ส่งลูกไปเรียนพิเศษที่บ้านนอก : happy ba, จับปลาข่อน


ข้าพเจ้าก็มั่นใจว่ากระบวนการเรียนรู้ชีวิตเช่นนี้ ลูกๆ จะเกิดการเติบโตเล็กๆ ในจิตวิญญาณของเขาเอง เป็นการเติบโตที่มี “แก่นสาร” เสมือนต้นไม้ที่เติบโตอยู่บน “รากแก้ว” ของมันเอง.



การนำพาหัวใจกลับสู่ภูมิลำเนา ถือเป็นทางออกและทางเลือกที่ต้องเลือกสำหรับเราทุกคน เพราะบ้าน-ภูมิลำเนา คือดินแดนมหัศจรรย์แห่งการเรียนรู้


ในมุมมองของข้าพเจ้า การกลับบ้านในแต่ละครั้ง อาจมีเหตุผล หรือไม่มีเหตุผลก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ “อยากกลับบ้าน...เพราะอยากกลับบ้าน”

แต่สำหรับบรรดาลูกๆ แล้ว ข้าพเจ้าพยายามที่จะถามเขาเรื่อยมาเสมอว่า การกลับบ้านในแต่ละครั้ง เขากลับไปเพื่ออะไร


ล่าสุดจากห้วงเวลาของการกลับไป “เรียนพิเศษที่บ้านนอก” นั้น สองหนุ่มสองมุมตอบฉะฉานร่วมกันว่า “อยากกลับไปช่วยพ่อปู่จับปลา..ไปช่วยแม่ย่านึ่งข้าว”

ครับ, ก็แน่ล่ะ “บ้าน” มีความเป็นมหัศจรรย์เสมอ



บ้านของข้าพเจ้าเป็นกระท่อมหลังเล็กๆ ติดชายทุ่งท้ายหมู่บ้าน ครอบคลุมพื้นที่ในราวยี่สิบสามไร่ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็น “มรดกตกทอด” จากปู่ย่าตาทวด จวบจนบัดนี้คนทุกคนจากรากรกเดียวกันก็ไม่เคยทะเลาะเบาะแว้งเรื่อง”แย่งที่แย่งทาง” คนทุกคนยังคงใช้ประโยชน์ร่วมกัน


ครับ, พื้นที่ทั้งหมดนั้น ประกอบด้วยพื้นที่อันเป็นทุ่งนา-ไร่มันสำปะหลัง และในบริเวณทุ่งนานั้นมีสระน้ำที่ถูกขุดขึ้นมาเพื่อเป็นลมหายใจของหลายๆ สิ่ง


ในระยะสองสามปีให้หลัง ทุ่งนาของข้าพเจ้าไม่เคยแห้งแล้งเท่าใดนัก “ผืนแผ่นดิน” ดูเหมือนมี “น้ำ” หล่อเลี้ยงอยู่ไม่ขาด มี “ปลา” แทรกซุกอยู่ในผืนดินอย่างเหลือเชื่อ มี “ปู” ให้จับโดยไม่ต้องวิตกกังวลเกี่ยวกับสารเคมี มี “หอย” ให้เก็บ รวมถึงในเย็นย่ำของแต่ละวัน “นกทุ่ง” จำนวนไม่น้อยมักโบกบินมาเยี่ยมเยียน ทายทัก หรือแม้แต่จับจิกสรรพอาหารหล่อเลี้ยงตัวมันเองตามวิถีธรรมชาติ –ตามวิถีแห่งการเอาตัวรอดของสิ่งมีชีวิต




การกลับไปเรียนพิเศษที่บ้านนอกในการปิดเรียนคราวนี้ ลูกๆ ได้ตะลุยทุ่งอย่างโชกโชน เขาสองคนได้เห็นสภาวะของ “ต้นข้าว” ที่กำลังแตกรวง ได้เห็นปลาเล็กปลาน้อยที่เริ่มย่างกรายเข้าสู่ห้วงเวลา“ฝนสั่งฟ้า...ปลาสั่งหนอง”


แน่นอนครับ, ในห้วงฤดูกาลเช่นนั้น การเรียนพิเศษที่บ้านนอกในระยะสั้นๆ ของการปิดภาคเรียนต้นจึงกลับกลายไปสู่วิถีของการ “จับปลา” ...

แปลกแต่ก็จริง, ปีนี้เขาสองคนได้จับปลา ขณะที่ปีที่แล้ว เขากลับไม่ได้สัมผัสเรียนรู้ถึง “วิถีวัฒนธรรม” แบบนี้


การจับปลาในห้วงเวลาอันเป็นปลายฝนเช่นนี้เราเรียกมันว่า “ปลาข่อน”




ครั้งนี้สองหนุ่มได้ลงลุยด้วยตนเองอย่างไม่เคอะเขิน ทั้งด้วยมือและอุปกรณ์พื้นถิ่นที่ปู่ถือติดไม้ติดมือลงสู่ท้องทุ่ง


สองหนุ่มดูเหมือนตื่นเต้น สนุก และมีความสุขกับการเรียนพิเศษเช่นนี้มหาศาล เขาได้ใช้มือ ใช้สะวิงจับปลา ได้อุดท่อน้ำ ได้ปล่อยน้ำออกจากท่อน้ำที่ฝังเชื่อมระหว่างคันนากับคันนา เป็นการทำงานที่สอดประสานกันของแต่ละกระบวนการ


และนั่นยังรวมถึงการดึงการรื้อถอนบรรดาวัชพืชออกจากแปลงนา เพื่อมิให้เป็นอุปสรรคต่อการเติบโต แตกใบ-แตกรวงของต้นข้าว




ข้าพเจ้าไม่รู้หรอกว่าโดยเนื้อแท้นั้นจะก่อเกิดความรู้หรือทักษะการเรียนรู้ใดจากการเรียนพิเศษที่บ้านนอกเช่นนี้บ้าง


ถึงกระนั้นข้าพเจ้าก็มั่นใจว่ากระบวนการเรียนรู้ชีวิตเช่นนี้ ลูกๆ จะเกิดการเติบโตเล็กๆ ในจิตวิญญาณของเขาเอง เป็นการเติบโตที่มี “แก่นสาร” เสมือนต้นไม้ที่เติบโตอยู่บน “รากแก้ว” ของมันเอง...


และถึงแม้วันข้างหน้าเขาจะเติบโตไปสู่อาชีพใดก็ตาม เขาก็จะไม่หลงลืมดินแดนอันแสนอบอุ่นและมหัศจรรย์เหล่านี้


ไม่หลงลืมเรื่องราวอันเป็น “นาฏการณ์ของท้องทุ่ง” ที่ประกอบด้วยสายลม แสงแดด ต้นข้าว ต้นหญ้า ปลา ปู หอย วัว ควาย ต้นไม้ ใบหญ้า สะวิง จอบ เสียม

และไม่ลืมที่จะให้คุณค่าต่อสรรพสิ่ง ไม่ลืมที่จะให้ความสำคัญกับ “ชาวนา” ...ไม่ประเมินค่าความเป็นคนผ่านรูปลักษณ์กายสถานเดียว

หรือแม้แต่การที่พวกเขาจะเชื่อและศรัทธาว่า
· ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว
· ในน้ำมีปลา ในทุ่งนามีภูมิปัญญาของบรรพชน...
· “...มีที่..มีทาง...”




ครับ, ข้าพเจ้าคิดถึงผลลัพธ์การเรียนพิเศษที่บ้านนอกของลูกๆ เช่นนั้นจริงๆ ...คิดแบบจริงๆ จังๆ หาใช่คิดแบบ “สร้างภาพ”

ข้าพเจ้าหลงรักกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้มากเป็นพิเศษ เรียนรู้ท่ามวิถีธรรมชาติอันเรียบง่าย สมถะ แต่แฝงซ่อนด้วยพลัง

ข้าพเจ้าหลงรักกระบวนการเรียนรู้เช่นนี้เป็นพิเศษ เป็นการเรียนรู้พร้อมๆ กัน...เรียนรู้ผ่านการชวนลงมือทำมากกว่าการอธิบาย มิหนำซ้ำยังช่วยหนุนเสริมให้แต่ละคนได้เรียนรู้เกี่ยวกับบทบาทและสถานะบนพื้นฐานของมิตรภาพแห่งเครือญาติร่วมกันอย่าง “นุ่มเนียน”


แล้วท่านล่ะครับ ปิดเทอมที่ผ่านมา เด็กๆ ไปเรียนพิเศษที่ไหนกันบ้าง ครับ ?



๑๑ ตุลาคม ๒๕๕๕
บ้านเกิดเมืองนอน




หมายเลขบันทึก: 509039เขียนเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2012 13:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ธันวาคม 2015 08:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (19)

คนหนึ่งหุ่นดี....อีกคนดูเป็นชาวนาที่สมบูรณ์มากเลยนะคะ

วัดจากตัวเอง ได้ลงมือทำเอง.....แม้เวลาผ่านเลย แต่สิ่งที่ฝังในความทรงจำ...ไม่เคยลืม

ชื่นชมการเรียนรู้ของสองหนุ่มนน้อยในห้องเรียนใหญ่ "วิถีวัฒนธรรม"

 

สวัสดีครับพี่นก noktalay

สองหนุ่มน้อย...
เติบโตจากห้องเรียนอันหลากหลาย
โดยมีครูที่หมายถึงปู่ย่า
หรือแม้แต่ธรรมชาติคอยหนุนเสริมการเติบโต

 

สวัสดีครับ พี่หมอ ทพญ.ธิรัมภา

..ในน้ำมีปลา ในท้องนามีลูกหลาน...
อย่างน้อยก็มีลูกหลานชื่นชมกับสิ่งที่ปู่ย่าได้ถางทางไว้...
และยังหล่อเลี้ยงวงศ์ตระกูลสืบมา-

 

ดูหลานๆ มีความสุขจากการสังเกต การเรียนรู้ การลงมือทำ มากนะคะ

ชื่นชมห้องเรียนพิเศษห้องนี้จังค่ะ

ช่วงเวลาปิดเทอมที่มีความสุขมากทั้งคุณพ่อและ 2 หนุ่มน้อยรวมไปถึงความชื่นใจ สุขใจ ของคุณปู่ที่หลานมาช่วย และเรียนรู้งานในนา ให้เกิดประโยชน์อย่างไรบ้าง

ชมภาพแล้วคิดถึงบ้าน กลับบ้านทีน้องชายก็ไปหาปลาในนามาให้ทำอาหาร หรือมีน้ำไหลเข้าในคลองส่งน้ำ ปลาสร้อย ปลากด จะเข้ามาพร้อมกัน น้ำไม่ลึก น้องชายจะใช้สุ่ม ได้ครั้งละหลายตัว โยนขึ้นบกข้ามรั้วให้จับ ทำแกงสับนกอร่อยมาก ( แกงสับนกเมื่อก่อนคนโบราณทำไมเรียกสับนกก็ยังงงๆไม่หายสงสัย ทั้งๆที่สับเนื้อปลาไปพร้อมกับก้างทำเป็นลูกชิ้น หอมเนื้อปลาอร่อยมากๆแกงโปรดพี่ดาค่ะ ) ส่วนปลากด ทำฉู่ฉี่ หรือแกงหน่อไม้ดองใสใบมะกรูดหอมๆ เอ่ยถึงอาหารแล้วหิวข้างเลยค่ะ

ได้รสชาดของท้องทุ่ง และวิถีชีวิตครบรสนะคะ หนุ่มน้อย น่ารัก น่าเอ็นดูนะคะ น้องแผ่นดีน น้องสบายดีนะคะ

ชอบมากค่ะ

พี่แก้วชอบ...วิถีกลับถิ่นมาก

สวัสดีครับ คุณ ปริม pirimarj...

ท้องทุ่ง  เป็นห้องเรียนที่กว้างใหญ่ หลากฤดู..ไร้นิยาม
หลายๆ สิ่งออกแบบการเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สนุก ได้สาระ...
และทรงอิทธิพลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
เพราะอย่างน้อยก็ใกล้ชิดกับธรรมชาติ
อันหมายถึง ธรรมชาติจริงๆ ...
รวมถึงธรรมชาติ อันหมายถึง วิถีชีวิตของปู่ย่า เครือญาติ นั่นเอง

ขอบคุณครับ

เด็กๆโชคดีมากที่ได้กลับไปซึมซับวัฒนธรรมความเป็นอยู่ของบรรพชนอย่างมีความสุขเช่นนี้ค่ะ..

สวัสดีครับพี่ดา กานดาน้ำมันมะพร้าว

เห็นพี่ดาเอ่ยชื่อบรรดาปลาต่างๆ แล้ว  ผมเองก็ปรารนาเช่นนั้นครับ 

หมายถึงปรารถนาให้เด็กๆ ได้จดจำชื่อปลาที่มีแปลงนาของพวกเขา  เพราะนั่นคือการเรียนรู้ผ่านการ "สังเกต-จดจำ"  วันหนึ่งในภายภาคหน้า  เขาจะได้นึกออกว่า "กาลครั้งหนึ่งนั้น ในแปลงนาเคยมีปลาอะไรบ้าง..."

ขอบพระคุณครับ

ครับพี่แก้ว  แก้ว..อุบล

การเรียนรู้ในทุกมิติ
การเรียนรู้ในทุกสถานที่
เป็นสิ่ง "มหัศจรรย์"  เสมอ

ยินดีที่ไก้พบเจอกันอีกครั้งนะครับ

สวัสดีครับ พี่Bright Lily

ผมสบายดีครับ  ชีวิตของผมยังผูกโยงกับการเดินทางเหมือนที่ผ่านมา  อยู่ในบริบทของการงานที่หนักหน่วงขึ้น  แต่งานหนักเหล่านี้  ก็ทำให้ผมมีพลัง และรู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิต  รู้สึกถึงคุณค่าของ "ตัวเอง"

หวังเป็นอย่างยิ่งว่าพี่จะสบายดีเช่นกัน นะครับ

สวัสดีครับ พี่นงนาท สนธิสุวรรณ

ผมเชื่อว่าการเรียนรู้เช่นนี้  จะหนุนเสริมให้เด็กๆ รักในวิถีอันเป็นรากเหง้าของตนเอง รักในความเป็นวัฒนธรรม  และเห็นความเกี่ยวโยงในระบบนิเวศวัฒนธรรมไปในตัว

ถึงแม้ตอนนี้ยังเด็ก  แต่เชื่อเหลือเกินว่า  ซักวันหนึ่งภาพที่เขาเห็นในวันนี้  จะตกผลึกเป็น "ความคิดและความรู้" ได้เอง  ช้าหรือเร็ว  ผมเชื่อว่ามันจะเกิดขึ้น ...

ขอบพระคุณครับ

ฟังที่พบ กลับมาตามอ่าน...ประทับใจมากค่ะ
...จะสื่อไปสู่คนรุ่นต่อไปนะคะ

สวัสดีครับ อาจารย์แจ๋ว

ยินดีและเป็นเกียรติที่ได้พานพบในพื้นที่แห่งความสุข นะครับ
และจะรออ่านบันทึกสร้างสรรค์ที่บรรจุความสุขของอาจารย์ฯ ...

สู้ๆ ...

ขอบคุณครับ

เด็ก ๆ มีแววหล่อมาแต่ไกลเลยนะคะ เหมือนใครน๊า...แต่ทั้งนี้ ก็ "มีดี" เหมือนต้นแบบด้วยค่ะ 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท