KM00110 : คิดไปเรื่อย 2 "บางกอก ฟุตซอล อารีนา"


หากเราช่วยกันพินิจพิเคราะห์ หาเหตุหาผล หาจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดเพื่อนำมาเป็นบทเรียนร่วมกัน และป้องกันที่จะไม่ให้เกิดอีก ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แล้วยัง "จะเป็นตัวอย่างที่ดีใ้ห้เด็กๆ ได้ดูเป็นแบบอย่างครับ" ไม่ใช่เมื่อทำผิดก็เที่ยวโยนกันไปกันมา

     วันนี้ผมขอเขียนเรื่องนี้ซะหน่อย ถึงแม้ว่าจะไม่ค่อยอยากยุ่งกับเรื่องนี้ซักเท่าไหร่ เหตุเพราะเช้านี้ผมต้องเดินทางไปรับคุณแม่และญาติๆ เพื่อไปทอดกฐินที่ต่างจังหวัด (ส่วนคุณพ่อเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแล้ว) และบ้านของพ่อแม่ผมก็อยู่ไม่ห่างจากสนาม "บางกอก ฟุตซอล อารีนา (Bangkok Futsal Arena)" นี้ซักเม่าไหร่ ผมเดินทางออกจากบ้านโดยใช้เส้นทางถนนรามอินทรา ไปมีนบุรี แล้วเข้าเส้นสุวินทวงศ์ เพื่อไปยังหนองจอก สิ่งที่ปรากฏให้เห็นก็คือ "สะพานลอยจากมีนบุรี ที่ข้ามแยกต่างๆ บนถนนสุวินทวงศ์เปิดใช้แล้วครับ" ต้องบอกว่า "มันยอดมากครับ" เพราะก่อนหน้านี้เมื่อเลี้ยวจากมีนบุรีเข้าสุวินทวงศ์นี้ ต้องบอกว่า ติดมากๆๆๆๆ ครับ ยิ่งช่วงมีการสร้างสะพานลอยยาวพอสมควรแบบนี้ด้วยแล้วยิ่งไม่ต้องพูดถึง เรียกว่าทำเอาผมต้องคิดหนักทุกทีเวลาจะไปบ้านคุณพ่อ จนบางครั้งก็ต้องยอมอ้อมโลกกันเลย แม้แต่เดือนที่ผ่านมาผมเห็นสภาพแล้วยังคิดว่า "แบบนี้เมื่อไหร่จะเสร็จกันนี่" แต่ด้วยอานิสงค์ของ  "บางกอก ฟุตซอล อารีนา" แท้ๆ ทำให้เจ้าสะพานลอยนี้เสร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อ

     กลับมาที่ประเด็นที่กำัลังเป็นข่าวขณะนี้คือ "ฟีฟ่า (FIFA) หรือ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ" ประกาศไม่ออกมารับรองให้ใช้สนามนี้แข่งขัน "ฟุตซอลชิงแชมป์โลก 2012" ที่ประเทศไทยเราเป็นเจ้าภาพ สิ่งที่ผมพบเห็นก็คือ การออกมาโจมตีกันว่า "ใครคือผู้รับผิดชอบ" ไม่ว่าจะเป็นสื่อ โลกออนไลน์ ไม่เว้นม่แต่การนำเอาไปเป็นประเด็นทางการเมือง การออกมาตอบโต้กันของนักการเมืองท้องถิ่น และนัการเมืองระดับประเทศ ขอออกตัวก่อนนะครับว่าผมเขียนเรื่องนี้ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับใครทั้งสิ้น แต่เป็นการมอง หรือ คิดไปเรื่อย... ตามมุมมองของผม

     ประเด็นของผมคือ "ทำไมต้องมัวมาหาคนรับผิดชอบ" หรือ "โทษกันไปโทษกันมา" ผมว่าไม่เห็นแปลกเลยนะที่ "ฟีฟ่า" จะไม่รับรอง เพราะไม่ใช่เรื่องแรกครับสำหรับคนไทยเราที่ทำกันลักษณะนี้ คือ มาเร่งกันเอาตอนนาทีสุดท้าย พฤติกรรมแบบนี้เรามีมาให้เห็นสมัยเป็นนักเรียนหรือนักศึกษากันแล้ว หากครูหรือว่าอาจารย์สั่งให้ส่งงานวันจันทร์หน้า ไม่ค่อยมีใครหรอกครับที่จะมานั่งทำเลย และก็จะมานั่งทำกัน "คืนวันอาทิตย์" เพราะมักจะอ้างว่า "เมื่อเหลือเวลาน้อยสมองจะแล่น" และแน่นอนครับก็มีบางครั้งที่พลาดและทำไม่เสร็จก็โดนทำโทษกันไป และพฤติกรรมแบบนี้ก็ยังติดตัวหลายคนมาจนกระทั่งทำงานแล้ว เหมือนกันครับสำหรับกรณี "บางกอก ฟุตซอล อารีนา" เรามาเริ่มสร้างเอาต้นปี 2555 ก็น่าจะต้องทำใจไว้แต่เนิ่นๆ แล้วครับ และหัดรู้จักความ "ผิดหวัง" บ้าง เรามักจะชอบคำว่า "ปาฏิหารย์" กัน โดยฌฉพาะเมื่องานนั้นสามารถเสร็จลุล่วงไปได้ แต่ปาฏิหารย์ไม่ได้เกิดขึ้นตลอดครับ และประเด็นก็คือ เมือเราอยู่ในบ้านเดียวกันครับ "ต้องอย่าซ้ำเติมกัน" ลองนึกถึงลูกเราครับ หากลูกเราสอบตกหรือสอบไม่ผ่าน เราจะทำอย่างไร หากเราไปต่อว่าลูกว่า "ทำไมสอบไม่ผ่าน ใครผิด ใครต้องรับผิดชอบ" อาจจะยิ่งไปกันใหญ่ ดีไม่ดีลูกอาจจะย้อนว่า "พ่อกับแม่นั่นแหละผิด พ่อกับแม่นั่นแหละที่ต้องรับผิดชอบ" แล้วทีนี้จะทำยังไงต่อ อาจยิ่งไปกันใหญ่

     ส่วนตัวผมคิดว่า "อับอาย" "อัปยศ" "เสียชื่อเสียง" เราคิดไปกันเองหรือเปล่าครับ คนนอกประเทศอาจจะยังไม่ได้คิดแบบนี้ก็ได้นะครับ เหมือนกรณีที่ผมยกตัวอย่าง หากลูกเราสอบไม่ผ่าน เราอาจคิดไปว่า "อายจัง" แต่จริงๆ แล้วคนที่อยู่รอบตัวเราเขาอาจไม่ได้คิดแบบนั้นก็ได้ (ยกเว้น คนในบ้านไปสาวไส้ให้คนนอกบ้านฟัง) และเหมือนเดิมอีกเช่นกันครับ หากเราช่วยกันพินิจพิเคราะห์ หาเหตุหาผล หาจุดอ่อนหรือข้อผิดพลาดเพื่อนำมาเป็นบทเรียนร่วมกัน และป้องกันที่จะไม่ให้เกิดอีก ที่สำคัญสิ่งเหล่านี้นอกจากจะเป็นประโยชน์แล้วยัง "จะเป็นตัวอย่างที่ดีใ้ห้เด็กๆ ได้ดูเป็นแบบอย่างครับ" ไม่ใช่เมื่อทำผิดก็เที่ยวโยนกันไปกันมา ซึ่งเอาเข้าจริงอาจไม่มีใครผิดก็ได้ ลองนึกถึงเวลารถชนหรือเฉี่ยวกันซิครับ พอเดินลงจากรถมาบางครั้งด้วยความโมโห แต่บังเอิญพอเห็นหน้า "อ้าว .....เอง นึกว่าใคร" ท่าทีก็เปลี่ยนไป คุยง่าย ยิ่งถ้าสนิทกันมากก็อาจลงเอยด้วย "ไม่เป็นไร" เด็กๆ จะได้เห็นตัวอย่างที่ดีว่าเมื่อมีปัญหาก็สามารถหันหน้ามาคุยกันได้ (ยกเว้นเรื่องทุจริตนะครับ)

     บางคนอาจจะมองว่า 1,300 ล้าน นั้นภาษีประชาชนทั้งนั้น ผมกลับมองว่า "ใช่ครับ" แต่สนามก็สร้างมาแล้ว ก็ใช้ให้คุ้มค่ากับที่ใช้ภาษีประชาชนสร้างไป ผมลองคิดไปเรือย... "ฟีฟ่า" ไม่รับรองก็ไม่เป็นไร ก็ถือเป็นโอกาสดี เรามีเวลามากขึ้น ทำสนามให้มันดี ตรงตามมาตรฐานไปเลย แล้วทำให้มันเป็นสนามที่ "ศักดิ์สิทธิ์" เหมือน "สนามเวมบลีย์ (Wembley)" ของอังกฤษไปเลย รัฐก็จัดการแข่งขันฟุตซอลในประเทศให้มันยิ่งใหญ่ เป้าหมายคือได้มาเล่นในสนามนี้ ใครได้มาเล่นแล้วถิอว่า "สุดยอด" และต่อไปเป็นประชาคมอาเซี่ยน ก็อาจทำให้เป็นสนามระดับภูมิภาคไปเลย รัฐก็สนับสนุนประเทศเพื่อนบ้านไปด้วย (เราจะได้มีคู่แข่งที่สูสีหน่อย) ผมอาจไม่ค่อยเห็นด้วยกับบางท่านที่จะนำสนามไปทำอย่างอื่น (อาจมีบ้างแต่ไม่ควรบ่อย) เพราะชื่อก็บอกอยู่แ้ล้วครับว่าเป็นสนาม "ฟุตซอล" มองโลกในดีครับอย่างน้อยก็มีสะพานลอยที่เสร็จและใช้งานได้ครับ โดยไม่ต้องมี "ฟีฟ่า" มารับรอง แต่ที่แน่ๆ ผมคงได้ไปบ้านคุณพ่อคุณแม่บ่อยขึ้นครับ

หมายเลขบันทึก: 508305เขียนเมื่อ 10 พฤศจิกายน 2012 22:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มีนาคม 2013 21:41 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท