ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน : 44. เรียนแก้ปัญหา (2) คิดทบทวนอีกครั้ง


เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้ นศ. คุ้นเคยกับการคิดทบทวนท้าทายความเชื่อต่างๆ ในสังคม และการค้นหาข้อมูลหลักฐานเพื่อพิสูจน์หรือท้าทายความเชื่อต่างๆ

ครูเพื่อศิษย์ส่งเสริมให้ศิษย์สนุกกับการเรียน  : 44. เรียนแก้ปัญหา  (2) คิดทบทวนอีกครั้ง

บันทึกชุดนี้ ได้จากการถอดความ ตีความ และสะท้อนความคิด  จากการอ่านหนังสือ Student Engagement Techniques : A Handbook for College Faculty เขียนโดย ศาสตราจารย์ Elizabeth F. Barkley  ในตอนที่ ๔๔นี้ ได้จาก Chapter 15  ชื่อ Problem Solving  และเป็นเรื่องของ SET 24 :  Think Again!  

บทที่ ๑๕ ว่าด้วยเรื่องการแก้ปัญหา  ประกอบด้วย ๖ เทคนิค  คือ SET 23 – 28  จะนำมาบันทึก ลปรร. ตอนละ ๑ เทคนิค  เทคนิคเหล่านี้ ช่วยให้ นศ. ฝึกเรียนรู้ด้วยการแก้ปัญหา

ทักษะในการแก้ปัญหาเป็นทักษะสำคัญที่ทุกคนต้องฝึก  วงการศึกษากล่าวถึงเรื่องนี้มาตลอด แต่ไม่ค่อยมีวิธีการดำเนินการให้ นศ. ได้ฝึกอย่างเป็นระบบ  บันทึกต่อไปนี้จะช่วยให้การเรียนแก้ปัญหาเป็นระบบมากขึ้น  โดยที่ครูต้องตระหนักว่า คำว่า “ปัญหา” มีความหมายกว้างและหลากหลาย  แตกต่างกันตามรายวิชา และตามบริบทในชีวิตจริง   เช่น ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ก็มีธรรมชาติแบบหนึ่ง  ปัญหาด้านสังคม ก็มีธรรมชาติอย่างหนึ่ง คือเรานึกถึงปัญหาความยากจน ความรุนแรง ความอยุติธรรม หรือการแบ่งแยก  ในบางกรณีปัญหามีความชัดเจน และมีคำตอบถูก-ผิดชัดเจน  แต่ในบางกรณีก็ไม่ชัดเจน และไม่มีถูก-ผิด ขาว-ดำ  

SET 24  :  คิดทบทวนอีกครั้ง

จุดเน้น  :  บุคคล, ความร่วมมือ

กิจกรรมหลัก :  การแก้ปัญหา

ระยะเวลา  :  ๑ คาบ

โอกาสเรียน online  :  สูง

ครูนำเสนอข้อความที่คนมักเข้าใจผิดกันโดยทั่วไป  ให้ นศ. ลงคะแนนว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับข้อความนั้น (ไม่คิดคะแนน)  แล้วครูบอก นศ. ว่า ข้อความนั้นผิดหรือไม่เป็นความจริง  แล้วมอบงานให้ นศ. หาข้อพิสูจน์ว่า ทำไมข้อความนั้นจึงไม่เป็นความจริง 

เป็นกิจกรรมที่ฝึกให้ นศ. คุ้นเคยกับการคิดทบทวนท้าทายความเชื่อต่างๆ ในสังคม  และการค้นหาข้อมูลหลักฐานเพื่อพิสูจน์หรือท้าทายความเชื่อต่างๆ 

 ขั้นตอนดำเนินการ

1.  ครูกำหนดความเชื่อผิดๆ ที่พบโดยทั่วไปในรายวิชานั้น  แล้วเขียนเป็น presentation

2.   กำหนดภาระงานที่ นศ. ต้องทำ เพื่อพิสูจน์ว่าข้อความนั้นไม่เป็นความจริง

3.  บอก นศ. ว่า ครูจะนำเสนอข้อความเพื่อให้ นศ. แต่ละคนบอกว่าตนเห็นด้วยหรือไม่  ย้ำให้ชัดเจนว่า คำตอบไม่มีคะแนน 

4.  ฉายข้อความพร้อมกับอ่าน  บอกให้ นศ. ที่เห็นด้วยยกมือขึ้น 

5.  สมมติว่า นศ. ส่วนใหญ่เห็นด้วย  บอก นศ. ว่า ข้อความนี้ผิด  และให้ นศ. จับคู่กัน เพื่อหาเหตุผลว่าทำไมข้อความนั้นจึงไม่จริง  หากเป็นไปได้ ให้จับคู่ นศ. ให้ในแต่ละคู่มีทั้งคนที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย   

ตัวอย่าง

วิชาพีชคณิต

ครูอ่านข้อความต่อไปนี้แก่ นศ. “เรือใบจะแล่นเร็วที่สุดเมื่อเรือแล่นไปทางเดียวกันกับทิศทางของลม”  ให้ นศ. ยกมือว่าใครเห็นด้วยบ้าง  ร้อยละ ๘๐ ของ นศ. ยกมือ  ครูจึงบอกว่าข้อนี้ผิด  และให้ นศ. จับกลุ่ม ๓ คน  แล้วครูบอกว่า จริงๆ แล้ว เรือใบจะแล่นได้เร็วที่สุดเมื่อแล่นไปในทิศทางที่เป็นมุมฉากกับลม   ให้ นศ. แต่ละกลุ่มอธิบายโดยใช้หลักการ vector ในวิชาพีชคณิต  โดยอาจเขียน ไดอะแกรมช่วยการอธิบาย  ให้คำอธิบายเข้าใจง่ายที่สุดสำหรับคนทั่วไป   

วิชาฟิสิกส์เบื้องต้น

เพื่อดึงดูดความสนใจของ นศ. ต่อบทเรียน  ครูตั้งโจทย์สถานการณ์จริง ที่มีคำตอบให้ นศ. เลือก ๒ - ๓ คำตอบเป็นระยะๆ  เช่น เพื่อให้ได้เรียนรู้หลักการประหยัดพลังงาน  ครูฉายรูปที่สเก๊ตบอร์ดที่เหมือนกัน ๓ อัน  ไหลลงทางลาดที่มีรูปร่าง ๓ แบบ  คือ (ก) เป็นเส้นตรง  (ข)  เป็นวงกลม  และ (ค) เป็นรูปพาราโบลา  ถามว่า สเก๊ตบอร์ด อันไหนจะชนะ  เนื่องจากในชั้นมีเครื่องมือโหวตอิเล็กทรอนิกส์ (clicker)  จึงให้ นศ. แต่ละคนโหวด  แต่ยังไม่บอกผล  ให้ นศ. จับคู่ปรึกษากับเพื่อนข้างๆ แล้วโหวดร่วมกัน  แล้วครูจึงแจ้งผลครั้งแรกเทียบกับครั้งที่สอง  และใช้ผลทั้งสองในการอธิบายเหตุผล  และอาจมีการทดลองจริงก็ได้

การปรับใช้กับการเรียน online

ไม่จำเป็นต้องให้ นศ. โหวดในเบื้องต้น  เมื่อครูนำเสนอข้อความ ให้ นศ. ให้ข้อพิสูจน์ว่าทำไมข้อความนั้นจึงไม่จริง  โดยให้ นศ. ตอบด้วยตนเองเป็นรายคน  แต่ถ้าต้องการให้ นศ. ได้ฝึกการร่วมมือกัน ก็ให้ นศ. จับคู่ปรึกษากันผ่านทาง อี-เมล์  หรือให้ทำงานเป็นกลุ่มอภิปรายแลกเปลี่ยนข้อมูลและความเห็นกันผ่าน discussion group ที่เป็นกลุ่มปิด  

การขยายวิธีการ หรือประโยชน์

·  อาจใช้เทคนิคนี้เพื่อแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสาระในรายวิชา  ไม่ใช่แค่เพื่อทำความเข้าใจความเข้าใจผิดเท่านั้น  ดังตัวอย่างวิชาฟิสิกส์ข้างบน

·  เพื่อพิสูจน์ว่า นศ. เข้าใจเรื่องดังกล่าวอย่างถ่องแท้  กำหนดให้ นศ. เขียนคำอธิบายแก่คนทั่วไป ให้เข้าใจ  

คำแนะนำ

อาจใช้คำสั่ง “ยกมือชึ้น หาก นศ. คิดว่าคนที่เดินตามท้องถนนจะเห็นด้วยกับข้อความนี้” 

หาก นศ. ส่วนใหญ่เห็นว่าข้อความนั้นผิด  ครูจงบอกว่า นศ. ส่วนใหญ่เข้าใจถูกแล้ว  ขอให้อธิบายเหตุผลว่าทำไมข้อความนั้นจึงผิด

เอกสารค้นคว้าเพิ่มเติม

Bean JC. (1996). Engaging ideas : The professor’s guide to integrating writing, critical thinking, and active learning in the classroom. . San Francisco : Jossey-Bass, p. 27.

วิจารณ์ พานิช

๔ พ.ย. ๕๕

บนเครื่องบินการบินไทย  กลับจากปักกิ่ง

หมายเลขบันทึก: 507772เขียนเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 07:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 พฤศจิกายน 2012 07:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท