การบริหารความหลากหลาย (Diversity Management) : ภาค 2


ASIAN DIVERSITY : READINESS TO INNOVATION

          เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่าการบริหารเรื่อง“คน”  ขององค์การ เป็นการบริหารที่ยาก และจะยิ่งยากมากขึ้นไปอีกเมื่อมีความหลากหลาย (Diversity) ของคนที่มาจากหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรมกันมากขึ้นอันเนื่องมาจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพ ไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนประเทศใดก็ได้ตามข้อตกลงยอมรับร่วม (ASEAN Mutual Recognition Agreement : MRA) ที่ตกลงกันไว้ โดยความหลากหลาย (Diversity) นี้เองจะส่งผลต่อองค์การตั้งแต่พื้นฐานของประสิทธิภาพการดำเนินงานไปจนถึงความอยู่รอดขององค์การด้วยการใช้ความหลากหลายมาสร้างนวัตกรรมที่โดนใจลูกค้ากันเลยทีเดียว

          เมื่อความหลากหลาย (Diversity) มีความสำคัญต่อองค์การที่ดังกล่าวมา เราจะมาดูการเตรียมความพร้อมในเรื่องการจัดการความหลากหลายของประเทศใน Asia กันก่อน โดยจากการสำรวจองค์การธุรกิจเมื่อปี ค.ศ. 2009 จาก 47 ประเทศทั่วโลกของ The Society for Human Resource Management (SHRM) ซึ่งเป็นสมาคมการบริหารทรัพยากรมนุษย์ที่ได้รับความเชื่อถือระดับโลก  พบว่าประเทศในแถบ Asia ที่มีความพร้อมอยู่ใน 10 อันดับแรก ของที่สำรวจทั้งหมด ได้แก่ประเทศ New Zealand, Australia  โดย Singapore อยู่อันดับที่ 12  ในขณะที่ South Korea และ Japan อยู่อันดับที่ 22 และ 31  แต่ที่เตรียมความพร้อมน้อย ก็คือ Malaysia, Thailand, India, Philippines, China และ Indonesia

          โดยเราพอที่จะบอกได้ว่าการบริหารงานเมื่อเข้าสู่ AEC กับคน Singapore จะไม่เจออุปสรรคมากนัก เนื่องจากคน Singapore มีการเตรียมพร้อมปรับตัวต่อความหลากหลาย (Diversity) ได้ดี  ในขณะที่การบริหารงานกับคน
Malaysia, Philippines และ Indonesia จะยุ่งยากมากกว่า  ทั้งนี้รวมถึงคนไทยเราที่ไปทำงานในประเทศดังกล่าวหรือคนไทยที่ทำงานในประเทศเราด้วยกันเอง  เพราะจากการสำรวจ คนไทยเราก็ยังเตรียมพร้อมต่อความหลากหลายกันน้อยเหมือนกัน  ดังจะเห็นได้จากหลายเหตุการณ์ในประเทศไทยที่ผ่านมาหากมองในมุมของความหลากหลายแล้ว เราจะเห็นความจริงในหลายๆ เรื่องที่แตกต่างกันทั้งด้านความคิดและด้านการกระทำที่สอดคล้องกับการสำรวจ ซึ่งเป็นความหลากหลายที่นับวันจะบริหารจัดการได้ยากยิ่งขึ้น

          ทีนี้เมื่อมองลึกลงไปถึงรายละเอียดของความหลากหลาย (Diversity) ในแต่ละด้านของประเทศแถบ Asia เราจะมาดูว่าความหลากหลายในด้านใดที่ผู้บริหารและนักทรัพยากรมนุษย์ (HR) มืออาชีพ ของประเทศแถบ Asia
มองว่ามีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์การค่อนข้างสูง โดย Community Business (www.communitybusiness.org.hk) ซึ่งเป็นองค์การไม่แสวงหากำไรและมีสมาชิกใน Asia ที่เป็นผู้บริหารและนัก HR ได้สำรวจข้อมูลจากสมาชิกในการประชุม Diversity & Inclusion in Asia เมื่อปี ค.ศ. 2005, 2007 ที่ผ่านมา โดยผ่านการทำ Workshop และให้ลงคะแนนเสียงแบบไม่ซ้ำ

         โดยจากผลการสำรวจดังกล่าวเราพอจะดูได้ว่าด้านของความหลากหลาย (Diversity) ที่มีความสำคัญและมีผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์การค่อนขางสูงตามลำดับก่อนหลัง ได้แก่ ลำดับที่ 1 ด้านวัฒนธรรม (Culture) คิดเป็นจำนวน 35% ของผู้ลงคะแนน โดยเป็นการขาดภาวะผู้นำคนท้องถิ่นในเอเชีย  ลำดับที่ 2 ด้านเพศ (Gender) คิดเป็นจำนวน 29% ของผู้ลงคะแนน โดยเป็นการขาดภาวะผู้นำของเพศหญิงในเอเชีย  ลำดับที่ 3 ด้านช่วงอายุ (Generation) คิดเป็นจำนวน 26% ของผู้ลงคะแนน โดยเป็นการปฏิบัติกับคนรุ่นใหม่วัยหนุ่มสาวในเอเชีย  และลำดับที่ 4 ด้าน (Disability) คิดเป็นจำนวน 10% ของผู้ลงคะแนน โดยเป็นการรับรองผู้บกพร่องทางร่างกายในองค์การในเอชีย  จากข้อมูลนี้องค์การในประเทศแถบ Asia รวมถึงไทยเรา ควรเตรียมความพร้อมเรื่องความหลากหลายโดยให้ความสำคัญกับการสร้างวัฒนธรรมขององค์การที่แข็งแกร่งเป็นลำดับแรก เพื่อหล่อหลอมความหลากหลายของคน ส่งเสริมให้ทุกคนในองค์การปรับตัวเข้าสู่วัฒนธรรมเดียวกันขององค์การและมุ่งสู่การทำงานในทิศทางเดียวกัน

          สำหรับอุปสรรคใหญ่ ๆ ในการเตรียมความพร้อมต่อความหลากหลายในการทำงานขององค์การในเอเชียสมาชิกผู้บริหารและนัก HR ในการประชุม ก็ได้ลงคะแนนเสียงกันด้วย ซึ่งผลการสำรวจที่ได้เราพอที่จะได้ข้อมูลอุปสรรคใหญ่ๆ ในการเตรียมความพร้อมต่อความหลากหลายในการทำงานขององค์การในเอเชีย  ตามลำดับก่อนหลัง ได้แก่ ลำดับที่ 1 ขาดผู้นำที่มีความยึดมั่นผูกพันต่อความหลากหลาย ได้คะแนนรวมมากที่สุด 26 คะแนน ลำดับที่ 2 , 3 ขาดกลยุทธ์ความหลากหลายและกรณีศึกษากฎเกณฑ์ธุรกิจ ได้คะแนนรวม 9 คะแนน ขาดความตระหนักและความเข้าใจความหลากหลาย ได้คะแนนรวม 9 คะแนน และลำดับที่ 4 ยึดคุณค่าทางวัฒนธรรมและความแตกต่าง ได้คะแนนรวม 6 คะแนน จากข้อมูลนี้ผู้นำองค์การในประเทศแถบ Asia รวมถึงไทยเรา ควรให้ความสำคัญกับการยึดมั่นผูกพันต่อความหลากหลาย การมีวิสัยทัศน์ต่อความหลากหลาย การแสดงความรู้สึกต่อความหลากหลายและสื่อสารไปทั่วทั้งองค์การให้มากขึ้น เพื่อสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ลดการระแวงระหว่างกันในองค์การ และช่วยสร้างความผูกพันของคนต่อองค์การได้ด้วย

          การเตรียมความพร้อมต่อความหลากหลาย (Diversity) ที่กำลังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ขององค์การในไทยนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมากในการนำมาสู่การสร้างนวัตกรรมขององค์การที่นักสร้างนวัตกรรมต่างก็ให้ความสำคัญการใช้ปฏิสัมพันธ์ของบุคลากรที่นำความไม่เหมือนกันของภูมิหลัง ท่าทางส่วนตัว มุมมอง คุณค่า ความเชื่อ มาเป็นประโยชน์ต่อกลุ่มและองค์การ อันได้แก่ อายุ เพศ อัตลักษณ์ทางเพศ ร่างกาย เชื้อชาติ ผิวสี ศาสนา สถานภาพสมรส การศึกษา รายได้ ความรู้ ทักษะ ทัศนคติ ประสบการณ์ ความคิด ความชอบ ความสนใจที่ต่างกัน มาประสานรวมกันเพื่อการสร้างนวัตกรรมขององค์การให้ขายได้มีมูลค่าขึ้นมา จึงกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะทำให้องค์การมีความได้เปรียบในการแข่งขันที่ผู้นำองค์การผู้บริหารองค์การ และนัก HR มิอาจละเลยได้.

     (จากบางส่วนที่ตีพิมพ์ในวารสาร PEOPLE ฉบับที่ 4/2554 โดยผู้เขียนและมีการปรับปรุงบางส่วน)

หมายเลขบันทึก: 509737เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2012 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 ธันวาคม 2012 22:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท