ชีวิตที่พอเพียง ๑๖๗๔.เส้นทางคือจุดหมาย


 

 

          ลูกชายเอาหนังสือแปลเล่มใหม่ของเขามาให้ เส้นทางคือจุดหมาย : คู่มือภาวนา”  แปลจาก The Path is the Goal : A Basic Handbook of Buddhist Meditation ผมได้คู่มือเอาไว้ฝึกตัวเองอีกฉบับหนึ่ง    คราวนี้ได้ลูกเป็นครู

 

          บทเรียนแรกของผมอยู่ที่ชื่อหนังสือ “เส้นทาง”  กับ “จุดหมาย”    ที่ผมใช้เป็นสติเวลาทำงานมานานแล้ว    เพราะผมสังเกตว่า ในการทำงานที่ยากและซับซ้อน คนเราหลงหรือสับสนได้ง่าย ระหว่าง end กับ means (เป้าหมาย กับวิธีการ)    คนเรามักหลงเอาวิธีการหรือเส้นทางเป็นเป้าหมาย    แล้วหยุดอยู่แค่เส้นทางหรือวิธีการ ไม่ขยับไปสู่จุดหมาย    ตัวอย่างที่เจ็บปวดที่สุดของสังคมไทย คือเรื่องระบบการศึกษา    การปฏิรูปการศึกษาไทยที่ทำมาตั้งแต่ปี ๒๕๔๒ หลงเอาวิธีการเป็นเป้าหมาย    ระบบการศึกษาจึงโตและสิ้นเปลืองมากที่ระบบบริหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบบริหารส่วนกลาง    ซึ่งเป็นส่วนวิธีการ   ทำให้การศึกษาไทยไม่บรรลุเป้าหมาย คือคุณภาพของผลลัพธ์ทางการเรียนรู้ของผู้เรียน    ระบบการศึกษาไทยหลังการปฏิรูป ลงทุนกับวิธีการ มากกว่าที่เป้าหมาย

 

           เรื่องการหลงเอาวิธีการเป็นเป้าหมายนี้ดาดดื่นมาก

 

          บทเรียนเรื่องเป้าหมายของผม ชิ้นที่ ๒ คือเรื่อง “เป้าหมายปลายทาง” กับ “เป้าหมายรายทาง”    ขอจารึกไว้ว่าสองคำนี้มาจาก ศ. สุธิวงศ์ พงศ์ไพบูลย์ ปราชญ์ท่านหนึ่งของไทย ที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ป่วย ทำงานไม่ได้เสียแล้ว

 

          การทำงานที่ยากและซับซ้อน ต้องการความเข้าใจเรื่อง “เป้าหมายปลายทาง” กับ “เป้าหมายรายทาง”    งานหลายเรื่องมีเป้าหมายปลายทางอยู่ไกลโพ้น   เลยชั่วอายุคน   งานของผมหลายเรื่องผมจึงบอกตัวเองว่า มันเลยอายุของผม   จึงต้องส่งไม้ต่อให้คนอื่นทำ    และเมื่อคนอื่นเป็นผู้ทำ เขาก็ต้องทำตามกระบวนทัศน์ของเขา ซึ่งไม่มีวันเหมือนกระบวนทัศน์ของผมอย่างพิมพ์เดียวกัน   ผมจึงฝึกทำใจวางอุเบกขา    ได้เรียนรู้อีกเรื่องหนึ่ง

 

          ที่จริงเรื่อง “เป้าหมายปลายทาง” กับ “เป้าหมายรายทาง” นั้น เอาไว้สอนตนเองในส่วนที่ลงมือทำเองได้ด้วย   งานที่ยากและซับซ้อนนั้น หากมองที่ผลทั้งหมด อาจทำให้ถอดใจ   คิดว่าทำไม่ได้    ผมใช้วิธี “ตัดเป็นท่อนๆ”   แล้วทำให้สำเร็จเป็นท่อนๆคล้ายหล่อพระซึ่งก็มองเป็น “เป้าหมายรายทาง” ได้แต่ก็ต้องไม่ลืมเป้าหมายภาพรวมหรือความเป็นทั้งหมดคือต้องเอาชิ้นส่วนมาประกอบเป็นองค์พระซึ่งเป็น “เป้าหมายปลายทาง”

 

          ที่รำพึงมาทั้งหมดนั้นตีความตรงกันข้ามกับความหมายในหนังสือเนื่องจากเป็นหนังสือเกี่ยวกับการภาวนาซึ่งมีฐานอยู่ที่สติตั้งมั่นตัวสติที่อยู่กับปัจจุบันขณะจึงมีความสำคัญยิ่งการทำให้สติอยู่กับปัจจุบันได้จึงเป็นจุดหมายไปในตัว

 

          ทำให้ย้อนกลับมาที่บทเรียนของผมได้อีกในการทำงานทุกอย่างผมบอกตัวเองว่าผมได้ผลงานหรือประโยชน์ยกกำลังสองเสมอคือได้ทั้งตัวผลงาน (เป้าหมายปลายทางหรือจุดหมาย) และได้เรียนรู้ช่วงของการทำงานต้องตั้งสติมีสมาธิต้องฟันฝ่าต้องต่อสู้กับอุปสรรคความยากลำบากและอนิฏฐารมณ์ต่างๆนั่นคือการเรียนรู้

 

          ผมจึงเถียงลูกชายว่าชื่อหนังสือของเขาผิดที่จริงถูกส่วนหนึ่งและผิดส่วนหนึ่ง   คือต้องคิดถึงบริบท หรือสถานการณ์ที่แตกต่างกันด้วย    ในบางสถานการณ์การเดินทาง หรือความพยายามนั้นเอง คือเป้าหมายหลัก    แต่ในบางสถานการณ์เราต้องอย่าหยุดอยู่ที่วิธีการหรือเส้นทาง ต้องไปให้ถึงเป้าหมาย

 

          ทุกสิ่งเป็นสมมติ  

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ ก.ย.​ ๕๕

 

หมายเลขบันทึก: 506730เขียนเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 09:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 ตุลาคม 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท