"พี่หนาน"
นาย พรพจน์ พี่หนาน เรียงประพัฒน์

งานเทศน์มหาชาติ หรือ เดือนยี่ (บ้านผม)


สืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่ดีไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้รับรู้และร่วมด้วยช่วยกันอนุรักษ์ปฏิบัติสืบต่อกันต่อไป

๓๐/๑๑/๒๕๕๕

                ประเพณีที่หมู่บ้านแพะของผม กำหนดให้วันขึ้น ๑๓ ค่ำ ถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒ ของทุกปีเป็นช่วงเทศกาล “หยี่เป็ง” หรือ “เดือนยี่” คำว่า ยี่ หมายถึง  ๒ เป็ง หมายถึง วันเพ็ญ  หยี่เป็ง จึงหมายถึง วันเพ็ญเดือน ๒ นับปฏิทินตามแบบภาคเหนือ  จะนับข้ามกันไปหนึ่งเดือน ยกตัวอย่าง  วันเสียประจำเดือน ตามแบบภาคเหนือ ดังนี้

   เกี๋ยง(หนึ่ง), ห้า, เก้า    ระวิจั๋นทัง   เสียติ๊ด(อาทิตย์)กับจั๋นทร์

  หยี่(สอง), หก, สิบ  อังการัง  เสียอังคารวันเดียว

  สาม, เจ็ด, สิบเอ็ด  โสรีคุรุ(วันครู)  เสียเสาร์กับผัด(พฤหัสฯ)

  สี่, แปด, สิบสอง  สุโขพุโธ  เสียศุกร์กับปุ๊ด(พุธ)

            เดือนสิบสอง ตามปฏิทินภาคกลางจึงเท่ากับเดือน สอง ของภาคเหนือ วันเสียที่ห้ามชาวบ้านทำการมงคลใด ๆ เช่น แต่งงาน ยกเสาเอก ขึ้นบ้านใหม่ เป็นต้น ก็คือ วันอังคาร  นอกนั้นพิจารณาตามฤกษ์ยามต่าง ๆ ได้ตามสมควร หากเป็นงานบุญงานวัดก็ได้รับการยกเว้น เช่น งานกฐิน  งานเทศน์มหาชาติ ไม่เป็นไร

              ชาววัดบ้านแพะ โดยคณะกรรมการวัด หรือผู้สูงอายุ จะจัดให้มี “การเทศน์มหาชาติ”  กันขึ้น โดยมีการจัดเตรียมตกแต่งสถานที่ใกล้ธรรมาสน์ บริเวณศาลาวัดให้ดูเหมือนกับเป็นป่า หรือจำลองป่าหิมพานต์มาไว้ที่วัด เสร็จแล้วก็จะนิมนต์พระตามวัดต่าง ๆ (บ้านน้ำอ่าง 5 วัด บ้านเนินชัย บ้านน้ำลอก บ้านปางหมิ่น บ้านปางค้อ ที่มีภาษาพูดในท้องถิ่นเหมือนหรือเป็นหมู่บ้านคุ้นเคยกัน) มาแสดงธรรม โดยมีลักษณะการเทศน์ที่เป็นทำนองทางภาคเหนือ  พระท่านจะเทศน์เพียงกัณฑ์เดียว กัณฑ์ที่ท่านได้รับมอบหมายมาเท่านั้น  พระทางภาคเหนือจะไม่เหมือนทางภาคกลางคือ เวลาเทศน์ท่านจะไม่ได้เรียกร้องเอาค่านั่นค่านี่ เหมือนพระที่ทำขวัญและเทศน์มหาชาติทางภาคกลาง  ชาวบ้านเจ้าของกัณฑ์เทศน์จะเตรียมจัดของตกแต่งกัณฑ์เทศน์เป็นสมุด ดินสอ ปากกา ของใช้ ผงซักฟอก ของกิน ขนม  ข้าวต้มมัด เนื้อส้มห่อ (จิ๊นส้ม) อาหารแห้ง ฯลฯ และสิ่งที่ขาดไม่ได้ก็คือ “ยอดปัจจัย” (เงินเป็นปัจจัยให้เกิดบุญ) บูชากัณฑ์เทศน์ไปรวมกันที่วัด  ถ้าหากว่าชอบพระรูปใดที่เทศน์ดี เสียงเพราะคนที่ฟังอยู่ (ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเจ้าของกัณฑ์) ก็จะนำเงินไปใส่พานที่อยู่บนธรรมาสน์หรือด้านหน้าธรรมาสน์ที่พระท่านกำลังเทศน์อยู่ อาจไม่มากนัก ห้าบาท  สิบบาท หรือ ยี่สิบบาท เพื่อ “บูชาเสียง” ของท่าน

  หากว่าพระรูปใดเสียงดี เทศน์ทำนองไพเราะเสนาะโสดมาก ๆ ชาวบ้านก็จะยกเอาบันไดธรรมาสน์หลบออกไป เพื่อขอให้ท่านได้เทศน์กาพย์ประจำกัณฑ์นั้น ๆ อีกครั้ง โดยไม่ให้ท่านรีบลงธรรมาสน์ จนกว่าจะได้ฟังกาพย์ที่ต้องการเสียก่อนถึงจะลงธรรมาสน์ได้  ส่วนเนื้อหาของกัณฑ์เทศน์ที่แสดงนั้น ก็เหมือนกับทางภาคกลางนั่นแหละ แต่จะเขียนใหม่ใส่สมุดเป็นลักษณะแบบสำนวนและอ่านเป็นสำเนียงภาคเหนือ พระท่านก็จะหัดอ่านกันให้คล่องก่อนที่จะขึ้นเทศน์ให้ชาวบ้านฟัง การจัดลำดับการเทศน์ก็ไม่ได้เรียบเรียงตามลำดับเนื้อหาหรอก ว่ากันตามความสะดวกของพระที่ท่านเดินทางมาเทศน์ จะจัดก่อนหรือหลังก็ได้  ส่วนทำนองเทศน์นั้นก็มีหลายทำนอง (ภาคเหนือเรียกว่าระบำ) 

        รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเวสสันดรชาดกศึกษาได้จากเว็บต่อไปนี้

http://www.mcu.ac.th/site/thesiscontent_desc.php?ct=1&t_id=37 

(PDFด้านล่าง)    

         ฝ่ายชาวบ้านพ่อบ้าน แม่บ้าน หนุ่มสาว ก็จะจัดให้มี “การตั้งกัณฑ์ธรรม” หรือ “ตั้งกัณฑ์เทศน์” ได้ประชุมตกลงกับชาวบ้านว่า เดือนยี่ปีนี้ ควรเก็บเงินเข้ากองกัณฑ์ธรรมหลังคาเรือนละเท่าไหร่ดี  ในปีนี้ที่หมู่บ้านของผม จัดเก็บกันหลังคาเรือนละ  100 บาท  ซึ่งกัณฑ์ธรรมดังกล่าวนี้ ประกอบด้วยวัสดุ อุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ประโยชน์ในงานทำบุญต่าง ๆ  ก่อนจะหาซื้อมาก็สำรวจ สอบถามทางพระที่วัดและแม่บ้านกันก่อนว่า ทางวัดขาดเหลืออะไร หรือต้องการอะไรที่จำเป็นต่อการใช้งาน เมื่อมีงานบุญหรืองานวัดบ้าง  เช่น หม้อต้ม หม้อแกง เตา ถาด ถ้วย ชาม ช้อน ทัพพี  กระติกน้ำ ก็จะได้เตรียมจัดหาซื้อมาเป็นเครื่องกัณฑ์ธรรม

        กลุ่มหนุ่มสาว และกลุ่มพ่อบ้านแม่บ้าน  ช่วยกันจัดงานภายในบ้านโดยจัดที่บ้านของประธานกลุ่มแม่บ้าน  กลางคืนวันขึ้น  ๑๓ ค่ำเดือน ๑๒ และวันขึ้น ๑๔ ค่ำเดือน ๑๒ จะจัดให้มีรำวงย้อนยุค เพื่อหาเงินเข้าวัด นางรำก็ไม่ต้องไปหาที่ไหนไกลก็กลุ่มแม่บ้านและลูกสาวแม่บ้านนั่นแหละ

(ภาพรำวงย้อนยุคขอยืมมาจากงานกัณฑ์ธรรมบ้านน้ำลอกซึ่งเป็นหมู่บ้านใกล้เคียงกัน)

            เท่าที่ผมสังเกตระยะ ๓ ปีมานี้ รำวงย้อนยุคที่หมู่บ้านของผมและหมู่บ้านใกล้เคียงปัจจุบัน หารอบเก็บบัตรหรือสิทธิบัตรธรรมดาไม่มีแล้ว มีแต่บัตรรอบเหมาทุกรอบและรอบเหมารอบหนึ่งก็ไม่ใช่ถูก ๆ รอบละ  100 บาท หรืออาจจะกล่าวได้ว่า เพลงละ 100 บาท  แต่ใช่ว่าจะเพียงแค่เหมาคนเดียวเพลงเดียวนะ  รอบเหมารอบหนึ่งถ้าคนที่เหมามาเป็น เพลงเดียวกัน จังหวะเดียวกัน  คนเชียร์รำวง หรือคนประกาศรายชื่อ ก็จะอ่านและจัดรวบให้ไปพร้อมกันทีเดียวเลย  บางครั้งถึงหกคนก็มี และส่วนใหญ่ก็จะเหมากันคนละสองรอบ สองร้อยบาท  หนึ่งเพลงก็คิดเป็นเงินได้ถึง  หนึ่งพันสองร้อยบาททีเดียว ก็ไม่ได้คิดและถือสาอะไรกันมาก  ถือเสียว่าพวกเราช่วยกันหาเงินเข้าวัดได้ความรักความสามัคคี ได้ความสนุกสนาน และที่สำคัญได้บุญได้กุศลร่วมกัน

         บางท่านอาจจะสนใจเกี่ยวกับจังหวะรำวงย้อนยุคอยู่บ้างก็ลองหาฟังเพลงตามตัวอย่างจังหวะและรายชื่อดังต่อไปนี้ดู  เผื่อว่าจะได้ฟังเพลงเก่าเพราะ ๆ พร้อมกับฟื้นฟูความทรงจำในอดีตขึ้นมาบ้างก็ได้นะครับ

จังหวะ บีกิน

เพลงรักพิลึก ไวพจน์ เพชรสุพรรณ์

เพลงรักแม่ม่าย  ก๊อต จักรพรรณ์

จังหวะปาทังก้า

เพลงดูพระจันทร์

เพลงรักริงโง  ก๊อต จักรพรรณ์

จังหวะ ม้าย่อง

เพลงบ้านใกล้เรือนเคียง

จังหวะแมมโบ้

เพลินเพลงแมมโบ้(ชะชะช่า)

จังหวะรำเต้ย

เพลงรำเต้ย เบญจมินทร์

เพลงรำเต้ย  สายัณห์ สัญญา

จังหวะรำวง

เพลงสาละวันรำวง

เพลงอายจันทร์

เพลงรำวงสระบุรี

เพลงสัจจะชาวนา

จังหวะรุมบ้า

เพลงหลงเสียงนาง  โชคชัย

เพลงทำบุญร่วมชาติ  ชาย

เพลงแสนงอน

เพลงไอ้หนุ่มตู้เพลง  ยอดรัก

จังหวะวอลซ์ (ช้า)

เพลงพี่ยังรักเธอไม่คลาย เบิร์ด ธงไชย

เพลงอาลัยรัก ชรินทร์ นันทนาคร

จังหวะสามช่า(คาลิปโซ่)

เพลง กาคาบพริก  ทศพล หิมพานต์

เพลงชวนชม

เพลง แหวนหมั้น

เพลงแตงเถาตาย

เพลงหลงป่า  ทศพล+รุ่ง สุริยา

เพลงผ้าห่มสาว

จังหวะ อ๊อฟบีท

เพลง ชั่วเจ็ดทีดีเจ็ดหนพุ่มพวง

เพลง เพ็ญโสภา ธานินทร์

จังหวะกลองยาว

เพลงคนขายเลือด

เพลงลูกทุ่งกลองยาว

เพลงมาลัยน้ำใจ  ชาย

เพลง ทหารใหม่ไปกอง  ยอดรัก

จังหวะกัวล่ะช่า

เพลงทุกข์ร้อยแปด  ชาย เมืองสิงห์

เพลงรักกลางจันทร์  กุศล กมลสิงห์

เพลงเรชอนหาคู่

จังหวะเชิ้ง 

เพลงแม่สาวคนโก้

เพลงอีสานบ้านเฮา

จังหวะแซมบ้า

เพลงสุดบูชา

เพลงน้ำมันขาดแคลน

ตุแว๊ว

จังหวะตะลุง

เพลงคนดีของแม่

เพลง  รักอย่างแรง

เพลงรักสาวอุตรดิตถ์

จังหวะคองก้า

ยอดรักลาก่อน

จังหวะซันตาน่า

ใจเย็น ๆ น้องแดง

 จังหวะนีัจะหาเพลงที่ตรงกับเพลงไทยยากไปสักหน่อย

            หากมองไปอีกอย่างอาจกล่าวได้ว่าหมู่บ้านของผมนี้เศรษฐกิจดี การเงินหาง่ายใช้คล่อง ผู้คนมีงานทำตลอดปี ไม่มีตกงาน  ทั้งงานไร่ข้าวโพด ถั่ว มันสำปะหลัง  งานนา ข้าวปี ข้าวปรัง  รับจ้าง  เลี้ยงสัตว์  ค้าขาย  หาของป่าขาย งานสวนยาง มีให้ทำกันตลอดทั้งปี  หากว่าใครคนใดขยันแล้วไม่มีวันอดตาย  นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ออกไปทำร้านยางอยู่ต่างจังหวัดตามปั๊มน้ำมันใหญ่ ๆ อีกจำนวนมากที่มีรายได้ดี  การเหมารำวงย้อนยุครอบละ 100 - 200 บาท จึงไม่ใช่เรื่องน่าหนักใจอะไรเลย กลับเป็นผลดีต่อชุมชน/หมู่บ้าน/วัด เสียด้วยซ้ำไป

 

หมายเลขบันทึก: 510499เขียนเมื่อ 30 พฤศจิกายน 2012 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กันยายน 2013 08:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ขอบคุณคุณเมืองน่ารักมากนะครับที่ให้กำลังใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท