ปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจในผู้ป่วยจิตเวช


ในการจัดทำบันทึกฉบับนี้ขึ้นเนื่องจากดิฉันนักศึกษากิจกรรมบำบัด  ดิฉันกำลังอยู่ในช่วงของการออกฝึกปฏิบัติงานตามโรงพยาบาลต่างๆ ณ ที่นี้ดิฉันได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานในผู้ป่วยฝ่ายจิตเวช ที่สถาบันกัลยาณ์ราชนครินทร์ ซึ่งสถาบันกัลยาณ์ฯเป็นสถาบันที่เน้นให้การบำบัดฟื้นฟูในผู้ป่วยที่มีปัญหาทางอาการของโรคทางจิต หรือผู้ป่วยที่ต้องการบำบัดอาการจาการใช้สารเสพติด รวมทั้งผู้ป่วยที่ติดคดีต่างๆ ที่ศาลพิจารณาแล้วว่าอาจจะมีปัญหาทางด้านจิต จึงถูกส่งตัวเพื่อมาบำบัดรักษาก่อนจะขึ้นศาลเพื่อสู้คดีต่อไปได้ ในการฝึกปฏิบัติที่นี้นักศึกษาได้มีโอกาสเห็นและได้ทำงานกับผู้ป่วยจริง ตั้งแต่เริ่มต้นประเมิน วางแผนการรักษาต่างๆ ตามกระบวนการทางกิจกรรมบำบัด อีกทั้งอาจารย์พิเศษผู้ควบคุมการฝึกปฏิบัติงานของนักศึกษาได้มอบหมายงานให้นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าความรู้เพิ่มเติมเอง ในเรื่องปัญหาของแต่ละระดับด้านความรู้ความเข้าใจในผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งจากการที่นักศึกษาได้ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมด้วยตนเองแล้วจึงจัดทำรายงานเพื่อเสนอข้อมูลกับอาจารย์พิเศษผู้ควบคุมการฝึกปฏิบัติงาน ซึ่งจากการทำรายงานนั้น นักศึกษาจึงมีความประสงค์ที่อยากเผยแพร่ความรู้ในเรื่องปัญหาของแต่ละระดับด้านความรู้ความเข้าใจในผู้ป่วยจิตเวชแก่ผู้ที่มีความสนใจศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองบ้าง โดยผ่านสื่อนี้ กล่าวคือการความรู้ความเข้าใจนั้นแบ่งออกเป็น 6 ระดับ ตามนักกิจกรรมบำบัดชื่อ Claudia Allen (1985) ดังนี้

 

ระดับที่ 1 ความรู้ความเข้าใจผ่านการกระทำโดยอัตโนมัติ (Automatic Action)

ภาวะความสามารถ (Function)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) พฤติกรรมในระดับนี้เป็นระดับของจิตสำนึก และเป็นการตอบสนองโดยปฏิกิริยาสะท้อนกลับ โดยจะสนใจต่อวัตถุที่คุ้นเคย โดยผ่านการจ้องมองวัตถุ

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) ในระดับนี้จะมีการเคลื่อนไหวในลักษณะของการตอบสนองอัตโนมัติในลักษณะของความเคยชินของการกระทำ เช่น การรับประทานอาหาร การดื่ม การเดิน

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) จะสามารถรับความรู้สึกตัวได้จากการกระตุ้นภายในทางสรีรวิทยาเพื่อการดำรงชีวิต เช่น ความหิว การกระหาย การกระตุ้นเร้าภายนอกจำเป็นต้องใช้สิ่งเร้าที่มีระดับความเข้มสูงๆ เช่นการโยกตัวแรงๆ

ภาวะความบกพร่อง (Dysfunction)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) เป็นช่วงสั้นๆ ไม่กี่วินาทีต้องกระตุ้นซ้ำค่อนข้างมากและบ่อยครั้ง

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) เป็นการเคลื่อนไหวไร้จุดมุ่งหมาย ส่วนมากมีการเคลื่อนไหวในลักษณะของการอยู่นิ่งกับที่ เช่น นั่งอยู่กับที่ หรือนอนอยู่กับที่ หรือการจ้องมองอยู่ที่ใดที่หนึ่ง

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) เป็นระดับที่ไม่สนใจเหตุการณ์หรือสิ่งแวดล้อมรอบตัว

 

ระดับที่ 2 ความรู้ความเข้าใจด้วยการกระทำที่มีการเคลื่อนไหว (Postural Action)

ภาวะความสามารถ (Function)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) สิ่งที่กระตุ้นทางความรู้สึกที่ทำให้เกิดการตอบสนองในระดับนี้ คือ การกระตุ้นจากข้อต่อ (Proprioception)  โดยเกี่ยวเนื่องกับการเคลื่อนไหวของวัตถุ หรือคนในรูปแบบง่ายๆ

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) เป็นการเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงท่าทาง(posture) มีการเคลื่อนไหว เช่น การก้ม เงย การเหยียดหรือยืดส่วนต่างๆของร่างกาย มีความสามารถในการเริ่มต้นการเคลื่อนไหวในลักษณะข้อต่อของรยางค์ใหญ่ๆก่อน เช่น ยกแขน ยกขา ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเริ่มสนใจลักษณะการเคลื่อนไหวของตนเองผ่านสิ่งกระตุ้นเร้าทางความรู้สึกผ่านเอ็นและข้อต่อ

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) เป็นระดับที่สามารถเชื่อมโยงระหว่างที่รับเข้ามากับตำแหน่งที่เปลี่ยนไปของส่วนของร่างกาย โดยเป็นการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้ร่างกายเกิดความรู้สึกสบาย

ภาวะความบกพร่อง (Dysfunction)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) จะอยู่ที่การเคลื่อนไหวของตนเอง วัตถุหรือบุคคลรอบข้าง ดังนั้นสิ่งเร้าจากภายนอกที่ไม่อยู่นิ่งหรือการเคลื่อนไหวอาจดึงความสนใจของผู้ป่วยให้หันเหความสนใจได้ง่าย

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) ยังคงไร้จุดมุ่งหมายที่ชัดเจน มีลักษณะแปลกๆ แตกต่างจากทั่วไป เช่น อาจมีการเคลื่อนไหวนิ้ว หรือโยกตัวตลอดเวลา

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) ผู้ป่วยยังไม่สามารถผสมผสานการรับรู้ที่เข้ามาและเชื่อมโยงการรับรู้นั้นกล่าวคือ ผู้ป่วยไม่รู้ถึงเหตุหรือผลของสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ระดับที่ 3 ความรู้ความเข้าใจด้วยการกระทำที่มีการใช้มือหยิบจับสัมผัสวัตถุ (Manual Action)

ภาวะความสามารถ (Function)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) สิ่งที่กระตุ้นทางความรู้สึกจากภายนอก ได้แก่ การสัมผัสวัตถุภายนอก เช่น การจับยืด การฉีก การดึงเป็นต้น จึงจะทำให้มีการรับรู้สิ่งเร้าที่มาสัมผัสของผิวที่แตกต่างกัน

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) เป็นลักษณะของการใช้มือในการหยิบจับ สัมผัส สิ่งของต่างๆ โดยเริ่มเป็นเคลื่อนไหวในลักษณะที่ละเอียด (Fine movement) มากขึ้น มีความสามารถในการเริ่มต้นการเคลื่อนไหวได้เอง  และอาจมีการทำซ้ำๆ (Repetitive action) เพื่อทบทวนสิ่งเร้าที่มาสัมผัส

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) เป็นการเชื่อมโยงระหว่างความรู้สึกที่รับเข้ามากับลักษณะการทำงานหรือการเคลื่อนไหวของมือ

ภาวะความบกพร่อง (Dysfunction)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) จะอยู่ที่ความรู้สึกสัมผัสเท่านั้น สิ่งกระตุ้นเร้าทางสายตา หู ไม่สามารถดึงความสนใจของผู้ป่วยได้

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) เป็นการเคลื่อนไหวแบบซ้ำๆ ด้วยตนเองและเป็นการเคลื่อนไหวที่ไร้จุดหมาย การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นเป็นการเคลื่อนไหวที่เห็นได้ชัดเจน

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) ผู้ป่วยยังไม่สามารถผสมผสานการรับรู้ที่เข้ามาและเชื่อมโยงการรับรู้นั้น กล่าวคือ ผู้ป่วยไม่รู้ถึงเหตุหรือผลของสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ระดับที่ 4 ความรู้ความเข้าใจด้วยการกระทำที่มีเป้าหมาย (Goal- Directed Action)

ภาวะความสามารถ (Function)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) สิ่งที่กระตุ้นทางความรู้สึกที่ทำให้เกิดการตอบสนองในระดับนี้ เป็น สิ่งกระตุ้นจากภายนอกเช่นกัน แต่เป็นสิ่งกระตุ้นเร้าทางสายตา ต้องเป็นสิ่งกระตุ้นเร้าที่สามารถเห็นได้ชัดเจน เช่น ความชัดเจนของสี รูปร่าง รูปทรง โดยเฉพาะวัตถุที่อยู่ในรูป 2 มิติ โดยเฉพาะวัตถุภายนอกที่มีความแปลกตา น่าสนใจ ความสนใจต่อสิ่งเร้าสิ่งใดสิ่งหนึ่งถือเป็นเร้าที่มีเป้าหมายของการกระทำมากขึ้น

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) การเคลื่อนไหวจะเป็นการเคลื่อนไหวที่ตั้งใจขึ้นโดยอาศัยการเคลื่อนไหวเดิมๆเพื่อให้เกิดกิจกรรมนั้นสำเร็จ โดยไม่ต้องใช้การเรียนรู้ใหม่ สามารถทำกิจกรรมทีละขั้นตอนได้ โดยต้องบอกวิธีการทำที่ชัดเจน

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) สามารถรับรู้จากการเลียนแบบการทำงานและสามารถเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุที่มองเห็นกับการกระทำที่ตนเองทำ โดยรู้ว่าตนทำอะไรในขณะนี้และต้องทำอะไรต่อไป ลักษณะการทำงานค่อนข้างช้า ไม่เร่งรีบ

ภาวะความบกพร่อง (Dysfunction)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) จะอยู่ที่สิ่งกระตุ้นเร้าที่เห็นชัดเจน จับต้องสัมผัสได้จริง

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) มีการเคลื่อนไหวในรูปแบบที่คุ้นเคยได้เท่านั้น หรืออาจมีการเรียนรู้ใหม่โดยการเลียนแบบการทำงานที่เห็นชัดเจน และคุ้นเคย หากมีการเคลื่อนไหวหรือการทำงานที่ต่างไปจากเดิม อาจทำให้ผู้ป่วยหยุดชะงัก หรือย้อนกลับไปทำในขั้นตอนเดิมก่อนหน้านี้แมน ดังนั้น การให้กิจกรรมจึงต้องเสนอช้าๆทีละขั้นตอนและเห็นได้ชัดเจน รวมทั้งหากมีปัญหาในการทำงานควรแสดงวิธีการทำให้ผู้ป่วยเลียนแบบทีละขั้นตอน (Step by step )

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) ผู้ป่วยยังไม่สามารถแสวงหาการกระทำใหม่ๆด้วยตนเอง ต้องมีการสาธิตหรือแสดงให้ดูเพื่อให้เลียนแบบ และต้องได้กระทำซ้ำๆเพื่อให้เกิดเป็นนิสัย หรือมีความคุ้นเคยในการทำงานนั้นๆ ความสนใจตั้งใจจะมีเฉพาะเหตุการณ์ปัจจุบันกำลังกระทำอยู่

 

ระดับที่ 5 ความรู้ความเข้าใจด้วยการสำรวจหรือแสวงหาการกระทำ (Exploratory Action)

ภาวะความสามารถ (Function)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) เป็นกระตุ้นเร้าทางความรู้สึกจากภายนอกเช่นกันแต่มีความซับซ้อน กล่าวคือ เป็นการรับรู้สิ่งแวดล้อมที่สามารถในการรับรู้ได้ในการแยกแยะความแตกต่างหรือความเหมือน เช่น การรับรู้สิ่งของที่วางซ้อนกัน การกะระยะช่องว่างหรือระยะห่างของวัตถุ การกะขนาดหรือปริมาณที่ใช้ เป็นต้น ความสนใจตั้งใจยังคงต้องอาศัยการเคลื่อนไหวเดิม แต่สามารถใช้การเคลื่อนไหวนั้นกับการกระทำใหม่ได้

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) เป็นการเคลื่อนไหวที่ตั้งใจโดยอาศัยการเคลื่อนไหวแสวงหาสิ่งใหม่ โดยสามารถเคลื่อนไหวตามต้นแบบที่มีการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องได้ โดยสามารถทำตามการเคลื่อนไหวที่คุ้นเคย ขั้นเดิม ผนวกกับการเคลื่อนไหวในลักษณะใหม่อีกขั้นหนึ่ง ผู้ป่วยสามารถเรียนรู้รูปแบบการกระทำใหม่ๆ โดยการเลียนแบบจากการสาธิต

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) เป็นระดับที่มีความสนใจต่อสิ่งเร้ากระทำมากขึ้นมีการควบคุมตนเองมากขึ้น ถ้าผลของการกระทำเป็นไปดังที่คาดหวังไว้จะคงการกระทำนั้นไว้ และถ้าการกระทำนั้นไม่เป็นไปดังที่คาดไว้จะทำให้หยุดกระทำนั้นลง จะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาในระดับนี้เป็นแบบลองผิดลองถูก การกระทำต่างๆต้องมีความชัดเจน

ภาวะความบกพร่อง (Dysfunction)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) ส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นลงมือกระทำโดยไม่มีการวางแผนทำให้เกิดผลของการกระทำที่ไม่สามารถคาดถึงของการกระทำล่วงหน้าไว้ได้ และมักมีความผิดพลาดจากการกระทำนั้นได้บ่อย

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) ในรูปแบบที่คุ้นเคยหรือาจมีการเรียนรู้ใหม่โดยเลียนแบบการทำงานที่เห็นได้ชัดเจน และคุ้นเคย ไม่สามารถต่อความล้มเหลวได้ อีกทั้งไม่สามารถคาดผลของการกระทำได้ จึงทำให้ขาดความระมัดระวังในด้านความปลอดภัย ความสำเร็จของผลงาน

-         การรับความรู้สึก ( Conscious awareness) ผู้ป่วยยังไม่มีการคิดหรือวางแผนการทำงานก่อน ระดับนี้ยังคงต้องการการชี้แนะค่อนข้างมาก ช่วงความสนใจตั้งใจจะขึ้นอยู่กับจำนวนครั้งของการทำผิดพลาด ความสามารถในการทนต่อความล้มเหลว 

 

ระดับที่ 6 ความรู้ความเข้าใจด้วยการวางแผนการกระทำ (Planned Action)

ภาวะความสามารถ (Function)

-         ความสนใจต่อสิ่งเร้า (Attention) สามารถรับสิ่งกระตุ้นเร้าทางความรู้สึกในลักษณะของ สัญลักษณ์ เช่น การฟัง การอ่าน การจินตนาการ รูปวาดหรือแผนภูมิ รวมถึงการรับรู้ถึงความร้อน เวลา ความเร็ว ระยะห่างในรูปแบบสามมิติ เป็นต้น

-         การเคลื่อนไหว (Motor action) จะเป็นการเคลื่อนไหวที่มีการวางแผนกระทำไว้ล่วงหน้า ผู้ป่วยอาจหยุดเพื่อคิดหรือเพื่อถาม เกี่ยวกับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น หรืออาจเกิดขึ้นก่อนลงมือกระทำ ระดับนี้สามารถกระทำตามจากการอธิบายประกอบการสาธิตและหรือการอธิบายเพียงอย่างเดียวก็สามารถทำให้เกิดการกระทำตามมาได้

-          ( Conscious awareness) เป็นระดับที่มีความสนใจต่อสิ่งเร้าต่างๆมากขึ้น มีการวางแผนมากขึ้น มีการสร้างสรรค์หรือการกระทำใหม่ขึ้นได้ด้วยตนเอง สามารถคิดหาเหตุผลในลักษณะของการคิดเชิงนิรนัย กล่าวคิด สามารถสรุปจากการกระทำทั่วไป ไปสู่การกระทำเฉพาะได้

ภาวะความบกพร่อง (Dysfunction)

                ในระดับนี้ไม่มีความบกพร่องของความรู้ความเข้าใจ

หมายเลขบันทึก: 506808เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 02:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 02:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท