35ปี ณ จังหวัดมหาสารคาม


เดือนธันวา55 ผมอายุ35ปีบริบูรณ์ (ครึ่งของชีวิตคน) และวันที่25พฤศจิกา55 ผมมีอายุราชการครบ10ปีเต็ม ซึ่งอาจจะไม่มากเมื่อเทียบกับหลายๆท่าน สำหรับผมว่ามันเร็วมากครับ ผมว่ามันเป็นเลขสวย 10ปีเต็ม จึงอยากจะถอดบทเรียนสั้นๆเกี่ยวกับการทำงาน
ณ มมส และการเป็นคนมหาสารคามที่เกิด เรียน ทำงาน ที่นี้มาตลอดชีวิต 35ปี

----------------

35ปี เรื่องราวเล็กๆของจังหวัดมหาสารคาม จากความทรงจำ

    มหาสารคามเป็นเมืองเล็กๆที่น่าอยู่ (ใครอยู่ที่ไหนนานก็ต้องบอกว่าที่นั้นน่าอยู่เป็นธรรมดาครับ) เป็นจังหวัดที่อยู่สะดืออีสาน (ใจกลาง) แต่ไม่มีภูเขาแม้แต่ลูกเดียวใจกลางของจังหวัดเราเรียกกันติดตลกว่า พระธาตุไซโก หรือ หอนาฬิกา” ซึ่งถ้าคนต่างจังหวัดมาหลงทาง ก็ต้องบอกว่าให้ไปเริ่มต้นที่หอนาฬิกา หอนาฬิกานี้ผมไม่รู้สร้างมากี่ปี แต่ที่แน่นอนต้องมากกว่า 35ปีแน่ เพราะเห็นมาตั้งแต่จำความได้ บางวันก็เดินตรง บางวันก็ไม่ตรง บางวันก็ไม่เดิน แล้วแต่อารมณ์ ไม่รู้ใช้พลังงานจากอะไร ไม่เคยเข้าไปข้างใน 
    เส้นทางหลักของมหาสารคามก็คือเส้นหอนาฬิกา ตั้งแต่ผมเด็กจะมีต้นมะขามปลูกอยู่ 2 ข้างทาง บริเวณศาลาหน้ากลางเก่า ซึ่งปัจจุบันก็ยังคงอยู่น่าจะอายุเกือบร้อยปีแล้วต้นมะขาม โดยปัจจุบันเส้นทางนี้จะแบ่งช่องจราจรระหว่างรถยนต์กับรถจักรยานยนต์เป็นคนละเลน ปัจจุบันตำรวจจราจรมักจะดักจับมอเตอร์ไซต์อยู่ตรงใกล้จวนผู้ว่าราชการบอกให้นะครับเข้าเลนมอเตอร์ไซต์แล้วหนีไม่รอดแน่นอน

    สมัยก่อนที่ประทับใจยังจำไม่ลืมคือเมื่อถึงเวลา 08.00 น. และ 18.00 น. ของแต่ละวันจะมีเสียงตามสายทั่วทั้งจังหวัดเปิดเพลงชาติไทย ซึ่งทั้งรถ ทั้งคนที่เดิน ต้องหยุดเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ เพื่อทำความเคารพ ใครที่ขับรถยนต์ หรือขี่มอเตอร์ไซต์ ก็จอดรถ(แต่ไม่ได้ลงมานะครับ) ใครที่เดินก็หยุดยืนตรงเคารพธงชาติ แต่ปัจจุบันบ่มีแล้วครับเพราะสภาพการจราจรมันเปลี่ยนไป น่าเสียดายเนอะ

    ผมเป็นลูกครึ่ง ลูกครึ่งคนเมืองและคนบ้านนอก พ่อแม่ผมเป็นคนชนบทอยู่หมู่บ้านเดียวกัน จีบกันชอบกันแล้วแต่งงานกัน และเลี้ยงผมอยู่บ้านนอกประมาณได้อายุ 5 ปี ครอบครัวก็ย้ายเข้ามาอยู่ในตัวจังหวัดมหาสารคาม แต่พอเสาร์อาทิตย์หรือวันหยุด เราก็จะกลับบ้านนอกไปเยี่ยมปู่ย่า ยาย (ตาเสียก่อนผมเกิด) ระยะทางจากในเมืองไปบ้านนอก ก็ 30 กิโลฯ แต่สมัยนั้นครอบครัวผมมีแต่มอเตอร์ไซต์คันเดียว ก็ซ้อนกัน 4 คน พ่อ แม่ พี่สาว ผม ระยะทางไม่ไกลแต่สมัยก่อนหนทางไม่ดี ใช้เวลาเดินทางน่าจะ 2 ชั่วโมง ต้องมีการจอดพักรถเป็นระยะตามหมู่บ้านต่างๆ ซึ่งแต่ละหมู่บ้านก็จะมีคนรู้จัก หรือญาติกัน 
    ที่ท่องเที่ยวในเมืองของมหาสารคามทางธรรมชาติสมัยก่อน
เราก็จะไปที่แก่งเลิงจาน เป็นอ่างเก็บน้ำเล็กๆ มีสวนหย่อมน้อยๆ ปัจจุบันเท่าที่เห็นล่าสุดโทรมมาก เป็นที่ซ่องสุมได้เลย
ส่วนสถานที่ท่องเที่ยวอื่นๆที่ปัจจุบันไม่เหลือซากหรือความทรงจำแล้ว คือ โรงหนังเพชรามา และโรงหนังนครสวรรค์ อยู่แถวตลาดสด จำไม่ผิดถ้าดูหนังสยองหรือหนังผีจะได้อารมณ์เสมือนจริง
เพราะมีหยากไย่ มีหนูวิ่งว่อน ฝุ่นเต็ม และจะมีเงาหัวคนผ่านจอหนังตลอดเวลา เพราะตอนลุกเดินแล้วไปบังเครื่องฉาย โดยเฉพาะพวกที่นั่งวีไอพีชั้นบน
 
    สถานที่ต้องห้ามสำหรับเด็กสมัยนั้นคือ
ฝั่งธน” หรือ “ซ่องโสเภณีสมัยก่อน” เป็นซอยเล็กๆซอยหนึ่งอยู่ในเมืองติดกับคลองสมถวิล (ปัจจุบันเป็นซอยอยู่บริเวณธนาคารอาคารสงเคราะห์) จะมีโสเภณี ยาเสพติดตลอดซอย ค่าตัวน่าจะ 50 บาท ถ้าจำไม่ผิด (ได้ฟังมานะครับ ไม่เคยไปเหมือนกันตอนเด็ก) แต่ปัจจุบันซอยนี้ก็เป็นซอยบ้านคนธรรมดา ไม่มีอะไรเหมือนก่อนแล้ว 
    ถ้าพูดถึงถิ่นนักเลงหัวไม้ในเมืองมหาสารคามเมื่อก่อน ก็ต้องพูดถึง สนามม้า หน้าป้าย บ้านส่อง ซึ่งไม่ถูกกัน เมื่อมีงานของจังหวัด เช่น งานกาชาดประจำปีที่มีคอนเสริตฟรี กลุ่มเหล่านี้ก็จะยกพวกกันมา และสุดท้ายจบด้วยการตีกัน แต่สมัยก่อนตีกันด้วยมือเปล่า เท้าเปล่า ไม่มีอาวุธ หรือบ้างก็ขอ
เดี่ยวกัน” คือ ให้ตัวแทนของแต่ละกลุ่มมาตีกันแบบตัวต่อตัวให้ได้ผลแพ้ชนะ(โดยเฉพาะกรณีแยกสาวกัน) แล้ววันหลังก็มาแก้แค้นกัน วนไปวนมาไม่จบไม่สิ้น ปัจจุบันชื่อเสียแบบแต่ก่อนของแต่ละคุ้มก็ไม่มีแล้ว แก่เฒ่ากันหมดแล้ว 
    แหล่งยาเสพติดสมัยผมอยู่ในช่วงวัยรุ่น ที่ดังสุด คือ คุ้มวัดโพธิ์ แถวทางไปชลประทาน ประเภทว่ามีทุก 100เมตร ก็จะมีคนมายืนอยู่ข้างถนนตอนกลางคืน แล้วโบกมือส่งยากันแบบไม่เกรงกลัวตำรวจ ปัจจุบันคนที่ขายยาน่าจะไม่มีชีวิตเหลือแล้ว สมัยนายกทักษิณ ปราบเรียบแบบไม่เหลือลมหายใจมาให้การ

    ตอนเด็กๆ ประมาณประถมปลายๆวันอาทิตย์ตอนบ่าย(หรือถ้าวันอาทิตย์เป็นวันพระก็จะเป็นวันเสาร์แทน) ผมมักจะขี่จักรยานจากบ้านไปสนามม้า ซึ่งไม่ไกลบ้านมากนัก หรือบางครั้งพ่อก็พาขี่มอเตอร์ไซต์ไป เพื่อดูการม้าแข่ง วันหนึ่งก็มี 10 เที่ยวเริ่มตั้งแต่บ่ายโมงถึงประมาณ6โมงเย็น (แต่ไม่เคยไปซื้อแทงม้านะครับ
ถึงจะเป็นการพนันที่ถูกกฎหมาย) การได้นั่งอยู่ริงไซต์ขอบรั้วกั้นมันส์ได้อารมณ์ตื่นเต้นมากตอนม้าวิ่งมาใกล้ๆเรา และตอนที่ทุกคนรอในบรรยากาศเงียบ รอคำว่า
ม้าออกแล้ว...” จากโฆษกสนาม
ปัจจุบันสนามม้าได้ปิดแล้ว อันนี้ผมไม่รู้สาเหตุ ปัจจุบันสร้างเป็นโฮมมาร์ท หรือโฮมโปร์ หรือ โกลบอลเฮา อันนี้ผมจำไม่ได้ แต่ก็ประมาณขายพวกวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างต่างๆนี้แหล่ะครับ

    มีอีกที่หนึ่งซึ่งผมไม่ค่อยรู้ประวัติมากนักหรือไม่รู้เลย มีแต่คนเรียกชื่อในสมัยก่อน คือ สนามเป้า” เลยบ้านหนองจิกออกไปนิดหนึ่งทางอำเภอบรบือ ผมคิดใจอยู่ 2 อย่างคือ 1.เป็นที่ซ้อมยิงปืนของตำรวจ 2.เป็นที่เอาคนไปประหารชีวิตจากการกระทำผิดกฎหมาย อันนี้ใครทราบช่วยบอกด้วยนะครับ

    สมัยเรียนประถมครูก็ให้ท่องว่าจังหวัดมหาสารคามมี 9 อำเภอ 1 กิ่ง ปัจจุบันก็ยังอยู่ในสมองอยู่ ทั้งๆที่ปัจจุบันก็มีการตั้งอำเภอหรือยกฐานะจากกิ่งเป็นอำเภอมากขึ้น แต่ก็ยังจำว่ามหาสารคามมี 9 อำเภอ 1 กิ่ง แสดงว่าครูสอนได้ดีผ่านมายี่สิบกว่าปีแล้วก็ยังไม่ลืมและไม่รับข้อมูลใหม่อีกต่างหาก (ผมเรียนประถม 1-6 อยู่โรงเรียนหลักเมือง)

    โรงเรียนหลักเมืองอยู่ติดถนนเส้นกลางเส้นหอนาฬิกา มี ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง” อยู่ติดถนน อยู่ในพื้นที่เดียวกันกับโรงเรียน สิ่งที่ผมทำจนถึงปัจจุบัน คือ การไหว้ศาลเจ้าพ่อทุกครั้งที่ผ่าน แม้วันหนึ่งจะผ่านกี่ครั้งก็ไหว้ทุกครั้งที่ผ่าน ปัจจุบันโรงเรียนหลักเมืองและศาลเจ้าพ่อฯได้ทำรั้วรอบขอบชิดแยกกัน น่าจะเมื่อปีสองปีที่ผ่านมา อันนี้ก็ไม่รู้สาเหตุ เริ่มมีรูปปั้นม้า ไก่มาตั้งเรียงรายอยู่ข้างหน้ามากขึ้นทุกวัน สงสัยคนมาแก้บน ซักหน่อยก็จะไม่มีที่เดิน

    บ้านผมแต่ก่อนเขาเรียกว่าคุ้มหลังศูนย์โตโยต้า เนื่องจากบริษัทโตโยต้าตั้งอยู่หน้าทางเข้าซอย(ปัจจุบันเรียกอย่างเป็นทางการว่าชุมชนศรีมหาสารคาม) สร้างมาน่าจะ25ปี ตอนผมอยู่ป.1 แต่ก่อนมีบ้านไม่ถึง 5 หลังที่มาสร้างกันอยู่แถวนั้น ประมาณว่ากลุ่มบุกเบิก
ซื้อที่ 100 ตารางวา ราคา 50,000 บาท ตอนนี้น่าจะ 300,000 บาท แต่ก่อนไม่ต้องสร้างรั้วบ้านเลย รู้จักกันทุกบ้านเดินไปขอแรง ไปขอยืมนั้นนี้กัน ปัจจุบันลองเข้าไปดูซอยผมนะ มีบ้านทุกพื้นที่ ทุกบ้านมีรั้วและเป็นรั้วปูน และที่สำคัญตอนนี้ผมไม่รู้จักใครเลยนอกจากคนเก่าๆที่มาปลูกบ้านพร้อมๆกัน แต่ทุกพื้นที่ในมหาสารคามก็คงเป็นแบบนี้หมดมั้งครับ

    แต่ก่อนคนสารคามก็จะขี่รถยนต์อยู่ 2 ยี่ห้อ คือ โตโยต้า และ อีซูซุ เนื่องจากน่าจะมีแค่ดิวเรอร์ 2 บริษัทนี้ที่มาเปิด เมื่อสิบยี่สิบปีก่อน อยู่เส้นเดียวกันกับโรงพยาบาลจังหวัด แต่ปัจจุบันมหาสารคามมีบริษัทรถยนต์เกือบทุกยี่ห้อตั้งอยู่แถวเส้นทางออกรอบนอกทุกทาง (ที่ไม่มีน่าจะเบนส์ บีเอ็ม รถนอก เป็นต้น) เช่น ทางไปร้อยเอ็ดก็จะมีบริษัท ฟอร์ด มาสด้า ฮอนดา, ทางไปบรบือก็มีมิตซูบิชิ ซูซุกิ ยิ่งนโยบายท่านนายกคนสวยรถคันแรกให้ 100,000 บาท รถในมหาสารคามยิ่งเยอะ

    เมื่อซัก 3-4ปีที่ผ่านมาซึ่งเป็นปรากฏการที่ผมไม่เคยเห็นในจังหวัดมหาสารคาม คือ รถติดตอนเช้าบริเวณสี่แยกที่ใหญ่ที่สุดของมหาสารคาม คือ 4แยกไฟล์แดงโรงพยาบาล ตอนเช้าและยิ่งตอนฝนตกรถติดมากครับคล้าย กทม. หรือเมืองใหญ่ๆ ปัจจุบันผมเลยไม่เข้าในตัวจังหวัดยกเว้นวันหยุด ตอนไปทำงาน ไปมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จะออกทางบายพาสแก่งเลิงจาน
อ้อมไปบายพาสสถาบันการพลศึกษา ออกตรงบ้านดินดำ ทั้งไปและกลับระยะทางเพิ่มขึ้นประมาณ 3 กิโลแต่ละเที่ยว แต่ก็ไม่เป็นไร เมื่อแลกกับเวลา ความสบายใจ และความเสี่ยงของการเกิดอุบัติเหตุเล็กๆน้อยๆ เชี่ยวเบียด ชนตูดกัน หงุดหงิดใจกันไปเปล่า

    ร้านซ่อมจักรยานจะเยอะมากสมัยก่อน ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง
เพราะแต่ก่อนเด็กๆหรือผู้ใหญ่ก็มักจะขี่จักรยาน อย่างผมก็ขี่จักรยานซ่อนพี่สาวไปโรงเรียนกันจนถึงม.ต้น  เติมลมล้อจักรยานครั้งละ 1 บาท หรือบางครั้งก็ฟรีแล้วแต่เจ้าของร้าน ปะยาง 3 หรือ 5 บาทไม่แน่ใจ แต่ก่อนร้านซ้อมจักรยานที่เป็นที่รู้จักของจังหวัดมหาสารคาม (ผมจำชื่อไม่ได้แต่จำหน้าลุงและป้าเจ้าของร้านได้ ไม่รู้ปัจจุบันท่านอยู่ไหน เป็นยังงัย) ร้านนี้อยู่เยื้องวัดธัญญาวาส เป็นถนนเส้นกลาง ปัจจุบันร้านนี้ไม่มีแล้วกลายเป็นห้องแถวร้านค้าที่อยู่ติดกับบริษัทไทยสมุทรประกันชีวิต

    ห้างเดียวของคนมหาสารคามที่อยู่คู่จังหวัดมาจนถึงปัจจุบัน คือ
ห้างเสริมไทยสรรพสินค้า (คำขวัญที่ได้ยินแต่เด็กและจำได้อยู่ในหัว
เสริมไทยสรรพสินค้า เสริมคุณค่าเพื่อคุณ” นั้นแนะ) ชื่อก็บอกแล้วสรรพสินค้า แปลว่ามีทุกอย่างแน่ ปัจจุบันก็พัฒนาขึ้น และเดือนธันวาคม55 ก็จะเปิดห้างที่ตั้งใหม่เสริมไทยพลาซ่า อยู่ติดกับหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ผมขี่ผ่านดูยิ่งใหญ่พอควร ห้างนี้น่าจะเป็นของคนตระกูลคณาสวัสดิ์ นักการเมืองท้องถิ่น ซึ่งน่าจะรวย และมีที่ดินเยอะ มาตั้งแต่สมัยก่อน (อิจฉาคนรวยจัง)

    ดอนหมากโซ ถ้าใครไม่ใช่คนรุ่นๆผมหรือก่อนผม จะไม่รู้จัก มันคือ เรือนจำ หรือ คุกของจังหวัดมหาสารคาม สมัยก่อนเป็นสถานที่น่ากลัวของคนจังหวัดมหาสารคาม และอันตราย เพราะแต่ก่อนนักโทษแหกคุยบ่อย อยู่ทางออกไปจังหวัดร้อยเอ็ด ก่อนถึงบ้านเชียงเหียน ฝั่งขวามือ เป็นปลายทางที่จอดรถสองแถวเส้นถึงหน้าป้าย หรือ มหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม

    พ่อเพื่อนผมมีอาชีพขับรถสองแถวอาชีพเดียวเลย จนท่านเสียชีวิต แสดงว่าก็น่าจะพอมีรายได้เลี้ยงครอบครัว ก็แสดงว่าแต่ก่อนคนใช้บริการเยอะ รถสองแถวแต่ก่อนมี 2 ขนาด คือ ขนาด 6 ล้อ และขนาด 4 ล้อ แต่ที่เยอะสุดคือ 4 ล้อ ปัจจุบันเท่าที่ผมเห็นเหลือแต่แบบ 4 ล้อ และคนที่ขึ้นก็ไม่ค่อยมี คนที่ขึ้นก็น่าจะเป็นเด็กนักศึกษาที่กลับมาจากบ้าน ต่อรถสองแถวจาก บขส ไปหอ หรือกลับบ้านต่อรถจากหอไป บขส ผมเดาว่าต่อไปไม่เกิน 10 ปี มหาสารคามจะไม่มีรถสองแถว เพราะไม่มีคนขึ้น ถึงมีก็ไม่คุ้มคนขับ

    ปัจจุบันผมนับจำนวนคัน 3ล้อปั่น(ถีบ)ได้เลย ไม่น่าเกิน 20 คัน/คน ทั้งจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งสมัยก่อนคนใช้บริการกันมากโดยเฉพาะไปตลาดสด ผมก็นั่งบ่อย ไม่เกิน 5 บาทค่าปั่น แต่ก็จะมีคนเก่าๆแก่ๆยังนั่งเป็นประจำขาประจำกันอยู่บ้าง เป็นการให้กำลังใจ ช่วยเหลือกันเล็กๆน้อยๆ น่าเห็นใจครับ และยิ่งมหาสารคามไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยว ก็ไม่มีนักท่องเที่ยวมานั่งชมเมืองเหมือนจังหวัดอื่นๆ ปัจจุบันก็จะมีสกายแลป(3ล้อเครื่อง) มอเตอร์ไซต์รับจ้างมาแทน 

    พูดถึงเพื่อนประถมโรงเรียนหลักเมืองที่สนิทกัน ผมยังจำหน้า จำชื่อเล่นจำชื่อจริงนามสกุลได้หมด แปลกตรงนี้ครับที่จำได้ ส่วนเพื่อนมัธยม(โรงเรียนสารคามพิทยาคม)ก็จำได้ทุกคนที่อยู่ในห้องเดียวกัน เพื่อนมัธยมก็เป็นคนจังหวัดมหาสารคามซะส่วนมาก
จึงมีเวลาและทำกิจกรรมหรือเล่นด้วยกัน 7 วัน เช่น วันหยุดวันนี้ก็นัดกันไปเล่นบ้านคนนั้น วันนั้นก็ไปบ้านคนนี้ เวียนกันไป เป็นสัมพันธภาพที่ยอดเยี่ยม แต่เมื่อถึงเวลาเอนทรานส์ทุกคนก็สอบก็เลือกไปเรียนมหาวิทยาลัยต่างจังหวัดเกือบหมด ยกเว้นผมเรียนมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพราะถ้าไปเรียนต่างจังหวัด ไปอยู่หอ คงไม่ไม่รอด หลังจากที่เรียนจบปริญญากันเพื่อนก็ส่วนน้อยที่กลับมาอยู่มหาสารคาม ส่วนมากก็อยู่ต่างจังหวัดหรือปริมณฑล หรือจังหวัดอุตสาหกรรม

    โรงเรียนคณาสวัสดิ์สมัยก่อนพ่อแม่เราให้ฟังว่าเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนระดับอาชีวศึกษาที่มีชื่อเสียงมาก มีคนต่างๆจังหวัดไกลมาเรียนทุกภาค แต่มาระยะหนึ่งก็ปิดกิจการไม่รู้ด้วยสาเหตุใด
(คงไม่ใช่ขาดทุนมั้ง) ปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาสารคามก็ซื้อพื้นที่ดังกล่าวทำเป็นหอพักนิสิต และที่ตั้งของคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์

    สถานที่คนมหาสารคามเคารพและสักการะแต่อยู่อำเภอนาดูน
คือ พระธาตุนาดูน  อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 90 กิโลฯ ซึ่งแต่ละปีจะมีงานไหว้พระธาตุ เหมือนงานกาชาดประจำจังหวัด แต่ก่อนรางวัลใหญ่ของงานคือ ควาย 1 ตัว ใครได้ก็จูงกลับบ้านเลย ก็แปลกดีครับ แต่ปัจจุบันคงไม่มีควายมาเป็นรางวัลแล้วมั้ง คงไม่มีใครเอา เอาไปก็ไปเป็นภาระ

    แต่ก่อนทุกวันอาทิตย์จะคึกคังเพราะ มศว มหาสารคาม หรือมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร วิทยาเขตมหาสารคาม จะมีการจัดประกวดแข่งขันหมอลำถ้วยพระราชทาน
จะมีกองเชียร์และคนที่ชอบหมอลำมาฟังกันเยอะมาก โดยเฉพาะรอบลึกๆใกล้ชิงชนะเลิศ น่าเสียดายตอนนี้หาดูแบบนี้ยากครับ
มมส น่าจะหวนมาจัดอีกนะครับ อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไว้

    สถานีวิทยุแต่ก่อนที่รู้ๆจักกันในมหาสารคาม ก็มีสถานี รด. และ มศว. ตอนเป็นวัยรุ่นใหม่ๆพากันโทรศัพท์หยอดตู้ขอเพลงจากดีเจฝากให้คนนั้นคนนี้ และรีบกลับบ้านไปฟังว่าดีเจจะพูดให้ตามที่ขอมั้ย และเปิดเพลงให้มั้ย (จีบสาวใหม่ๆ) พอฟังเสียงดีเจเสียงดีเสียงหล่อเสียงสวย ก็อยากพากันไปดูหน้ากันที่สถานี พอไปถึงก็ต้องผิดหวังกับสิ่งที่วาดไว้ในหัวคือ หน้าไม่สมเสียง

    ห้องสมุดประชาชนคืออีกที่หนึ่งที่ตอนเป็นเด็กประถมพ่อแม่จะพาไป อยู่เส้นหลังโรงเรียนสารคามพิทยาคม (ผมเรียนมัธยมที่นี้) แต่ไม่ค่อยมีคนไปหรอกครับ ไม่รู้เป็นไร ตอนนี้มองแว๊บๆเห็นว่าทุบไปแล้ว ไม่รู้สร้างอะไรแทน หรือปรับปรุงให้ดีขึ้นก็ไม่รู้

    งานประจำปีของมหาสารคามคืองานกาชาด (ก็คงมีทุกจังหวัด) แต่ความทรงจำเดิมกับปัจจุบันมันต่างกัน เช่น แต่ก่อนมีมอเตอร์ไซต์ไต่ถัง สาวน้อยตกน้ำ ยิงปืน เทคเต้น(เสียรอบละ 2 บาท) ผีหัวขาด งูยักษ์ ตู้ม้า ผลไม้หยอดเหรียญ บอลตู้ ปัจจุบันบางอย่างก็ผิดกฎหมาย บางอย่างก็หมดไป เลยไม่เห็นสิ่งแบบนี้อีกมานานแล้ว

    ซอยผีสิงห์ ตอนอยู่มัธยมปลายชวนกับเพื่อนๆกันไปลองของ ที่เขาล่ำลือกัน ไม่เชิงว่าเป็นซอย กว้างแค่หนึ่งวา ข้างหนึ่งติดป่าทึบ ข้างหนึ่งติดรั้ววัดศรีสวัสดิ์(หรือวัดหน้าป้าย) ระยะทางประมาณ
200 เมตร ไปลองของแล้วก็ไม่เจออะไร ตอนนี้ก็เป็นหอพักของนิสิตนักศึกษาเต็มไปหมด ไม่เหลือความน่ากลัวเลยเฮ้ย

    สระว่ายน้ำของมหาสารคาม ก็น่าจะมีอยู่สองที่เมื่ออดีตเท่าที่ผมเคยไปว่าย คือ “สระหมอชัย” อันนี้อยู่ในเมืองอยู่ข้างโรงเรียนผดุงนารี(แต่ก่อนเป็นโรงเรียนหญิงล้วน) อีกที่คือวิลัยพละศึกษา อยู่ไกลพอควร ถ้าคิดจากการเดินทางแต่ก่อนของเด็ก

    แม่น้ำชี แต่ก่อนที่ยังไม่มีการสร้างเขื่อนกั้น ช่วงหน้าแล้งน้ำจะน้อยมีโขดหินเหมือนน้ำตก ครอบครัว หรือบ่าวสาวก็มักไปเล่นกัน
โดยเฉพาะตรงสะพานแห่งเดียวข้ามแม่น้ำชีบ้านท่าขอนยาง มีอาหาร ของกินขาย และก็ไปปูเสื่อกินและเล่นน้ำกัน หรืออีกที่ที่นิยมไปกันคือตรงบริเวณบ้านวังยาว ตำบลเกิ้ง ตรงนี้มีหาดทราย แต่ไม่มีโขดหินเหมือนบ้านท่าขอนยาง

    ร้านอาหารขึ้นชื่อจนถึงปัจจุบัน คือ ร้านมารินทร์ และร้านจานเงิน ส่วนอีกร้านหนึ่งที่เริ่มเงียบๆคือแผ่นดินทอง แต่ก่อนจะมีกิจกรรมตกปลาด้วย อยู่ทางไปชลประทานจังหวัด

    ร้านขายของชำที่เปิดตลอด24น. ยังยืนหยัดอยู่ คือ ร้านไพรัตน์ อยู่ใกล้ๆสี่แยกไฟแดงวัดสามัคคี ร้านนี้คนขายไม่มีหลับมีนอน พ่อแม่ลูกหลานญาติเปลี่ยนพลัดเวรกันขายทั้งวันทั้งคืน ที่น่าจะขายดี คือ เหล้า เบียร์ บุหรี่ โซดา น้ำแข็ง ขนมกับแก้ม

    ผับที่เปิดตอนกลางวันอยู่ชั้นใต้ดินโรงแรมวสุ ชื่อแก้วกานต์ ผมโตไม่ทันได้เข้า แต่ตอนนี้ยังคงชื่อนั้นอยู่แก้วกานต์ ปรับเปลี่ยนเป็นเทค อยู่หน้าโรงแรมวสุ หลังโรงพยาบาล ริมคลองสมถวิล

    ร้านสนุกเกอร์แต่ก่อนมีหลายร้าน เช่น ไดโนเสาร์ อยู่แถวโรงเรียนเทศบาลบูรพา กลุ่มผู้ที่มาเล่นที่นี้ก็จะเป็นพวกนักเลงๆหน่อย ตอนนี้ที่เห็นๆยังเปิดคือร้านPJ อยู่หน้าโรงแรมวสุ ริมคลองสมถวิล กลุ่มที่มาเป็นก็เป็นคนทำงาน

    สถานที่ที่มีมิจฉาชีพเยอะสุดก็คงไม่พ้น บขส

    บ้านเพื่อนอยู่ติดกับโรงฆ่าสัตว์ ติดริมห้วยคะคางเป็นห้วยที่ผ่ากลางตัวจังหวัดจากแก่งเลิงจากลงแม่น้ำชี เท่าที่จำได้แต่ก่อนแถวโรงฆ่าสัตว์จะมีแปลงผักเยอะแยะเพราะใกล้ห้วยมีน้ำรด และเป็นที่ที่รถสูบส้วมเอาอึมาขายเพื่อไปรถผัก แล้วเอาไปขายตลาด มิน่าผักสวยมาก ตอนนี้ไม่รู้เป็นอย่างไรบ้าง ไม่ได้ไปแถวนั้นนานมาก

    สมัยนี้มีเคียงเนื้อวัว หมู แต่ก่อนไม่มีจะใครจะฆ่าวัว หรือหมูซักตัว จะทำในลักษณะที่เรียกว่า แบ่งพูด” คือ ทำเนื้อ/เครื่องในเป็นกองๆ แล้วให้เพื่อนบ้านที่ต้องการมาเลือกกองที่ถูกใจแล้วก็จ่ายเงิน ทุกกองราคาเท่ากัน

    ที่สุดท้ายครับที่ผมจำได้และไม่มีแล้ว เพราะเด็กสมัยนี้อยู่บนโลกออนไลน์รึเปล่าจึงไม่มีสถานที่นี้แล้ว คือ “สนามเด็กเล่น” อยู่ใกล้ๆเทศบาลเมือง แต่ก่อนจำได้แม่นว่าจะมีนางยักษ์ในเรื่องสุนทรภู่อยู่กลางบ่อน้ำ และมีของเล่นเด็กๆทั่วไป ไม่มีอะไรวิเศษนัก เช่น ชิงช้า ม้ากระดก สนามหญ้า ตอนนี้พื้นที่นั้นก็เป็นลานปูนเปล่า จะมีการใช้พื้นที่ทำกิจกรรมบ้างก็ช่วงหน้าหนาว จะมีการมาเต้นอารบิก เปิดเพลงเต้น มีผู้นำเต้น ส่วนหน้าร้อน ฝน ก็ไม่ได้ใช้อะไร เป็นลานปูน

    สิ่งที่ผมเขียนในบันทึกนี้เป็นแค่ส่วนที่จำได้เท่านั้น บางแห่งบางสถานที่ก็หายไป หรือปรับเปลี่ยนให้ดีขึ้นจนไม่เห็นโครงร่างเดิม แต่มหาสารคามยังเป็นจังหวัดที่น่าอยู่เสมอของผม ผมไม่รู้สึกว่ามันเปลี่ยนแปลงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา เพราะผมอยู่กับมันทุกวันจึงเป็นส่วนหนึ่งของมัน ของการเปลี่ยนแปลง ฮักนะสารคาม”

----------------

10ปีการทำงาน ณ มมส

    ...เดี๋ยวขอมาเล่าต่อหรือตีพิมพ์ในวันที่25พย55 ซึ่งเป็นวันครบรอบ10ปีการทำงานที่มหาวิทยาลัยมหาสารคามครับ

----------------

แจ๊ค  กัมปนาท  อาชา

 

หมายเลขบันทึก: 508982เขียนเมื่อ 16 พฤศจิกายน 2012 15:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 10:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณ บทความดีดีนี้นะคะ

 

  • เกิดเดือนสุดท้ายของปีเหมือนยายไอดินเลยนะคะ
  • มาฟื้นความหลังเมืองมหาสารคามค่ะ
  • ยายไอดินเคยเรียนที่วิทยาลัยวิชาการศึกษามหาสารคาม เป็นรุ่นที่ 4 ค่ะ คุณแจ๊คยังไม่เกิด (เรียนปี 2514-2515) เป็นรุ่นที่คัดเลือกนักศึกษาเรียนดีจากวิทยาลัยครูในกทม.และในภาคอีสานทั้งหมดไปเรียน ยายไอดินเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษ ที่เรียนยังเป็นที่เดิมค่ะ ที่ชอบที่สุดคือ เวลาขึ้นไปนนดาดฟ้าอาคารเรียน จะมองเห็นดอกจานบานเจิดจ้าอยู่รอบทิศ
  • สถานที่ๆ คุณแจ๊คกล่าวถึง ยายไอดินรู้จักประมาณ 90 % ค่ะ ขอบคุณนะคะสำหรับภาพที่ชัดเจนของเมืองมหาสารคาม
  • ช่วงที่ลูกสาวเรียนที่ม.ขอนแก่น เวลาไปเยี่ยมลูก ยายไอดินจะแวะทานส้มตำที่มหาสารคามค่ะ ชอบมาก รสชาติมีเอกลักษณ์ ใส่มะกอกดิบลูกเล็กๆ
  • ขอให้คุณแจ๊คมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และทำงานอย่างมีความสุขนะคะ ยายไอดินเกษียณมาแล้วย่างเข้าเดือนที่ 2 ตอนนี้ไปใช้ชีวิตเป็นเกษตรกรในชนบทค่ะ

Large_farmer

 

 

 

ขอบคุณ Dr. Ple ที่ไหนก็น่าอยู่ครับ ถ้าอยู่แบบให้น่าอยู่ แจ๊ค

สวัสดีครับคุณยายไอดิน สารคารเปลี่ยนไปมากครับ และเชื่อว่าจังหวัดอื่นๆก็เปลี่ยนไป แต่คงเปลี่ยนในลักษณะของความเจริญ แจ๊ค


บ้านผมอยู่ตรงข้ามซอยผีสิงนั้นเลยครับ(ในซอยอีกฝั่ง) ผมเดินเล่นตั้งแต่ผมยัง4-5ขวบ ตอนนี้17แล้วครับ ไม่นึกว่าแต่ก่อนเค้าเรียกกันแบบนั้น สนามม้าก็กลายเป็นโกลบัลเฮ้า ฮ่าๆๆๆ เมื่ออาทิตก่อนผมยังถามแม่เลยว่าสนามม้าหายไปไหนแล้วแม่ สารคามเปลี่ยนไปเยอะจริงๆครับ

อาจารย์หน่อยห้องสมุด

สวัสดี หลาน ข้าว ส.ค  คุณแจ๊ค และคุณยายไอดิน  ทั้งสองท่านเขียนได้น่าอ่านมาก ถ่ายทอดได้ดี เขียนต่ออีกมาก ๆ นะคะ 

พี่มาเรียน ปี 2521 ตอนนั้นเป็น มศว.มค. ท่าน รศ. ดร.ชาตรี เมืองนาโพธิ์ เป็นรองอธิการบดี

เรียนจบไปเป็นครูสอนเด็ก 3 ปี ยังรู้สึกอยากรู้อยากเรียนจึงไปเรียนต่อด้านบรรณารักษศาสตร์   ปัจจุบันทำงานจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย ในสำนักวิทยบริการ  น้องแจ๊คเคยไปตรวจประกันคุณภาพ ได้เจอกันบ้าง 

ส่วนคุณยายไอดิน อาจจะไม่เคยได้พบเลย แต่รู้สึกยินดีมากที่ได้อ่านข้อเขียนของท่าน ฟาร์มของท่านช่างสวยงามเหลือเกิน เป็นความใฝ่ฝันในชีวิตอยากมีอย่างนี้ค่ะ (เอ หากอาจารย์ไปร่วมงานวันที่ 6 มกราคม 2556  รำลึก รศ. ดร บุญชม ไชยโกษี ที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มมส. ขามเรียง อาจจะเห็นช่างภาพตัวเล็ก ๆ  ที่พยายามขอถ่ายรูปพี่ ๆ ศิษย์เก่า วศ.ม ทุก ๆ คน  คนนั้นแหละ หนูเอง 555 )  ทั้งน้องแจ๊ค คุณยายไอดิน กรุณา เขียนบันทึกไว้มาก ๆ นะคะ น่าสนใจมาก จะขอเอาใส่ไว้ในจดหมายเหตุมหาวิทยาลัย ไว้ให้เด็กรุ่นหลังได้อ่านต่อไป 

อ่านและเขียนเล่าเรื่อง มหาวิทยาลัยของเราได้ที่ Facebook ของจดหมายเหตุ มหาวิทยาลัยมหาสารคามค่ะ

Happy Valentine's Day

มะลิวัลย์

ตอนนี้ขโมยเยอะมากครับ เพราะรายได้เท่ากับเขาแต่รายจ่ายเท่ากัน...หมายถึงเทียบกับจังหวัดอื่นๆ

รู้สึกหวนคืนบรรยากาศเดิมที่เคยเรียนครับ ผมคนอ.เขาวงกาฬสินธุ์ มาเรียนสารคาม ตั้งแต่ปี31 ใช้ชีวิตที่นั่นห้าปีกว่า ตั้งแต่หน้าป้ายยังไม่คึกคัก คุ้นชินจากหน้าป้ายถึงฝั่นธนละครับ 555 ขอบคุณที่บันทึกสิ่งดีๆไว้ ปล.ขาดโรงหนัง 4711 ครับไปอาชีวะ เดินทางจากสถานีตำรวจ

คิดฮอดบ้านคือกันครับ อ่านไปทบทวนความหลังไป เพราะเป็นคนสารคามเรียนที่ผดุงนารี(รุ่นที่ 3) ที่้เริ่มรับผู้ชายเป็น รร.สห จนไปเรียนมศว.อีก4ปี เรียนจบก็มาเผชิญโชคในเมืองกรุง นานๆกลับบ้านสารคามที ตอนนี้เจริญรุดหน้าไปจนจำเกือบไม่ได้ 

หาบทความเกี่ยวกับสารคามในอดีตอ่าน จนเจอบทความนี้ อ่านตอนแรก รู้สึกคุ้นๆ

คำนวนอายุดู รุ่นเดียวกันแฮะ

อ่านไปอ่านมา   เพื่อนแจ็คเรานี่นา..

เขียนได้ดี จนนึกถึงภาพเก่าๆ

โรงหนังเพชรรามา นครสวรรค์ 4711 

สนามเด็กเล่นที่มีนางยักษ์ตัวใหญ่ พระอภัยมณีเป่าปี่ นางเงือก เราเคยลงไปเล่นน้ำในนี้ด้วย 555

คิดถึงเพื่อนจ้า

จากคนซอยเดียวกัน

หาบทความเกี่ยวกับสารคามในอดีตอ่าน จนเจอบทความนี้ อ่านตอนแรก รู้สึกคุ้นๆ

คำนวนอายุดู รุ่นเดียวกันแฮะ

อ่านไปอ่านมา   เพื่อนแจ็คเรานี่นา..

เขียนได้ดี จนนึกถึงภาพเก่าๆ

โรงหนังเพชรรามา นครสวรรค์ 4711 

สนามเด็กเล่นที่มีนางยักษ์ตัวใหญ่ พระอภัยมณีเป่าปี่ นางเงือก เราเคยลงไปเล่นน้ำในนี้ด้วย 555

คิดถึงเพื่อนจ้า

จากคนซอยเดียวกัน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท