บันทึกวาระสี่เดือนของมอส.ตอน ๓ : ความคิด ความรู้สึกของผู้ถูกละเมิดเป็นอย่างไร


บางกรณีผู้ประสบปัญหามีความเข้าใจว่าตนเองเป็นคนไทย เพราะเกิดในเขตดินแดนของรัฐไทยมาตั้งแต่เกิด อยู่อาศัยและทำมาหากินในแผ่นดินไทยมานานแล้ว มีบัตรประชาชนสีขาวด้วย(ตามความเข้าใจของชาวบ้าน) แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากมีการโต้แย้งว่าเขาเป็นคนต่างด้าว บางกรณีเป็นคนกำลังจะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา แต่เป็นคนไม่มีสัญชาติไทย จึงมีความกังวลในเรื่องทุนการศึกษาและสิทธิในการกู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

๓.ความคิด ความรู้สึกของผู้ถูกละเมิดเป็นอย่างไร

                จากที่พบเจอเจ้าของปัญหาสิทธิสถานะบุคคลจะเป็นคนในพื้นที่ซึ่งเป็นชาวกระเหรี่ยงทั้งที่อยู่ในพื้นที่มานานและบางกรณีก็เป็นชาวกระเหรี่ยงที่ย้ายมาจากที่อื่น พบเจอทุกช่วงอายุ มีทั้งที่เป็นเด็กน้อย เด็กๆช่วงชั้นเรียนประถมและมัธยม คนวัยกลางคน คนแก่ ปัญหาของแต่ละคนก็จะแตกต่างกันไป เมื่อจำแนกตามทฤษฎีคนหกกลุ่มจะพบเจอก็คือ

 ๑.กลุ่มคนไร้รัฐ คือบุคคลไม่ได้รับการบันทึกสถานะบุคคลไว้ในระบบทะเบียนราษฎรของรัฐใดๆเลย อาจเป็นเพราะชาวบ้านไม่รู้กฎหมายว่าจะต้องมีการแจ้งเกิดให้แก่บุตรจึงไม่มาแจ้งเกิดให้บุตรของตนเอง หรือเมื่อแจ้งเกิด(กรณีเกิดนอกสถานพยาบาล)กับผู้ใหญ่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการแจ้งเกิดของลูกบ้านทำให้พบความยุ่งยากก็ไม่แจ้งการเกิด หรือลูกเกิดมาในพื้นที่ห่างไกลก็ไม่สามารถเดินทางออกมาแจ้งการเกิดได้ เป็นต้น ทำให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับการบันทึกไว้ในระบบทะเบียนราษฎรของรัฐไทยและ/รัฐพม่า เมื่อพิจารณาจากการทำงานในพื้นที่อำเภออุ้มผางแล้วพบว่าคือคนเหล่านี้อาจมีจุดเกาะเกี่ยวดังนี้

๑.๑    ตามหลักสืบสายโลหิตจากบิดามารดาที่มีสัญชาติไทยและ/หรือสัญชาติพม่า แต่จากที่พบเห็นในพื้นที่ทำงานชาวบ้านที่เดินทางจากเขตรัฐพม่าซึ่งเข้ามาอยู่อาศัยในเขตรัฐไทย และก่อตั้งครอบครัวกับคนสัญชาติไทยมักจะไม่มีเอกสารแสดงสถานะการเป็นคนสัญชาติพม่าเลย  

๑.๒   ตามหลักดินแดนของรัฐไทยและรัฐพม่า เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่าเกิดในเขตแดนของรัฐไทยหรือรัฐพม่า(กรณีนี้จะขึ้นอยู่กับกฎหมายมหาชนภายในของรัฐไทยหรือรัฐพม่าด้วยว่า จะให้การรับรองความเป็นคนชาติเข้มข้นเพียงใด)

๒.คนสัญชาติไทยที่ถูกบันทึก(ตามกฎหมายทะเบียนราษฎร)เป็นคนต่างด้าว

“คนต่างด้าว” หมายถึง บุคคลธรรมดาซึ่งไม่มีสัญชาติไทย(มาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒)

ตามหลักกฎหมายสิทธิในสัญชาติของบุคคลอาจได้มาในขณะที่เกิดหรือภายหลังการเกิดก็ได้ กล่าวโดยเฉพาะการได้สัญชาติโดยการเกิดนั้นเป็น บุคคลที่มีข้อเท็จจริงครบถ้วนตามกฎหมายสัญชาติที่ใช้บังคับในขณะที่เกิดย่อมได้สัญชาติของรัฐ กฎหมายสัญชาติของรัฐไทยเช่นเดียวกัน

โดยทั่วไปบุคคลที่มีสิทธิในสัญชาติไทยจะได้รับการบันทึกสถานะบุคคลในฐานะคนสัญชาติไทยโดยเข้าในระบบทะเบียนราษฎรได้รับการจัดให้อยู่ในทะเบียนบ้านของคนสัญชาติไทยที่มีสิทธิอาศัยถาวร(ท.ร.๑๔) สิทธิในสัญชาติไทยจึงมีความสัมพันธ์กับกฎหมายทะเบียนราษฎรในฐานะที่เป็นกฎหมายที่รับรองสิทธิสถานะบุคคลให้ปรากฎตามเอกสารมหาชน อย่างไรก็ตาม สิทธิในสัญชาติไทยนั้นเป็นสิทธิตามข้อเท็จจริงแยกต่างหากจากกฎหมายทะเบียนราษฎร เพราะการบันทึกสถานะบุคคลตามกฎหมายราษฎรที่ผิดพลาดก็ไม่ลบล้างสิทธิในสัญชาติของบุคคลแต่อย่างใด หากปรากฎว่ารัฐไทยบันทึกสถานะบุคคลไว้ในระบบทะเบียนราษฎรไม่ถูกต้องตามข้อเท็จจริง นายทะเบียนผู้รักษาการตามกฎหมายทะเบียนราษฎรก็มีหน้าที่ต้องแก้ไขทะเบียนราษฎรให้ถูกต้องด้วย

จากการทำงานตลอดสี่เดือนที่ผ่านมา พบว่ามีชาวบ้านอำเภออุ้มผางบางคนที่มีข้อเท็จจริงว่ามีสิทธิในสัญชาติไทยได้รับการบันทึกสถานะบุคคลเป็นบุคคลต่างด้าว ที่พบเห็นก็คือ ถูกบันทึกเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๐ การบันทึกสถานะบุคคลดังกล่าวอาจเกิดจากการที่ผู้เป็นพ่อและแม่ของเด็กไม่ทราบว่าต้องมีการแจ้งการเกิด หรือมีบางกรณีที่เป็นบุตรของพ่อเป็นคนไทยแต่แม่เป็นคนต่างด้าว แล้วคลอดบุตรในศูนย์พักพิงจึงได้รับการแจ้งการเกิดในศูนย์ฯทำให้เด็กถูกบันทึกสถานะบุคคลผิดไปจากข้อเท็จจริง หรืออาจเกิดจากการแจ้งเกิดที่ผิดพลาดของพ่อแม่ของเด็กเอง เช่นการบอกข้อเท็จจริงไม่ครบถ้วน ทำให้การแจ้งการเกิดผิดพลาด

๓.บุตรของบุคคลต่างด้าวที่เกิดในประเทศไทย

เนื่องจากพื้นที่อำเภออุ้มผางเป็นพื้นที่ซึ่งอยู่ติดกับชายแดนติดกับรัฐพม่าที่มีการสู้รบระหว่างทหารกระเหรี่ยงกับทหารพม่า ทำให้กลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงอพยพหนีภัยจากการสู้รบย้ายถิ่นฐานข้ามเขตแดนจากฝั่งพม่าเข้ามาอาศัยอยู่และประกอบอาชีพในรัฐไทย บางคนก็ออกไปทำงานนอกพื้นที่(อำเภอแม่สอด) บางคนก็ออกมาตั้งครอบครัวและอาศัยอยู่ในพื้นที่อำเภออุ้มผาง การเข้ามาในรัฐไทยของบุคคลต่างด้าวเหล่านี้ถือว่าเป็นการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย(มาตรา๕๗.๕๘ พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒) เมื่อบุคคลเหล่านั้นมีบุตรจะส่งผลต่อสิทธิสถานะบุคคลของบุตรตามกฎหมายมหาชนของรัฐไทยด้วย  ซึ่งอาจแบ่งกลุ่มคนเหล่านี้ตามข้อเท็จจริงในช่วงที่เกิดได้สองกลุ่ม คือ

๓.๑บุตรของคนต่างด้าวที่เกิดในรัฐไทยก่อนวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ คนต่างด้าวกลุ่มนี้จะมีสิทธิขอลงรายการสัญชาติไทยตามมาตรา ๒๓ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ (ฉบับที่ ๔) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งจะถือว่าเป็นบุคคลสัญชาติไทยที่ได้รับการบันทึกเป็นคนต่างด้าว คือเป็นคนกลุ่มที่ ๒ นั่นเอง ทั้งนี้ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงตามกฎหมายว่าด้วยสัญชาติเป็นสำคัญ

๓.๒บุตรของบุคคลต่างด้าวที่เกิดในรัฐไทยหลังวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๕ แม้จะเกิดในรัฐไทย แต่จะไม่ได้สัญชาติไทยตามหลักดินแดน ตามมาตรา ๗ ทวิ แห่งพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ.๒๕๐๘ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติสัญชาติ(ฉบับที่ ๒)พ.ศ.๒๕๓๕ บุคคลที่เกิดภายหลังวันดังกล่าวนี้ เมื่อพิจารณาจากฎหมายทะเบียนราษฎรการบันทึกสถานะบุคคลโดยทั่วไปก็จะได้รับการบันทึกในระบบทะเบียนราษฎรของรัฐไทยว่าเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทย ได้รับการจัดอยู่ในทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิอาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว(ท.ร.๑๓) มีเลขประจำตัวประชาชนขึ้นต้นด้วยเลข ๗ (หรือเรียกว่าบัตรสีชมพู) นอกจากนี้ยังมีบุคคลที่ได้รับการสำรวจและบันทึกสถานะบุคคลไว้ในทะเบียนประวัติตามยุทธศาสตร์การจัดการปัญหาสถานะและสิทธิของบุคคล 

ซึ่งอาจเป็นบุตรของบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน  ก็จะได้รับการกำหนดเลขประจำตัวขึ้นต้นด้วยเลข ๐ เช่นกัน และได้รับการจัดให้อยู่ในทะเบียนประวัติ(ท.ร.๓๘ ก)

มีบางกรณีที่บุคคลต่างด้าวที่มีข้อเท็จจริงตามคำบอกเล่าว่าเกิดในรัฐไทย แต่ไม่มีการแจ้งการเกิด(ชาวบ้านมักเข้าใจว่าตนเองไม่มีบัตรประจำตัวใดๆก็ไม่สามารถแจ้งเกิดให้บุตรได้) ทำให้ไม่มีหลักฐานแสดงจุดเกาะเกี่ยวว่าเกิดในดินแดนของรัฐไทย ในภายหลังได้รับการสำรวจตามกฎหมายทะเบียนราษฎรและได้รับการบันทึกว่าเป็นบุคคลต่างด้าวได้รับอนุญาตให้มีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวเหมือนบิดามารดา ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

๔.คนต่างด้าวที่เกิดนอกไทย

คนกลุ่มนี้มีข้อเท็จจริงว่าเป็นบุคคลต่างด้าว ส่วนใหญ่ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่เดินทางข้ามเขตแดนจากรัฐพม่าเข้ามาอยู่ฝั่งไทยเพื่อหนีภัยจากการสู้รบหรือเข้ามาอาศัยอยู่ในไทย คนเหล่านี้อาจเป็นคนชาติพันธุ์กระเหรี่ยงที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดั้งเดิมตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ แต่อาจตกหล่นจากการสำรวจทางทะเบียนราษฎรของราชการทำให้ไม่ได้รับการรับรองสิทธิให้เป็นบุคคลสัญชาติไทย หรือเป็นบุคคลต่างด้าวที่เข้าเมืองมาปักหลักทำมาหากินบนดินแดนรัฐไทยก็ได้ อาจแบ่งคนกลุ่มนี้เป็นสองกลุ่มได้แก่

๔.๑คนต่างด้าวที่มีเข้ามาอาศัยอยู่ในรัฐไทยโดยได้รับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ถาวร มีทะเบียนบ้านคนอยู่ถาวร(ท.ร.๑๔) คนต่างด้าวกลุ่มนี้จะมีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวและใบสำคัญถิ่นที่อยู่ สถานะตามกฎหมายสัญชาติแม้จะไม่มีสัญชาติไทยแต่ก็เป็นคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยถาวรสามารถเดินทางออกนอกพื้นที่ได้โดยไม่ถูกจำกัดสิทธิเสรีภาพในการเดินทางมากนัก

๔.๒คนต่างด้าวที่เข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรไทยโดยเข้ามาไม่ชอบด้วยกฎหมาย ภายหลังที่ได้รับการสำรวจตามกฎหมายหรือยุทธศาสตร์ของรัฐไทยต่างๆจะทำให้มีสถานะเป็นบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยได้รับสิทธิให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้รับการจัดให้อยู่ในทะเบียนบ้านคนอยู่ชั่วคราว(ท.ร.๑๓)  หรือทะเบียนประวัติแล้วแต่กรณี คนกลุ่มนี้ที่พบในพื้นที่มักจะได้รับการระบุสัญชาติในทะเบียนบ้านว่ามีสัญชาติกระเหรี่ยงหรือมีบิดามารดาเป็นคนกระเหรี่ยง ทั้งที่ไม่ปรากฎรัฐกระเหรี่ยงอยู่บนโล

๕.คนที่เป็นแรงงานต่างด้าวสัญชาติลาว กัมพูชา พม่าที่ผ่านการพิสูจน์สถานะกับรัฐต้นทางที่เข้าเมืองมาทำงานในรัฐไทย ยังไม่พบเจอกรณีเหล่านี้ในพื้นที่

๖.คนที่หนีภัยความตาย/ผู้ลี้ภัย/ผู้อพยพในศูนย์พักพิงชั่วคราว

เนื่องจากพื้นที่อำเภออุ้มผางมีศูนย์พักพิงชั่วคราวของผู้ลี้ภัยแห่งหนึ่งคือ ศูนย์พักพิงบ้านนุโพ ต.แม่จัน (และมีศูนย์พักพิงอีกแห่งหนึ่งใกล้ๆพื้นที่คือ ศูนย์พักพิงบ้านอุ้มเปี้ยม ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ)ซึ่งเป็นพื้นที่ควบคุมพิเศษของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย การดำเนินการในเรื่องรับรองสถานะบุคคลต่างๆจะมีระเบียบภายในเป็นการเฉพาะ

              การแบ่งประเภทของปัญหาสถานะของบุคคลเป็นหกกลุ่มข้างต้นทำให้การพิจารณาสถานะบุคคลมีความง่ายขึ้นต่อการหาแนวทางการพัฒนาสิทธิสถานะบุคคลต่อไป จากที่พบเห็นบุคคลที่มีปัญหาสถานะบุคคลในแต่ละประเภท มีบางกรณีที่บางรายเป็นเด็กอายุยังน้อยจึงยังไม่ทราบปัญหาสถานะบุคคลด้วยตนเอง ตัวผู้ปกครองของเด็กจะรู้สึกถึงปัญหามากกว่า ในกรณีนี้ผู้ปกครองก็ต้องการแก้ไขปัญหาให้ลูกโดยการดำเนินการติดต่อกับทางอำเภอด้วยตนเอง แต่ไม่ได้รับการดำเนินการ

               บางกรณีผู้ประสบปัญหามีความเข้าใจว่าตนเองเป็นคนไทย เพราะเกิดในเขตดินแดนของรัฐไทยมาตั้งแต่เกิด อยู่อาศัยและทำมาหากินในแผ่นดินไทยมานานแล้ว มีบัตรประชาชนสีขาวด้วย(ตามความเข้าใจของชาวบ้าน) แต่ไม่ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน เนื่องจากมีการโต้แย้งว่าเขาเป็นคนต่างด้าว

                บางกรณีเป็นคนกำลังจะศึกษาต่อระดับอุดมศึกษา แต่เป็นคนไม่มีสัญชาติไทย จึงมีความกังวลในเรื่องทุนการศึกษาและสิทธิในการกู้ยืมเงินกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา

 

หมายเลขบันทึก: 507090เขียนเมื่อ 29 ตุลาคม 2012 14:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 17:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท