งานสารทเดือนสิบ


ประเพณีสารทเดือนสิบ

ช่องของการทำบุญเดือนสิบ  จะมีวันที่ถูกกำหนดเพื่อดำเนินการเรื่อง  “หฺมฺรับ” อยู่หลายวัน และจะมีชื่อเรียกแตกต่างกัน กล่าวคือ

วันหฺมฺรับเล็ก  ตรงกับวันแรม ๑ ค่ำเดือนสิบ  เชื่อกันว่าเป็นวันแรกที่วิญญาณของบรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วได้รับอนุญาตให้กลับมาเยี่ยมลูกหลาน  ซึ่งลูกหลานจะจัดสำหรับอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัด  เป็นการต้อนรับ  บางท้องถิ่นเรียกวันนี้ว่า  “วันรับตายาย”

วันจ่าย ตรงกับวันแรม ๑๓ ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่คนนครต้องตระเตรียมข้าวของสำหรับจัดหฺมฺรับ  โดยไปตลาดเพื่อจัดจ่ายข้าวของเป็นการพิเศษกว่าวันอื่นๆ

วันยกหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๔ค่ำเดือนสิบ เป็นวันที่ลูกหลานร่วมกันแบกหาม  หรือ ทูนหฺมฺรับที่จัดเตรียมเรียบร้อยแล้ว ไปถวายพระที่วัด อาจจะรวมกลุ่มคนบ้านไกล้เรือนเคียงไปเป็นกลุ่มตามธรรมชาติ หรือบางทีอาจจะจัดเป็นขบวนแห่เพื่อความคึกคักสนุกสนานก็ได้

วันหฺมฺรับใหญ่ หรือวันหลองหฺมฺรับ ตรงกับวันแรม ๑๕ ค่ำเดือนสิบ  เป็นวันที่นำอาหารคาวหวานไปทำบุญเลี้ยงพระที่วัดครั้งใหญ่  ทำพิธีบังสุกุล  อุทิศส่วนกุศลให้บรรพชน  และตั้งเปรตเพื่ออุทิศส่วนกุศล  ให้วิญญาณที่ไม่มีลูกหลานมาทำบุญให้  ขณะเดียวกันก็ทำพิธีฉลองสมโภชหฺมฺรับที่ยกมา

การจัดหฺมฺรับ ส่วนใหญ่การจัดหฺมฺรับ  ส่วนใหญ่จะใช้ของแห้งที่เก็บไว้ได้นาน  เพราะสะดวกในการจัดเก็บและรักษา  โดยนิยมจัดในภาชนะกระบุง  กะละมัง  ถัง ถาด วิธีจัดจะใส่ข้าวสารรองชั้นล่าง  ตามด้วยเรื่องปรุงพวกของแห้งที่ใช้ในครัว  ชั้นถัดมาเป็นพวกอาหารแห้ง  หยูกยา  หมากพลู และของใช้จำเป็นประจำวัน  ส่วนหัวใจของหฺมฺรับที่เป็นเอกลักษณ์ขาดไม่ได้มี ๕ อย่าง (บางแห่งมี๖อย่าง) เป็นคติความเชื่อที่ใช้รูปทรง  ลักษณะของขนมเป็นสัญลักษณ์แทนสิ่งจำเป็น  และควรมีสำหรับเปรต  คือ ขนมพอง ขนมลา ขนมบ้า ขนมดีซำ ขนมกง(ไข่ปลา) และลาลอยมัน

ขนมที่ใช้ในการจัดหฺมฺรับ

ขนมพอง  เป็นสัญลักษณ์แทนเรือ  แพ  ที่บรรพบุรุษใช้ข้ามห้วงมหรรณพ เหตุเพราะขนมพองนั้นแผ่ดังแพมีน้ำหนักเบาย่อมลอยน้ำ  และขี่ข้ามได้

ขนมลา  เป็นสัญลักษณ์แทนแพรพรรณ  เครื่องนุ่งห่ม เหตุเพราะขนมลามีรูปทรงดังผ้าถักทอ  พับ  แผ่ เป็นผืนได้

ขนมบ้า  เป็นสัญลักษณ์แทนลูกสะบ้า  สำหรับใช้เล่นต้อนรับสงกรานต์  เหตุเพราะขนมบ้ามีรูปทรงคล้ายลูกสะบ้า  การละเล่นที่นิยมในสมัยก่อน

ขนมดีซำ  เป็นสัญลักษณ์แทนเงิน เบี้ย สำหรับใช้สอย  เหตุเพราะรูปทรงของขนมคล้ายเบี้ยหอย

ขนมกง(ไข่ปลา)  เป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องประดับ  เหตุเพราะรูปทรงมีลักษณะคล้ายกำไล  แหวน

ลาลอยมัน  เป็นสัญลักษณ์แทนฟูก  และหมอน ซึ่งมีในบางท้องถิ่น

การตั้งเปรต

ในการทำบุญสารทเดือนสิบ  ลูกหลานจะทำขนม  หรืออาหารนำไปวางในที่ต่างๆของวัด  ตั้งที่ศาลาซึ่งเป็นศาลาสำหรับเปรตทั่วไป  และริมกำแพงวัด  หรือใต้ต้นไม้  สำหรับเปรตที่ปราศจากญาติ  หรือญาติไม่ได้ทำบุญอุทิศให้  หรือมีกรรมไม่สามารถเข้าในวัดได้  พิธีกรรมทำบุญอุทิศส่วนกุศลทำได้โดยการแผ่ส่วนกุศล และกรวดน้ำอุทิศให้  เมื่อเสร็จลูกหลานจะมีการแย่งชิงขนม  และอาหารกันที่เรียกว่า  “ชิงเปรต”

การชิงเปรต  เป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นหลังจากการอุทิศส่วนกุศลแก่เปรต  โดยมีพระสงฆ์สวดบังสุกุล พอพระชักสายสิญจน์ที่พาดโยงไปยังอาหารที่ตั้งเปรต ลูกหลานก็จะเข้าไปแย่งเอามากิน  ซึ่งของที่แย่งมาได้ถือเป็นของเดนชาน  การได้กินเดนชานจากวิญญาณบรรพบุรุษ เป็นความเชื่อที่ถือกันว่าเป็นการแสดงความรัก เป็นสิริมงคล และเป็นกุศลสำหรับลูกหลาน

คำสำคัญ (Tags): #ประเพณีสำคัญ
หมายเลขบันทึก: 510134เขียนเมื่อ 26 พฤศจิกายน 2012 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 19:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท