หลากหลายวิธีสอนคิด


การฝึกให้เด็กเป็น "นักคิด" ครูต้องฝึกอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ จึงจะเกิดความยั่งยืนในการพัฒนา
      เราเริ่มเดินเครื่องประชุมทีมชุดวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการคิด เมื่อวาน (18 ก.ย.49) เป็นครั้งแรกที่ได้พบกัน ก่อนหน้านั้นดิฉันได้ประสานทางโทรศัพท์แจ้งให้ทีมเตรียมตัวมาเล่าประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เป็นการส่งเสริมผู้เรียนให้เกิดทักษะกระบวนการคิด และวิธีการที่เคยทำนั้นได้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งการทำกิจกรรมในลักษณะนี้เป็นขั้นตอนหนึ่งในรูปแบบการการดำเนินการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR&D) ของเขตฯ เรา

      เมื่อพบกันเราจึงเริ่มให้แต่ละท่านแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน โดยมี อ.อารีย์เนตร มุสิกภูมิ ร.ร.วัดดอนมะนาว เป็นผู้เปิดฉากก่อน อาจารย์มีเทคนิคการสอนที่ส่งเสริมการคิดสอดแทรกอยู่ในการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งอาจารย์รับผิดชอบการสอนอยู่ ในรูปของการจัดกิจกรรมฝึกการฟัง-พูด-อ่าน-เขียน ซึ่งอาจารย์เน้นว่าสิ่งที่จะกระตุ้นให้เด็กคิดเป็นอยู่ที่เทคนิคการตั้งคำถามของครู

      อ.ชลิต สุวรรณศรี ร.ร.วัดทองประดิษฐ์ เป็นครูสอนสังคม ท่านพบว่านักเรียนในห้องมีปัญหาเรื่องการคิดแยกประเด็น (คิดแยกแยะ) จึงเริ่มต้นฝึกนักเรียนโดยครูใช้เทคนิคการตั้งคำถาม ยั่วยุให้นักเรียนมีโอกาสคิดตอบ ด้วยคำถามจากง่ายไปหายาก ระยะหลังเริ่มให้นักเรียนเป็นฝ่ายตั้งคำถามบ้าง ก็สังเกตว่าเด็กไม่ค่อยกล้าถาม

      ด้วยตัวอาจารย์เป็นครูวิชาการของโรงเรียนด้วย จึงเสนอกิจกรรมหนึ่งเพื่อฝึกการตั้งคำถาม และตอบคำถาม แฝงอยู่ในกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน
หยุดทุกงาน อ่านทุกคน ให้นักเรียนทั้งโรงเรียนเข้าร่วม โดยโรงเรียนจะทำบันทึกการอ่านเล่มเล็ก ๆ ให้นักเรียนทุกคน ๆ ละ 1 เล่ม ใช้สรุปเรื่องที่นักเรียนได้อ่าน ในบันทึกจะมีช่องให้นักเรียนลองตั้งคำถามเกี่ยวกับเรื่อง และลองฝึกการคาดคะเนคำตอบล่วงหน้า โดยการตอบคำถามนั้น

      เมื่อทำกิจกรรมไปได้สักระยะ ท่านก็ได้เสนอให้โรงเรียนประเมินกิจกรรมดังกล่าวด้วยกิจกรรม
ตามรอยยอดนักอ่าน พบว่าในปีแรก นักเรียนจะตั้งคำถามและตอบคำถามได้ไม่ค่อยตรงประเด็น ไม่ชัดเจน เช่นถามว่า นักเรียนได้ความรู้หรือข้อคิดอะไรจากเรื่องนี้บ้าง จะตอบว่า ได้ความรู้จากเรื่องที่อ่าน ครูแต่ละชั้นเรียนจึงต้องช่วยแนะนำเพิ่มเติมในเรื่องของการตั้งคำถาม และการตอบคำถาม ผลของการตะล่อมของครู ทำให้ปีที่ผ่านมาทำให้นักเรียนตั้งคำถามและตอบคำถามได้สอดคล้องกันดีขึ้น และเห็นได้ชัดว่าในระดับนักเรียนมัธยมฯ ซึ่งอาจารย์เป็นครูประจำชั้น เขาจะลดปริมาณจำนวนเล่มในการอ่านลง แต่คุณภาพในการอ่านแต่ละเล่มดีขึ้น

      อ.เฉลิม แช่มช้อย และ อ.วัสสดี แช่มช้อย ร.ร.วัดเทพพิทักษ์ ช่วยกันเล่าให้ฟังว่าเหตุเพราะจากการประเมินของ สมศ.ที่ผ่านมา ผลการประเมินในมาตรฐานที่
4 ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์ คิดสังเคราะห์ มีวิจารณญาณ มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรอง และมีวิสัยทัศน์ ของโรงเรียนอยู่ในระดับพอใช้ จึงปรึกษากันว่าน่าจะทำกิจกรรมสักอย่างยกระดับคุณภาพของนักเรียนในด้านนี้ให้ดีขึ้น ทั้งสองคนได้เสนอให้โรงเรียนกำหนดช่วงเวลาพักเที่ยงหลังรับประทานอาหารกลางวันของทุกวัน เป็นช่วงฝึกกิจกรรมส่งเสริมการคิดของนักเรียนทุกคน โดยกิจกรรมที่ทำนั้นมีความหลากหลาย ใช้นิทาน ตัวอย่างสถานการณ์ ใบงาน เกม เพลง วาดภาพระบายสี ฯลฯ ฝึกการคิดหลาย ๆ แบบ เช่น คิดวิเคราะห์ คิดหาคำตอบ คิดแก้ปัญหา คิดสร้างสรรค์ คิดเปรียบเทียบ คิดหลากหลาย ฯลฯ ขณะนี้เริ่มทำมาได้เกือบ 1 ภาคเรียนแล้ว และกำลังเตรียมการประเมินผลนักเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรม

      การนำเสนอของทั้งคู่ได้รับความสนใจจากเพื่อน ๆ ในทีมมาก เพราะมีชิ้นงาน มีตัวอย่างของกิจกรรมที่ฝึกนักเรียนมาแสดงให้เห็นประกอบการเล่าเรื่องด้วย ทั้งสองคนยังเต็มอกเต็มใจแจกจ่ายตัวอย่างให้กับเพื่อน ๆ ลองนำไปใช้ด้วย 

      อ.เจริญ ตาดี ร.ร.วัดสระศรีเจริญ ครูวิทยาศาสตร์ท่านนี้ มุ่งเน้นสร้างเด็กให้เป็นนักคิดผ่านกิจกรรมการจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานในระดับชั้น ป.
4-6 ซึ่งทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2541 จนถึงปัจจุบันและยังทำต่อไปเรื่อย ๆ อาจารย์ให้ข้อคิดเห็นว่า โครงงาน เป็นเครื่องมือช่วยฝึกนักเรียนให้เป็นคนคิดเป็น คิดได้รอบด้าน และเมื่อเน้นให้ทำอย่างต่อเนื่องมาเกือบสิบปี ทำให้เห็นความยั่งยืนในการพัฒนาเด็กให้เป็นนักคิด ผลงานชิ้นนี้ของอาจารย์จึงส่งผลให้โรงเรียนผ่านการประเมินจาก สมศ. ทั้งสองครั้ง มาตรฐานที่ 4 อยู่ในระดับดีมาก เป็น 1 ใน 9 โรงเรียนทั่วทั้งจังหวัดสุพรรณบุรีที่ผ่านการประเมินอยู่ในระดับดีมากของมาตรฐานตัวนี้

      อาจารย์ยังพบว่าที่โรงเรียน
โครงงาน เหมือนเป็นวัฒนธรรมสืบสายเลือดจากพี่สู่น้อง ทุกวันนี้อาจารย์เบาแรงได้ เพราะมีนักเรียนรุ่นพี่คอยช่วยฝึกนักเรียนรุ่นน้อง ครูจะคอยเป็นคนกระตุ้นและสร้างเวทีให้นักเรียนได้แสดงความสามารถ มีเวทีที่นักเรียนชื่นชอบ เช่น ค่ายวิทยาศาสตร์ กิจกรรมสัปดาห์วิทยาศาสตร์ ฯลฯ นักเรียนจะชอบการนำเสนอโครงงานซึ่งพวกเขาร่วมกันจัดทำอย่างสวยงาม โดยอาศัยการบูรณาการงานศิลปะ และการงานฯ (พิมพ์ตกแต่งด้วยคอมพิวเตอร์) ด้วยความภาคภูมิใจ การประกวดสิ่งประดิษฐ์เป็นอีกกิจกรรมที่เด็ก ๆ ชื่นชอบ เช่นเด็กกลุ่มหนึ่งที่ร่วมกันประดิษฐ์จรวดขวดน้ำ อาจารย์เจริญเล่าว่า กลุ่มนี้มีความพยายามในการพัฒนา เริ่มจากร่วมกันคิดจนได้สิ่งประดิษฐ์ แต่สภาพคือยังเละ เลอะเทอะ เมื่อปล่อยจรวด พวกเขาก็พยายามพัฒนาขึ้นอีก โดยประดิษฐ์ฐานจรวดเพิ่มจากความรู้ที่ได้ไปช่วยกันค้นหาใน Internet ในที่สุดกลุ่มนี้ก็ประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศของโรงเรียนไปครอง

      นอกจากนี้อาจารย์ยังพบว่านักเรียนมีการถ่ายโอนนำรูปแบบที่ได้เรียนรู้จากขั้นตอนการนำเสนอโครงงาน ไปใช้ในการนำเสนอเรื่องอื่น ๆ ในสภานักเรียน และการนำเสนอหน้าชั้นเรียนในวิชาอื่นได้อย่างเป็นลำดับ ขั้นตอน มีที่มาที่ไป อธิบายข้อมูลได้ สามารถตอบคำถามและข้อสงสัยจากผู้ฟังได้ตลอดเวลา  สุดท้ายมีคำแนะนำจากอาจารย์ว่าการทำกิจกรรมใด ๆ ที่เป็นการส่งเสริมการคิด ต้องมีการประเมิน รายงาน คิดเครื่องมือเก็บผลที่ทำอยู่เสมอ เพื่อให้รู้ตัวเอง และเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพัฒนา

      อ.เกรียงศักดิ์  โกลากุล ร.ร.บ้านดอนกลาง อาจารย์ท่านนี้มีความสนใจและมีแนวคิดในการพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของผู้เรียนด้วยกระบวนการคิดผ่านสื่อนิทาน ขณะนี้กำลังศึกษาเพิ่มเติมในเรื่องของการใช้เทคนิคคำถามเพื่อกระตุ้นความคิด อาจารย์มีข้อมูลที่ได้ไปศึกษาค้นคว้ามาเยอะพอสมควร ซึ่งเป็นประโยชน์มากสำหรับทีมของเรา

      อ.นันทยา ใจตรง ร.ร.วัดบางสาม เป็นครูสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรียนจบมาทางด้านการวิจัยและสถิติ กลับมาสอนหนังสือได้ไม่นาน โดยอาจารย์จะมีส่วนช่วยทีมในเรื่องระเบียบวิธีวิจัย และเรื่องสถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้อยู่มาก อาจารย์ได้เล่าว่าในการทดสอบ
NT (National Test) ให้กับนักเรียน พบว่า ส่วนใหญ่ข้อสอบที่เป็นแนวการคิดวิเคราะห์นั้นนักเรียนจะทำไม่ได้ อาจารย์เริ่มให้เด็กได้ฝึกคิด ฝึกปฏิบัติโดยใช้ใบงาน ซึ่งทำมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ค่อยเป็นค่อยไป หวังว่าจะเกิดผลการพัฒนาให้กับลูกศิษย์

      อ.พิมท์ประไพ พุทธิวาส ร.ร.บ้านดอนตำลึง ครูสอนคณิตศาสตร์ พบปัญหาคือ เด็กตอบคำถามไม่ค่อยได้ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการที่เด็กคิดไม่เป็น จึงเริ่มฝึกคิดให้นักเรียนโดยใช้กิจกรรมจูงใจบูรณาการระหว่างคณิตศาสตร์และศิลปะ โดยให้นักเรียนระบายสีรูปเรขาคณิต นักเรียนคนหนึ่งระบายสีเป็นรูป
Spiderman ทำให้เพื่อน ๆ เกิดแรงจูงใจคิดระบายสีรูปเรขาคณิตของตนเองให้เป็นรูปโน้นรูปนี้ แตกต่างกันไปอย่างสนุกสนาน ครูเองก็ได้แนวคิดในการบูรณาการฝึกคิดในวิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งนักเรียนมักจะเห็นว่าเป็นวิชาที่ยาก เข้ากับกิจกรรมต่าง ๆ ที่นักเรียนชื่นชอบ

      อ.พิรุณรักษ์ กระจ่างโลก ร.ร.บ้านดอนตำลึง รับผิดชอบสอนประจำชั้น ป.
4 ส่งเสริมการคิดให้กับนักเรียนโดยการยั่วยุให้เด็กได้ตอบคำถาม โดยใช้เทคนิคการตั้งคำถาม และการใช้กิจกรรมใบงานให้นักเรียนได้ฝึกปฏิบัติโดยกระบวนการกลุ่ม

      อ.ปิยนันท์  สิงห์วงษา ร.ร.บ้านดอนตำลึง ครูภาษาไทยระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และครูแนะแนวของโรงเรียน พบปัญหาเด็กไม่สามารถคิดวิเคราะห์ได้ จะใช้กรณีตัวอย่างและเกมที่เหมาะกับวัย และความสนใจของผู้เรียนในแต่ละระดับ เพื่อยั่วยุให้เด็กฝึกคิด

      อ.สมหมาย  ทองเสริม ร.ร.บ้านดอนตำลึง ครูคณิตศาสตร์ จะกำหนดเวลาให้เด็กทำกิจกรรมที่ส่งเสริมการคิดเป็นเวลา
10 นาที ของท้ายชั่วโมงเป็นประจำทุกชั่วโมงเรียนของวิชานี้ เพื่อฝึกคิดหลาย ๆ รูปแบบ

      อ.ฐิติมา คงคาหลวง ร.ร.บ้านดอนตำลึง ครูสอนดนตรีและศิลปะ แรก ๆ ทีพบว่าเด็กเลือกที่จะเงียบ ไม่ตอบคำถาม ไม่มีคำถาม อาจารย์จึงใช้เกมที่หลากหลายมาช่วยกระตุ้นการถาม-ตอบ และฝึกคิดให้กับนักเรียน โดยสอดแทรกเข้าไปอยู่ในแผนการจัดการเรียนรู้ในแต่ละแผน อาจารย์พบว่าในชั่วโมงศิลปะ เด็กมีความคิดสร้างสรรค์และคิดประยุกต์ได้มากเกินคาด ผ่านผลงานการปั้น โดยนักเรียนจะคิดค้นวัสดุที่นำมาใช้ปั้นได้มากกว่าการใช้ดิน หรือปูน เช่น ใช้ กระดูกปลา รำข้าว ขี้เลื่อย เปลือกทุเรียน ฯลฯ ซึ่งทั้งหมดอาจารย์จะคอยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำแก่เด็ก ๆ คอยสนับสนุนให้พวกเขาได้คิดแก้ปัญหา ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานที่แปลกใหม่ตอบสนองจินตนาการของพวกเขาเอง

      ภายหลังการพูดคุยของพวกเรา ได้ร่วมกันสรุปว่า มีเรื่องสำคัญที่ครูต้องรู้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมให้เด็กคิด ดังนี้

           
1. การใช้เทคนิคคำถามของครู
           
2. กิจกรรมการฝึกและกระตุ้นให้นักเรียนคิด เริ่มจาก
                 2.1 ฝึกทักษะการคิด
                 
2.2 ฝึกลักษณะการคิด
                 
2.3 ฝึกกระบวนการคิด
                โดยใช้กิจกรรมการฝึกคิดที่หลายหลาย น่าสนใจ
           
3. การฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อเป็นพื้นฐานนำไปสู่กระบวนการคิดที่จำเป็นสำหรับเด็กในลำดับต่อไป

      สุดท้ายพวกเราได้ช่วยกันเขียน
Flow Chart แสดงลำดับขั้นตอนการพัฒนารูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมกระบวนการคิดวิเคราะห์ ซึ่งเป็นชื่องานวิจัยที่เราได้พูดคุยตกลงกัน และวางแผนแยกย้ายกันไปค้นคว้า Literature อีก 2-3 วัน ดิฉันจะนัดพบทีมชุดวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนารูปแบบการพัฒนาศักยภาพผู้เรียนสู่ความเป็นเลิศด้านบุคลิกภาพ...คงจะมีเรื่องเล่าที่เป็นประโยชน์ในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเพื่อนครูอีกกลุ่มหนึ่ง มาเล่าให้ฟังอีกค่ะ...

หมายเลขบันทึก: 50769เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 06:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 13:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบคุณค่ะ  จะนำความรู้และประสบการณ์นี้ไปใช้ในการจัดการความรู้ในกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ

ขอบคุณมากค่ะ 

ครูอ้อย

  • ขอบคุณคุณครูอ้อยค่ะ ที่เห็นประโยชน์ในแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของเพื่อนครู
  • Thank You

ขอแก้ตัวค่ะ  เมื่อกี้กดผิด  ลบให้ด้วยนะคะ  อยากเห็น Flow Chart ส่งเสริมกระบวนการคิดค่ะ  ขอบคุณค่ะ

  • รอน้องที่ทำงานพิมพ์ให้นิดนึง...เพราะตัวเองไม่ค่อยสามารถในการทำวงรี...สี่เหลี่ยม ฯลฯ อะไรประมาณนี้
  • ครูอ้อยมี e-mail ไหมคะ ถ้าได้ไฟล์ที่น้องเค้าช่วยพิมพ์ให้แล้ว จะส่ง Mail ไปให้ดีไหมคะ
  • รบกวนขอ e-mail ได้ไหมคะ

 

 

e-mail  ของครูอ้อย  คือ [email protected]

ขอบคุณมากค่ะ

อยากเห็น Flow Chart ส่งเสริมกระบวนการคิดเหมือนกันค่ะ แล้วหากมีเทคนิคส่งเสริมการคิดที่ดีๆ ขอความกรุณาส่งมาให้ด้วยนะคะ  ขอบคุณค่ะ
การสอนแบบโครงงานสามารถส่งเสริมกระบวนการคิดของนักเรียนได้

ดีมากเลยค่ะ ขอนำไปเป็นแนวทางในการให้ครูจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหน่อยนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท