เสนอแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้ สู่เส้นทางที่เป็นจริง ของครูใหญ่บ้านนอก


เสนอแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้

เสนอแนวทางการปฏิรูปการเรียนรู้    สู่เส้นทางที่เป็นจริง  ของครูใหญ่บ้านนอก

ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.  2542  (ฉบับปรับปรุง  พ.ศ.2545)  ได้กำหนดแนวทางในการปฏิรูปการเรียนรู้ไว้อย่างชัดเจน  โดยกำหนดจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา  การจัดการเรียนการสอน  ตลอดจนการวัดประเมินคุณภาพการศึกษา  ซึ่งหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการศึกษา  ทั้งระดับกระทรวง   เขตพื้นที่การศึกษา  โรงเรียนได้นำไปกำหนดนโยบาย  วิสัยทัศน์  แนวทางการปฏิบัติไว้อย่างหลากหลายมากมาย    ได้ผลบ้างไม่ได้ผลบ้าง  สำเร็จบ้างไม่สำเร็จบ้างตามเหตุปัจจัย  แต่จากการประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ผลการประเมินทั้ง  คะแนน   NT  ระดับช่วงชั้น  ที่  1 , 2  และ  3   และจากการประเมินผลการสอบเรียนต่อระดับอุดมศึกษา  ได้แก่  คะแนน  จาก  การสอบ  O-NET    A-NET    พบว่ายังอยู่ในระดับปรับปรุงทุกช่วงชั้น  โดยเฉพาะ  วิชาภาษาอังกฤษ  คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  สังคมศึกษา  และภาษาไทย  ตามลำดับ  นอกจากนั้นผลการประเมินคุณภาพการศึกษา    จากสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  ยังพบว่า  มาตรฐานที่  4  ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  มีวิจารณาญาน  มีคงามคิดสร้างสรรค์  คิดไตร่ตรอง  และมีวิสัยทัศน์   มาตรฐานที่  5  ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร  และมาตรฐานที่  6  ผู้เรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  รักการเรียนรู้  และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง   ยังอยู่ในระดับปรับปรุง  ถึงพอใช้  จากผลการประเมินทั้งหมดที่กล่าวข้างต้น  ชี้ให้เห็นว่า  ตั้งแต่ปีการศึกษา  2542  ที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  จนถึงขณะนี้  การปฏิรูปการศึกษาที่สังคมคาดหวัง  ยังไม่เห็นผลเป็นรูปธรรมที่ชัดเจน  ประกอบกับปัจจุบันพฤติกรรมวัยรุ่น  เยาวชน  ตามสื่อทั้งหลาย  ไม่ว่าจะเป็นโทรทัศน์  หนังสือพิมพ์  ล้วนแล้วแต่แสดงให้เห็นภาพของความไม่สมบูรณ์ทางการศึกษาทั้งสิ้นเช่น  คลิปจากการบันทึกโดยโทรศัพท์มือถือของนักเรียนของโรงเรียนแห่งหนึ่ง  ที่ปรากฏนักเรียนหญิงตีกันในห้องน้ำจนสลบ  เนื่องจากแย่งคนรัก  แก๊งค์วัยรุ่นที่พบเห็นโดยทั่วไปหลายจังหวัดรวมตัวกันทำความเดือดร้อนให้ชาวบ้าน  ตีรันฟันแทง   นอกจากนั้นเสียงจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมทุกระดับ  ยังเห็นสอดคล้องตรงกันว่า  นักเรียนที่จบการศึกษาระดับต่างๆยังเป็นแรงงานไม่ได้มาตรฐานต้องลงทุนในการพัฒนาเพิ่มเติม  และยังขาดความรับผิดชอบอีกด้วย  ยิ่งแสดงให้เห็นของความล้มเหลวของระบบการศึกษาของชาติ  ที่ไม่สามารถพัฒนาคนให้มีมาตรฐานตามที่สังคมต้องการได้   เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งต่อการพัฒนาสังคม  พัฒนาประเทศ  ซึ่งนับวันสังคมจะมีความหลากหลายซับซ้อนมากขึ้นโดยลำดับ  หากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกวิธีแล้ว  ปัญหาก็จะยิ่งเพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ  ดังคำพังเพยที่ว่า  เหมือนลิงแก้แห

เมื่อมีปัญหาใดในสังคม  สังคมมักจะชำเลืองมาที่กระทรวงศึกษาธิการ   ชำเลืองมาที่ระบบการศึกษาของชาติ  ชำเลืองมาที่  ผู้บริหารทั้งระดับกระทรวง  เขตพื้นที่การศึกษา  ผู้บริหารโรงเรียน  ตลอดจนครูผู้ทำหน้าที่สอน  พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  ก็มีแล้ว  แต่ก็ไม่เห็นผล

ในระดับกระทรวงศึกษาธิการก็ได้มีการแก้ไขพยายามคิดนโยบายวิธีการต่างๆออกมามากมาย  แต่การขับเคลื่อนยังดูเหมือนจะสะดุดติดขัด  แม้จะมีการเปลี่ยนตัวท่านรัฐมนตรีหลายท่าน  หลายครั้งก็ตาม บางท่านก็มีแนวโน้มว่าจะไปได้ดี  แต่ก็ทำงานไม่ต่อเนื่อง  ด้วยเหตุผลทางการเมือง  บางท่านก็ตกม้าตาย   ส่วนผู้บริหาร  ครูผู้สอนก็ว่าได้ทำเต็มที่แล้ว  ตามงบประมาณที่จัดมาให้  อาจคิดต่อไปเป็นเหตุปัจจัยอื่นๆตามมาอีกมากมาย  เช่นปัญหาความยากจน  ของประชาชนก็มีส่วนส่งผลให้คุณภาพนักเรียนตั้งแต่เริ่มเข้าเรียนก็บกพร่องเสียแล้ว  ส่งผลให้เด็กบกพร่องตั้งแต่เกิด  ครอบครัวบกพร่อง  พ่อแม่หย่าร้าง  เพียงแต่ปัจจัยนำเข้าด้านผู้เรียนก็เป็นปัญหาใหญ่  เป็นวาระแห่งชาติเสียแล้ว  ทำให้มีปัญหาอื่นๆตามมาอีกพะเรอเกวียน  ซึ่งก็เป็นข้อจำกัดที่หลีกเลี่ยงไม่ได้  จากปัญหาที่พบมากมายหลายประการ  หากเราไม่ช่วยกันคิด  ช่วยกันแก้ไข  เสนอแนะแนวทาง  ละเลย  ปล่อยผ่านเลย  น่าจะไม่ใช่วิสัยของผู้เป็นส่วนหนึ่งที่อาศัยคุณแผ่นดินเลี้ยงชีพ  และน่าจะตอบแทนคุณแผ่นดินได้ด้วยการมีส่วนร่วมในการคิด  ร่วมทำ ตามที่ท่านประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ  ท่านอดีตนายกรัฐมนตรี  พลเอกเปรม  ติณสูลานนท์  ได้กล่าวเน้นย้ำไว้หลายครั้งในงานสำคัญๆ  ผมในฐานะของผู้บริหารโรงเรียนที่เป็นส่วนเล็กๆส่วนหนึ่งของการศึกษา  จากความรู้  จากประสบการณ์ที่มีอันน้อยนิดและเป็นผู้หนึ่งที่เป็นส่วนหนึ่งของความรับผิดชอบต่อการจัดการศึกษาของสังคม  ขอเป็นผู้มีส่วนร่วมคิดด้วยคน  และขอเสนอแนวทางที่เป็นไปได้  ดังนี้

                จากผลการประเมิน  NT   ของสำนักทดสอบและมาตรฐาน  ของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน  ควรมีการสรุปภาพรวมแล้วนำเสนอสาธารณชนในแต่ละปี  ว่าตอนนี้เด็กเราโดยภาพรวมความรู้ด้านต่างๆ  อยู่ตรงใหน  เช่น  วิชาภาษาไทยอ่านไม่ออก  เขียนไม่ได้กี่คน  ระดับใหน   ช่วงชั้นใหน  เพราะในปัจจุบันผู้ที่คลุกคลีกับเด็ก  เช่นครู  ผู้ปกครอง  ผู้บริหารโรงเรียนจะรู้ดีว่าเด็กคนใหนอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้กี่คน  ใครบ้าง (แต่ไม่ค่อยมีคนนำมาพูด  กลัวเสียหน้า  กลัวเสียเหลี่ยม)  และเป็นปัญหาสำคัญมากๆ  ต่อการเรียนวิชาอื่นๆ  และถ้าไม่ได้รับความสนใจ  เด็กกลุ่มนี้จะไม่รู้อย่างต่อเนื่องตั้งแต่ระดับช่วงชั้นที่  1  จนจบการศึกษาภาคบังคับ  เมื่อไปประกอบอาชีพ  หรือไปเป็นแรงงาน  ก็จะอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้  และถ้าต้องใช้เครื่องมือที่เป็นเทคโนโลยีก็จะลำบากต่อการทำงานยิ่งขึ้น  จึงทำให้นายจ้างสรุปว่าแรงงานไม่ได้มาตรฐาน  และนักเรียนกลุ่มนี้เมื่ออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ก็ขาดแรงจูงใจ  ขาดกำลังใจในขณะเรียน  ครูมอบให้ทำกิจกรรมใดก็ไม่สามารถทำได้  (จากการสอบถาม  สังเกตเด็ก  เขาอยากทำอยู่  แต่ทำไม่ได้  ไม่มีใครอยากทำไม่ดี)  และจะไปในแนวทางการสร้างปัญหาให้โรงเรียนและชุมชนอีกด้วย  ถ้าโชคดีมีครูที่เข้าใจและมีความพยายามที่จะแก้ปัญหาเหล่านั้นก็ถือเป็นโชคดีของเด็ก  แต่ถ้าโชคร้าย ไม่ได้รับการเอาใจใส่  ปล่อยปละละเลย    ความไม่รู้ก็จะติดตัวเด็กไปไม่รู้จบ  มีผลถึงลูกถึงหลานเขาด้วย  เขาจะเป็นผู้ด้อยโอกาส  ชั่วนาตาปี  แต่จะมีครูสักกี่คนที่ทำได้  และส่วนใหญ่แล้วก็จะสอนเด็กตามเวลา

ตามหลักสูตรทั่วๆไป  สอนเด็กส่วนใหญ่  เพราะหลักสูตรกำหนดเวลาไว้เช่นนั้น  เมื่อเรียนไม่รู้

วิชาภาษาไทยเสียแล้วก็อย่างหวังว่าจะเรียนวิชาอื่นๆได้อย่างราบรื่น  เพราะภาษาไทยเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ทุกวิชา  และผลการเรียนวิชาอื่นๆก็จะมีแนวโน้มเป็นไปในทำนองเดียวกัน

                เมื่อได้ข้อมูลแล้วควรต้องนำปัญหาเหล่านั้นมากำหนดเป็นนโยบายระดับกระทรวง  ระดับจังหวัด(ผู้ว่า  CEO)    เขตพื้นที่การศึกษา  โรงเรียน  ต้องดำเนินการแก้ไข  ต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติ   มีเป้าหมาย  กำหนดเวลา  กำหนดบทบาทหน้าที่  กำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ  กำหนดมาตรฐานให้ชัดเจน  ก่อนนักเรียนจบการศึกษาจบหลักสูตรต้องจัดการให้แล้วเสร็จ

                ที่ได้เสนอแนะเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเท่านั้น  แท้ที่จริงแล้ว  มีผลงานวิจัยมากมายที่ชี้ให้เห็นว่า  กุญแจแห่งการปฏิรูปการเรียนรู้จะสำเร็จได้   อยู่ที่โรงเรียน  อยู่ที่ครู  อยู่ที่ผู้บริหารโรงเรียนเป็นหลัก

ดังนั้นเพื่อให้เกิดความยุติธรรม(Fair)  จากผลการประเมินของสำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา  ซึ่งมีการประเมินด้านนักเรียน  ครู  และผู้บริหารโรงเรียน  จะเป็นข้อมูลสารสนเทศส่วนหนึ่งที่ควรจะนำมาเป็นข้อมูลเส้นฐานที่ต้องนำมาพิจารณาแก้ไข  และผลการประเมินส่วนใหญ่แล้ว  มาตรฐานด้านผู้บริหาร  และมาตรฐานด้านครู  อยู่ในระดับดี  ถึงดีมาก  แต่ผลการประเมินมาตรฐานด้านผู้เรียน  ยังคงอยู่ที่ระดับปรับปรุงถึงพอใช้  ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว  หากผลการประเมินมาตรฐานทั้งด้านผู้บริหาร  และครูดีแล้ว  ด้านผู้เรียนก็น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน  แต่ผลหาเป็นเช่นนั้นไม่   เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม  เมื่อประเมินนักเรียนเป็นรายวิชา  เป็นมาตรฐานแล้ว  น่าจะประเมินครู  และผู้บริหารเป็นรายวิชาด้วย  เช่น  ในส่วนของผู้บริหาร  ควรจะกำหนดมาตรฐานด้านความรู้ซึ่งจะเป็นฐานสำคัญในการบริหารการศึกษาสำเร็จตามหลักสูตรหรือไม่  เพียงใดเช่น  กำหนดว่า  ผู้บริหารควรมีความรู้เรื่องหลักสูตร  การจัดการเรียนรู้  จิตวิทยาการเรียนรู้  การนิเทศการเรียนการสอน  การผลิตสื่อการเรียนรู้  การวัดและประเมินผลการศึกษา  การบริหารการศึกษา  เป็นต้น  ที่กำหนดเช่นนี้เพราะว่า  เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกและสามารถนำมาวิเคราะห์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น  ผู้บริหารจะบริหารได้สำเร็จจะต้องรู้เรื่องเหล่านี้  แล้วสร้างแบบวัดประเมินมาตรฐานความรู้ของผู้บริหารให้ชัดเจน  ประเมินช่วงระยะเวลา  3  ปี/ครั้ง/คน  แล้วบอกสาธารณชนให้ทราบว่า  มาตรฐานด้านความรู้ของผู้บริหารโรงเรียนอยู่ระดับดีกี่คน  พอใช้กี่คน  และปรับปรุงกี่คน  แล้วเสนอแนวทางการปรับปรุงพัฒนาอย่างไร  สาธารณชนมีความเห็นอย่างไร  เช่นเดียวกัน  มาตรฐานด้านความรู้ของครู  ก็คงกำหนดลักษณะเดียวกัน  ความรู้พื้นฐานครู  ด้านหลักสูตร  ด้านการจัดการเรียนรู้  ด้านจิตวิทยาการเรียนรู้  วิธีการสอน  เทคนิคการสอน  การวางแผนการเรียนรู้  การวิจัยในชั้นเรียน  นอกจากนั้นยังต้องประเมินความรู้ในวิชานั้นๆ  เช่น  ครูคณิตศาสตร์  ระดับช่วงชั้นใด  ควรมีมาตรฐานความรู้ระดับใด  ครูภาษาอังกฤษ  ช่วงชั้นใด  ควรมีความรู้  ทักษะการพูด  อ่าน  ฟัง  เขียนอยู่ในระดับใด  เช่นเดียวกับครูกลุ่มสาระ  อื่นๆก็เช่นเดียวกัน  ผลการประเมินจะต้องเผยแพร่สู่สาธารณชนให้ทราบ  ทุกกระบวนการถูกต้อง  โปร่งใส  เป็นธรรม  ถ้าดำเนินการ  เช่นนี้แล้ว  จะทำให้เราเห็นปัญหา  เห็นภาพชัดเจน  แก้ปัญหาได้ถูกจุด  ตรงประเด็น  แก้ที่ใครอีกด้วย

การขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายของการปฏิรูปการเรียนรู้ก็คงมีโอกาสเป็นไปได้มากขึ้น  กระบวนการเกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  เชื่อว่าผลการพัฒนาคุณภาพของนักเรียนจะเพิ่มขึ้นทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ  การพัฒนาใดๆก็คงจะเป็นไปได้สูงขึ้น  

                ทุกปีเราจะมีการประเมินผลเด็กระดับชาติ   ทุก  3  ปีเราจะประเมินครู  และผู้บริหารโรงเรียนระดับชาติ  ของประเทศไทย  เชื่อว่าคงจะสร้างการยอมรับในสังคมมากยิ่งขึ้น  นอกจากนั้นยังคงสร้างความเชื่อมั่นในระดับนานาชาติมากยิ่งขึ้น  คาดว่าถ้าครูดี  ผู้บริหารดี  คงจะสอดคล้องกับนักเรียนดีด้วย   เชื่อว่าผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนน่าจะดีด้วย(ผลการประเมินของ  สมศ.น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน)  ยิ่งถ้าผลการวัดค่า  GDP  หรือ  GDH  เพิ่มขึ้นได้   ในระยะ  5-10 ปี   ก็ยิ่งจะสร้างความน่าเชื่อถือยิ่งขึ้น  สังคมประเทศไทยจะพัฒนาอย่างยั่งยืน  สังคมสงบสุข  ประเทศชาติมั่นคงยืนนาน

                ประเด็นสำคัญประการหนึ่งคือ  ในแวดวงครู  ผู้บริหารโรงเรียนจะยอมรับในแนวทางนี้หรือไม่นั้น  อาจเป็นปัญหาสำคัญในทางปฏิบัติ  แต่เชื่อว่า  หากทำความเข้าใจเป็นอย่างดีแล้ว  ก็จะสามารถดำเนินการได้  เพราะเชื่อว่า  หากทำเพื่อชาติบ้านเมืองแล้ว ครูมีเหตุมีผล ครูทุกยุคทุกสมัยที่ผ่านมาสามารถแก้วิกฤติ  นำสังคมไปในทางที่ถูกต้องดีงามมาตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

                ในขณะที่ทำการประเมินและพัฒนาบุคลากรทุกส่วนของโรงเรียนไปแล้ว  ควรมีการพัฒนาโรงเรียนตามแนวทางการวิจัยและพัฒนาไปพร้อมกัน  จะเป็นเรื่องที่สอดคล้องและเป็นไปได้อย่างยิ่ง  จากการศึกษา  พบว่า  งานการวิจัยและพัฒนาเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  เป็นโครงการที่ได้รับการคัดเลือกให้เป็น  1  ใน  10  ของโครงการวิจัยดีเด่นของสำนักงานสนับสนุนงานวิจัยแห่งชาติ  ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางที่พัฒนาโรงเรียนอย่างต่อเนื่องยั่งยืน  ทิศนา  แขมมณี  (2547  :  34-35)  สรุปว่า  การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เฉพาะการเปลี่ยนแปลงบุคคลบางคนเท่านั้น  แต่เป็นการร่วมมือร่วมใจร่วมพัฒนาไปด้วยกัน  อย่างพร้อมเพรียงกันของบุคลากรทั้งโรงเรียน  รวมทั้งผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  โดยผ่านกระบวนการสำรวจปัญหาของโรงเรียน  การสนทนาแลกเปลี่ยนความคิด  และเกิดความตระหนักร่วมกันในการที่จะปฏิรูป  การมีเป้าหมายร่วมกัน  การวางแผนของทุกฝ่ายที่ส่งเสริมสนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อนำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน  มีการลงมือปฏิบัติตามแผน  ประเมินผล  และปรับปรุงงาน  เป็นวงจรที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานปกติต่อเนื่องไปเรื่อยๆ  โดยมีหลักการ  แนวคิดที่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ  พ.ศ.2542  (ฉบับปรับปรุง  พ.ศ.2545)  คือ  การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  การปฏิรูปการเรียนรู้  การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  การวิจัยและพัฒนา  และการมีจุดเน้นในการพัฒนา  ซึ่งผลการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  พบว่า  เมื่อสิ้นสุดโครงการ  มีระดับการพัฒนา  ดี/ดีมาก  ร้อยละ  55.6  ระดับการพัฒนาปานกลางร้อยละ  42.7  และระดับการพัฒนาน้อย  ร้อยละ  2.2  และเมื่อศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงระดับการพัฒนาการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  พบว่า  มีโรงเรียนร้อยละ  71.2  ที่มีระดับการพัฒนาที่ยั่งยืนและก้าวหน้า  และร้อยละ  28.8  ที่ยังไม่มีความยั่งยืนในการพัฒนา  เมื่อใช้ผลการเรียนรู้ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่  6  ในการแสดงระดับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  พบว่า  โรงเรียนส่วนใหญ่มีระดับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนอยู่ในระดับดีมาก  2  ด้าน  ได้แก่  ความรู้ด้านวิชาการ  และทักษะการคิด  และเมื่อใช้ผลการเรียนรู้และพฤติกรรมของนักเรียนมัธยมศึกษาปีที่  3  ในการแสดงระดับการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียน  พบว่า  โรงเรียนส่วนใหญ่มีระดับการปฏิรูปการเรียนรูทั้งโรงเรียนในระดับดีทุกด้าน  เช่น  ความรู้วิชาการ  ทักษะการคิด  ทักษะการแสวงหาความรู้  และทักษะการทำงาน  ลักษณะความเป็นพลเมืองดี  และความสามารถทางการคิดเชิงสังคม  โดยสรุปผลการวิจัยชี้ให้เห็นว่า  การปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนด้วยการวิจัยและพัฒนามีความเป็นไปได้สูงเมื่อมีการรวมพลังกันจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกโรงเรียน  (ทิศนา  แขมมณี  2547  :  ง)

                จากแนวทางการศึกษา  เชื่อว่าหากโรงเรียนโดยทั่วไป  ดำเนินงานตามแนวทางการวิจัยและพัฒนาเพื่อการปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนนี้แล้ว  เชื่อว่าทั้งผลการพัฒนานักเรียน  ครู  และผู้บริหาร  และการพัฒนาการมีส่วนร่วมตามแนวคิดดังกล่าวจะส่งผลต่อการปฏิรูปการเรียนรู้อย่างเป็นรูปธรรม  ความคาดหวังของสังคมต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะแจ่มชัดขึ้น  และสว่างไสวในที่สุด 
 
หมายเลขบันทึก: 50849เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 17:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 พฤษภาคม 2012 15:07 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท