การสร้างห้องเรียนอย่างมีคุณภาพ


วงการศึกษาในปัจจุบันกำลังมีพัฒนาการใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมากมาย คุณครูทุกคนสามารถสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนอยากเอาตัวเข้าร่วมและทำงานได้ผล อันจะทำให้นักเรียนเองมีชีวิตที่ดีและประสบความสำเร็จ มีครูบางคนที่ชอบและสามารถที่จะจูงใจให้นักเรียนทำงานหนักได้โดยไม่ต้องลงแรงกดดันพวกเขาเลย ในบทความนี้จะช่วยครูให้เรียนรู้วิธีจูงใจผู้เรียนทั้งหมดแบบมีส่วนร่วม มีคำถามเพื่อให้เห็นประเด็นได้ชัดเจนดังนี้ ถ้าเราต้องการที่จะพัฒนาไปสู่ห้องเรียนที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียน อันเป็นห้องเรียนที่ทำให้ผู้เรียนได้ใช้ความสามารถที่ตนมีได้เต็มที่แล้ว เราจะต้องทำอย่างไร ถ้ากล่าวในเชิงปฏิบัติก็คือ เราจะใช้อะไรเป็นตัวบ่งชี้ว่าเราได้ประสบความสำเร็จแล้ว การบอกจากลักษณะภายนอกคงใช้ไม่ได้เพราะห้องเรียนแบบสร้างแรงบันดาลใจไม่มีรูปแบบมาตรฐาน เราอาจเห็นได้ทั้งแบบที่นักเรียนนั่งเป็นแถวเหมือนห้องเรียนสมัยเก่า(ทุกวันนี้ก็ยังมีให้เห็น) หรือนั่งกระจายเป็นกลุ่มเล็กๆ แต่เราจะบอกได้ว่าห้องเรียนนั้นมีนักเรียนที่มีคุณภาพทั้งในเชิงสร้างสรรค์และมีความสุขในการเรียรู้ได้ โดยสังเกตว่าห้องนั้นมีคุณสมบัติ 5 ประการ ต่อไปนี้เด่นชัด

ความภาคภูมิใจ(Dignity)  ผู้เรียนมีลักษณะเชื่อมั่นและพร้อมที่จะเรียน นั่งตัวตรง มีความภูมิใจในตนเองและความสามารถของตน มีความเคารพในตนเอง เขาจะไม่นั่งตัวงอเหมือนกับว่ามีความละอาย ตรงกันข้ามเขาจะแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งภายใน ผู้เรียนรู้สึกมั่นคงและสบายใจขณะอยู่ในห้องเรียน ในเวลาเดียวกันก็จะทุ่มเทตนเองให้กับการศึกษาโดยไม่รู้ตัว ไม่กังวลที่จะต้องทำให้ทุกคนพอใจหรือจะต้องเอาชนะทุกๆ เกม ดังกับว่าค่าของมนุษย์ขึ้นอยู่กับความสำเร็จหรือคำยกย่องเท่านั้น

พลัง(Energy) ผู้เรียนจะมีงานทำอยู่เสมอ ไม่มีเวลาว่าง มีส่วนร่วมตลอดเวลา ในห้องเรียนจะมีเสียงการทำกิจกรรม เราจะไม่เห็นผู้เรียนนั่งเฉยๆ หรือง่วงเหงาหาวนอนเลย ไม่มีการเฝ้าดูนาฬิการอคอยเวลาเลิกเรียน ไม่กระวนกระวายหรือเครียดเหมือนถูกบังคับให้เรียน ตรงกันข้ามพวกเขาเรียนกันอย่างสบายๆ

การจัดการตนเอง(Self-Management)  ผู้เรียนบริหารจัดการตนเอง กระตุ้นตนเอง และรับผิดชอบตนเอง ผู้เรียนเลือกว่าจะเริ่มเรียนเลิกเรียน และแก้ไขงานของเขาเองเมื่อคิดว่าตนทำได้ ผู้เรียนไม่ต้องรับคำสั่งที่เป็นรายละเอียด ลักษณะเช่นนี้บอกเราว่า "ฉันจะะดูแลในสิ่งที่ฉันต้องดูแลและฉันจัดการมันได้ ฉันไม่ต้องการให้ใครมาบอกทุกเรื่อง"

ความเป็นชุมชน(Community)  ผู้เรียนมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน มีความสัมพันธ์อันดีระหว่างครูและผู้บริหาร ผู้เรียนพร้อมที่จะรับฟังซึ่งกันและกันและยอมรับผู้อื่น ในเวลาเดียวกันผู้อื่นก็ยอมรับเขาเช่นกัน เขาจะให้ความเคารพต่อผู้อื่นและเขาก็จะได้รับความเคารพจากผู้อื่นด้วย เขาจะไม่ล้อเลียนหรือดูหมิ่นเพื่อน ไม่รู้สึกโดดเดี่ยวหรือถูกตัดขาดจากผู้อื่น เขาไม่หมกหมุ่นอยู่แต่เรื่องของตัวเองหรือความไม่ถูกใจตลอดเวลา ปัญหาต่างๆ อาจจะเกิดขึ้น แต่ผู้สอนและผู้เรียนก็สามารถช่วยกันแก้ปัญหาเหล่านั้นได้อย่างท่ี่ควรทำในชุมชนที่ดี ห้องเรียนที่สามารถดึงเอาสิ่งที่ดีที่สุดออกมมาจากตัวผู้เรียนและผู้สอนได้เช่นนี้ ย่อมส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ชีวิตของการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในชุมชนที่มีเหตุผล โดไม่แยกตัวอยู่ตามลำพังและไม่ต้องเป็นปฎิปักษ์ต่อผู้อื่น

การมีสติรับรู้(Awareness)  ผู้เรียนเป็นคนช่างคิดและตื่นตัว และรู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นอยู่ในห้องเรียน เราจะพบผู้เรียนมีสมาธิ อยากรู้ มีความคิดสร้างสรรค์ และขยัน เขาจะไม่รู้สึกเบื่อ และไม่ปล่อยเวลาให้เสียไปโดยไม่รู้ว่าจะทำอะไรหรือมีอะไรเกิดขึ้นบ้าง เขาจะไม่เรียนอย่างคนไม่มีชีวิตจิตใจ แต่จะปรับตัวให้กลมกลืนกับการเคลื่อนไหวในห้องเรียน ความคิดและความรู้สึกของตน ตลอดจนความคิดเห็นของบุคคลอื่นที่อยู่รอบตัว

การมีสติรับรู้นี้แตกต่างจากการคิด การหาเหตุผล หรือปัญญา จริงอยู่บุคคลที่มีเหตุผลมักจะประสบความสำเร็จในชีวิต ทั้งนี้เพราะพวกเขาเหล่านี้มีสติรับรู้สิ่งที่เกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา แต่บุคคลที่ไม่รู้ว่าอะไรกำลังเกิดขึ้นกับตนเองและรอบๆ ตัวเอง มักจะไม่ประสบผลสำเร็จในชีวิต คนเราสามารถรับรู้ได้ถึงความทรงจำ ข้อเท็จจริง อารมณ์ สี เสียง ความคิด รวมทั้งรับรู้ว่ามีคนอื่นอยู่รอบๆ และรับรู้ตนเอง นอกจากนั้น คนเรายังสามารถรับรู้ความเป็นไปในอนาคตได้ เช่น เราสามารถมองเห็นทางเลือกต่างๆ ที่อาจเป็นตอนจบของนิยายสักเรื่องหนึ่ง หรือทางเลือกสำหรับกิจกรรมของเราในค่ำคืนนี้ เราสามารถรู้ได้ขณะที่ผู้อื่นยังไม่รู้และเราก็สามารถที่จะเลือกสิ่งที่เรารับรู้นั้นได้ เช่น เราอาจถามตนเองว่า "ฉันควรจะกังวลว่า คืนนี้ควรทำอะไร หรือจะอ่านหนังสือดี" คำนิยามของปัญญานั้นคือ  การรวมพลังของการมีสติรับรู้กับพลังของการจัดการตนเองเข้าด้วยกัน เช่น เราพูดว่าเราฉลาด ขนาดที่สามารถจัดการ การรับรู้ของเราได้เป็นอย่างดี ถ้าเราสามารถเปิดใจของเราให้กับการรับรู้ต่างๆ และสามารถจัดการควบคุมความสนใจให้อยู่ที่การรับรู้ที่เราเลือกแล้ว  เราก็จะสามารถผลิตสิ่งที่เรียกว่าเป็นการแสดงปัญญาของเราออกมาได้

ต่อไปนี้เพื่อความสะดวก จะขอเรียกองค์ประกอบทั้ง 5 ประการนี้ว่าเดสกา (DESCA)  ซึ่งเดสกามีประโยชน์อย่างมากต่อผู้สอน เพราะเป็นเป้าหมายเฉพาะจุดชัดเจนซึ่งครอบคลุมและยืดหยุ่นได้ จุดศูนย์กลางของเป้าหมายควรเป็นห้องเรียนที่ผู้เรียนทุกคนจัดการเนื้อหาวิชาด้วยความภาคภูมิ มีพลังอย่างมีเหตุผล จัดการตนเองอย่างเหมาะสม มีความรู้สึกถึงความเป็นชุมชน และมีสติรับรู้

การนำเสนอเนื้อหาทั้งหมดนี้ เพื่อให้ครูสามารถใช้เป็นแนวทางในการค้รหากลวิธีการสอนที่จะช่วยได้ทั้งในด้านการสอนเนื้อหาวิชา และในขนะเดียวกันก็บันดาลใจให้ผู้เรียนได้แสดงศักยภาพขั้นพื้นฐานทั้งห้าประการของมนุษย์ออกมา ขั้นเรียนที่ดีตามคำนิยามปัจจุบันมิได้มีแต่เดสกาเท่านั้น แต่เดสกาจัดว่าครอบคลุมหัวใจของความเป็นห้องเรียนที่ดี การที่ครูพยายามเข้าถึงศักยภาพห้าประการของนักเรียนอย่างต่อเนื่องและพัฒนาศักยภาพนี้เข้มข้นขึ้นนั้น นักเรียนจะรู้สึกว่าครูอยู่ฝ่ายเดียวกับตนและยอมรับสิ่งที่ดีที่สุดของตนด้วย

ยังมีต่อนะคะ...พบกันในตอนต่อไปค่ะ....

คำสำคัญ (Tags): #การเรียนรู้
หมายเลขบันทึก: 511169เขียนเมื่อ 6 ธันวาคม 2012 18:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 14:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท