การจัดการความล้า กับ ผู้รับบริการ และ นักศึกษา


เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการฝึกปฏิบัติงาน ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ..... 

การให้การประเมิน บำบัดและฟื้นฟูในผู้รับบริการอายุ 64 ปี ที่ได้รับการวินิจฉัยโรค Basilar invagination ด้วยอาการของโรค ผู้รับบริการเข้ารับการผ่าตัดที่บริเวณกระดูกสันหลังส่วนคอระดับที่ 2 จำนวน 4 ครั้ง.. 

หลังการผ่าตัดครั้งล่าสุด(สิงหาคม 2555) ผู้รับบริการมีร่างกายซีกซ้ายและขวาอ่อนแรง โดยร่างกายซีกซ้ายอ่อนแรงมากกว่าซีกขวาร่วมกับมีอาการชาบริเวณร่างกายซีกขวา.. 

ปัญหาที่สำคัญยิ่งของผู้รับบริการนอกจากการทำกิจวัตรประจำวัน การทำกิจกรรมการทำงาน และการรับรู้และประมวลผลความรู้สึก คือ"ปัญหาเรื่องความล้าของกล้ามเนื้อแขนทั้งสองข้างขณะทำกิจกรรม" ซึ่งส่งผลกระทบต่อการทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต ปัญหาดังกล่าวมีสาเหตุจากช่วงการเคลื่อนไหวที่จำกัดและการอ่อนแรงของกำลังกล้ามเนื้อที่มือ แขน ไหล่ทั้งสองข้าง ทำให้ผู้รับบริการมีความทนทานของกล้ามเนื้อแขนทั้งสองข้างในการทำกิจกรรมนาน 2 นาที..

การบำบัด ฟื้นฟูมีเป้าประสงค์หลักสองเป้าประสงค์คือ 

          1. เพิ่มช่วงการเคลื่อนไหวและกำลังกล้ามเนื้อของแขน มือ ไหล่ทั้งสองข้าง ตัวอย่างกิจกรรมเช่น กิจกรรมหยิบบล็อกหมากรุกที่ติดกับตีนตุ๊กแกใส่ตะกร้า เป็นต้น ซึ่งเป็นการแก้ที่สาเหตุปัญหาของผู้รับบริการ

          2. จัดการความล้าของผู้รับบริการขณะทำกิจกรรมการดำเนินชีวิต โดยการให้ผู้รับบริการแสดงความสามารถในการจัดการความล้าด้วยตนเอง คือการตระหนักรู้ตนเอง เมื่อเหนื่อยหรือล้า เมื่อตระหนักรู้แล้วผู้รับบริการจะนั่งนิ่งทำสมาธิ หลับตาโดยมีศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ เมื่อหายเหนื่อยหรือล้าแล้ว ผู้รับบริการจะกลับมาเริ่มทำกิจกรรมดังกล่าวอีกครั้ง ในส่วนการทำกิจวัตรประจำวันเช่น การอาบน้ำ การรับประทานอาหาร ได้มีการแนะนำแก่ผู้รับบริการและบุตรของผู้รับบริการในเรื่องการจัดอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อจัดการความล้าที่อาจเกิดขึ้นได้และเป็นการสงวนการสูญเสียพลังงาน เช่น ในการอาบน้ำด้วยการนั่งเก้าอี้และใช้ฟองน้ำถูตัวที่มีสายยืด การรับประทานอาหารโดยใช้ช้อน ส้อมที่เสริมด้ามแและมีแผ่นรองกันลื่นที่จาน เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้ เป็นการให้การบำบัด ฟื้นฟูแก่ผู้รับบริการ และสะท้อนการจัดการความล้าของตนเองของนักศึกษา........

เมื่อเข้าสู่สัปดาห์ที่ 3 ของการฝึกปฏิบัติงาน นักศึกษาเริ่มมีสัญญาณของร่างกาย บ่งบอกถึงความเหนื่อยง่าย ล้า พักผ่อนไม่เพียงพอ และด้วยสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลง ฝนตกหนัก ทำให้สุขภาพของนักศึกษามีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ไม่ดีนัก 

เมื่อสัญญาณดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น และมีการจัดการตนเองในด้านสุขภาพร่างกายและจิตใจเพื่อให้มีการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี ร่วมกับการสะท้อนการจัดการความล้าของผู้รับบริการคนดังกล่าว ทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้วิธีการจัดการความล้าของผู้รับบริการ การใช้สมาธิในการตระหนักรู้ตนเอง ตั้งสติอยู่ในความไม่ประมาทในการใช้ชีวิตต่อไป 

... ทำให้ได้ข้อคิดที่ว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และผู้รับบริการเป็นอาจารย์ที่สำคัญยิ่งที่ไม่เพียงให้ความรู้ในด้านกิจกรรมบำบัด แต่ยังให้ความรู้ในด้านการใช้ชีวิตและทำกิจกรรมการดำเนินชีวิตด้วยคุณภาพชีวิตที่ดี มีความสุขอีกด้วย...


หมายเลขบันทึก: 510585เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 23:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 ธันวาคม 2012 12:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท