แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง


แนวคิดทฤษฎีเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการเมือง

  คำว่า พฤติกรรม  หมายถึง  การกระทำ  หรือการที่แสดงออกทางกล้ามเนื้อ ความคิด

และความรู้สึกเพื่อตอบสนองสิ่งเร้า พฤติกรรมจัดเป็นกิจกรรมต่าง ๆ ที่อินทรีย์เป็นผู้กระทำ ทั้งที่แสดงออกมาให้เห็น รวมทั้งที่ซ้อนเร้นไว้ภายใน และพฤติกรรมนั้นบุคคลอื่นสามารถสังเกตเห็นได้ดี เช่น การนอน การเคลื่อนไหว อิริยาบถและกิริยาท่าทางต่าง ๆ จัดเป็นพฤติกรรมภายนอก ส่วนการกระทำภายในบุคคล ซึ่งผู้อื่นไม่สามารถรับรู้ หรือสามารถสังเกตได้โดยตรง แต่ใช้เครื่องมือวัดได้ เช่น เราสามารถวัดความดันเลือด การเปิดของม่านตา คลื่นสมอง แรงต้านทานไฟฟ้าของผิวหนัง เป็นต้น เหล่านี้จัดเป็นพฤติกรรมภายใน  ส่วนทรงพล  ภูมิพัฒน์  (2541 : 18-19)  กล่าวถึงความหมายของพฤติกรรม   คือ  การแสดงออกซึ่ง ปฎิกิริยาอาการ หรือ การกระทำของมนุษย์(และสัตว์ด้วย) พฤติกรรมแบ่งออกเป็น  2  ประเภท คือ

  1. พฤติกรรมภายนอก  (Overt Behavior) ได้แก่ พฤติกรรมที่ผู้อื่นสามารถสังเกต  ได้โดยตรงจากประสาททั้ง 5 ( หู ตา จมูก ปาก และผิวหนัง)  พฤติกรรมภายนอก  แยกได้เป็น

  1.1 พฤติกรรมที่สังเกตได้โดยตรงไม่ต้องใช้เครื่องมือช่วย  (บางท่านเรียกว่า

พฤติกรรมโมล่าร์  : Molar behavior) เช่น หัวเราะ ร้องไห้ อ้าปาก  กระโดด

1.2  พฤติกรรมที่สังเกตได้โดยตรง  โดยใช้เครื่องมือช่วย  เรียกพฤติกรรมประเภทนี้ว่า พฤติกรรมโมเลกุล(Molecular  behavior) เช่น การเดินของหัวใจ , ความดันของโลหิต , ความต้านทานกระแสไฟฟ้าที่ผิวหนัง

   2. พฤติกรรมภายใน (Covert Behavior) ได้แก่ พฤติกรรมที่เกิดขึ้นภายในตัวของบุคคล จะโดยรู้สึกตัว หรือไม่รู้สึกตัวก็ตาม ปกติผู้อื่นจะไม่สามารถสังเกตพฤติกรรมประเภทนี้ได้โดยตรง ถ้าไม่บอก ไม่แสดงออกมาให้เป็นที่สังเกต พฤติกรรมภายในจึงเป็นเรื่องของประสบการณ์ส่วนบุคคล(Private Experience)  ตนเท่านั้นรู้ ตัวอย่างเช่น ความคิด ความจำ จินตนาการ ความฝัน และพฤติกรรมการรู้สึกต่าง ๆ เช่น กลัว เสียใจ หิว เจ็บ เพลีย ฯลฯ

    2.1 พฤติกรรมภายในที่เกิดขึ้นโดยรู้สึกตัว เช่น หิว เหนื่อย ตื่นเต้น ชื่นชม พฤติกรรมเหล่านี้ เจ้าของพฤติกรรมรู้สึกตัวว่ามันเกิด แต่เจ้าของพฤติกรรมอาจจะควบคุม หรือเก็บความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ ไม่แสดงออกซึ่งกิริยาอาการหรือสัญญาณใดๆ

    2.2  พฤติกรรมภายในที่เกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัว  พฤติกรรมบางอย่างเกิดขึ้นภายใน โดยบางครั้งบุคคลไม่รู้สึกตัว แต่มีผลต่อพฤติกรรมภายนอกของบุคคลผู้นั้น เช่น ความขลาด หวาดกลัว  ความคิด ความคาดหวัง  ความปรารถนา  ความสุขใจ

  และ ศันสนีย์  ตันติวิท (2543 : 33-34) ได้กล่าวถึงพฤติกรรมที่แตกต่างไปบ้าง แต่โดยความหมายแล้วมีความสอดคล้องกันคือ พฤติกรรมบางอย่างเราสามารถรับรู้ได้ด้วยอวัยวะรับความรู้สึก (Sense organ) เช่นเวลาเรายืน นั่ง พูดคุย ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ แต่พฤติกรรมบางอย่างเราสังเกตเห็นไม่ได้ อาจรู้ได้โดยมีเครื่องมือวัดพฤติกรรม เช่น เครื่องมือจับเท็จ เราอาจแบ่งพฤติกรรมเป็น  2  แบบ  คือ

แบบที่  1  Special  pattern เป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นจากการทำงานของร่างกายหลาย ๆ ส่วนร่วมกัน เช่น การเคลื่อนไหวของนิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ เวลาถือของเล็กๆ

แบบที่  2  Temporal  pattern เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากการทำงานของร่างกายต่อเนื่องกัน เวลาที่เรายื่นมือไปหยิบวัตถุ เราต้องใช้สายตามองดูวัตถุพร้อมกับยื่นมือไปหยิบวัตถุนั้น

  กล่าวโดยสรุป พฤติกรรมเป็นการแสดงออกโดยรวมของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ทั้งเป็นการแสดงออกภายนอก และการแสดงออกภายใน การจะศึกษาพฤติกรรมให้เข้าใจจะต้องทำความเข้าใจเกี่ยวทฤษฎีพฤติกรรมดังนี้

1.ทฤษฎีพฤติกรรม

   ทฤษฎีพฤติกรรม เป็นการศึกษาแนวคิดเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักจิตวิทยา ที่ได้ศึกษาค้นคว้าพฤติกรรมของมนุษย์ ในที่นี้จะขอกล่าวถึงทฤษฎีที่สำคัญ 2 ทฤษฎีคือ

  1) ทฤษฎีจิตวิเคราะห์  (Psychoanalysis  theory) ผู้นำเสนอทฤษฎีนี้คือ ซิกมันด์  ฟรอยด์  นักจิตวิทยาชาวออสเตรีย  เขากล่าวถึงพฤติกรรมของมนุษย์ไว้ว่า พฤติกรรมเกิดจากพลังของจิต 2 ลักษณะคือ จิตสำนึก (Conscious) และจิตใต้สำนึก (Unconscious) นั่นคือพฤติกรรมที่แสดงออกมาถูกควบคุมโดยจิตสำนึก แต่จิตสำนึกนั้นจะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยแรงกระตุ้นผลักดันจากภายในอันได้แก่ จิตไร้สำนึก ซึ่งเป็นที่รวมของความต้องการ ความปรารถนา และความเก็บกดต่าง ๆ ดังนั้นจิตใต้สำนึกจึงเป็นพลังงานอันก่อให้เกิดการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ออกมา

  2) ทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  (Behavioral theory) กลุ่มทฤษฎีพฤติกรรมนิยมกลุ่มแรกที่ให้คำอธิบายเกี่ยวกับบุคลิกภาพตามแนวคิดของทฤษฎีพฤติกรรมนิยม  คือ พาฟลอฟ  วัตสัน  และ สกินเนอร์  ซึ่งได้นำเสนอทฤษฎีการเรียนรู้แบบคลาสสิก  และลงมือกระทำ นักคิดในทฤษฎีกลุ่มนี้ไม่ค่อยให้ความเชื่อถือแรงจูงใจภายในตัวบุคคล ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดลักษณะพฤติกรรมและบุคลิกภาพ แต่ให้ความสนใจกับสิ่งเร้าภายนอก รวมทั้งกระบวนการให้การเสริมแรงมากกว่าโดยให้ความเห็นว่า บุคคลจะมีบุคลิกภาพเช่นไร  ขึ้นอยู่กับเขาได้รับการเสริมแรงจากบุคคลและกลุ่มสังคมในวัยที่ผ่านมาอย่างไร เช่น คนที่มีนิสัยก้าวร้าว อาจเกิดจากการที่เมื่อเขาก้าวร้าวแล้ว ได้รับการชื่นชม (เสริมแรงบวก)  คนขี้อาย อาจได้รับการชมเชยเมื่อแสดงความขี้อาย (เสริมแรงบวก) หรือถูกทำโทษเมื่อแสดงตน(เสริมแรงบวก) นอกจากนั้นแล้ว ทฤษฎียังเชื่อว่า พฤติกรรมหรือบุคลิกภาพของบุคคลเกิดจากการสังเกตตัวแบบ แล้วมีการเลียนแบบเกิดขึ้น อย่างไรก็ดีนักทฤษฎีกลุ่มนี้มักถูกวิพากษ์ว่า อธิบายบุคลิกภาพของบุคคลอย่างผิวเผิน โดยลืมนึกถึงพลังขับด้านชีวภาพและด้านความรู้ความคิดซึ่งเป็นพลังขับที่สำคัญในการกำหนดลักษณะพฤติกรรมและบุคลิกภาพของบุคคลเช่นเดียวกัน

2. พฤติกรรมทางการเมือง

   พฤติกรรมทางการเมือง เป็นการแสดงออกทางการเมือง ซึ่งจะมีผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ดังนั้นพฤติกรรมทางการเมืองจึงเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมือง เช่น การเลือกตั้ง ได้แก่ การไปใช้สิทธิเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง การเข้ารับสมัครรับเลือกตั้ง เป็นต้น การเข้าร่วมประชาพิจารณ์ การเข้าร่วมต่อสู้ทางการเมือง  ซึ่งณรงค์  สินสวัสดิ์ (2539 : คำนำ) กล่าวว่า พฤติกรรมทางการเมืองของบุคคล เช่น การเข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมืองในระดับต่าง ๆ การไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง การช่วยพรรคการเมืองหาเสียง การลงสมัครรับเลือกตั้ง การเดินขบวนหรือแสดงออกซึ่งการคัดค้านรัฐบาล การเลือกพรรคการเมืองที่เห็นว่าดีที่สุด การเลือกอุดมการณ์ทางการเมืองที่เห็นว่าดีที่สุด รวมไปถึงพฤติกรรมของผู้นำการเมือง เป็นต้น พฤติกรรมทางการเมืองที่มีลักษณะเด่นคือ การมีส่วนร่วมทางการเมือง ดังรายละเอียดดังนี้

3.การมีส่วนร่วมทางการเมือง

   มีผู้ให้นิยามความหมายของคำว่า  การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองไว้มากมาย

และ  Myron  Weiner (อ้างในสิทธิพันธ์  พุทธหุน  :  2542)ได้สรุปนิยามที่มักจะใช้นำมาอ้างกันโดยทั่ว ๆ ไป  โดยแบ่งออกเป็น  10  ความหมายด้วยกัน  คือ

1. หมายถึงการให้การสนับสนุนและการเรียกร้องต่อผู้นำในรัฐบาล  เพื่อให้สนอง

ตอบต่อความต้องการใด ๆ

  2. หมายถึงความพยายามที่จะสร้างผลกระทบ  ต่อการดำเนินงานของรัฐบาลที่ได้ผลและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

  3. หมายถึง  กิจกรรมทางการเมืองที่ถูกต้องตามกฎหมาย  เช่น  การออกเสียง  การยื่นข้อเรียกร้อง  การประท้วง  การลอบบี้  เป็นต้น

    4. หมายถึง การใช้สิทธิเลือกตั้งตัวแทนเข้าไปใช้อำนาจแทนตนเอง 

    5. หมายถึง  ความรู้สึกแปลกแยกหรือตีตนออกจากระบบการเมืองอันเนื่องมาจากการถูกกีดกันไม่ให้เขาได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วม  พวกนี้มีศักยภาพที่จะกลับเข้ามาแก้ไข  เปลี่ยนแปลงระบบการเมืองเพื่อให้เป็นไปตามแนวทางที่พวกเขาเห็นว่าเหมาะสมหรือยุติธรรมกว่าเก่า

  6. หมายถึงกิจกรรมของพวกที่ตื่นตัวในทางการเมือง  ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้รวมไปถึงการพูดคุย  ถกเถียงปัญหาในทางการเมืองก็ได้  ไม่จำเป็นเสมอไปว่าจะต้องอยู่ในรูปของการใช้สิทธิเลือกตั้ง

  7. หมายถึง  กิจกรรมทางการเมืองทุกชนิด  ทั้งแบบที่ใช้ความรุนแรง  และแบบที่ไม่ใช่ความรุนแรง

  8. หมายถึง  กิจกรรมทางการเมืองและกิจกรรม  ที่ต้องการเข้าไปมีอิทธิพลต่อการดำเนินการของข้าราชการด้วย

  9. หมายถึง  กิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทบต่อการเมืองระดับชาติ  แต่บางคนมองว่าจะต้องรวมถึงกิจกรรมที่กระทบต่อองค์กรส่วนท้องถิ่นด้วย

    10. หมายถึง  กิจกรรมทุกชนิดที่เป็นการเมือง

    อย่างไรก็ตาม  Weiner (อ้างใน สิทธิพันธ์  พุทธหุน  :  2542)  ได้สรุปนิยามของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองโดยใด้แจกแจงเป็นองค์ประกอบย่อย  ๆ  2  ประการด้วยกัน  คือ

    1. จะต้องมีกิจกรรม  เช่น การพูด  คุย  และร่วมดำเนินการใด ๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึงทัศนคติหรือความรู้สึก

  2.จะต้องมีกิจกรรมในลักษณะที่เป็นอาสาสมัครจะต้องมีข้อเลือกหรือทางให้เลือกมากกว่าหนึ่งเสมอ

  ส่วน Robert  Dahl (อ้างใน สิทธิพันธ์  พุทธหุน. 2538 : 152-155) ได้กล่าวถึงการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. กลุ่มที่ไม่สนใจการเมือง (apologetical  strata) กลุ่มนี้ประกอบด้วยบุคคลที่ไม่ยินดียินร้าย  ไม่มีความตื่นตัวกระตือรือร้นทางการเมือง ส่วนสาเหตุที่ทำให้บุคคลไม่สนใจการเมืองนั้นสรุปดังนี้

    1.1 พวกคิดเชิงเปรียบเทียบ ซึ่งคิดว่าถ้าเขาดำเนินกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่กิจกรรมทางการเมืองจะได้รับผลประโยชน์หรือได้รับค่าตอบแทนที่มีคุณค่าสูงกว่ากิจกรรมทางการเมือง

  1.2 ตัวเลือกหรือทางเลือกไม่แตกต่างกัน ถึงแม้ไม่ไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งก็ไม่เป็นไร

   1.3 การเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางการเมืองไม่มีผลผิดแผกไปจากเดิม

    1.4 ผลที่ได้จากกิจกรรมทางการเมืองเป็นไปตามที่คนปรารถนา สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับทุกคนค่อนข้างแน่นอน แม้ว่าตนจะไม่ไปใช้สิทธิหรือเข้าไปมีส่วนร่วมด้วยก็ตาม

    1.5 มองว่าการเมืองเป็นเรื่องสลับซับซ้อน  ต้องมีความเชี่ยวชาญชำนาญในทางนี้ หรือไม่ก็ต้องมีการศึกษา มีความรู้ดี ส่วนพวกตนมีความรู้น้อยเกินไปที่จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างมีประสิทธิภาพ

    1.6 กระบวนการในระบบการเมือง ตลอดจนวิธีการในการเข้าไปมีส่วนร่วมที่ซับซ้อน หยุมหยิมเกินความจำเป็นก็นับเป็นอุปสรรคที่สำคัญยิ่งที่ทำให้บุคคลเพิกเฉย ไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในทางการเมือง

  2. กลุ่มการเมือง (political  strata) บุคคลกลุ่มนี้ประกอบไปด้วยผู้ที่ให้ความสนใจและแสวงหาข่าวสารทางการเมืองอย่างสม่ำเสมอมีความห่วงใยและรู้ดีว่าตนเองสามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ และพวกนี้จะเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองอย่างแท้จริง มีความตื่นตัว และจะพยายามที่จะแสวงหาอำนาจทางการเมือง หรือไม่ก็เข้าไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจทางการเมืองในรูปใดรูปหนึ่ง บุคคลในกลุ่มนี้อาจแบ่งออกได้อีกเป็น 2 กลุ่มย่อย ๆ ด้วยกันคือ

   2.1 กลุ่มที่แสวงหาอำนาจ (power  seekers) กลุ่มนี้ประกอบไปด้วยบุคคลที่พยายามใช้ทรัพยากรหรือสิ่งที่มีคุณค่าที่มีอยู่ทุกชนิดเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ โดยสรุปแล้วพวกนี้จะใช้ข้ออ้างของการแสวงหาอำนาจของตนเองดังต่อไปนี้

  2.1.1 เพื่อประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวม

  2.1.2 เพื่อประโยชน์ส่วนตน

  2.1.3 เพื่อเป็นการสนองตอบต่อแรงกระตุ้นจากจิตใต้สำนึก เช่น ต้องการให้ได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อใช้อำนาจนั้นเป็นเครื่องมือเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตนเองถูกกีดกันในตอนวัยเยาว์ เป็นต้น

   2.2 กลุ่มผู้นำที่มีอำนาจ (powerful  elites) หมายถึงกลุ่มบุคคลที่สามารถนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาใช้อย่างมีประสิทธิภาพและชำนาญกว่าในการให้ได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

  ถ้าเรามองว่า การเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งของสังคมที่ทันสมัย และสังคมที่ทันสมัยแล้วนั้นมีพื้นฐานสำคัญในทางการเมืองของระบบการเมืองที่พัฒนาแล้ว เราจะพบว่าการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองมีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาการเมือง โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่ และประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลกซึ่งต่างก็พยายามเปิดโอกาสให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ประเทศที่ยึดเอาอุดมการณ์ประชาธิปไตยเป็นหลักในการปกครอง ยึดหลักการปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน ก็จำเป็นต้องส่งเสริมให้ประชาชนภายในประเทศเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองและโดยใช้การเข้าไปมีส่วนร่วมทางการเมืองนี้เองที่ผู้ปกครองอ้างในความชอบธรรมของอำนาจ

    นอกจากจะศึกษาการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนแล้ว  สิ่งสำคัญที่น่าจะศึกษาต่อไปก็คือ รูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง นั้นมีรูปแบบเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับรูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองดังนี้

4.รูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง

    เนื่องจากการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองเป็นปรากฏการณ์ของกิจกรรมทางการเมืองหลายอย่างรวมกันอยู่ ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ต่างก็มุ่งที่จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลทั้งสิ้น รูปแบบต่าง ๆ ของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือในแต่ละสังคมอาจเน้นหรือให้ความสำคัญแตกต่างกัน ไป บางสังคมอาจให้ความสำคัญกับการไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งระดับชาติ แต่บางสังคมอาจเข้าไปมีส่วนร่วมในรูปของการเดินขบวนประท้วงรัฐบาลก็ได้ นอกจากนี้ในการที่บุคคลแต่ละคนจะยึดเอาการเข้ามีส่วนร่วมในรูปแบบใด ๆ เป็นแนวทาง ย่อมที่จะต้องมีกระบวนการที่แตกต่างกันไปด้วย พวกที่เข้าไปช่วยหาเสียงให้ผู้สมัครรับการเลือกตั้ง อาจดำเนินการได้โดยเข้าเป็นสมาชิกพรรคนั้น ๆ ปฏิบัติการไปตามแนวทางหรือแนวนโยบายที่พรรควางไว้ให้ ส่วนพวกที่ติดต่อโดยตรงกับผู้แทนราษฎรเพื่อหวังที่จะให้ผู้แทนช่วยเหลือการใด ๆ ก็ย่อมที่จะใช้กระบวนการที่ต่างกันไป ดังนั้น สิทธิพันธ์ พุทธหุน (2538 : 158-161) จึงกล่าวถึงรูปแบบต่าง ๆ ของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบคือ

  1.การใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นกิจกรรมของบุคคลแต่ละคนในการเลือกตัวแทนของตนเข้าไปมีอำนาจในการปกครอง สิทธิในการเลือกตั้งจึงอาจนับได้ว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญยิ่งในการควบคุมรัฐบาล แต่การไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งจะแตกต่างกันไป จากกิจกรรมการเข้ามีส่วนร่วมในรูปแบบอื่น ๆ ที่สังคมเป็นผู้กำหนดโอกาสให้ เช่น 4 ปีต่อครั้ง จึงทำให้ความรู้สึกสร้างสรรค์ของคนมีน้อยมาก

  2.กิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเป็นกิจกรรมในลักษณะเดียวกับการใช้สิทธิเลือกตั้ง แต่เป็นรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียง กิจกรรมนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ประชาชนอาจใช้เพื่อเพิ่มอิทธิพลที่เขาพึงมีต่อผลของการเลือกตั้งนอกเหนือไปจากเสียง1 เสียงที่เขาได้จากสิทธิในการเลือกตั้งแล้ว กิจกรรมรณรงค์หาเสียงนี้นับเป็นกิจกรรมที่ค่อนข้างยากเมื่อเปรียบเทียบกับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง

  3.กิจกรรมของชุมชนเป็นกิจกรรมของกลุ่มหรือองค์กรที่ราษฎรร่วมกันดำเนินการ เพื่อแก้ไขปัญหาทางสังคมและการเมือง ในกรณีนี้ราษฎรจะร่วมมือกันเพื่อใช้อิทธิพลต่อการดำเนินงานของรัฐบาล กิจกรรมในรูปแบบนี้เป็นไปอย่างมีเป้าหมายที่แน่นอนและมีอิทธิพลมาก

  4.การติดต่อเป็นการเฉพาะ เป็นรูปแบบสุดท้ายของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง และจะเกี่ยวเนื่องกับราษฎรรายบุคคลไปติดต่อกับเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการเพื่อให้แก้ไขปัญหาใด ๆ เฉพาะตัวหรือของครอบครัว กิจกรรมในรูปแบบนี้มีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลน้อยมาก

    Huntington  กับ  Nelson (อ้างใน ประหยัด  หงษ์ทองคำ. 2526 : 56-58) ได้จำแนกรูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองในลักษณะที่คล้ายคลึงกัน แต่ก็ได้เพิ่มเติมในบางรูปแบบเพื่อให้สมบูรณ์และครอบคลุมเนื้อหามากยิ่งขึ้น ดังนี้

  1.กิจกรรมการเลือกตั้ง หมายถึง รวมถึงกิจกรรมการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และการเข้าร่วมรณรงค์หาเสียงในการเลือกตั้งด้วย

  2.การลอบบี้ (lobby) หมายถึง การเข้าหาเจ้าหน้าที่หรือผู้นำทางการเมืองเพื่อหาทางเข้าไปมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายของรัฐบาลโดยให้ข้อมูลต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มเป็นเกณฑ์

  3.กิจกรรมองค์กร เป็นกิจกรรมทางการเมืองของกลุ่มองค์กรใด ๆ โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเข้าไปมีอิทธิพลต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์เฉพาะอย่าง หรืออาจเป็นผลประโยชน์สูงสุดของส่วนรวมก็ได้

  4.การติดต่อ หมายถึง การเข้าหาเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือข้าราชการเป็นการส่วนตัวโดยปกติจะมุ่งหวังผลประโยชน์ส่วนตัวหรือครอบครัว

  5.การใช้กำลังรุนแรง คือกิจกรรมที่พยายามจะสร้างผลกระทบต่อการตัดสินนโยบายของรัฐบาลโดยการทำร้ายร่างกายหรือทำลายทรัพย์สิน กิจกรรมนี้อาจดำเนินไปโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะเปลี่ยนแปลงผู้นำทางการเมือง เช่น กิจกรรมรัฐประหาร การลอบสังหารผู้นำทางการเมือง หรืออาจจะมุ่งที่จะเปลี่ยนแปลงระบบการเมือง เช่น การทำปฏิวัติก็ได้

    ส่วน  Almond  กับ  Powell (อ้างใน ประหยัด  หงษ์ทองคำ. 2526 : 59) ได้จำแนกรูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองที่ค่อนข้างจะละเอียด กระจ่างชัดและครอบคลุมเนื้อหากว่าการจำแนกข้างต้น ในการนี้ Almond  และ  Powell  ได้แบ่งรูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมืองออกเป็น 2 รูปแบบใหญ่ คือ แบบ Conventional  กับ  Unconventional  และในแต่ละรูปแบบยังจำแนกออกเป็นแบบย่อย ๆ อีกจำนวนหนึ่ง ดังตารางต่อไปนี้

ตารางที่ 2.1 รูปแบบของการเข้ามีส่วนร่วมทางการเมือง

  Conventional  Forms    Unconventional  Forms


1. การออกเสียงเลือกตั้ง  1. การยื่นข้อเสนอเรียกร้อง

2. การพูดจาปรึกษาเรื่องการเมือง  2. การเดินขบวน

3. กิจกรรมการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้ง  3. การเข้าประจัญหน้ากัน

4. การจัดตั้งและการเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มต่าง ๆ  4. การละเมิดกฎระเบียบของสังคม

5. การติดต่อส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ทางการเมือง  5. การใช้ความรุนแรง

  และการบริหาร  5.1 ประทุษร้ายต่อทรัพย์

  5.2 ประทุษร้ายต่อบุคคล

  6. สงครามกองโจรและการปฏิวัติ

หมายเลขบันทึก: 510415เขียนเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2012 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 18:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท