หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี


  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี เป็นหนึ่งในผู้รับผิดชอบทางเทคนิคเกี่ยวกับรังสีที่ต้องเสนอเข้ามาพร้อมกับคำขออนุญาต ผลิต มีไว้ในครอบครองหรือใช้ซึ่งวัสดุพลอยได้ หรือพลังงานปรมาณูจากเครื่องกำเนิดรังสี

  ทำไมต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี?

  เพราะรังสีมีทั้งประโยชน์และโทษ อันที่จริงทุกสิ่งในโลกก็มีทั้งประโยชน์และโทษทั้งนั้น เราคงทราบกันดีว่ามนุษย์ไม่สามารถอดน้ำได้เกินสามวัน แต่เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งเข้าแข่งขันดื่มน้ำ จนเสียชีวิตเนื่องจากสมองบวมเพราะดื่มน้ำมากและเร็วเกินไป นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งของประโยชน์และโทษ รังสีก็เช่นเดียวกัน มีการวิจัยว่ารังสีในธรรมชาติมีประโยชน์เพราะกระตุ้นให้ชีวิตมีพัฒนาการ แต่เมื่อมีการนำรังสีมาใช้ประโยชน์ในระยะแรก ๆ ที่มีการค้นพบการผลิตรังสีเอกซ์ได้นั้น มีการใช้โดยไม่ระมัดระวัง ทำให้เกิดการบาดเจ็บเนื่องจากรังสีขึ้น ดังนั้นจึงมีกฎหมายควบคุมการใช้รังสีในทุกประเทศที่จะนำเอารังสีมาใช้ สำหรับประเทศไทย ได้ตราพระราชบัญญัติพลังงานปรมาณูเพื่อสันติขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๔ เพื่อควบคุมการใช้รังสี โดยให้ขออนุญาต เมื่อมีความประสงค์จะนำรังสีมาใช้ และให้มีผู้ที่มีความรู้ในการป้องกันอันตรายจากรังสีเป็นผู้ดูแลการทำเนินการ หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีคือการดูแลผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป มิให้ได้รับผลกระทบทางร้าย จากกิจกรรมการใช้รังสีนั้น ๆ

  ที่ต้องเน้นว่าดูแล ผู้ปฏิบัติงานและประชาชนทั่วไป ก็เพราะมักจะมีความสับสนกับหน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์สองประเภท คือนักรังสีการแพทย์และนักฟิสิกส์การแพทย์ เนื่องจากหน่วยงานมักจะใช้บุคลากรเหล่านั้นมาทำหน้าที่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี แต่หน้าที่ของบุคลากรทางการแพทย์เหล่านั้นมีอยู่ ซึ่งก็คือการดูแลการให้รังสีแก่ผู้มารับบริการทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการเอกซ์เรย์ หรือการบำบัดรักษาด้วยรังสี เพราะการดำเนินกิจกรรมเหล่านั้น จำเป็นต้องมีการควบคุมคุณภาพของเครื่องมือ และการคำนวณปริมาณรังสีที่จะให้กับผู้มารับบริการ ซึ่งก็เป็นหน้าที่สำคัญเช่นกัน และจำเป็นต้องระบุบุคลากรดังกล่าวในการขออนุญาตฯ ด้วยเช่นกัน

  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีจะปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างไร?

หน้าที่หลัก ๆ คือการให้คำแนะนำผู้รับใบอนุญาต ซึ่งหมายถึงผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ให้ปฏิบัติถูกต้องเป็นไปตามกฎหมาย โดยการสร้างกฎระเบียบภายในองค์กรเพื่อให้เกิดความปลอดภัยในการดำเนินกิจกรรมตามที่ได้รับอนุญาต ในทางปฏิบัติ การป้องกันอันตรายจากรังสีมีรายละเอียดในการดำเนินการแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับชนิดและความเป็นไปได้ในการก่ออันตรายของวัสดุกัมมันตรังสีหรือเครื่องกำเนิดรังสี เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีจึงต้องเป็นผู้จัดทำคู่มือ แนวทางปฏิบัติงานต่าง ๆ เพื่อให้การดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาตเป็นไปอย่างปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชน  เช่น การจัดแบ่งพื้นที่และติดป้ายเตือนทางร้งสี การจัดทำทะเบียนวัสดุกัมมันตรังสีและเครื่องกำเนิดรังสี หากมีการใช้วัสดุกัมมันตรังสีต้องดูแลการจัดหา จัดเก็บและจัดการกากกัมมันตรังสีอย่างปลอดภัย จัดหาและจัดให้มีการปรับเทียบมาตรฐานเครื่องมือตรวจวัดรังสีตามความเหมาะสม จัดทำและเก็บบันทึกทะเบียนประวัติการได้รับรังสีของผู้ปฏิบัติงานรวมทั้งแจ้งผู้ปฏิบัติงานให้รับทราบผลการได้รับรังสีของตน ฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานทางรังสีให้ปฏิบัติอย่างถูกต้องปลอดภัย ซึ่งท่านอาจอ่านการสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีได้จาก http://portal.in.th/rad-protection/pages/6143

  เห็นได้ว่าหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสีมีเนื้อหามาก และควรต้องใช้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติที่มีความรู้อย่างถ่องแท้และสามารถดำเนินการได้อย่างเหมาะสม ทั้งต้องใช้เวลาการปฏิบัติเต็มเวลา ไม่ควรใช้เจ้าหน้าที่อื่น เช่นนักรังสีการแพทย์ หรือนักฟิสิกส์การแพทย์ ซึ่งมีหน้าที่เต็มอยู่แล้วมาทำหน้าที่นี้ด้วย จะไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ทั้งสองทางได้อย่างครบถ้วน และทำให้เกิดผลเสียได้

หมายเลขบันทึก: 511050เขียนเมื่อ 5 ธันวาคม 2012 17:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท