบบของสถาบันผลิตครูแห่งศตวรรษที่ ๒๐ เวลานี้ประเทศที่ครูมีคุณภาพเขาไม่ได้ผลิตครูแบบที่เราทำกันแล้ว

แต่บ้านเราผูกติดกับระบบแบบเก่า เลยดำเนินงานยาก น่าจะมีการวางแผนของผู้ที่เกี่ยวข้อง พัฒนาครูให้เป็นระบบโดยมีพื้นฐานจากปัญหาในโรงเรียน

ขอบคุณมากครับ

 

ยุทธศาสตร์สำคัญที่สุดของ การพัฒนาการศึกษา ที่เวลานี้ใช้กันทั่วโลก คือ เน้นที่การพัฒนาครู

 
 
ขอบคุณ ท่าน อจ. หมอมากนะคะ 

วิธีพัฒนาครูไทยที่จะให้ได้ผลต้องเริ่มที่การให้คุณ (reward) แก่ครู ผ่านผลงานการยกระดับผลสัมฤทธิ์ในการเรียน (Learning Outcomes) ของศิษย์

เห็นด้วยสุด ๆ ครับ

............................................................................................................................

ศ. สุมน อมรวิวัฒน์ ท่านบอกว่า ท่านเสนอตามที่ผมพูดเป๊ะตั้งแต่ปี พ.ศ.​๒๕๒๕ แต่ไม่มีคนยอมทำตาม

น่าเสียดายนะครับ

...........................................................................................................................

ขอบคุณมากครับ ;)...

ขอบคุณท่านอาจารย์หมอมากๆค่ะ

ดีใจที่มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองให้ความสำคัญกับ Teachers' Learning มากขึ้น

ครูที่ดีต้องมีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือใฝ่รู้ใฝ่เรียนอยู่เสมอ เป็น การเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่เห็น และ รู้จัก สิ่งใดแล้วสามารถนำมาปรับให้เข้ากับบริบทของตนและสร้างประโยชน์แก่นักเรียนได้

ขอให้แนวคิดนี้ของท่านอาจารย์เป็นรูปธรรมโดยเร็วค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท