แม่


                                                                                                          ดร.ฤทธิชัย  แกมนาค [1]

บทนำ

เดือนสิงหาคมของทุกปี ถือเป็นเดือนมหามงคลสำหรับประชาชนชาวไทย เนื่องด้วยเป็น“วันแม่แห่งชาติ”
   มีใครบ้างที่รู้ว่าคำว่า  “แม่” มีที่มาจากไหน 
   
ใครเป็นผู้พูดหรือบัญญัติคำว่า  “แม่” ใช้เป็นคนแรก ? 
   
ความหมายที่แท้จริงของคำว่า  “แม่” หมายถึงอะไร ?     จากคำถามที่ลองตั้งเป็นประเด็นให้ขบคิดกัน  ๓  ประเด็นนั้น  ก็นำความปวดหัวมาให้มิใช่น้อย  จนบางทีเพื่อหลีกหนีความปวดหัว  เราก็มักจะหลบเหลี่ยงโดยไม่สนใจไยดีกับคำถามเหล่านั้น  หรืออาจจะมีคำพูดพอเป็นทางพาตัวรอดไปได้ว่า  คำว่า “แม่”  จะมาจากไหน  ใครเป็นคนพูดคนแรก  หรือมีความหมายที่แท้จริงเป็นอย่างไร  ก็ไม่เห็นจะสำคัญตรงไหน  ความสำคัญมันอยู่ตรงที่เรามีคำว่า“แม่”ใช้และเป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดีแล้วในทุกวันนี้เท่านี้ก็น่าจะพอใจแล้วนี่นาไม่เห็นจำเป็นต้องรื้อฟื้นหาที่มาที่ไปให้เสียเวลานั่นก็เป็นสิทธิของผู้คิดในทำนองนั้นไป  แต่ผู้ที่ใฝ่รู้มักจะคิดว่า  ทุกคำถามน่าจะมีคำตอบ  ซึ่งก็มีความน่าจะเป็นเช่นนั้น 

ดังนั้น ในบทความนี้ผู้เขียนขอลองเป็นผู้ตอบคำถามทั้ง  ๓  ประเด็น  ซึ่งก็ไม่ได้ตั้งวัตถุประสงค์ว่าคำตอบที่ได้นั้นต้องเป็นคำตอบที่ถูกที่สุดเพียงแต่หวังว่าอาจเป็นคำตอบที่เป็นทางเลือกอันก่อให้เกิดประโยชน์ได้ไม่มากก็น้อย 
 คำถามว่า  คำว่า  แม่  มีที่มาจากไหน ? 
   ตอบว่า  เป็นการยากยิ่งนักที่จะหาที่มาของคำว่าแม่  ให้ถึงต้นตอของคำนี้  ด้วยเหตุที่หลักฐานต่าง ๆ  อันเป็นต้นกำเนิดของคำนี้  ไม่มีการบันทึกหรือจารึกไว้  มีแต่การสันนิษฐานไปประการต่าง ๆ  โดยใช้การเทียบเคียงกับภาษาของชาติอื่น ๆ  เป็นหลักบ้าง  หรือตั้งสมมติฐานตามความเข้าใจตนเองบ้าง  สรุปถ้าจะหาที่มาของคำว่า  แม่  คำตอบที่ได้จะเป็นการเดามากกว่าความรู้ที่แท้จริง  ซึ่งทุกชาติทุกภาษาที่ใช้คำที่มีความหมายเดียวกับแม่ก็พบคำตอบทำนองนี้เช่นกัน 
 คำถามว่า  ใครเป็นผู้พูดหรือบัญญัติคำว่า  แม่  ใช้เป็นคนแรก  ? 
   ตอบว่า  คงได้คำตอบเดียวกับข้อที่หนึ่ง  และยิ่งจะเป็นการเดามากขึ้นไปเสียอีก  จะมีใครหลงเหลืออยู่ในยุคปัจจุบันบ้างที่ร่วมรู้ร่วมเห็นการพูดที่ได้พูดหรือบัญญัติคำว่าแม่เป็นคนแรกนอกเสียจากเวลาที่เราฝึกหัดเด็กตัวน้อย ๆ  ที่กำลังจะเริ่มฝึกพูด  แล้วเราก็ป้อนคำพูดให้เขาพูดเป็นคำแรกว่า  แม่  หรือ  พ่อ  ซึ่งจะตอบว่า  เด็กเป็นคนแรกที่พูดคำว่า  แม่  ก็ดูจะเป็นการฟุ้งเฟ้อไปกระมัง  เพราะผู้ที่สอนให้เด็กพูดก็เป็นผู้ใหญ่รู้ภาษาเสียแล้ว  มิใช่เด็กเป็นคนแรกที่เป็นผู้พูด  แต่ครั้นจะตอบว่า  ผู้ใหญ่เป็นคนแรกที่พูดหรือบัญญัติคำว่า  แม่  ก็กลายเป็นปัญหาไข่กับไก่ขึ้นมาอีก  หรืออาจมีคำถามแบบกวนใจว่า  แล้วผู้ใหญ่คนไหนมีชื่อเสียงเรียงนามว่ากระไรเป็นคนแรกที่พูดหรือบัญญัติคำนี้ขึ้นมา  ยุ่งกันไปใหญ่ 
   ส่วนคำถามว่า  ความหมายที่แท้จริงของคำว่า  แม่  หมายถึงอะไร  ? 
 ตอบว่า  คำถามนี้พอได้ตอบกัน  ซึ่งต้องใช้เวลาในการตอบพอสมควร  เพราะการที่จะตอบคำถามนี้ให้ถูกมากกว่าผิด  ก็ต้องมีหลักฐานอ้างอิงเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  ผู้เขียนขอทำหน้าที่เป็นผู้หาหลักฐานมาอ้างอิงเพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ  ดังต่อไปนี้ 
    คำว่า "แม่" เป็นคำที่เด็กแรกหัดพูดสามารถพูดได้อย่างง่ายและเป็นคำที่มีความหมายในตัวเอง  โดยที่ไม่ต้องอธิบายความหมายอะไรมาก  ก็เป็นที่เข้าใจกันเป็นอย่างดี  นักภาษาศาสตร์ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่าคำที่มีความหมายเกี่ยวกับ "แม่"  ที่มนุษย์เชื้อชาติต่าง ๆ  พูดกันนั้นมักขึ้นต้นด้วยพยัญชนะริมฝีปากคู่ (Bilabial) ได้แก่ ม, พ, ป, บหรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นพยัญชนะชุดแรกที่เด็กสามารถทำเสียงได้โดยการใช้ริมฝีปากบนและล่างออกเสียง  ยกตัวอย่างเช่น ภาษาไทย  ใช้คำว่า  แม่ ภาษาบาลี  ใช้คำว่า  มาตา ภาษาสันสกฤต  ใช้คำว่า  มาตฺฤ ภาษาจีน  ใช้คำว่า  ม๊ะ หรือ ม่า ภาษาฝรั่งเศส  ใช้คำว่า  (ลา)แมร์  (la mere) ภาษาอังกฤษ  ใช้คำว่า  มอม,  มามา,  มัธเทอร์  (mom , mama, mother) ภาษาโซ่  ใช้คำว่า  ม๋อเปะ ภาษามุสลิม  ใช้คำว่า  มะ ภาษาเขมร  ใช้คำว่า  เม เป็นต้น 
    จากภาษาของชนชาติต่าง ๆ  ที่อ้างถึงจะเห็นได้ว่า  คำที่เรียกหญิงผู้ให้กำเนิดลูกขึ้นต้นด้วย  ม 

ในบทความนี้จะอธิบายและสืบค้นเอาความหมายเฉพาะคำว่า  “แม่”  ในภาษาไทยเป็นหลัก  เรามาสืบค้นดูซิว่า  คำว่า “แม่”  นั้นดั้งเดิมของคำนี้มีความหมายว่าอย่างไร   
ความหมายของคำว่า “แม่”

จากเอกสารศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษที่พิมพ์เผยแพร่โดยศูนย์สังคีตศิลป์  ฝ่ายการประชาสัมพันธ์ร่วมกับกรมศิลปากรโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กระทรวงวัฒนธรรมและกรุงเทพมหานคร  ได้เขียนถึงเรื่อง  แม่สรี – แม่ศรี  “ผีบรรพบุรุษ”  รากเหง้าเก่าแก่ในสงกรานต์อุษาคเนย์  ในที่นี้ผู้เขียนขออนุญาตเก็บใจความและเสริมความเพื่ออ่านกันเข้าใจง่าย ๆ  ดังนี้[2]  คำว่า  “แม่ศรี”  ที่คนไทยเรานำมาใช้พูดใช้เขียนกัน  เป็นการนำคำ  ๒  คำมารวมกัน  คือคำว่า  แม่  ซึ่งเป็นคำพื้นเมืองดั้งเดิมของอุษาคเนย์  กับคำว่า  ศรี  ซึ่งเป็นคำจากภาษาสันสกฤต  การที่คนไทยนำคำมาผสมกันว่า  แม่ศรี  นี้ผิด  เพราะที่ถูกต้องเขียนว่า  แม่สรี  เป็นคำจากภาษาเขมร  อ่านว่า  แม่-สะ-รี  ซึ่งบางท้องถิ่นในประเทศไทยใกล้เขมรจะเขียนว่า  แม่สี  ซึ่งถูกต้องใกล้เคียงรากเหง้าเก่าแก่ที่สุด   
   ส่วนคำว่า  แม่  ตรงกับคำเขมรว่า  เม  หมายถึง  หัวหน้า  หรือผู้เป็นใหญ่  เช่น  แม่ทัพ  แม่น้ำ  ฯลฯ  ส่วนคำว่า  สรี  เป็นคำเขมรว่า  สฺรี  อ่านว่า  เซฺรีย  กลายมาจากคำว่า  สฺตรี  หมายถึง  ผู้หญิง  คำว่า  สฺตรี  นี้มาจากภาษาสันสกฤต  เมื่อรวมเข้าเป็น  แม่สรี  หรือ  แม่สี  ก็หมายถึง  หญิงผู้เป็นใหญ่หรือผู้หญิงที่เป็นหัวหน้า   มีหลักฐานยืนยันได้ว่า  ผู้หญิงที่เป็นใหญ่หรือเป็นหัวหน้า  โดยเฉพาะในพิธีกรรม  มีทั่วไปในโลกยุคเริ่มแรก  เฉพาะภูมิภาคอุษาคเนย์มีร่องรอยและหลักฐานชัดเจนเป็นที่รู้ทั่วไป  เช่น  นิทานกำเนิดบ้านเมืองและรัฐทั้งเขมรและมอญ  ฯลฯ  โดยเฉพาะเขมรมีนิทานเรื่อง  นางนาคแล้วไทยรับนิทานเรื่องนี้มา  ยังเหลือเค้าอยู่ในกฎมณเฑียรบาลชื่อ  พระราชพิธีเบาะพก  ว่าพระเจ้าแผ่นดินต้องบรรทมด้วยแม่หยัวพระพี่  ก็คือ  นางนาค  อย่างเดียวกับนิทานของนครธม

จากเนื้อความในเอกสารศิลปวัฒนธรรมฉบับพิเศษนี้  ดูเหมือนจะทำให้เราได้มองเห็นต้นเค้าของคำว่า  แม่  อยู่บ้าง  ถ้าเราวางพื้นฐานความรู้เรื่องพัฒนาการว่า  ภาษามีการยืมคำมาใช้กันได้  และมีการเพี้ยนคำตามวันเวลาและตามธรรมชาติในการเปล่งเสียงของชนเชื้อชาติที่ต่างกัน  แต่ยังคงเนื้อเสียงที่ใกล้เคียงกัน  เช่นคำว่า  แม่  ตรงกับคำเขมรว่า  เม  อาจสันนิษฐานได้ว่า  คำว่า  แม่  เป็นคำยืมที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า  เม  หรือคำว่า  เม  เป็นคำยืมที่เพี้ยนเสียงมาจากคำว่า  แม่  ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ทั้งสองทาง  ตราบเท่าที่เราไม่สามารถพิสูจน์ทราบความจริงอันเป็นต้นตอได้ 
    คำว่า  “แม่”  นี้ตกผลึกเป็นคำที่ฝังแน่นอยู่ในหัวใจของคนไทยทุกคนมาช้านาน  ถ้าจะถามหาถึงความหมายที่แน่นอนของคำว่า  แม่  ในปัจจุบัน  คงต้องยกหน้าที่นี้ให้กับนักปราชญ์ราชบัณฑิต  ซึ่งท่านได้เก็บคำว่า  แม่  พร้อมทั้งให้ความหมายไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานเป็นที่เรียบร้อยแล้ว  แม้ว่าการอธิบายหรือการให้ความหมายของคำว่า แม่ นั้น  ท่านจะเขียนไว้อย่างกลาง ๆ  ชวนให้งวยงงอยู่บ้าง  ก็ยังดีกว่าไม่เก็บคำนี้ไว้  หรือไม่ได้ให้ความหมายไว้เสียเลย  ในบทความนี้ผู้เขียนได้เสริมเติมคำที่เกี่ยวกับแม่เพิ่มขึ้น  เพื่อเป็นการง่ายต่อการสื่อให้ตรงกับสารสำหรับผู้เขียนกับผู้อ่าน

“แม่” ตามความหมายของพจนานุกรม

ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน[3]  ได้เก็บคำว่า  แม่  เอาไว้  โดยตั้งเป็นคำหลักหรือที่เรียกทางภาษาวิชาการว่า  แม่คำ  และมีคำรอง ๆลงมา  ที่เรียกว่า  ลูกคำ  เอาไว้หลายคำ  ดังนี้

แม่  น.  (หมายถึงเป็นคำนาม)หมายถึง  หญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูลูก,คำที่ลูกเรียกหญิงผู้ให้กำเนิดหรือเลี้ยงดูตน ; คำที่ผู้ใหญ่เรียกผู้หญิงที่มีอายุน้อยกว่าด้วยความสนิทสนมหรือรักใคร่เป็นต้นว่า  แม่นั่น  แม่นี่  ;

   คำใช้นำหน้านามเพศหญิง  แปลว่า  ผู้เป็นหัวหน้า  เช่น  แม่บ้าน  ;   
   ผู้หญิงที่กระทำกิจการหรืองานอย่างใดอย่างหนึ่ง  เช่น  ค้าขาย  เรียกว่า  แม่ค้า  ทำครัว  เรียก  แม่ครัว  ;

   เรียกสัตว์ตัวเมียที่มีลูก  เช่น  แม่ม้า  แม่วัว ;  
    เรียกคนผู้เป็นหัวหน้าหรือเป็นนายโดยไม่จำกัดว่าเป็นชายหรือหญิง  เช่น  แม่ทัพ  แม่กอง ; 
   คำยกย่องเทวดาผู้หญิงบางพวก  เช่น  แม่คงคา  แม่ธรณี  แม่โพสพ,บางทีก็ใช้ว่า  เจ้าแม่  เช่น  เจ้าแม่กาลี ;

   เรียกสิ่งที่เป็นประธานของสิ่งต่าง ๆ  ในพวกเดียวกัน เช่น  แม่กระได  แม่แคร่  แม่แบบ ; 
    เรียกชิ้นใหญ่กว่าในจำพวกสิ่งที่สำหรับกัน  เช่น  แม่กุญแจ  คู่กับ  ลูกกุญแจ ; 
   แม่น้ำ  เช่น  แม่ปิง  แม่วัง ; 
   คำหรือพยางค์ที่มีแต่สระ  ไม่มีตัวสะกด  เรียกว่า  แม่ ก กา[4],   
   คำหรือพยางค์ที่มีตัว  ก  ข  ค  ฆ  สะกด  เรียกว่า  แม่กก,   
   คำหรือพยางค์ที่มีตัว  ง  สะกด  เรียกว่า  แม่กง, 
   คำหรือพยางค์ที่มีตัว  จ  ฉ  ช  ซ  ฌ  ฎ  ฏ  ฐ  ฑ  ฒ  ด  ต  ท  ธ  ศ  ษ  ส  สะกด  เรียกว่า  แม่กด,   
   คำหรือพยางค์ที่มีตัว  ญ  ณ  น  ร  ล  ฬ  สะกด  เรียกว่า  แม่กน,   
   คำหรือพยางค์ที่มีตัว  ม  สะกด  เรียกว่า  แม่กม,   
    คำหรือพยางค์ที่มีตัว  ย  สะกด  เรียกว่า  แม่เกย  แต่ในมูลบทบรรพกิจมี  ย  ว  อ  สะกด,   
   คำหรือพยางค์ที่มีตัว  ว  สะกด  เรียกว่า  แม่เกอว 

กล่าวมาเป็นความหมายของแม่คำ  ส่วนลูกคำของคำว่า แม่ [5] ท่านเก็บไว้ดังนี้ 
   แม่กระชังหน้าใหญ่  (ส.)  น.  (เป็นคำสำนวน ใช้เป็นคำนาม)  หมายถึง  ผู้ที่ชอบแสดงตัวออกหน้าเป็นหัวเรือใหญ่,  มักพูดเข้าคู่กับ  แม่หญิงแม่หญัง  เป็น  แม่หญิงแม่หญัง  แม่กระชังหน้าใหญ่ แม่กระแชง น. หมายถึงปลาสลิดแห้งชนิดใหญ่ แม่กอง น. หมายวถึง ผู้เป็นนายกอง แม่กุญแจ น. หมายถึง  ลูกกุญแจที่ไขตัวกุญแจชนิดเดียวกันได้ทั่วไป แม่คุณ น. หมายถึง  คำพูดเอาใจหญิง แม่คู่ น. หมายถึง  นักสวดผู้ขึ้นต้นบท แม่งาน น. หมายถึง  ผู้จัดงาน แม่เจ้า น. หมายถึง  คำเรียกเมียพ่อเมืองหรือเจ้าผู้ครองนคร   แม่เจ้าโว้ย  อุ.  (คำอุทาน) หมายถึง  คำที่เปล่งออกมาแสดงความประหลาดใจ แม่ซื้อ น. หมายถึง  เทวดาหรือผีที่ประจำทารก,  แม่วี  ก็เรียก แม่เตาไฟ น. หมายถึง  ไม้สี่เหลี่ยมที่เป็นกรอบกรุดินสำหรับตั้งเตาไฟ แม่ทัพ น. หมายถึง  นายทัพ แม่ท่า น. หมายถึง  แม่บท แม่นม น. หมายถึง  หญิงที่ให้นมเด็กกินแทนแม่,  เรียกสั้น ๆ ว่า  นม แม่น้ำ น. หมายถึง  ลำน้ำใหญ่ซึ่งเป็นที่รวมของลำธารทั้งปวง แม่บท น. หมายถึง  หัวข้อใหญ่,  ท่าที่เป็นหลักของการรำ,  แม่ท่า  ก็เรียก แม่บ้าน น. หมายถึง  หญิงผู้จัดการงานในบ้านเป็นต้น แม่เบี้ย น. หมายถึง  พังพานงู แม่ปะ น.หมายถึง  ชื่อเรือชนิดหนึ่งรูปคล้ายเรือชะล่า  แต่ใหญ่กว่า  มีประทุนอยู่กลาง  หัวและท้ายเสมอกัน  มีใช้อยู่ตามแถบภาคเหนือ แม่แปรก น. หมายถึง  ช้างพังที่เป็นหัวหน้าโขลง; หญิงสาวที่จัดจ้านซึ่งเป็นหัวหน้าของหญิงสาวในหมู่

แม่พิมพ์ น. หมายถึง  สิ่งที่เป็นต้นแบบ,  โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นแบบอย่าง แม่มด น. หมายถึง  หญิงหมอผี,  หญิงที่ใช้อำนาจทำอะไรได้ผิดธรรมดาโดยอาศัยผีช่วย 
   แม่ม่าย น.หมายถึง  หญิงที่มีผัวแล้ว  แต่ผัวตายหรือหย่าร้างกันไป 
   แม่ม่ายทรงเครื่อง  น.หมายถึง  แม่ม่ายที่มั่งมี 
 แม่ยั่วเมือง น. หมายถึง  คำเรียกพระสนมเอกครั้งโบราณ,  เขียนว่า  หยั่วเมือง หรือ อยั่วเมืองก็มี 
   แม่ย่านาง น. หมายถึง  ผีผู้หญิงประจำรักษาเรือ 
 แม่ยาย น. หมายถึง  แม่ของเมีย 
    แม่ย้าว น. หมายถึง  แม่เรือน   
 แม่ร้า น. หมายถึง  เรียกหญิงจัดจ้านว่า  แม่ร้า 
 แม่ร้าง น. หมายถึง  หญิงที่เลิกกับผัว,  บางทีก็เรียกว่า  แม่ม่ายผัวร้าง 
   แม่รีแม่แรด น. หมายถึง  ทำเจ้าหน้าเจ้าตา 
   แม่เรือน น. หมายถึง  หญิงผู้ปกครองเรือน,  แม่เจ้าเรือน  ก็ว่า 
   แม่แรง น. หมายถึง  เครื่องสำหรับดีดงัดหรือยกของหนัก,  โดยปริยายหมายถึงคนที่เป็นกำลังสำคัญในการงาน 
   แม่ลาย น. หมายถึง  ลายตอนที่เป็นประธานมีซ้ำ ๆ  กันเป็นแถวไป 
   แม่เล้า น. หมายถึง  ผู้หญิงผู้เป็นหัวหน้าเลี้ยงหญิงสาวไว้บำเรอชาย  (เป็นคำปาก) 
 แม่เลี้ยง น.หมายถึง  เมียของพ่อที่ไม่ใช่แม่ตัว 
 แม่วี น. หมายถึง  คอกจับช้างขนาดเล็ก,  แม่ซื้อ ก็ว่า 
 แม่สายบัวแต่งตัวค้าง (ส.)  น. หมายถึง  ผู้หญิงที่แต่งตัวคอยผู้มารับออกนอกบ้าน  แต่เขาไม่มาตามนัด

แม่สำเภา น.  หมายถึง  คำที่ผู้ใหญ่เรียกหญิงทั่วไปอย่างสุภาพ 
 แม่สี น. หมายถึง  กลุ่มสีซึ่งสามารถผสมออกมาเป็นสีอื่น ๆ  ได้ทุกสี 
   แม่สื่อ น. หมายถึง  ผู้ชักนำให้หญิงกับชายติดต่อรักกันในเชิงชู้สาว,  บางทีเรียกว่า  แม่สื่อแม่ชัก

แม่หนัก น. หมายถึง  แม่แปรก  (ใช้เป็นคำราชาศัพท์) 
 แม่เหย้าแม่เรือน น. หมายถึง  หญิงผู้ปกครองบ้านเรือน แม่เหล็ก น. หมายถึง  แร่หรือโลหะที่มีสมบัติดูดสารแม่เหล็กได้ 
 แม่อยู่หัว น. หมายถึง  คำเรียกพระมเหสี

ยังมีลูกคำของคำว่า  แม่  อีกหลายคำที่ไม่ปรากฏมีในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน  ถึงบางคำจะมีเก็บไว้แต่ท่านก็ไม่ได้ให้ความหมายของคำนั้น ๆ  ไว้อย่างชัดเจน  แต่ปรากฏมีใช้ในหนังสืออื่น ๆ  ดังเช่น 
 แม่กระได น. หมายถึง  แผ่นไม้หนาสองแผ่นที่ตั้งคู่ขนานยึดปลายลูกกระได 
 แม่กลอน น. หมายถึง  ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง  จำพวกต้นกะด้าง 
 แม่กองธรรม น. หมายถึง  สงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าในการคุมสอบนักธรรม 
   แม่กองบาลี น. หมายถึง  สงฆ์ผู้เป็นหัวหน้าในการคุมสอบบาลี 
 แม่แก่ น. หมายถึงเรียกเด็กหญิงหรือหญิงสาวที่ชอบบ่นจุกจิกว่าแม่แก่,บางถิ่นเรียกย่าหรือยายว่าแม่แก่

 แม่ครัว น. หมายถึง  หญิงผู้ปรุงอาหารในครัว 
 แม่ค้า น.หมายถึง  หญิงผู้ค้าขาย,  แม่ค้าแม่ขาย  ก็ว่า 
 แม่คุณ น. หมายถึง  หญิงที่เป็นแม่ของแม่  เรียกกันว่า  ยาย  แต่บางท้องถิ่นเรียกว่า  แม่คุณ 
   แม่คุณแม่ทูนหัว น. หมายถึง  เป็นคำพูดเอาใจหญิงอันเป็นที่รัก 
   แม่เชื้อ น. หมายถึง  แม่บังเกิดเกล้า 
 แม่ซื้อ น. ในพจนานุกรมก็เก็บไว้  แต่ในนี้ขออธิบายเพิ่มเติมว่า  แม่ซื้อ  ประจำคนเกิดวันอาทิตย์  ชื่อ  วิจิตร์นาวัน, วันจันทร์  ชื่อ  วัณณนงคราญ,  วันอังคารชื่อ  ยักษบริสุทธิ์,  วันพุธชื่อ  สามลทัศ,  วันพฤหัสบดี  ชื่อ  กาโลทุก,    วันศุกร์  ชื่อ  ยักษนงเยาว์,  วันเสาร์  ชื่อ  เอกาไล 
   แม่เฒ่า น. หมายถึง  คำสุภาพเรียกหญิงชรา,  ภาคอีสานใช้เรียก  แม่ของเมีย 
 แม่เฒ่าน้อย น. หมายถึง  พี่สาวแม่ของเมีย  (ใช้ในภาคอีสาน) 
 แม่ดำ น. หมายถึง  เป็นคำเพี้ยนมาจาก  มาดาม  แม่ชีอาวุดสของคริสต์ศาสนา 
 แม่แดง น. หมายถึง  เรียกเด็กหญิง  หรือ  หญิงสาว  ที่อ้อนออเซาะอย่างเด็กเล็ก ๆ ว่า  แม่แดง,  บางถิ่นใช้เรียกลูกหญิงก็มี 
 แม่ตะงาว น. หมายถึง  งูพิษชนิดหนึ่ง 
 แม่ตัวน. หมายถึง  หญิงผู้ให้กำเนิดที่แท้จริงของตัว 
 แม่ทองดำ น. หมายถึง  ฝิ่น  (เป็นคำแสลงที่นักเลงฝิ่นใช้เรียกกัน) 
   แม่ทูนหัว น. หมายถึง  หญิงที่รับอุปถัมภ์เด็กที่เข้าพิธีรดน้ำมนตร์ตั้งชื่อตามพิธีแบ๊ปติสม์ของคริสต์ศาสนา  (god-mother),  แม่อุปถัมภ์  ก็เรียก 
   แม่นางเป็นคำสรรพนาม  หมายถึง  คำสรรพนามที่ ๒  พูดกับคู่สนทนาที่เป็นหญิงอย่างสุภาพ 
 แม่บังเกิดเกล้า น. หมายถึงแม่ผู้ให้กำเนิดลูก,  บางทีใช้เป็นคำสัพยอกเรียกหญิงก๋ากั่น 
 แม่ปลวก น.หมายถึง  ปลวกตัวเมียที่เรียกว่า ควีน  ตัวขนาดหัวแม่มือ  ตัวยาวราวนิ้วครึ่งมีหน้าที่ผสมพันธุ์และออกไข่ 
   แม่ผัว น. หมายถึง  แม่ของผัว 
   แม่พระ น.หมายถึง  หญิงที่มีคุณงามความดีมีเมตตากรุณา,  นักบุญหญิงแห่งคริสต์ศาสนา 
   แม่พระธรณี  น. หมายถึง  เทวดาผู้หญิงที่สถิตอยู่ภาคพื้นดินหรือที่ประตู 
   แม่โพสพ น. หมายถึง  เทพธิดาประจำข้าว 
 แม่ม่ายผัวเผลอ น. หมายถึง  หญิงที่แสดงตัวเป็นม่ายเมื่อออกนอกบ้าน  หรือเวลาผัวไม่อยู่  มักหมายถึงหญิงที่ชอบนอกใจผัว 
   แม่ม่ายลองไน น. หมายถึง  ชื่อจักจั่นตัวเล็กสีค่อนข้างดำพวกหนึ่ง,  บางทีเรียกสั้น ๆ ว่า  แม่ม่าย หรือ ลองไนก็มี 
 แม่ไม้มวยไทย น. หมายถึง  ศิลปะการต่อสู้ป้องกันตัวของคนไทย  มีชื่อกำหนดท่าหลายชื่อ 
 แม่ยก น. หมายถึงหญิงที่ให้ความสนับสนุนอุปถัมภ์นักแสดงต่าง ๆ  เช่น  ลิเก  นักร้อง ฯลฯ 
   แม่ศรีน. หมายถึง  ประเพณีอย่างหนึ่ง  เรียกผีมาเข้า  ผู้ถูกผีเข้าจะรำอย่างอ่อนช้อย  ผู้เข้าใช้ผู้หญิง  แม่ศรีเรือน น. หมายถึง  ยอดหญิง  ที่เป็นสิริแก่บ้าน,  หญิงที่มีคุณงามความดีสมกับที่จะเป็นแม่เรือน

 แม่เสือ น. หมายถึง  เสือตัวเมียที่มีลูก,  ปริยายหมายถึง  หญิงที่ดุร้ายก๋ากั่น 
   แม่หนู น.หมายถึง  ผู้ใหญ่เรียกเด็กหญิงเล็ก ๆ หรือผู้หญิงที่อ่อนอาวุโสกว่าแม่หนู 
   แม่หวัด น. หมายถึง  จำพวกกุ้งหัวแข็ง 
   แม่ใหญ่ น. หมายถึง  ลูกสาวคนโต, บางถิ่นใช้เรียก  ยาย  หรือ  ย่า  ว่า  แม่ใหญ่ 
   แม่อธิการ น.หมายถึง  แม่ชีแห่งคริสต์ศาสนา  ผู้เป็นหัวหน้าสำนัก 
   แม่อีแดง น. หมายถึง  คำที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกเมียของตน,  แม่อีหนู  ก็เรียก 
   แม่ไอ้แดง น.หมายถึง  คำที่ชาวบ้านสมัยก่อนเรียกเมียของตน,  แม่ไอ้หนู  ก็เรียก

บทสรุป

คำว่า  แม่  นั้น  โดยเนื้อแท้ของความหมายบ่งบอกถึง  ความเป็นใหญ่,  ความกว้างขวาง,  ความแผ่ไพศาล,  ความเป็นผู้นำ  และความหมายของคำว่า  แม่  ก็จะเพิ่มมากขึ้นเมื่อนำไปผสมกับคำอื่น ๆ  ที่ผู้พูดต้องการเน้นย้ำถึงความสำคัญของคำนั้น ๆ  ดังเช่นลูกคำของคำว่าแม่  ดังได้เสนอมาแล้ว 

อย่างไรก็ตาม  ความหมายหลักของคำว่า แม่ก็คือหญิงผู้ให้กำเนิดลูกหรือหญิงผู้ให้ชีวิตลูกหญิงผู้ปกป้องคุ้มครองและดูแลรักษาลูกสังคมไทยแต่เดิมยกย่องและให้เกียรติหญิงเพศผู้เป็นแม่ตระหนักถึงบทบาทหน้าที่และบุญคุณของแม่ต่อชีวิตของลูก ๆ  ตลอดมาทุกยุคทุกสมัยอานุภาพของคำว่า  แม่  สามารถซึมซาบเข้าสู่ความรู้สึกและอารมณ์ที่อ่อนโยนของคนไทยได้ตลอดเวลาและแทบทุกกรณี  อย่างเช่นการนำความหมายเกี่ยวกับแม่มาประพันธ์และขับร้องเป็นบทเพลงแนวต่าง ๆ  ไม่ว่าจะเป็นแนวลูกกรุง  ลูกทุ่ง  เพื่อชีวิต  แนวเพลงสมัยใหม่ในปัจจุบันหรือแม้แต่บทเพลงกล่อมลูก  หรือจะนำมาเขียนบรรยายความรู้สึกรัก  เคารพ เทิดทูน  เป็นบทกลอน  นิยายเรื่องสั้น  นิยายเรื่องยาว  นิทาน  หรือนำมาแสดงเป็นละคร  ภาพยนตร์  เมื่อได้อ่าน  ได้ดู  ได้ฟังครั้งใด  ความรู้สึกของผู้รับอ่าน  รับดู  รับฟัง  ก็ซาบซึ้งตรึงใจพร้อมกับนึกถึงแม่ของตัวเองทุกครั้ง  นี่คือคุณค่าแห่งภาษาไทยอย่างอัศจรรย์ภาษาหนึ่งในโลก  นับเป็นความน่าภาคภูมิใจเป็นอย่างสูงยิ่งที่เราคนไทยได้มีภาษาไทยที่มีคุณค่าและงดงามทั้งน้ำเสียงและความหมายไว้ใช้เป็นภาษาประจำชาติของเรา
     ดังนั้น  ควรที่เราคนไทยทุกคนได้ร่วมใจกันรักษ์ภาษาไทยของเราไว้ให้คงอยู่คู่โลกมนุษย์นี้  ตราบสิ้นกาลแห่งอายุขัยของโลก  มิใช่ฤา

************************

บรรณานุกรม

กำชัย ทองหล่อ.หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10.กรุงเทพ. รวมสาสน์,2540

  ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2525. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช  , 2535.

  ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน.  พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์, 2535.

…………….พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น. 2546

  วิจิตรา  แสงพลสิทธิ์และคณะ. การใช้ภาษา. กรุงเทพ ฯ : โอเดียนสโตร์, 2522

[1] หัวหน้าฝ่ายประกันคุณภาพการศึกษาและอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์  มจร.ห้องเรียนวัดแก้ว จังหวัดเชียงราย

[2] ตัดทอนมาปรับปรุงใหม่จากหนังสือ ประเพณี 12 เดือน ในประวัติศาสตร์สังคมวัฒนธรรมเพื่อความอยู่รอดของคน สุจิตต์ วงษ์เทศ บรรณาธิการ สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2548

[3] ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542.  กรุงเทพฯ : นานมีบุ๊คพับลิเคชั่น. 2546

[4] กำชัย ทองหล่อ.หลักภาษาไทย. พิมพ์ครั้งที่ 10.กรุงเทพ. รวมสาสน์,2540

[5] ราชบัณฑิตยสถาน.พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525.  พิมพ์ครั้งที่ 3 กรุงเทพฯ : อักษรเจริญทัศน์. 2530

คำสำคัญ (Tags): #แม่
หมายเลขบันทึก: 508834เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 11:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2013 21:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีครับ  Ico48ทิมดาบIco48...Dr. PleIco48ลูกสายลม       YongIco48tuknarak

ขอบคุณสำหรับดอกไม้ที่มอบให้

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท