อาม่า..กับ รอยยิ้ม.. ของอาม่า


     การฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง.. ดิฉันได้พูดคุยสนทนา และให้การบำบัดฟื้นฟูแก่ผู้รับบริการท่านหนึ่ง อายุ 72 ปี ท่านป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง เป็นอัมพฤกษ์และมีอาการอ่อนแรงแขนและขาซีกขวา สามารถรับรู้ เข้าใจสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารกับท่านได้ แต่มีอาการมึนงงเล็กน้อย และพูดคุยสื่อสารกับผู้อื่นไม่ได้(Stroke with Right hemiparesis with motor aphasia) การสื่อสารกับท่าน ใช้การถามตอบให้ท่านพยักหน้า โดยการพูดเสียงดัง ช้า ชัดเจน เนื่องจากท่านไม่ค่อยได้ยิน และมึนงงเล็กน้อย ซึ่งบางครั้งกว่าจะสื่อสารเข้าใจตรงกันนั้นต้องใช้เวลานานพอสมควร ในการบำบัดฟื้นฟูภายร่างกายซีกขวาที่ท่านมีอาการอ่อนแรง ท่านสามารถหยิบจับสิ่งของโดยควบคุมการเคลื่อนไหวของมือ แขนส่วนปลายและแขนส่วนต้นในการเอื้อมหยิบของได้ การสั่งให้มือจับและนำของไปวางท่านยังไม่สามารถควบคุมการเคลื่อนไหวดังกล่าวได้ จึงให้การบำบัดฟื้นฟูโดยฝึกการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนทั้งต้นแขน แขนส่วนปลายและมือด้วยกิจกรรมหยิบกรวยใส่หลัก หยิบบอลใส่ตะกร้าสูง ซึ่งทั้งสองกิจกรรมดังกล่าวนอกจากฝึกในเรื่องการควบคุมการเคลื่อนไหวของแขนขวาแล้ว ยังเป็นการฝึกการทำหน้าที่ของมือในการเอื้อมไปหยิบของเช่นหยิบบอล จับบอลไว้ แล้วนำบอลไปใส่ในตะกร้า รวมทั้งการคงไว้ซึ่งความสามารถของช่วงการเคลื่อนไหวของแขนขวาเป็นการป้องกันข้อต่อที่นิ้ว ข้อต่อข้อมือ ข้อต่อที่ศอกและข้อต่อหัวไหล่ติดได้ ซึ่งหากข้อต่อต่างๆที่กล่าวมานั้นติด หรือขยับไม่ได้จะทำให้เกิดการเคลื่อนไหวขณะทำกิจกรรมของผู้รับบริการยากลำบากมากขึ้นได้ในอนาคต และผู้รับบริการมีปัญหากลืนลำบาก คือกลืนช้า(delay swallow) ควบคุมการเคลื่อนไหวของลิ้นขณะเคี้ยว กลืนได้ลำบาก(tongue control อยู่ในระดับ fair) จึงให้การบำบัดฟื้นฟูด้วยการฝึกกลืนและการขยับ เคลื่อนไหวกล้ามเนื้อลิ้น(tongue exercise).. 

     ด้วยผู้รับบริการเป็นคนไทยเชื้อสายจีน มีอัธยาศัยดี ยิ้มแย้มแจ่มใส เข้ากับผู้อื่นได้ง่าย ดิฉันจึงขออนุญาตเรียกท่านว่าอาม่า ท่านอนุญาตพร้อมกับยิ้มกว้าง..   อาม่าเป็นผู้รับบริการที่ผู้รับบริการท่านอื่นๆด้วยกันหยอกเล่นแล้วท่านไม่โกรธ หัวเราะง่าย ใช้การพยักหน้าแทนการพูดสื่อสาร ท่านไม่ค่อยมีบุตรหลานมาเยี่ยมบ่อยนัก เนื่องจากบุตรหลานต้องทำงาน เรียนหนังสือ แต่บุตรได้ว่าจ้างผู้ดูแลมาดูแลท่านโดยทำหน้าที่ในช่วงพักกลางวันและช่วงเย็น จึงทำให้บางครั้งอาม่าเงียบ ไม่ค่อยยิ้มแย้ม เวลาผู้อื่นไม่ได้ทักทายอาม่าก่อน ประกอบกับแพทย์ลดยาที่อาม่ารับประทาน จึงทำให้มึนงงมากขึ้น เวลาสอบถามหรือพูดคุยด้วย เช่นถามอาการมึนงง เวียนศีรษะ ต้องการอาเจียน อาม่าจะไม่พยักหน้าตอบ เหม่อ มองไปทางอื่น ในช่วงเวลานั้นเมื่ออาม่าเข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ต้องวัดความดันโลหิต (blood pressure) วัดค่าเปอร์เซ็นต์ของออกซิเจนในเลือด(oxygen saturation)บ่อยครั้ง  เมื่อผ่านไปประมาณ 1 อาทิตย์ ร่างกายของอาม่าเริ่มปรับเข้ากับยาที่รับประทานได้แล้ว และกลับมาทำกิจกรรมบำบัดแบบเต็มรูปแบบอีกครั้ง ในการบำบัดฟื้นฟูเมื่อดิฉันได้จับแขนอาม่า ถามความรู้สึก อาการต่างๆขณะทำกิจกรรบำบัดเช่นเวียนศีรษะ มึนงง เนื่องจากแพทย์ปรับลดยา อาม่าก็ได้ร้องไห้ออกมา เมื่อพี่นักกิจกรรมบำบัด พี่ผู้ช่วยหยอกอาม่าเล่น อาม่าน้ำตาไหลพร้อมกับมีรอยยิ้มมาให้ เมื่อถามจึงทราบว่าบุตรหลานไม่มาเยี่ยม อาม่าน้อยใจแต่บอกสื่อสารกับผู้อื่นออกไปไม่ได้ บางครั้งดิฉันไปทักทายอาม่าที่เตียงในหอผู้ป่วยใน อาม่าจะมีน้ำตาคลอ จับมือดิฉันแน่นแล้วยิ้มให้เสมอ  จึงทำให้ดิฉันได้เรียนรู้ว่าในบางครั้งเมื่อเราไม่สบายสิ่งสำคัญที่สุดคือกำลังใจ ทั้งกำลังใจของตนเองและกำลังใจของคนรอบข้างที่มีให้ แม้สื่อสารเป็นคำพูดออกมาไม่ได้ การใช้ภาษากายหรืออวัจนภาษาก็เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ ใจสื่อถึงใจของคู่สนทนาได้ดี และทำให้เห็นถึงรอยยิ้มความสุขจากใจ และผู้รับก็อิ่มเอมใจดังเช่นผู้ที่ยิ้มให้เช่นกัน 

หมายเลขบันทึก: 507200เขียนเมื่อ 30 ตุลาคม 2012 22:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท