ความหลัง-ความหวัง ตอนที่3*


นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ต้องเรียนจบออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากรู้กฎหมายดีแล้ว ต้องพูดและฟังภาษาต่างประเทศรู้เรื่องและพูดภาษาไทยชัด

พุทธศักราช2540 คณะนิติฯเริ่มคึกคักมีชีวิตชีวาอีกครั้งเมื่อ พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงตัดสินพระทัยเลือกเรียนกฎหมายเป็นอันดับแรก ที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทรงสมัครสอบคัดเลือกพร้อมกับเด็กอื่นๆทั่วประเทศ ทรงสอบผ่านด้วยพระปรีชาสามารถของพระองค์เองและทรงจบการศึกษาด้วยคะแนนเกียรตินิยม พระองค์ทรงทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจเรียนกฎหมายเพิ่มขึ้น ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในปีต่อๆมา นักเรียนที่สมัครใจเรียนกฎหมายต้องเป็นผู้ที่มีผลการเรียนดีในลำดับต้นๆจึงจะสามารถเข้าเรียนได้

นักศึกษาที่จบปริญญาตรีหลายคน ที่ต้องการเรียนระดับปริญญาโทต่อในต่างประเทศ บางคนไปด้วยทุนส่วนตัวของคุณพ่อคุณแม่ บางคนไปสอบชิงทุนรัฐบาล ผมมีประสบการณ์เคยเป็นกรรมการสอบชิงทุน ทั้งออกข้อสอบและสัมภาษณ์ให้กับหลายหน่วยงาน พบว่านักศึกษาจากคณะเรามีปัญหาเรื่องภาษาอังกฤษมาก ตอบแบบท่องจำมา พอสะดุดนิดเดียวแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้ ตกใจ! ที่อุตส่าห์ท่องมาลืมหมด แล้วใครจะกล้าให้ทุน

โลกภายนอกคณะก้าวไปไกลแล้ว การติดต่อสื่อสารกับต่างประเทศมีมากขึ้นทุกวัน รู้ๆกันอยู่ จะมามัวคิดว่าไม่เคยเป็นเมืองขึ้นของใคร ไม่จำเป็นต้องพูดภาษาอื่น ผมว่าไม่ใช่เรื่องรักชาติหรือไม่รักชาติแต่เป็นเรื่องจะเสียเปรียบชาติอื่นมากกว่า ทั้งนี้ไม่ได้หวังให้เรียนกฎหมายไทยเป็นภาษาต่างประเทศ แบบนี้ตายทั้งครูทั้งศิษย์ หากแต่หวังให้นักศึกษามีความพร้อมในการใช้ภาษา  ในเบื้องต้นต้องใช้ภาษาไทยของเราให้ดี ขั้นต่อไปต้องมีความเข้าใจในภาษาของประเทศที่คิดว่าจะใช้ตำราของเขา หรือจะไปเรียนต่อไม่ว่าจะเป็นประเทศที่ใช้ภาษาตะวันตก เช่น ฝรั่งเศสหรือเยอรมัน หรือประเทศที่ใช้ภาษาตะวันออกเช่น จีนหรือญี่ปุ่น อย่างไรก็ตามในความเห็นส่วนตัว ผมว่าขณะนี้การรู้ภาษาอังกฤษจะช่วยในการทำงานค่อนข้างมาก เพราะเป็นภาษากลางที่ใช้กันทั่วโลกนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ต้องเรียนจบออกไปอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากรู้กฎหมายดีแล้ว ต้องพูดและฟังภาษาต่างประเทศรู้เรื่องและพูดภาษาไทยชัด

คณะนิติศาสตร์ได้ปลูกฝังสามัญสำนึกแก่นักศึกษา ทั้งทางตรงและทางอ้อมมาโดยตลอดด้วยความหวังว่า ศิษย์ทุกคนต้องเป็นคนดีและทำประโยชน์ให้กับสังคม อย่างบริสุทธิ์ยุติธรรม ผมจะเขียนไว้ ณที่นี้เพียงสองประการคือ

ประการแรกนักศึกษาต้องคิดเป็น การที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ต้องอาศัยครูช่วยชี้แนะและปฏิบัติการจริงในชั้นเรียน เช่นการบรรยายและการสัมมนา ครูต้องตั้งคำถามในทุกหัวข้อเรื่องที่สอนและเปิดโอกาสให้เวลานักศึกษาแสดงความคิดได้โดยไม่เสียหน้าหรืออายเพื่อน แทนที่จะเฉลยคำตอบทุกๆหัวข้อที่ถาม ครูเป็นผู้แนะนำวิธีคิดและให้ข้อมูลเพื่อนักศึกษาจะได้ทบทวน วิเคราะห์และหาคำตอบเองบ้าง การทีทำให้นักศึกษาคิดเองและหาคำตอบได้เองครั้งหนึ่ง จะเป็นกำลังใจให้นักศึกษามีความเพียร พยายามที่จะหาคำตอบในครั้งต่อไป เป็นการฝึกให้คิดได้ด้วยตนเอง การคิดเองเป็นจะทำให้นักศึกษาสามารถแก้ปัญหาต่างๆที่อยู่รอบตัวได้ โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่มีคำตอบชนิดเป็นสูตรสำเร็จ


*จากหนังสือ70ปีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

หมายเลขบันทึก: 50759เขียนเมื่อ 19 กันยายน 2006 01:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท