ประสบการณ์จากการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิก 2


กิจกรรมบำบัดการรับประทานอาหารในเด็กสมองพิการ

            ในการฝึกปฏิบัติงานทางคลินิกรอบ2 ของนักศึกษากิจกรรมบำบัดปี 4  ดิฉันได้มีโอกาสฝึกปฏิบัติงานฯที่โรงพยาบาลศิริราชฝ่ายเด็ก ณ ที่แห่งนี้ ดิฉันได้มีโอกาสในการนำความรู้ทางกิจกรรมยำบัดและความรุ้ต่างๆที่เกี่ยวกับเด็ก เช่น พัฒนาการในแต่ละข่วงวัยต่างๆของวัยเด็กมาประยุกต์ใช้มากขึ้น โดยส่วนใหญ่ผู้รับบริการเด็กจะมีอาการทางสมอง หรือ เด็กที่คลอดก่อนกำหนด บทบาทหลักของนักกิจกรรมบำบัด คือ การประเมินและกระตุ้นพัฒนาการที่เกี่ยวกับการรับประทานอาหารของเด็ก รวมไปถึงการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆตามความสามารถของเด็ก ดิฉันมีความสนใจและต้องการนำเสนอความรู้เกี่ยวกับปัญหาด้านการการรับประทานอาหารและการบำบัดทางกิจกรรมบำบัดในเด็กพิการทางสมอง (CP)

               เด็กพิการทางสมอง (Cerebral palsy or CP) หมายถึง กลุ่มอาการที่แสดงความผิดปกติหรือความยากลำบากในการเคลื่อนไหวส่วนต่างๆของร่างกาย อันเนื่องมาจากพยาธิสภาพของสมองที่อาจเป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของสมอง ทำให้เด็กมีความยากลำบากในการเคลื่อนไหวร่างกาย และหากมีความผิดปกติของอวัยวะในช่องปาก จะส่งผลให้เด็กมีปัญหาในการช่วยเหลือตนเองในการรับประทานอาหาร

               ลักษณะความผิดปกติและปัญหาที่พบ แบ่งเป็น 6 ด้าน มีดังนี้

                1. การควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกาย : เด็กจะมีปัญหาในการควบคุมส่วนของร่างกาย เนื่องจากความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ผิดปกติ ส่งผลต่อการควบคุมศีรษะ การทรงตัวในท่านั่ง การใช้มือรวมถึงอวัยวะต่างๆไม่ได้อยู่ในแบบแผนที่ถูกต้องทำให้กระบวนการในการรับประทานอาหาร จึงไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                2. ปฏิกิริยาสะท้อนกลับเบื้องต้นของร่างกายบางชนิด : โดยปฏิกิริยาเหล่านี้จะอยู่ในช่วงแรกๆของชีวิตแล้วหายไป แต่ในเด็กสมองพิการจะพบบางปฏิกริยาสะท้อนกลับเบื้องต้นที่คงอยู่นานกว่าปกติ ที่ส่งผลเสียต่อการเคลื่อนไหวในส่วนต่างๆ เช่น Asymmetrical tonic neck reflex ถ้าปฏิกิริยานี้คงอยู่ ผลต่อร่างกาย คือ เมื่อเด็กหันไปด้านหนึ่ง แขนด้านนั้นก็จะเหยียด ไม่สามารถงอ การเคี้ยวจะลำบาก เพราะขากรรไกรเอียงไปด้านหนึ่ง

                3. การรับความรู้สึกทางผิวหนังบริเวณใบหน้าและช่องปาก : พบได้ 2 ลักษณะ คือ การรับความรู้สึกไวกว่าปกติ เช่น เด็กหลีกหนีสัมผัสจากพ่อแม่  ส่วนการรับความรู้สึกช้ากว่าปกติ เช่น การเคลื่อนไหวของอวัยวะภายในปากไม่คล่องแคล่ว

                 4. ปฏิกิริยาสะท้อนกลับเบื้องต้นของปากและช่องปาก : ที่พบความผิดปกติได้แก่ ปฏิกิริยาป้องกันการสำรอก, ปฏิกิริยาการสบฟันโดยอัตโนมัติ และปฏิกิริยาการดูดและการกลืน

                5. การทำงานของกล้ามเนื้ออวัยวะบริเวณปากและช่องปาก : เด็กจะมีความตึงตัวของกล้ามเนื้อที่ไม่เหมาะสม ทำให้มีการควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อได้ลำบาก และเคลื่อนไหวอวัยวะในช่องปากได้ไม่คล่องแคล่ว

                6. ความบกพร่องด้านการดูด การเคี้ยว การกลืน : เด็กจะมีรูปแแบบในการดูด การเคี้ยว และการกลืนที่ผิดปกติหรือ ไม่สามารถพัฒนาตามวัยได้

             แนวทางการรักษาทางกิจกรรมบำบัดในปัญหาการรับประทานอาหารของเด็กพิการทางสมอง มีดังนี้

             - การจัดท่าในการรับประทานอาหาร

             - การบำบัดภาวะการรับความรู้สึกบริเวณใบหน้าและช่องปากที่ผิดปกติ

             - การบำบัดความผิดปกติของปฏิกิริยาสะท้อนกลับเบื้องต้นของปากและช่องปาก

             - การควบคุมขากรรไกร ริมฝีปาก และการเคลื่อนไหวของลิ้น

             - การฟื้นฟูรูปแบบการดูด การเคี้ยว และการกลืนให้เหมาะสม

             - การฝึกทัษะการรับประทานอาารด้วยตนเอง

             - การออกแบบ ดัดแปลงอุปกรณืช่วยในการรับประทานอาหารของเด็ก

             - การให้ความรู้ คำแนะนำผู้ปกครอง ในการดูแล การจัดท่า การปรับสิ่งแวดล้อม

         

 

หมายเลขบันทึก: 506805เขียนเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 00:17 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 ตุลาคม 2012 00:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท