Asian Spotlight : The Most Admired Knowledge Enterprises


Asian Spotlight : The Most Admired Knowledge Enterprises

     เมื่อประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้เข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) ตามที่กำหนดไว้ภายในปี ค.ศ. 2015 แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาในด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ก็คือ การเป็นตลาดเดียวและฐานการผลิตร่วมที่ประเทศสมาชิก ASEAN จะส่งเสริมให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานกันอย่างเสรีทั้งเข้าและออกในกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN

     จากข้อมูลของแรงงานไทยที่ไปทำงานใน ASEAN ในปี 2553 จากสำนักบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ และแรงงานใน ASEAN ที่เข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกกฎหมาย ในปี 2552 จากสำนักบริหารแรงงานต่างด้าว จะมีการไหลออก - ไหลเข้า ของแรงงานระหว่างไทยกับประเทศสมาชิก ASEAN จำนวนปีละไม่น้อยเลยและยังไม่ได้รวมจำนวนสะสมทั้งหมด ซึ่งถ้าหากกลุ่มประเทศสมาชิก ASEAN ได้มีการจัดทำระเบียบที่เป็นมาตรฐานเกี่ยวกับคุณสมบัติของนักวิชาชีพ แรงงานเชี่ยวชาญ แรงงานมีฝีมือ และผู้มีความสามารถพิเศษ เพื่อให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีเข้า - ออก ได้อย่างสะดวกแล้ว  ผลกระทบต่อองค์การไทยที่ตามมา คงหลีกเลี่ยงการถูกแย่งบุคลากรที่มีศักยภาพไปจากองค์การอย่างรวดเร็วด้วยเงินเดือน และค่าตอบแทนที่มากกว่าโดยองค์การต่างชาติได้ยาก

     ดังนั้น สิ่งที่องค์การไทยจะต้องเริ่มทำกันตั้งแต่วันนี้ถ้าหากยังไม่ได้ทำ ก็คือการขับเคลื่อนองค์การบนฐานความรู้ ด้วยการจัดการความรู้ (Knowledge management) ของบุคลากรในองค์การ เพราะไม่ว่าบุคลากรที่มีความสามารถสูงจะถูกดึงตัวไปอยู่กับองค์การอื่นแล้วก็ตาม ความรู้ของบุคลากรคนนั้นซึ่งเป็นสินทรัพย์ทางปัญญาก็จะยังอยู่กับองค์การต่อไป  ผู้เขียนจึงขอแนะนำให้ท่านผู้อ่านได้รู้จักกับกลยุทธ์ที่ดีเยี่ยมในการจัดการความรู้ จาก The Most Admired Knowledge Enterprises หรือ MAKE

     ความเป็นมา ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1998  บริษัท Teleos ประเทศอังกฤษ ได้ร่วมกับ The KNOW Network (www.knowledgebusiness.com) จัดทำโครงการสำรวจองค์การที่มีการดำเนินงานด้านการจัดการความรู้ที่ดีเลิศทั่วโลก หรือ The Most Admired Knowledge Enterprises (MAKE) การสำรวจนี้ได้ดำเนินการตามวิธีการวิจัยและเป็นที่ยอมรับทั่วโลก โดยทุกปีจะมีการประกาศรายชื่อองค์การผู้ชนะได้รับรางวัล MAKE ซึ่งแบ่งออกไปตามกลุ่มประเทศต่างๆ ทั่วโลก

     สำหรับกลุ่มประเทศใน Asian ชื่อองค์การที่ได้รับรางวัล MAKE ในปี ค.ศ. 2009 - 2010 เป็นชื่อที่เราคุ้นๆ ชื่อกันดี เช่น Honda, Toyota, Samsung, LG, Singapore Airlines, Unilever Indonesia เป็นต้น เราจะเห็นว่าองค์การเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นองค์การที่มีอัตราการเติบโตสูงและดำเนินงานมายาวนานทั้งสิ้น และนี่ก็เป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่าการจัดการความรู้ (Knowledge management) และการสร้างองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) มีความสำคัญและมีความจำเป็นอย่างยิ่งในบริบทของการพัฒนาองค์การให้มีประสิทธิภาพสูงในระดับสากล และการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างมีศักยภาพ โดยอาจคิดคาดการณ์ต่อได้ด้วยว่าองค์การใดที่ไม่เริ่มปรับตัวเข้าสู่การเป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ องค์การนั้นจะยืนอยู่อย่างลำบากในอนาคตอันใกล้นี้

     บริษัท Teleos ได้พัฒนาโครงร่าง (Framework) ของการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ ประกอบด้วย  8 หมวด ซึ่งถือเป็นตัวขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมของการใช้ความรู้ไปขับเคลื่อนมูลค่าองค์การ  ดังนี้

1. สร้างวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนความรู้ขององค์การ (Creating an enterprise knowledge - driven culture)

2. พัฒนาบุคลากรให้ใช้ความรู้ในการทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร (Developing knowledge workers through senior management leadership)

3. ส่งมอบผลิตภัณฑ์ /บริการ /การแก้ไขปัญหา ให้ลูกค้าโดยใช้ฐานความรู้ (Delivering knowledge - based products /services /solutions)

4. ใช้สินทรัพย์ทางปัญญาขององค์การให้มีประโยชน์สูงสุด (Maximizing enterprise intellectual capital)

5. สร้างสภาพแวดล้อมในองค์การให้เกิดการประสานแลกเปลี่ยนความรู้ (Creating an environment for collaborative knowledge sharing)

6. สร้างองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Creating a learning organization)

7. ส่งมอบคุณค่าโดยใช้ฐานความรู้ ให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Delivering value based on stakeholder knowledge)

8. แปลงความรู้ขององค์การ ไปเป็นคุณค่าให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Transforming enterprise knowledge into stakeholder value)

     ในแต่ละหมวดจะมีตัวขับเคลื่อนสำคัญในการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ  โดยผู้เขียนขอยกตัวอย่างให้พอเป็นแนวทางปฏิบัติ ใน 2 หมวด ดังนี้

     1. การสร้างวัฒนธรรมในการขับเคลื่อนความรู้ขององค์การ (Creating an enterprise knowledge-driven culture)

ตัวขับเคลื่อนสำคัญในการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ

- พัฒนาและแปลงวิสัยทัศน์และกลยุทธ์องค์การ มาสู่การขับเคลื่อนความรู้ขององค์การ

- กำหนดความสามารถหลักขององค์การ ที่มีสินทรัพย์ที่เป็นความรู้

- ออกแบบโครงสร้างองค์การโดยใช้ความรู้ในการขับเคลื่อนองค์การ และความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานขององค์การ

- พัฒนาและจัดการคุณค่าความรู้องค์การ

- พัฒนาและจัดการคุณสมบัติความรู้ขององค์การ

- พัฒนาและจัดการระบบการจัดการความรู้ขององค์การ

- สร้างและจัดการเชิงกลยุทธ์ทรัพยากรมนุษย์บนฐานความรู้ขององค์การ

     2. การพัฒนาบุคลากรให้ใช้ความรู้ในการทำงานโดยได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหาร (Developing knowledge workers through senior management leadership)

ตัวขับเคลื่อนที่สำคัญในการนำความรู้ไปสู่การปฏิบัติ 

- พัฒนาและแปลงการบริหารองค์การให้ไปสนับสนุนการแลกเปลี่ยนและการนำไปใช้ประโยชน์ของความรู้ที่สร้างมูลค่าองค์การ

- จัดเตรียมงบประมาณและการส่งเสริมต่าง ๆ ไปสนับสนุนการจัดการความรู้

- ช่วยสนับสนุนกลยุทธ์ความรู้ขององค์การและวิธีดำเนินการต่างๆ

- พัฒนาและฝึกอบรมผู้นำให้มีความรู้สูงขึ้น

- ให้ความรู้เพิ่มและให้รางวัลผู้นำที่มีความรู้สูง

 

     การจัดการความรู้ (Knowledge management) และการสร้างองค์การให้เป็นองค์การแห่งการเรียนรู้ (Learning organization) ที่กล่าวมา เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาองค์การที่จะช่วยให้องค์การได้เตรียมพร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงใน ASEAN  ทั้งที่เป็นเรื่องฉับพลันและเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลา

     อย่างไรก็ตามยังมีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลในด้านอื่นๆ อีก ที่จะต้องได้รับการพัฒนาให้รองรับในเชิงรุกกับสถานการณ์การเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างเสรีใน ASEAN ที่จะเกิดขึ้นในไม่ช้า  ดังนั้นการติดตามข้อมูลข่าวสารและความเคลื่อนไหวต่างๆ ของภาครัฐและภาคเอกชนในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) จึงเป็นเรื่องที่นักทรัพยากรมนุษย์ ควรให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอเพื่อจะได้ทำหน้าที่และบทบาทคู่คิดทางธุรกิจขององค์การ (HR Business partner) ให้ดีที่สุด

     (จากบางส่วนที่ตีพิมพ์ใน วารสาร PEOPLE ปีที่ 31 ฉบับที่ 2/2554 โดยผู้เขียน และมีการปรับปรุงข้อมูลบางส่วน)

 

หมายเลขบันทึก: 507008เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2012 11:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 28 ตุลาคม 2012 11:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

อนุญาตให้แสดงความเห็นได้เฉพาะสมาชิก
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท